Skip to main content
sharethis


พิชัย ศรีใส


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ ระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน สิ่งหนึ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชูขึ้นมา คือ การเมืองใหม่


ในขณะที่แนวความคิดเรื่องการเมืองใหม่ที่สังคมยังไม่ตกผลึก กลุ่มแกนนำนักเคลื่อนไหวทางสังคมระดับหัวขบวนจากหลายภาคส่วนในภาคใต้ จึงได้ขยับไปอีกขั้นโดยหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางเพื่อขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมือง สร้างการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐไทย


หนึ่งในโต้โผสำคัญคือ "พิชัย ศรีใส" กรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสถาบันระบบวิจัยสุขภาพภาคใต้ (สวรส.ภาคใต้) เป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนให้เกิดเวทีนี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "ก้าวเดินของพลเมืองในจุดเปลี่ยน" เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2551 ที่สำนักงานสถาบันระบบวิจัยสุขภาพภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ ประมาณ 30 คน เช่น อาจารย์สมเจตนา มุนีโมไนย นายแพทย์บัญชา พงศ์พานิช นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายพงศ์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.) นายศิริพล สัจจาพันธ์ รองประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้


ในส่วนนักธุรกิจได้แก่ นายชิต บรรลือศิลป์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดใหญ่อย่างสงขลา นายสมพร โปรานานนท์ กรรมการหอการค้าจังหวัดสงขลา นักวิชาการ ได้แก่ นายศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นางมณีรัตน์ มิตรปราสาท จากมหาวิทยาลัยทักษิณ นายจรูญ หยูทอง จากสถาบันทักษิณคดีศึกษา นางพิชญา แก้วขาว


นอกจากนี้ยังมี นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักหนังสือพิมพ์ในภาคใต้ ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.) เป็นต้น


ที่ประชุมเริ่มด้วยการที่อาจารย์สมเจตนา มุนีโมไนย นักกิจกรรมทางสังคมอาวุโสของภาคใต้ เสนอว่า ให้ทุกคนตั้งคำถามให้มาก จึงเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันจะทำอะไรได้บ้าง แล้วเบื้องหน้าเบื้องหลังของการเมืองปัจจุบันนี้คืออะไร ประการสำคัญคือจะก้าวพ้นจากการเมืองเก่าไปได้อย่างไร เรื่องการเมืองใหม่มาจากไหน เป้าหมายสุดท้ายของการเมืองใหม่คืออะไร


จากนั้นจึงมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกฝ่าย รวมทั้งนักธุรกิจอย่าง นายชิต บรรลือศิลป์ ก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นระบบที่ล้าสมัย ไม่สามารถตอบสนองต่อคนทุกกลุ่มได้ เป็นระบบการเมืองที่ล้มเหลว ไม่ใช่แต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่การเมืองระบบเลือกตั้งทั่วโลกมีปัญหา จึงมีการเรียกร้องการเมืองใหม่ขึ้นมา


โดยในการขับเคลื่อนต่อไปนั้น พิชัย ศรีใส บอกถึงสิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ว่า "ในเดือนตุลาคม 2551 นี้ เราเห็นว่าต้องไม่เหมือนเดิม คือ ไม่ใช่ตุลาวิปโยค ไม่ใช่เดือนของวีรชน เพราะสิ่งนี้ถูกกระแสการเมืองปัจจุบันกลืนหายไปหมดแล้ว เพราะคนเดือนตุลาเองเมื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง กลับนำพาตัวเองให้โดดเด่นเหนือคนอื่น แต่ทิ้งมวลชนพื้นฐานที่ตัวเองเคยสัญญาไว้ให้ตกระกำลำบาก เป็นผู้ยากไร้เหมือนเดิม ทั้งที่มีคนพลีชีพเพื่อคนเดือนตุลาไปจำนวนมากก็ตาม


"ไม่ใช่เดือนตุลาแห่งความโศกเศร้า แต่เป็นเดือนตุลาฯ ประชาธิปไตยการเมืองเก่า - การเมืองใหม่ โดยเชิญชวนให้มีการพูดคุยกันให้มากๆ ให้เป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ จะพูดคุยอย่างไรก็ได้ แต่ไม่อยากให้ตีกรอบตามที่นักวิชาการเสนออย่างเดียว"


โดยจะเริ่มต้นการจัดเวทีด้วยการเชิญผู้อาวุโสทุกหน่วยทุกองค์กรมาพูดคุยกัน โดยจะเป็นเวทีใหญ่ ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วภาคใต้ ซึ่งตอนนี้กลุ่มแรกของเราที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ คือ กลุ่มสายน้ำ หรือ กลุ่มเพื่อนร่วมพัฒนาภาคใต้เก่า ที่ประกอบด้วยนักกิจกรรมอาวุโสที่มีบทบาทมาร่วม 20 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดวงคุยกันอยู่บ่อยครั้ง ที่สวนสายน้ำ จึงเรียกว่ากลุ่มสายน้ำ


ด้วยการตั้งสมมุติฐานว่า ภาคใต้จะเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่เป็นขบวน เพื่อวันหนึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ยังไม่อาจคาดเดาได้


"ขบวนนี้จะเป็นกองกำลังที่สอง และเป็นเพื่อนกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่จะไม่ก้าวล้ำไปในการขับเคลื่อนต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นพวกและเป็นเพื่อนกัน แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน คุณเจ็บเราจะช่วยเหลือและรองรับให้ แต่จะไม่ก้าวล้ำไปในสิ่งที่คุณเคลื่อนไหวอยู่"


จากนั้นจะกำหนดจังหวัดก้าวต่อไป ที่สำคัญต้องทำให้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง อย่างไม่มีข้อสรุป แทนที่จะเกิดจากการชี้นำ เพราะนั่นเป็นการดูถูกประชาชน ซึ่งเมื่อมีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางแล้ว สิ่งนั่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของมันเอง


การเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะเป็นคนอีกวงหนึ่งในสายใต้ นอกจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในภาคใต้ โดยส่วนตัวก็ยังนับถือเป็นเพื่อนฝูงเละช่วยเหลือพันธมิตรอยู่ บางเวลาก็เข้าร่วมบางเวลาก็ไม่ได้เข้าร่วมทั้งหมด และไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน


ส่วนมากในภาคใต้จะเป็นผู้อาวุโส มีบทบาทในการเคลื่อนไหวมานานในภาคใต้ ซึ่งเห็นได้ว่า คนพวกนี้จะระมัดระวังในการเคลื่อนไหว ดูทิศดูทางค่อนข้างละเอียด ถ้าเกิดเรียกแบบไม่สร้างสรรค์ก็คือ เป็นที่ไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง ไม่ออกมาเป็นพวกในขณะนี้ เพียงแต่ว่าจะระมัดระวัง เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะเห็นอยู่ได้ในสายใต้แทบจะนับหัวได้ เขาจะไม่เข้าไปแบบเต็มกำลัง มันจะเป็นข้อดีของคนกลุ่มนี้ ซึ่งคนพวกนี้คิดว่าตอนนี้น่าจะถึงเวลาแล้ว


เป้าหมายคือให้มาคุยกันก่อนในยกแรกนี้ เพื่อตรวจสอบท่าทีและวางเป้าหมายร่วมกัน ตั้งประเด็นการพูดคุยว่า การก้าวเดินของพลเมืองในจุดเปลี่ยน โดยอธิบายว่า ไม่ต้องการคำตอบสำเร็จรูป ไม่เคลื่อนไหวเพื่อกดดันใคร แต่มองว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะก้าวต่อไปอย่างไร ให้ความสำคัญกับการคุยมากกว่า ไม่ได้มองว่าใครรู้มากกว่าใคร


เราให้แต่ละคนตั้งคำถามว่าในถานการณ์เช่นนี้เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ก็ได้คำถามมา 40 - 50 คำถาม เมื่อประมวลออกมาแล้วก็มี 2 ลักษณะ


หนึ่งคือ การก้าวเดินของพลเมือง เป็นการก้าวเดินที่นำไปสู่การเมืองที่มีระบบการตรวจสอบของพลเมือง การมีส่วนร่วม มีระบบคุณธรรมและจริยธรรม ฟังดูเหมือนเป็นการเมืองที่คู่ขนาน ในความหมายที่ว่าพลเมืองคืออำนาจที่สี่ จากที่มีอยู่สามอำนาจคืออำนาจบริหาร อำนาจตุลาการและอำนาจนิติบัญญัติ


แต่ไม่ได้หมายความว่าอำนาจของพลเมืองเข้าไปอยู่ในระบบอำนาจ ซึ่งไม่จำเป็นเพราะอาจทำให้ตกหลุมพรางได้ แต่ต้องการให้เป็นการเรียนรู้ มีพลังในการตรวจสอบ สามารถสร้างกระแสสังคมได้ สร้างสำนึกทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เรียกว่าเป็นการเมืองแบบคู่ขนาน


สอง ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ระบบการเมืองแบบตัวแทน เป็นระบบการเมืองที่ล้าสมัย ไม่อาจตอบสนองหรือดูแลคนได้อย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป เป็นได้ชัดในประเทศอเมริกาใต้


ลักษณะนี้ปรากฏชัดในประเทศไทย ที่สะท้อนผ่านการคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ผ่านระบบตัวแทนทางการเมือง เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องปรับรื้อโครงสร้างทางการเมืองใหม่ทั้งระบบหรือถึงขั้นปฏิวัติ


แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งสองลักษณะที่กล่าวมานั้นถ้ามาอภิปรายกัน ก็จะทำให้เกิดการโต้เถียงกันซึ่งจะเสียเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อมาดูก็พบว่า ปัญหาอยู่ที่คน เราไม่ควรจะลืมคน นั่นคือความเป็นคนไทย หรือพลเมืองไทย


คนไทยเคยเปลี่ยนจากความเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาเป็นราษฎรไทยมาแล้ว แต่นักการเมืองยังคิดว่าคนไทยคือไพร่ฟ้าข้อแผ่นดินอยู่ คิดว่าคนไทยเป็นคนยากไร้ต้องแบมือขอเท่านั้น ซึ่งนโยบายประชานิยมก็มาจากฐานคิดที่ว่าคนไทยคือไพร่ฟ้าข้อแผ่นดินนั่นเอง


เพราะฉะนั้นต้องยกฐานะคนไทยให้เป็นพลเมือง มีสิทธิเสรีภาพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของคน มีความรู้ความสามารถพอเทียบเท่ากับคนมีอำนาจรัฐทั้งหมดได้ ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ แต่ถูกกดด้วยโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งคนจะมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมดังกล่าวก็ต้องอยู่ที่การให้โอกาสในการเรียนรู้ แต่จะเรียนรู้แบบไหนก็ต้องมาว่ากัน


เรื่องที่สาม ในตัวคนนั้นต้องมีคุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม แม้จะเป็นพลเมืองในความหมายอะไรก็แล้วแต่


สี่ สิทธิในการติดตาม ตรวจสอบนักการเมือง ต้องสร้างการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนรู้ทัน เมื่อรู้ทันแล้วก็สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้


การคุยกันในยกแรกนี้ ยังไม่สรุปว่าจะเข้าไปยังเป้าหมายใด แต่ตกลงกันว่าจะไม่รีบหาคำตอบ แต่ตั้งธงเพื่อเป็นทิศทางเอาไว้เท่านั้น เพราะเชื่อในวิจารณญาณของคน แต่เราก็จะไม่บังคับให้คนอื่นเชื่อตาม


นั่นคือการขับเคลื่อนอีกยกของหัวขบวนนักเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคใต้ เพื่อสู่การเมืองใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net