เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เสนอรัฐสภาเปิดทุกฝ่ายร่วมตั้ง สภาปฏิรูปการเมืองฯ

 

วันที่ 28 ก.ย.51 เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน อันประกอบด้วยหลายกลุ่มกิจกรรมการเมือง ออกแถลงการณ์เสนอรัฐสภาเปิดทุกฝ่ายร่วมตั้ง สภาปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยแห่งชาติ, พันธมิตรฯ ทำตามกฎหมาย, ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปพรรคการเมือง พร้อมทั้งเสนอห้ามยุบพรรค เพราะเป็นองค์กรของประชาชนที่ก่อตั้งตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

 

000

 

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 1/2551

เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน

 

เรื่อง                  การแก้ไขวิกฤตการเมืองและการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าต่อการเมืองไทย

 

เรียน                  ประชาชนชาวไทยที่รักและเคารพ และสื่อมวลชนทุกแขนง

 

 

เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (คพป.) ขอแถลงต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนถึงจุดยืนและข้อเสนอของเครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชนต่อการแก้ไขวิกฤตการเมืองและการสร้างความก้าวหน้าต่อเมืองไทยดังต่อไปนี้

 

1. ขอเสนอให้รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) จัดประชุมร่วมกันเพื่อให้มีการจัดตั้ง "สภาปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยแห่งชาติ" อันประกอบด้วยผู้แทนจากประชาชนทุกภาคส่วน คือ พรรคการเมืองทุกพรรค พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรชุมชน และ องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ จำนวน 100 คน  เพื่อช่วยเหลืองานรัฐสภาและทำหน้าที่ประชุมช่วยหาข้อยุติวิกฤตการเมืองและเร่งให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยของประเทศอย่างมีสามัคคีร่วมกัน

 

2. ขอเรียกร้องให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการเคลื่อนไหวขับไล่และล้มล้างรัฐบาล ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ออกจากทำเนียบรัฐบาล และหยุดการกระทำเชิงอนาธิปไตยทุกรูปแบบ แต่ยอมรับการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยพันธมิตรประชาชนฯเน้นแสดงบทบาทการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้กรอบการเมืองภาคพลเมืองตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ในมาตราที่ 63 (การชุมนุมสาธารณะ โดยสงบและปราศจากอาวุธ) ตามมาตรา 68 (การห้ามล้มล้างการปกครองหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางอันมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ) และ ตามมาตรา 87 (การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน)

 

3. การสร้างสรรค์ความก้าวหน้าต่อการเมืองไทยมีหลายประเด็นที่สมควรดำเนินการ เช่น

3.1 ขอให้มีระบบผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผ่านผู้แทนพรรคการเมือง

เช่นเดิม แต่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งกันเองของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อทำหน้าทีเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณะที่ปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แทนระบบผู้แทนราษฎรจากสาขาอาชีพต่างๆ ตามแบบการเมืองใหม่ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอ เพื่อลดจุดอ่อนและเสริมการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

3.2   ขอให้มีการจัดทำ "มาตรฐานพรรคการเมือง" ขึ้นใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพ ประสิทธิภาพ

และประสิทธิผลของพรรคการเมือง โดยการร่วมมือระหว่างรัฐสภากับองค์การอิสระของรัฐทุกแห่ง

 

3.3 ขอให้สภาพัฒนาการเมืองที่จัดตั้งตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 และกำลังเริ่ม

ทำหน้าที่ได้เร่งส่งเสริมและพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดีแก่การเมืองที่ได้ดุลยภาพระหว่างการเมืองในรัฐสภากับการเมืองนอกรัฐสภา

 

3.4 ขอให้รัฐสภาออกกฎหมายกำกับและควบคุมการใช้สื่อสาธารณะของภาครัฐ เอกชน และ

กลุ่มประชาชนอันมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นการเฉพาะ และมิให้กลุ่มการเมืองของประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆเป็นเจ้าของหรือควบคุมสื่อที่มีการเผยแพร่กว้างขวาง อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อันมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นการเฉพาะ แต่ยังคงมีสิทธิแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมือง โดยผ่านสื่อสาธารณะที่กำกับโดยองค์กรกลางของรัฐ

3.5 ขอให้ผู้แทนราษฎรรายบุคคลแถลงผลงานประจำปีต่อประชาชนในเขตและพื้นที่ที่ตนได้รับการเลือกตั้ง โดยให้รัฐสภาเป็นผู้จัดให้มีการแถลงผลงานดังกล่าว และมีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนซักถาม เพื่อให้ผู้แทนราษฎรทำงานตามที่สัญญากับประชาชนอย่างจริงจังมากขึ้น

 

3.6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพ้นจากการควบคุมและกำกับดูแลพรรคการเมือง เนื่องจากมิได้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็งอย่างแท้จริง และให้ทำหน้าที่เฉพาะการดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่านั้น แต่การดูแลพรรคการเมืองให้เป็นหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐสภาแทน

 

3.7 ห้ามยุบหรือทำให้พรรคการเมืองไม่ว่าจะมีสมาชิกและสาขาจำนวนเท่าใดต้องสิ้นสภาพ เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์การของประชาชนที่ก่อตั้งตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองตามมาตรา 65  เว้นแต่พรรคการเมืองนั้นกระทำตนเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ

 

                                      ด้วยสันติธรรมประชาธิปไตย

เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (คพป.)*

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551

ณ บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร

 






 

 *เครือข่ายพลังประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2551) ประกอบด้วยองค์กรต่อไปนี้

สมาพันธ์พรรคการเมืองเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย (ผู้แทน : นายโชคชัย สุทธาเวศ)

ชมรมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน (สาขานครราชสีมา) (ผู้แทน : นายวงศ์ฑอมร มาตย์สุรีย์)

กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ผู้แทน : นายภพ แสนปลื้ม)

กลุ่มรวมใจไทยพิทักษ์ประชาธิปไตย (ผู้แทน : นางปัทมาภรณ์ รักษ์แพทย์)

กลุ่มพลังประชาธิปไตยต้านเผด็จการ  (ผู้แทน : นายวรัญชัย โชคชนะ)

สภาเครือข่ายประชาชนสี่ภาค (ผู้แทน : นายประพาส โงกสูงเนิน)

กลุ่มเครือข่ายพลังเสริมประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ผู้แทน : นายอุดม ขันแก้ว)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท