เราปฏิรูปการเมืองมาแล้ว เพียงแต่ "คุณ" ไม่ชอบเท่านั้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 

 

หลังมีรัฐบาลใหม่ มีข้อเสนอออกจากวิกฤติการเมืองมากมาย นัยว่าเพื่อการเมืองไทยก้าวไปข้างหน้า

 

หนึ่ง ข้อเสนอของ 24 อธิการบดีที่เสนอว่า ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครอง โดยให้นายกฯ แต่งตั้งประธานที่เป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้แต่งตั้งเฉพาะตัวประธานคณะกรรมการ" แล้วให้ประธานดำเนินการสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการ วางกรอบ ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้รัฐบาลทำประชามติ หลังจากนั้นเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

 

สอง ข้อเสนอของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โดยให้ "รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง มีหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม และให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายรัฐ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณะ โดยมีระยะเวลา 1 ปี และให้รัฐสภานำข้อสรุปดังกล่าวมาดำเนินการ"

 

ขณะที่ข้อเสนอกลุ่มอธิการบดีเน้นแต่เรื่องการเมือง ข้อเสนอของฝ่ายนี้กลับให้น้ำหนักต่อการปฏิรูปสังคมคู่กันไปด้วย โดยมีการพูดถึงสวัสดิการสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบภาษี ระบบการคุ้มครองแรงงาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การกระจายอำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ การจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ปฏิรูปสื่อและการเข้าถึงข้อมูล ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย กระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ในโอกาสที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องปฏิรูปการเมืองเพื่อเดินไปข้างหน้า จึงขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องที่ถูกทำให้ล้าสมัย อย่างน้อยก็เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์และบทเรียนที่เราเคยเรียนรู้ จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540

 

0 0 0

 

ความเข้าใจว่าการเมืองไทยมีปัญหาเพราะมีรัฐบาลและนายกฯ ที่ไม่เข้มแข็ง ไร้ประสิทธิภาพในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย ปรากฏอย่างเด่นชัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่การเมืองไทยหลุดพ้นจากการครอบงำของรัฐบาลทหารหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นโครงสร้างความรุนแรงหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิด "วงจรอุบาทว์" และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 กระทั่งสังคมไทยตกผลึกเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540

 

ภาพที่เห็นในปัจจุบันเรื่องรัฐบาลหลายพรรค การบริหารนโยบายขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล  การคัดสรรรัฐมนตรีตามระบบโควตา และหลายต่อหลายเรื่องที่เราก่นด่ารัฐบาลสมัคร หรือรัฐบาลสมชาย 1 ในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เบื่อหน่ายมาก่อนนานแล้ว จนเกิดการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อแก้ปัญหาแบบนี้โดยตรง

 

ความเบื่อหน่ายการเมืองในปัจจุบันเป็นความเบื่อหน่ายแบบเก่าที่กลับมาใหม่ โดยความฉ้อฉลเชิงระบบจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ออกแบบโดยเครือข่ายรัฐประหารคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จัดการปัญหานี้ได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ

 

รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลไทยรักไทย รวมทั้งได้นายกฯ ที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งแม้จะยังปัญหาเรื่องมุ้ง เรื่องกลุ่มก๊วนอยู่บ้าง แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยรักไทยมุ่งแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กระทั่งปลายสมัยของทักษิณ 1 เรายังเห็นความพยายามสร้างกลไกการเลือกสรรตัวผู้สมัครของพรรคให้ได้ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกว่า "ไพรมารี่โหวต" หรือ การให้ประชาชนเป็นคนเลือกตัวผู้สมัครเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเอง

 

น่าเสียดายที่สังคมไทยรอการพัฒนาแบบนี้ไม่ไหว หรืออันที่จริง ต้องเรียกว่าเครือข่ายพันธมิตรฯ สื่อสารมวลชน ทนรอไม่ไหว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ หรือเป็นเหตุผลที่สร้างขึ้นเพราะความไม่เชื่อถือทักษิณและพรรคไทยรักไทยก็ตาม

 

เราปฏิเสธได้หรือว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลไทยรักไทย  เราได้เห็นนโยบายที่จับต้องได้ ทำได้ ได้เห็นประชาชนในประเทศเชื่อมั่นนโยบายของตัวแทนที่เขาหย่อนบัตรเลือกตั้ง ได้เห็นประชาชนเลือกพรรคเพราะนโยบาย  และนโยบายก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่าจะหย่อนบัตรให้ใครมากขึ้น

 

พลังของความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ แบบนี้พิสูจน์ได้ชัดจากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ภายใต้การครอบงำของคมช. รัฐบาลจาก คมช. และกลไกที่ คมช.สร้างขึ้น  รวมทั้งภายใต้ความเสียเปรียบทุกด้านของพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างเป็นพรรคพลังประชาชน แต่ก็ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นเช่นเดิม   

