รัฐประหาร พันธมิตรฯ และปลากระป๋อง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

 

เดือนนี้ครบรอบ 2 ปี ของเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ ซึ่งมีผลให้ไม่เพียงแต่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่เชื่อว่ารัฐประหารน่าจะได้กลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว ตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่ต้านทหาร จนพ่ายไปในที่สุด ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่

 

เวลาผ่านมา 2 ปี ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารอีกได้สูงขึ้น สูงมากกว่าโอกาสที่จะเกิดสึนามิอย่างไม่ต้องสงสัย ถึงแม้รัฐประหารครั้งล่าสุดที่อ้างว่า ก่อการเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะผ่านมา 2 ปีแล้ว ความแตกแยกทางการเมืองของไทยก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลงแต่อย่างใด แถมกลับทวีขึ้น และในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็ยังคาดหวังว่า ควรจะมี "รัฐประหารเพื่อประชาชน" อีก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง

 

เอแบคโพลล์ได้เผยตัวเลขออกมาในวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ผู้ถูกสำรวจ 37.1% เชื่อว่าการมีรัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในปัจจุบันได้

 

ทางด้านกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ (โพสต์ทูเดย์ 16 ก.ย.) ซึ่งข้อ 4 มีข้อความว่า "เราไม่ต้องการการรัฐประหารเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง" นั่นน่าจะหมายความว่า พวกเขาคงไม่มีปัญหากับ "รัฐประหารเพื่อประชาชน" อีกสักรอบกระมัง เพราะพูดตรงๆ ทุกคนก็คงทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยออกมาต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. เลย ส่วนกลุ่มที่เรียกว่า นักวิชาการหรือปัญญาชน แนวสายกลาง ที่ยอมรับการแต่งตั้งจากทหารเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างเช่น รศ.สุริชัย หวันแก้ว แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือโคทม อารียา แห่งมหิดล ก็ยังปฎิบัติกิจประจำวันใช้ชีวิตอย่างปกติ ในขณะที่สังคมไทยก็ยังติดยึดกับการอยากเห็น "รัฐประหารเพื่อประชาชน" อย่างซ้ำซาก

 

รศ.สุริชัยนั้นมาระยะหลังได้มีบทบาทแสดงความเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองมากขึ้นผ่านสถานีทีวี "สาธารณะ" ไทยพีบีเอส ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายที่ผ่านโดย สนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหาร

 

ผู้เขียนคิดว่า ปัญญาชนสองท่านนี้ควรจะกรุณาสละเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อเขียนบทความหรือหนังสือทบทวนบทบาทของปัญญาชนไทยหลายคนที่มีบทบาทในการค้ำยันระบอบทหารและวัฎจักรรัฐประหาร ให้ยืนยงถึงทุกวันนี้ หลายคนคงยังจำได้ว่า มรดกจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. นั้น รวมถึงการทำกฎหมายความมั่นคงภายในให้มีความชอบธรรมทางนิติศาสตร์ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างมหาศาลที่เขียนกำกับไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับทหาร 2550

 

2 ปีผ่านไป บทบาททางการเมืองของทหารยิ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น ดูได้จากคำถามที่นักข่าวมักชอบยิงไปที่ตัว ผบ.ทบ. คือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ก็มักวนเวียนอยู่กับเรื่องว่า ทหารคิดอย่างไรต่อเรื่องการเมือง เช่น "ท่านค่ะ ใครควรจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ค่ะ" 

 

"ท่านครับ ท่านคิดอย่างไรต่อรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ครับ"

 

"ท่านค่ะ จะมีรัฐประหารอีกไหมค่ะ"

 

หนักไปกว่านั้น ถึงแม้อิทธิพลของทหารต่อการเมืองจะแผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็คงยังไม่พอใจ จึงได้ให้สัมภาษณืแก่สื่อต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ว่า มิติหนึ่งของ "การเมืองใหม่" ของพันธมิตรฯ นั้นก็คือข้อเสนอว่า การแต่งตั้ง โยกย้าย ทหารระดับสูงควรจะขึ้นกับสภากลาโหม และให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าหรือไม่โปรดเกล้า และทหารไม่ควรขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมหรือรัฐบาล แต่ควรขึ้นกับสถาบันกษัตริย์

 

เรื่องนี้แค่นึกก็น่าหวาดวิตกแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้เมืองไทย

 

ในเมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมจะตั้งคำถามอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าทำไมผู้คนถึงเสพติดกับระบอบทหารและรัฐประหารอย่างงอมแงม

 

เมื่อไม่นานมานี้ กระบอกเสียงของกลุ่มพันธมิตรฯ คนหนึ่งได้โจมตีบรรดา "นักวิชาการเฮงซวย" ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เปรียบว่านักวิชาการที่ออกมาวิจารณ์พันธมิตรฯ เหล่านี้มีมุมมองต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งทื่อ ประหนึ่งเหมือนผู้ที่รู้จักแต่การเปิดและกินปลากระป๋อง โดยไม่รู้จักดัดแปลงให้เป็นยำปลากระป๋อง

 

แต่เรื่องนี้กลับทำให้ผู้เขียนนึกถึงกลุ่มพันธมิตรฯ และปลากระป๋องมากกว่า เพราะดูเหมือนคนในกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยยังอยากจะเห็น "รัฐประหารเพื่อประชาชน" อีกรอบ เพราะว่ามันเป็นทางออกที่ด่วนแดก ทันใจ ไม่ต้องรอไปนั่งแลกเปลี่ยนถกเถียงความเห็นทางการเมืองกับคนส่วนมากให้เสียเวลา

 

พวกเขายังคงเชื่อว่า หากมีรัฐประหารดีๆ อีกสักครั้ง เมืองไทยอาจจะกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ยุติธรรมไร้คอร์รัปชั่นได้ทันทีทันใด เร็วกว่าเวลาที่ต้องใช้ในการเปิดปลากระป๋องเสียอีก  

 

 

.................................................

แปลและเรียบเรียงจาก Still too many people urging the quick fix of a 'good' coup, the Nation, 26 ก.ย. 51

 

หมายเหตุ แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28 ก.ย.51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท