Skip to main content
sharethis

เวลา 13.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบ ให้จัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร หากมีประเด็นเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ให้แก้ไขบนพื้นฐานประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย



 


ทั้งนี้ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ครม.ยังสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยต้องแก้ไขที่มาตรา 291 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างแท้จริง โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากทุกกลุ่มอาชีพที่เป็นกลาง นอกจากนี้ ได้ประสานกับสภาฯ ว่า จะแถลงนโยบายต่อสภาในวันที่ 7-8 ต.ค. ซึ่งหากนโยบายที่แถลงยังไม่แล้วเสร็จ ให้ขยายเวลาเพิ่มในวันที่ 9 ต.ค.



 


พันธมิตรฯ กังขาตั้ง ส.ส.ร.3 ไม่จริงใจ


นายสุริยะใส กตะสิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวตั้งข้อสังเกตถึงมติครม.ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ว่า เดิมที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองต้องการเพียงที่จะแก้ไขและรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทันทีที่มีข้อเสนของ 24 อธิการบดี รัฐบาลกลับปฏิเสธไม่รับ แต่รัฐบาลกลับมามีมติเพื่อตั้งส.ส.ร. 3 ตรงนี้ถือเป็นเกมส์ทางการเมือง และต่ออายุให้กับรัฐบาล ตรงนี้หลักการดี แต่เราจะอธิบายให้กับสังคมอย่างไร ว่าจะไม่ใช่เป็นการต่ออายุรัฐบาลที่หมดอายุความชอบธรรม



 


นอกจากนี้ข้อสังเกตที่รัฐบาล มีพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค มี 3 พรรคที่กำลังจะถูกยุบ ซึ่งถือว่าเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการฟ้องความผิดให้กับพรรคการเมืองทั้ง 3 หรือไม่



 


"ผมคิดว่าเป็นการปลุกผี ฟอกความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ อีกรอบ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ใช่เป็นการลักไก่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี้เป็นที่มาที่ไปที่มีการชุมนุมของพันธมิตรฯ"



 


นายสุริยะใส กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีส.ส.ร.3 หรือข้อเสนอของ 24 อธิการบดี จะวางใจได้อย่างไรว่าไม่เป็นชนวนการสร้างความแตกแยกรอบใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ก็มีความแตกแยกในสังคมและมีปัญหาในเรื่องความชอบธรรม อาทิ คดีซุกหุ้น หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีอีกหลายคน หรือจะเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนยกพวกมาเผชิญหน้ากันอีกรอบ



 


'จำลอง' ไม่เชื่อแก้รธน.มาตราเดียว


พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจัดตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่ารัฐบาลที่ผ่านมาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลปัจจุบัน ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ยังไม่สามารถปักใจเชื่อได้ว่า รัฐบาลแต่งตั้ง ส.ส.ร. 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว โดยไม่มีการควบมาตราอื่นตามมาในภายหลัง



 


"วิปฝ่ายค้าน" หนุนสาน 2 แนวคิด


นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมถึงข้อเสนอของฝ่ายต่างๆในการหาทางออกให้กับวิกฤตของบ้านเมืองว่า  อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักร่วมกันว่าประชาชนทั้งประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ จะได้มีเวลาในการแก้ไขปัญหาของประเทศเนื่องจากขณะนี้ยังมีปัญหาคุกคามหลายเรื่องจากต่างประเทศเข้ามากระทบอีก  หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสมานฉันท์ของบ้านเมืองได้  ประเทศไทยก็คงมีปัญหาต่อไปอีกยาวนาน 


 


วิปฝ่ายค้านเห็นแล้วว่าต้นตอของปัญหาเกิดจากการเมือง 2 ภาคที่มีความหวาดระแวงต่อกัน ส.ส.รัฐบาลถูกภาคประชาชนหวาดระแวงว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ ขณะที่การเมืองภาคประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรก็ถูกภาคการเมืองระแวงว่าต้องการล้มการเมือง ส่วนแนวคิดของ24 อธิการดีและแนวคิดของรัฐบาลยังไม่สามารถยอมรับกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดเสีย รัฐบาลไม่สามารถตอบได้ว่าจะกำหนดที่มาของส.ส.ร.อย่างไรขณะที่แนวคิดตั้งคณะกรรมการอิสระของ 24 อธิการบดีก็ยังเป็นปัญหาเช่นกัน



 


นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า วิปฝ่ายค้านขอเสนอทางออกให้นำ 2 แนวคิดนี้มารวมกันคือให้มีการแต่งตั้งคนกลางรวมกับ 24 อธิการบดีคิดรูปแบบของ ส.ส.ร. และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตั้ง ส.ส.ร.ตามแนวคิดดังกล่าวเพื่อการปฏิรูปการเมือง  ซึ่งเหลือเวลาอีก3-4วันที่เชื่อว่ารัฐบาลจะบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายด้วย  ซึ่งฝ่ายค้านก็จะมีการเสนอรูปแบบการปฏิรูปการเมืองเช่นกัน



 


"เติ้ง" หนุนแก้มาตรา 291 ติงแนวคิด 24 อธิการไม่เป็นกลาง


ที่พรรคชาติไทย นายบรรหาร  ศิลปอาชา  หัวหน้าพรรคชาติไทย  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 24 อธิการเสนอให้มีการแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตอนนี้หลายฝ่ายก็พยายามหาทางออกร่วมกันให้ดีที่สุด โดยข้อเสนอของ 24 อธิการก็ถือเป็นทางออกหนึ่งในการที่จะตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการ แต่ประเด็นประหาอยู่ที่ว่ากรรมการอิสระที่จะเข้ามาจะมีการคัดเลือกกันอย่างไร และจะอิสระ  เป็นกลาง จริงหรือไม่ และต้องมาทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเห็นว่าน่าจะใช้เวลาค่อนข้างนาน สมัยที่ตนเคยมีส่วนในการยกร่างฯ ได้แก้มาตรา 211 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้น  ส่วนส.ส.ร.ก็มีการคัดเลือกมาจากทุกจังหวัดที่เป็นตัวแทนประชาชน แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งน่าจะทำเหมือนสมัยที่ตนเคยทำจะเป็นกลางที่สุด เมื่อรธน.ออกมาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาทำประชามติอีกครั้ง ส่วนรัฐจะเอาอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เป็นเพียงความเห็น ไม่รู้ว่าเรื่องนี้รัฐบาลจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้หรือไม่ตอบไม่ได้



 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดมีแนวคิดที่จะแก้มาตรา 291 เพื่อเตรียมความพร้อมนำไปสู้การแก้ไขรธน. นายบรรหาร กล่าวว่า มาตรา 291 เหมือนกับมาตรา 211 ที่นำมาแก้ ในนั้นบัญญัติว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรธน. ถ้าเราจะแก้มาตราเดียวเพื่อปูแนวทางมาสู่คณะกรรมการในการร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร.3 คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาและเห็นด้วย 


 


ข้อเสนอของ 24 อธิการ ก็เห็นด้วยแต่เป็นห่วงว่าที่มาจะเลือกใครเข้ามา เป็นประชาธิปไตย  เป็นกลางหรือไม่ ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะไม่รู้ว่าคณะกรรมการอิสระจะเป็นอิสระมีความชอบธรรมจริงหรือไม่  แล้วจะเลือกกันอย่างไรมันไม่ง่าย เดี๋ยวมันก็ได้แบบอีหรอบ 2550 ที่ตั้งออกมาร่างฯแล้วก็มาฟัดนักการเมือง  อยากเรียนว่านักการเมืองไม่ว่าใหม่หรือเก่าก็เหมือนกันหมด ดังนั้นเราควรที่จะสร้างนักการเมืองขึ้นมาที่มีศักยภาพที่มั่นคงและแข็งแรงสำหรับทุกพรรคการเมืองด้วย เดินทางไปสู่ประชาธิปไตยอันมั่นคงในอนาคต  เหมือนกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ นี่คือจุดมุ่งหมาย เราไม่ควรทำลายพรรคการเมือง