 

"เรา"(ซึ่งไม่รู้ว่าใคร) มักสรุปอย่างน่าสงสัยว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ เก่งเกินไป ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามอยู่ว่า ทักษิณ "เก่ง" หรือเพราะโครงสร้างการเมืองที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ 2540 กันแน่ที่ทำให้ "ไม่ว่าใคร ก็เก่งได้ทั้งนั้น"

 

หากมองในแง่นี้ รัฐธรรมนูญ 2540 คือสิ่งที่เรามุ่งมาดปรารถนาไม่ใช่หรือ ถ้าถือว่าปัญหาหลักของการเมืองไทยคือการไม่มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและนายกฯ เข้มแข็ง

 

จะเห็นด้วยกับจุดยืน ปรัชญาชีวิต หรือมุมมองต่อศีลธรรมของบุคลากรในรัฐบาลทักษิณหรือไม่  ไม่ว่ากัน แต่จะปฏิเสธได้หรือว่า รัฐบาลในระบบการเมืองใต้รัฐธรรมนูญ 2540  ทำให้เราได้คนเก่งๆ มาเป็นรัฐมนตรีชนิดที่เลือกไม่ถูก ยิ่งถ้าเทียบกับคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน  ก็จะเห็นว่าเทียบกันไม่ได้เลย

 

เพราะฉะนั้น  ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเหลือแค่ทำอย่างไรจึงจะกำกับนโยบายของพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน  แต่ก็อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีกระบวนการกำกับนโยบายไว้อยู่แล้ว  ด้วยการเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบและกำกับนโยบายโดยตรง  นอกเหนือจากการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ทำให้เห็นได้ชัดว่าบทบาทของภาคประชาชนในเวลานั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ

 

เราได้เห็นการเจรจากับสมัชชาคนจน เราได้เห็นการถอนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบฯ เราได้เห็นการต่อสู้ของนโยบายการพัฒนาแบบไทยรักไทยและการพัฒนาทางเลือก ที่ต่อรองและเปิดพื้นที่ของทั้งสองแนวทางการพัฒนา เราเห็นการยื่นเสนอกฎหมายของประชาชน เราเห็นการทำงานขององค์กรสนับสนุนทางการเงินที่มีบทบาทอย่างแข็งขัน

 

แม้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จะไม่สามารถกำกับนโยบายของรัฐได้ในทุกกรณี แต่ก็ไม่อาจเรียกว่าพ่ายแพ้ และไม่อาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถกำกับนโยบายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้เลย กระทั่งต้องเรียกว่า การกำกับและตรวจสอบนโยบายของภาคประชาชนเติบโตสูงสุด  จนกระทั่งสามารถขับไล่รัฐบาลทักษิณที่เข้มแข็งที่สุดได้ในเวลาไม่นาน

 

แต่ผลงานของภาคประชาชน  ซึ่งควรจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทยนี้  ถูกช่วงชิงและฉวยโอกาสโดยคณะรัฐประหาร คมช. จากด้วยความอ่อนด้อยและสายตาสั้นของภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง

 

อันที่จริง ปัญหาใหญ่จากการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ทำให้การกำกับนโยบาย  ตลอดจนการตรวจสอบเป็นไปได้ยาก มาจากการที่องค์กรอิสระของรัฐถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งว่ากันอย่างเป็นธรรมแล้ว องค์กรเหล่านี้ล้วนมีโอกาสถูกแทรกแซงได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลไหนก็ตาม  รัฐธรรมนูญ 2540 จึงได้กำหนดกลไกตรวจสอบองค์กรอิสระ  ใช้ศาลรัฐธรรมนูญคานองค์กรอิสระเอาไว้  ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิทักษ์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เราก็เห็นอีกเช่นกันว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็ถูกแทรกแซง และพิจารณาคดีความต่างๆ แบบเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองมากกว่าประชาชน

 

คำถามคือว่า ทำไมรัฐบาลสมัคร และสมชาย 1 จึงไม่อาจแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญได้เหมือนเช่นรัฐบาลทักษิณ ?

ออกจะหน่อมแน้มไปหน่อย หากจะบอกว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นคนดี แต่คงจะเลวร้ายยิ่งขึ้น  หากจะบอกว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบขึ้นจากคนที่เกลียดกลัวระบอบทักษิณ เพราะนี่ย่อมสร้างปัญหากับหลักนิติธรรมในแง่ที่ไม่เอื้อให้การพิจารณาคดีต่างๆ เป็นไปอย่างสุจริตและเป็นธรรมได้  เนื่องจากตุลาการมีประโยชน์ทับซ้อนอยู่ทางการเมือง

 

คำตอบต่อเรื่องคือภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและคอยกดดันอยู่ต่างหากที่ทำให้รัฐบาลปัจจุบันทำแบบรัฐบาลทักษิณไม่ได้   แต่วันนั้น วันที่ทักษิณครองอำนาจ  ไม่มีภาคประชาชน หรือภาคประชาชนไม่เข้มแข็งแบบนี้

 

วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญ คงจะทำหน้าที่ปกป้องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ดีกว่านี้   หากไม่ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญออกระเบียบวิธีพิจารณาคดีกันเอง วิธีพิจารณาคดีซึ่งเป็นเสมือนวิธี กติกา จารีต บรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ซึ่งหากสภาเป็นฝ่ายออกระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลและกฎหมายกำกับการทำงานของศาลอย่างรอบคอบและรัดกุม ก็เชื่อได้ว่าจะทำให้การพิจารณาตีความคดีที่เอื้อประโยชน์การเมืองเป็นไปได้ยากขึ้น

 

ยิ่งหากภาคประชาสังคมสมัยนั้นเข้มแข็งเหมือนวันนี้ด้วยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลงานรูปธรรมในการปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 และป้องกันการแทรกแซงองค์กรอิสระ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแน่นอน

 

ปัญหาอีกประการของรัฐธรรมนูญ 2540 คือนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยที่กินได้ ส่วนใหญ่นั้นยังไม่ทันปรากฏออกมาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ออกในกฎหมายลูก อาทิ คลื่นความถี่ การปฏิรูปสื่อ การกระจายอำนาจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการเมืองไทย ก็ไม่เคยเดินหน้าต่อ การเลือกตั้งผู้ว่า ถูกดองเค็ม  ไม่เคยถูกพูดถึงในรัฐบาลไทยรักไทย

 

อันที่จริง ปัญหาที่พูดกันทุกวันนี้อย่างการปฏิรูปที่ดิน ภาษีก้าวหน้า มาตรการเพื่อป้องกันทุนสามานย์ ล้วนแต่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วทั้งสิ้น แต่ถูกจัดให้ความสำคัญลำดับท้ายๆ

 

มาถึงตรงนี้ สังคมไทยอย่าพะวงกับความขัดแย้งเฉพาะหน้าเกินไป จนกระทั่ง "กลัว" และรีบตอบรับกับ "การเมืองใหม่" หรือจะมาในชื่อ "ปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่" ซึ่งมีแนวโน้มให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลับมากำหนดกติกาได้อีก กลัวสิ่งที่อ้างว่าเป็นทุนสามานย์ แต่ก็เปิดโอกาสให้กับทุนสามานย์ที่ล้าหลังและผูกขาดกว่า ให้โอกาสทางการเมืองแก่อภิชนเข้มแข็งและดูถูกประชาชน โดยละเลยประสิทธิภาพการบริหารงานรัฐ

 

หากรัฐอ่อนแอ เราจะไม่มีวันพัฒนา  แต่ถ้ารัฐเข้มแข็ง  ถึงจะฉ้อฉล เราก็ยังมีพลังที่จะกำกับรัฐได้

 

มาถึงตรงนี้ น่าสงสัยว่า ทำไมกลุ่มอธิการบดีจึงไม่เสนอให้มี สสร. 3 มาจากการเลือกตั้ง  เหมือนดังการได้มาของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กลับมอบอำนาจให้กับประธานคนเดียวที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย (ซึ่งจะมีอยู่จริงหรือ) มีอำนาจสรรหากรรมการและทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ราวกับล็อคสเป็คไว้แล้ว

 

ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่เป็นเสมือนหลุมพรางของเหล่าอภิชนที่ดูถูกประชาชน ข้อเสนอที่น่าฟังกว่าคือของ กป.อพช. ที่มุ่งปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างประโยชน์ของประชาชนขึ้น เพียงแต่ต้องตอบให้ได้ว่าองค์กรทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองแบบไหนที่จะทำให้ได้เป้าหมายและประโยชน์ของประชาชนอย่างที่ต้องการ

 

จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาในวันที่ภาคประชาสังคมตื่นตัวอย่างทุกวันนี้ โดยพ่วงกฎหมายลูกตามประเด็นและข้อเสนอของ กป.อพช. เข้าไปด้วย หรือให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง คู่ขนานกับสภาจากการเลือกตั้งไปเลย

 

นั่นต่างหากจึงจะเป็นการเมืองที่ใหม่กว่า ที่ไม่กลับไปวงจรเก่าที่นายกฯ ทำได้อย่างมากก็แค่ซุปเปอร์ปลัดกระทรวง

 

 

 

อ่านเรื่องประกอบ

อธิการบดี 24 สถาบัน เสนอนายกฯ ตั้ง "คกก.อิสระ"

กป.อพช. ร่วม 14 เครือข่าย เสนอรัฐสภาตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง"

นักศึกษา-แรงงาน เสนอการเมืองใหม่ที่เป็นอิสระจาก "พันธมิตร" ปฏิรูปเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท