Skip to main content
sharethis

(26 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00น. เครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่า (Peace for Burma) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่า ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จัดการเสวนาเรื่อง ความรุนแรงของรัฐกับการประท้วง: กรณีศึกษาไทยและพม่า เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 1 ปีของการปฎิวัติชายจีวรในพม่า ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้ปรามปราบการเดินขบวนประท้วงอย่างสันติของพระสงฆ์และ ประชาชนหลายหมื่นคนในพม่า เมื่อวันที่ 26- 27 กันยายน ปีที่แล้ว ณ ห้องสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย กว่า 50 คน


 


 


ซอว์ มิน จาก Democratic Party for a New Society (DPNS) กล่าวถึงสถานการณ์ในพม่าว่า รัฐบาลพม่าได้ใช้ความรุนแรงมานานหลายปี เนื่องมาจากกองทัพบกของพม่าได้รับฝึกฝนจากกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้รับการปลูกฝังระบบฟาสซิสต์ ให้คลั่งชาติ มีมุมมองแบบทหาร และต้องทำลายศัตรูให้สิ้นซาก


 


ต่อมา ในช่วงต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทหารพม่าได้ใช้ข้ออ้างว่า ประเทศแบ่งแยกไม่ได้ เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ หลังจากนั้น ทุกครั้งที่มีการชุมนุมประท้วง รัฐบาลจะปราบปรามคนเหล่านั้น โดยใช้อำนาจที่เกินจำเป็นเสมอ ในการประท้วงใหญ่ เมื่อปี 1988 นายพลเนวินก็ได้สั่งการผ่านทีวีว่า ให้ยิงให้ตาย อย่ายิงกระสุนเปล่าขึ้นฟ้า ครั้งล่าสุด (2007) พระจำนวนมากก็ถูกสังหารอย่างโหดร้าย ทหารเชื่อว่า ตัวเองเป็นที่ดีและไม่ได้สกปรกอย่างนักการเมือง เชื่อว่าทหารคือผู้ปกครองประเทศ และมีสโลแกนว่า "กองทัพบกพม่าไม่เคยยอมแพ้" ในย่างกุ้งจะเห็นป้ายชวนเชื่อขนาดใหญ่ระบุว่าต้องกำจัดศัตรูของรัฐให้สิ้นซาก นี่คือคำอธิบายว่า ทำไมจึงเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงขึ้น


 


สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ซอว์ มิน ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย ซึ่งมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจกับพม่า ไม่เคยพูดถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม สังหารหมู่ของทหารพม่าเลย บางครั้งไปเจรจาการทูตอย่างลับๆ บางครั้งก็ให้เหตุผลว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่า ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจะได้แสดงความเป็นห่วง หลังการปราบปรามพระภิกษุ แต่นั่นก็เพราะนักข่าวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิตจากการทำข่าวที่นั่น


 


ในพม่า ทุกครั้งที่มีการลุกฮือ ทหารก็จะออกมาปราบปราม มีเพียงสิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงคือ การปราบปรามจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าสลด ที่รัฐบาลซึ่งบอกว่า เป็นชาวพุทธนั้นเข่นฆ่าพระอย่างโหดร้าย


 


 


แลร์รี่ จากัน ผู้สื่อข่าวอิสระ อดีตบรรณาธิการข่าวภูมิภาคเอเชีย สำนักข่าวบีบีซี กล่าวว่า หวังจะเกิดการเจรจาขึ้นในพม่า แต่คงยากจะคาดหวังเช่นนั้น เท่าที่ติดตามสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะในฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ หรือ เกาหลีใต้ สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ ทหารไม่อยู่ค้ำฟ้า และการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเกิดจากในประเทศก่อน


 


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศไทยกับพม่านั้นแตกต่างกัน เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่าและลึกกว่าของพม่า โดย พ.ค. 1992 เป็นเหตุการณ์สำคัญ เพราะเป็นวันที่ทหารและอภิสิทธิ์ชน ตระหนักว่าไม่สามารถผูกขาดการปกครองประเทศได้อีกต่อไป และมีการต่อสู้มาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน


 


ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ พม่ามีทหารแบบไหน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นต่างจากซอว์ มิน ว่า ไม่เกี่ยวกับฟาสซิสต์ของญี่ปุ่น แต่เป็นลัทธินายพลเนวิน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวตนของนายพลเนวิน คือเป็นคนที่ไม่เชื่อใจคนต่างชาติ ไม่ไว้ใจชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า ซึ่งน่าขัน เพราะเนวินเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและความเชื่องมงาย


 


ทหารพม่าไม่ได้รับอิทธิพลจากข้างนอก ขณะที่ทหารไทย หลังจากมีอาเซียนแล้ว ก็มีความพยายามให้ทหารไม่อยู่ในอำนาจรัฐบาล แต่พม่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทหารพม่าเข้าไปอยู่ในอำนาจ และดูเหมือนว่าไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจได้ เห็นได้จากการประท้วงครั้งหลังสุด ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลทหาร ซึ่งกำลังทำให้เศรษฐกิจพม่าเลวร้ายลง


 


2 ปีที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพม่า แลร์รี่เล่าว่าได้พบกับขิ่นยุ่นและลูกน้อง พวกเขาไม่เข้าใจว่า มันมีสถานการณ์ win-win คิดแต่ว่ามี win-lose พวกเขาบอกกับแลร์รี่ว่า กองทัพบกไม่เคยเจรจา และในปี 2003 ก็ส่งจดหมายถึง อองซานซูจีว่า พวกเขาสามารถนั่งคุยกันได้ แต่จะ "ไม่มีการเจรจา"


 


อย่างไรก็ตาม แลร์รี่คาดว่า ใน 2 ปีข้างหน้าจะเห็นการชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าทหารจะทำอย่างไรกับการประท้วงที่จะมีมากขึ้น ซึ่งเขาเองกังวลว่าการปราบปรามจะหนักกว่าเดิม เขาตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้คนถูกฆ่าตายมากกว่านี้ ทั้งนี้ เขาหวังว่าอาจมีกลุ่มปฎิรูปจากในกองทัพ แต่คงหวังได้ไม่มาก


 


 


นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทั้งรัฐไทยและรัฐพม่า มีประวัติศาสตร์ไม่ต่างกัน เพราะทั้งสองรัฐมักใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาเหมือนกัน ไทยมีปัญหาความรุนแรงทางโครงสร้าง เพราะช่วงที่มีการต่อสู้เพื่อเลี่ยงการตกเป็นอาณานิคม ไทยเองได้ล่าอาณานิคมทั้งในประเทศ คือ บริเวณตอนเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบัน และบุกรุกไปในเขมร


 


ช่วงปี 1960 หลังสงครามเย็นสิ้นสุด นายพลเนวินพยายามปิดประเทศจากโลกภายนอก ขณะนั้นปี 1959 ไทยก็มีรัฐประหาร มีการเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทมากขึ้นในช่วงรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิ.ย. เป็น 5 ธ.ค. มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เปิดประเทศด้านเศรษฐกิจต่อโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐไทย และกองทัพไทย


 


ตั้งแต่ 1961 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒน์ จนเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 1973 ที่ชนชั้นกลางไทยรู้สึกว่า ทหารไม่มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ รวมถึงไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารอีกต่อไป จากเหตุการณ์ 14 ต.ค. เกิดผลพลอยจากการปฎิรูปโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจไทยโยงกับตลาดโลกมากขึ้น ต่อมา เมื่อเกิด 6 ต.ค. 1976 แม้เกิดการสังหารหมู่ แต่ก็เกิดขบวนการประชาชนขึ้น หลัง คนจำนวนมากหนีเข้าป่า มีการสังหารผู้ที่เป็นปฎิปักษ์กับรัฐและผู้นำชาวนาเสียชีวิต ขณะที่ในปี 1988 ประชาชนพม่าก็หนีเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน


 


ทั้งสองรัฐ จึงมีความคล้ายกัน ตรงที่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางโครงสร้าง และที่จับต้องได้


 


อย่างไรก็ตาม ในไทย มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ หลังรัฐประหาร 1991 ซึ่งทหารตระหนักว่าไม่สามารถปกครองประเทศได้อีกต่อไป ต่อมา 1992 อานันท์ ปันยารชุนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ จะเห็นว่ารัฐไทยต้องพบกันครึ่งทาง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและข้อเรียกร้องของชนชั้นกลาง


 


แต่ในพม่านั้นต่างกัน เหตุการณ์ 1988 ในพม่า ผ่านไปสามเดือน กว่าที่ประชาคมโลกจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่า การเจรจาจะเกิดได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นฐานเศรษฐกิจของพม่ากำลังเปลี่ยนและโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นกว่าอดีต ไม่ว่า ก๊าซ ซึ่งจีนลงทุนกับพม่า แรงงานอพยพพม่าในไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจในพม่าทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้น่าจะสร้างบริบทให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้


 


สำหรับขบวนการประชาธิปไตยในไทย และพม่านั้น ขบวนสงฆ์ของไทยค่อนข้างจะหยิบโหยงกว่าขบวนสงฆ์ในพม่า โดยของไทยมักโยงกับพุทธพาณิชย์ มากกว่าการเมืองและสังคม นอกจากนี้แล้ว การทำงานร่วมกันขององค์กรประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพม่าหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีส น่าสนใจว่า กลุ่มเหล่านี้อาจมาผลักดันเรื่องประชาธิปไตยได้ในอนาคต


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ไม่ได้สนใจเรื่องทหารเท่าไหร่นัก แต่กลับห่วงเรื่องขบวนการภาคประชาชนไทย ซึ่งแตกแยก และถกเถียงว่า จะเป็นประชาธิปไตยแบบอภิสิทธิ์ชนหรือประชาธิปไตยทางตรง ขณะที่ในพม่า เป็นประเด็นว่า รูปแบบของประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนเมื่อปีก่อน จะเห็นว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาททำให้ทราบข่าวภายในไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่ในอดีตใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้น เทคโนโลยีอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกในพม่าได้ นี่คือผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะทำให้การสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าเพิ่มมากขึ้น


 


ในส่วนของไทย เรื่องการจัดการกับผู้ชุมนุมแบบพธม. นั้น มองว่า การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ต้องยึดหลักนิติธรรมและเคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็น ให้สาธารณะตัดสินใจเอง แม้ส่วนตัวจะมองว่า พธม. เป็นพันธมิตรของอภิสิทธิ์ชน ที่เข้าใจในประชาธิปไตยต่างจากที่ตนเองเข้าใจ แต่ประเด็นคือ แม้จะไม่เห็นด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเขาเป็นอัลตร้ารอยัลลิสต์ แล้วเราต้องไปปราบเขา นอกจากนี้แล้ว  ภาคประชาสังคมไม่จำเป็นต้องก้าวหน้าเสมอไป อาจจะเป็นอนุรักษนิยม ล้าหลังก็ได้


 


 


บุรณัชย์ สมุทรักษ์ สมาชิก ASEAN Inter-Parliamentary Myanmar Caucus (AIPMC) และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเข้าใจหนทางในอนาคต ต้องเข้าใจเส้นทางในอดีตที่ผ่านมา โดยตั้งแต่


1988 เป็นต้นมา ประชาคมโลกถกเถียงกันอย่างมากว่า ควรช่วยเหลือจัดการกับปัญหาในพม่าอย่างไร โดยมีปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง


 