 


ผู้สื่อข่าวถามว่า คุณสมบัตินพ.ประเวศ  วะสี ราษฎรอาวุโส  เหมาะที่จะนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตอนที่แก้ไขมาตรา 211 ก็เอานพ.ประเวศมาเหมือนกัน เอามาเป็นบรรทัดฐาน แต่แก้บางมาตราแล้วก็ต้องไปทาบทามซึ่งท่านอาจจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่คิดว่าความเห็นตนดีกว่าเยอะคือแก้มาตรา 291 เสร็จแล้วก็มาเลือกตั้งหาตัวแทนแต่ละจังหวัดขึ้นมา


 


'สมศักดิ์' เผย 6 พรรคร่วม หนุนแก้รธน.


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ยืนยันว่า 6 พรรคร่วมรัฐบาล เห็นสอดคล้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มา


 


นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส.ส.ร.3 จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งจะให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทำประชาพิจารณ์ก่อนแก้ไขในแต่ละมาตรา ทั้งนี้ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องหารือกับแกนนำพันธมิตรฯ เพราะความเห็นที่แตกต่างถือเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ ระบุว่า แนวทางที่จะใช้นั้นเป็นแนวทางเดียวกับสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ในปี 2538



 


"เสธ.หนั่น" หนุนแก้ ม.291


 พล.ต.สนั่น  ขจรประศาสน์  รองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม.มีมติแก้มาตรา 291 เพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าเป็นเรื่องที่ดี เหมือนตอนที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เคยทำมาก่อน ส่วนใครจะมาเป็นประธานสสร.ก็อยู่ที่สภาฯ



 


ประธานวุฒิ เชื่อตั้ง ส.ส.ร. 3 ทุกฝ่ายรับได้


ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. 3 ว่าเห็นด้วย เพราะการแก้มาตรา 291 เป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่างน้อยก็เป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันร่วมแก้ไข ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ 


 


เมื่อถามว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะดีหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า เห็นว่าน่าจะแก้มาตรา 291 ก่อนเพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา เพราะมาตราดังกล่าวเป็นการแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ทุกฝ่ายมาระดมความคิดเห็นเมื่อได้ร่างการแก้ไขก็เสนอมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขต่อไป



 


"ตรงนี้จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ หากมีการเชิญทุกฝ่ายมาร่วม รวมทั้งพันธมิตรฯด้วยก็น่าจะทำได้ และทำได้ดี เพราะตรงนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นวิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็น่าจะยอมรับกันได้" นายประสพสุข กล่าว



 


นายประสพสุข กล่าวถึงข้อเสนอของ 24 อธิการบดี ว่า เป็นข้อเสนอที่ดี น่ารับฟัง เป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คาดว่าทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่อธิการบดี แต่เอกชนก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการให้ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้



 


ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่า รัฐบาลควรเร่งแถลงนโยบาย เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ คิดว่านโยบายของรัฐบาลน่าจะเป็นนโยบายเดิม เพราะยังเป็นรัฐบาลชุดเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนให้ทันเหตุการณ์ขึ้น  เมื่อถามว่าความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชนจะทำให้เกิดการยุบสภาก่อนการแถลงนโยบายหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องภายในพรรคพลังประชาชนก็ต้องแก้ไขกันเอง การแถลงนโยบายของรัฐบาลก็ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาก่อน


ผู้สื่อข่าวถามว่ามีผู้เสนอ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และนายอานันนท์  ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี  พล.ต.สนั่น กล่าวว่า อย่าไปบ่งที่ตัวบุคคล  ควรจะเลือกกันเข้ามาทั้งหมดแล้วให้เขามาเลือกกันเอง ว่าใครจะเป็นประธานสสร. แบบนี้จะแฟร์กว่า ดีกว่าที่เราไปกำหนดตัวบุคคล



 


 


เรียบเรียงจาก : เดลินิวส์และแนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net