สิ่งที่ท้าทาย คือ 1990-1992 ช่วงที่ไทยเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า รัฐบาลชาติชายพยายามผลักดัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในอินโดจีน จนเกิดบุฟเฟต์คาบิเนต เกิดการตักตวงผลประโยชน์จากประเทศเพื่อน้บาน แต่ด้านบวก คือ ชาติชาย ภายใต้การปรึกษาของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้พยายามคุยกับเผด็จการทหารพม่า เพื่อเสนอรูปแบบของรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้ทหารคลายการกุมอำนาจลง และให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทหารแทน อย่างไรก็ตาม ต่อมา รัฐบาลชาติชายก็เจอข้อหาทุจริตอย่างหนัก เกิดรัฐประหารในไทย เผด็จการทหารพม่าจึงไม่ยอมพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญตามแบบไทย สถานการร์ในพม่าเลวร้ายลง จนปี 1992 หลังจากนั้นเมืองไทยก็มีเสวนาใหญ่ ดาไลลามะ รณรงค์เพื่อให้ปล่อย อองซานซูจี ขณะที่ ชวน หลีกภัย นายกฯ ในขณะนั้น ก็ปฎิเสธไปเยือนพม่า เนื่องจากพม่าไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นห่วงเรื่องปัญหายาเสพติด


 


เหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เผด็จการทหารพม่าก็ได้รับผลพลอยได้ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ประเทศในตะวันตก ไปลงทุนในพม่ามากขึ้น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเปิดให้จีนและอินเดียเข้าไปลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพม่ามากขึ้น การทหารมั่นคงมากขึ้น หลังปี 1997 สุรินทร์ พิศสุวรรณ รมว. ต่างประเทศในขณะนั้น ได้พยายามเปลี่ยนนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นไปสู่การมีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า อาเซียนล้มเหลวในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนต่อมา ก็มีผลประโยชน์ซ้อนเร้นในพม่า ธนาคารเพื่อการส่งออกได้ให้ดอกเบี้ยต่ำกับรัฐบาลพม่า ซึ่งเอื้อประโยชน์กับ ชินแซทเทลไลน์ ซึ่งขณะนี้เป็นคดีอยู่ในศาล


กระทรวงต่างประเทศของไทย สมัยนั้นก็แก้ต่างให้เผด็จการทหารพม่าเสมอ ราวกับเป็นโฆษกของรัฐบาลพม่า รวมถึงนโยบายสมัยสุรยุทธ์ก็น่าผิดหวังอย่างมาก เพราะไม่ได้เปลี่ยนจากยุคทักษิณ โดยได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์กับกองทัพไทย


 


หนทางสู่ประชาธิปไตยในพม่านั้นยังอีกไกล นโยบายของสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งเป็นประเทศแนวหน้าของอาเซียนที่น่าจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ยังไม่มีนโยบายที่ต่างจากเดิม เช่นเดียวกับทัศนคติต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกทำลายความเป็นมนุษย์ มีการประกาศว่า  พธม. เป็นลัทธิโอมชินริเคียว มีการส่งทหารจากต่างจังหวัดเข้ามาจัดการผู้ชุมนุมใน กทม.


 


อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวัง เพราะอาเซียนตระหนักแล้วว่า ถ้าไม่สามารถจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลได้ อาเซียนคงกลายเป็นสมาคมที่ไม่มีความหมายอะไร ทั้งนี้ ในกรณีเกาหลีเหนือ จะเห็นว่ามี 5 ประเทศเข้าร่วมในการคลี่คลายปัญหา เราอาจต้องทำเช่นนั้น โดยแก้ปัญหาแบบพหุภาคี เอาองค์การสหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วม


 


ความหวังลมๆ แล้งๆ ของประชาคมโลกที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคงลมๆ แล้งๆ ต่อไป หากไม่เปลี่ยนแปลงจากภายใน พลวัตจากภายในนั้นสำคัญ ขึ้นอยู่กับบทบาทของนักศึกษา ผู้นำทางศาสนา ไม่ว่าใน-นอกพม่า นี่คือสิ่งที่ท้าทายที่สุด เพราะเผด็จการทหาร ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้อำนาจหลุดมือ หรือให้คนชั้นกลางลืมตาอ้าปาก ไม่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ยอมให้มีสื่อเสรี ไม่ยอมให้มีขบวนการประชาสังคมในพม่า


 


 


 


 


 


 


 


เกี่ยวข้อง


ชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า รำลึก 1 ปีปฎิวัติชายจีวร เรียกร้องสันติภาพเพื่อพม่า

รำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ปรามปราบการเดินขบวนประท้วงของพระสงฆ์และประชาชนในพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net