Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประสาท มีแต้ม


 



  1. คำนำ


ขณะนี้มีผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังครุ่นคิดถึง "การเมืองใหม่" ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่ามันคืออะไรกันแน่ ทราบแต่ว่า "การเมืองเดิม" ซึ่งก็คือการเมืองแบบตัวแทน (representative democracy) กำลังมีปัญหาหลายอย่างและรุนแรงขึ้นทุกขณะ


 


บทความนี้จะนำเสนอความล้มเหลวของ "การเมืองแบบตัวแทน" อย่างสั้นๆ พร้อมกับนำเสนอ "การเมืองแบบไฮเพอร์ (hyperpolitics)" ให้พอเป็นประกายเบื้องต้น หากสังคมนี้สนใจก็มีช่องทางให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไป


 



  1. สาเหตุความล้มเหลวของการเมืองแบบตัวแทน


เราท่องกันจนขึ้นใจมาตั้งแต่วัยเด็กแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการมี "การเมืองแบบตัวแทน" คือเป็นเพราะคนมันเยอะ สภามันแคบจึงต้องมีการเลือกตั้ง "ผู้แทน" เข้าไปพูด ทำหน้าที่แทนเราในสภา


 


คำถามก็คือว่า แล้วผู้แทนที่เราเลือกเข้าไปแล้ว ได้ทำหน้าที่ตามเจตจำนงที่ประชาชนผู้เลือกตั้งได้กำหนดไว้หรือไม่ ขอย้อนไปดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ สักสองตัวอย่าง


 


ตัวอย่างแรก การเปิดรัฐสภาเพื่ออภิปรายรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. ครั้งล่าสุด (รัฐบาลสมัคร) ปรากฏว่า ยังไม่ทันได้อภิปรายกันสักคำเลย ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีต่อไป


 


ตัวอย่างที่สอง ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป (ธันวาคม 2550) พรรคชาติไทยได้ให้สัญญาก่อนการเลือกตั้งว่า "จะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชาชนอย่างเด็ดขาด" จนทำให้นักวิชาการชื่อดังท่านหนึ่งถึงกับเสนอยุทธศาสตร์การลงคะแนนให้กับประชาชน แต่แล้วพรรคชาติไทยก็ได้กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองได้สัญญาไว้


 


จากตัวอย่างทั้งสองได้สะท้อนว่า "การเมืองแบบตัวแทน" เป็นสิ่งที่ล้มเหลว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เลือกได้ ไม่เฉพาะแต่สองตัวอย่างนี้ที่ชัดเจนนี้เท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ให้เห็นทั่วไปจนนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งสิ่งที่นักการเมืองชอบอ้างว่า ตนเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้ง ใครไม่พอใจอะไรก็ขอให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภา อย่าใช้คนข้างถนนจำนวนหยิบมือเดียวมาบีบ


 


จนอาจกล่าวได้ว่า การเมืองแบบตัวแทนเป็น "ยาที่หมดอายุ" ไม่ใช่ "นักการเมืองหมดอายุ" ตามที่มีการโต้เถียงกันก่อนหน้านี้


 


เราลองดูทัศนะของนักปราชญ์ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนกันสักหน่อย ท่านคือ อมาตยา เซ็น (Amartya Sen) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2531 ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับนโยบายเพื่อคนจนมาตลอด


 


นักข่าวถามท่านว่า คุณพอจะบอกเหตุผลได้ไหมว่า ทำไมจึงยึดมั่นและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่คลอนแคลนมาตลอดชีวิต? ท่านอมาตยา เซ็น ได้สรุปไว้ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ


 


1.ประชาธิปไตยอำนวยโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและถกเถียงกันด้วยเหตุผล


 


2.ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียม รวมทั้งปฏิเสธนโยบายต่างๆ ที่สังคมยอมรับไม่ได้


 


ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันคิดทบทวนดูว่า (1) ในกระบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทยได้มีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลหรือไม่ เริ่มตั้งแต่การตั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การซื้อเสียง การอภิปรายในสภาและ (2) การปฏิเสธนโยบายต่างๆ การประท้วง การร้องเรียน รวมถึงการนัดหยุดงาน เป็นสิ่งที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่


 


เท่าที่ผมได้สัมผัส ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเรามีความบกพร่องในกระบวนที่นำไปสู่ "การเมืองแบบตัวแทน" อย่างรุนแรง เมื่อกระบวนการหรือ "มรรค" บกพร่องเสียแล้ว ก็ย่อมนำไปสู่ผลที่ล้มเหลวจนต้องคิดค้นหาการเมืองใหม่


 



  1. การเมืองแบบไฮเพอร์


นักคิดบางกลุ่ม (www.edge.org ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติกับนักฟิสิกส์ท่านหนึ่งที่เขียนหนังสือชื่อ Dreams of Reason: The Rise of the Sciences of Complexity) ได้นำเอาคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ท่านหนึ่ง มาเป็นข้อสรุปถึงความล้มเหลวของประชาธิปไตยแบบตัวแทนว่า


 


"การกระจายอำนาจใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ได้ขับเอาประชาธิปไตยแบบตัวแทนออกไปแล้ว ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น ไม่เหมาะสมที่จะใช้แก้ปัญหาที่ท้าทายอยู่ข้างหน้า และการที่จะเริ่มต้นฟื้นฟูขึ้นใหม่ก็ไม่เพียงพอแล้ว ในอนาคตดูเหมือนไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมักแสวงหาความเข้มแข็งของปัจเจกบุคคล"


 


ผู้เชี่ยวชาญที่ว่านี้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เขาชื่อ มาร์ก เพสซิ (Mark Pesce) ศาสตราจารย์เพสซิได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เวที "Personal Democracy Forum" ที่ศูนย์ลินคอล์น นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนมิถุนายนนี้เอง


 


ท่านที่สนใจและสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ กรุณาเข้าไฟฟังเสียงบรรยายและอ่านเอกสารได้ที่ http://blog.futurestreetconsulting.com จะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันวิจารณ์


 


ศาสตราจารย์ท่านนี้อ้างถึงผลงานของนักวิชาการท่านอื่นๆ ว่า มนุษย์เราได้มีมานานประมาณ 6 หมื่นปี เรามีร่างกายที่ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เรามีสมองที่โตกว่า เรามีกล่องเสียงที่สามารถสื่อสารได้หลากหลายเสียง เรามีหัวแม่มือกับนิ้วชี้ที่สามารถจับสิ่งของได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น โดยสรุปคือเรามี "ฮาร์ดแวร์" ที่วิเศษมาก แต่มันใช้เวลานานมากในการพัฒนา "โปรแกรม" เพื่อมารองรับกับฮาร์ดแวร์ดังกล่าว เพื่อให้ได้ใช้งานอย่างเต็มความสามารถ


 


มนุษย์เริ่มใช้เสียง ท่าทาง เครื่องพิมพ์ในการสื่อสาร แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ต ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้สื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง


 


การสื่อสารได้ช่วยให้มนุษย์ได้มีการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


 


เมื่อสิบปีก่อน โลกได้ผ่านพ้นจากสภาพที่คนครึ่งโลกไม่เคยได้รับโทรศัพท์เลย มาสู่สภาพที่คนครึ่งโลกมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง คาดกันว่าอีก 2 ปีข้างหน้ากว่า 80% คนในโลกจะมีโทรศัพท์มือถือ


 


เมื่อปีที่แล้ว ทั่วโลกมีการส่ง SMS ถึงกันจำนวนกว่า 43 พันล้านข้อความ (เฉลี่ยคนละ 7 ข้อความต่อปี) นอกจากนี้ระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตแบบสามมิติที่สามารถตอบสนองได้ทันที (VRML) ที่มีทั้งเสียง ภาพสีและมองได้หลายมุม


 


เราเรียกการสื่อสารยุคใหม่นี้ว่า "การเชื่อมต่อแบบไฮเพอร์ (hyper connected)"


 


สังคมไทยเราเข้าใจคำว่า "ไฮเพอร์ (hyper)" จากคำว่า "เด็กไฮเพอร์" ซึ่งหมายถึงเด็กที่ไม่ค่อยปกติทางกิจกรรมที่แสดงออก ชอบอยู่ไม่นิ่ง เล่นโน่น ทำนี่ไปเรื่อย และบางครั้งอาจจะสมาธิสั้นกว่าเด็กๆ ทั่วไปด้วย ทางการแพทย์เชื่อกันว่าเด็กไฮเพอร์เกิดจากความบกพร่องที่มาจากหลายสาเหตุ รวมทั้งอาจเป็นเพราะกินของหวานจนมากเกินไปด้วย


 


ในทางวิชาการสาขาอื่น คำว่า "ไฮเพอร์" ใช้เติมหน้าคำอื่นเพื่อบ่งบอกถึงความ "มากกว่า" หรือ "เหนือกว่า" เช่น ความเร็วที่มากกว่าความเร็วเสียง เราเรียกว่า "ซุพเพอร์โซนิค(supersonic)" เราใช้คำว่า "ซุพเพอร์" เติมหน้า "โซนิก" ซึ่งหมายถึงเกี่ยวกับเสียง แต่ "ไฮเพอร์โซนิก (hypersonic)" เป็นระดับของความเร็วของวัตถุใดก็ตามที่สูงกว่าความเร็วเสียงถึงห้าเท่าตัว ดังนั้น คำว่า "ไฮเพอร์ (hyper)" จึงเหนือกว่าหรือมากกว่า "ซุพเพอร์ (super)" มากมายนัก


 


หลายสิบปีก่อน เราทั้งหลายรู้จักและเข้าใจดีถึงพลังของ"ซุพเพอร์แมน (superman)" ที่สามารถเหาะได้และแข็งแรงพอที่จะผลักลมพายุให้เปลี่ยนทิศทางได้ ในระยะหลังเรารู้จัก "ซุพเพอร์มาร์เก็ต (supermarket)" ที่ทำเอาร้านโชห่วยดั้งเดิมของเราเจ๊งไปตามๆ กัน


 


ดังนั้น เราลองจินตนาการดูซิครับว่า ถ้าเรามีคำว่า "ไฮเพอร์แมน (hyperman)" หรือ "ไฮเพอร์มาเก็ต" แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


 


ก่อนจะกล่าวถึง "การเมืองแบบไฮเพอร์ (Hyperpolitics)" ผมขออนุญาตขยายความให้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง คราวนี้แหละท่านจะเข้าใจความหมายของคำได้ชัดเจนขึ้น ในวงการคณิตศาสตร์ ถ้าเราใช้คำว่า "ไฮเพอร์" เติมหน้าคำว่า "ลูกบาศก์(cube)" ซึ่งหมายถึงรูปทรงเรขาคณิตที่เป็นรูปลูกบาศก์หรือลูกเต๋าซึ่งมีสามมิติที่เราสามารถสัมผัสด้วยสายตาหรือลูบครำได้ แต่คำว่า "ไฮเพอร์ลูกบาศก์ (hypercube)"


หมายถึงรูปทรงเรขาคณิตที่มีมิติตั้งสี่ขึ้นไป คราวนี้แหละเราคนธรรมดาๆ ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า มันคือรูปทรงอะไรกันแน่ แต่นักคณิตศาสตร์เขาเข้าใจและว่ากันไปตามภาษาของเขาได้


 


เมื่อเรามีการเชื่อมต่อแบบไฮเพอร์แล้ว สังคมจะเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ท่านเรียกการเรียนรู้นี้ว่า "การลอกเลียนแบบชนิดไฮเพอร์ (Hyperminesis)"


 


ท่านติดตามการถ่ายทอดสดของเวที "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ย่อมสังเกตเห็นพฤติกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แม้แต่คำทักทายก็ขึ้นต้นด้วย "พี่น้องเหอ สู้ไม่สู้" ฯลฯ นักเรียนบางคนขึ้นเวทีแล้วทักทายผู้ฟังซึ่งรุ่นปู่รุนย่าตนเองว่า "พี่น้องเหอ"


 


พฤติกรรมของมนุษย์ที่นิยมลอกเลียนแบบกันมาจากรุ่นแล้วรุ่นเล่า ในปัจจุบันการเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว แผ่ซ่านไปอย่างกว้างขวาง ท่านใช้คำว่า "กระจายตัวแบบไฮเพอร์ (hyperdistribution)" โดยผ่านทาง "การเชื่อมต่อแบบไฮเพอร์"


 


"มนุษย์ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยเอกสารที่เราส่งถึงกัน และแต่ละสิ่งใหม่จะกลายเป็นโปรแกรมใหม่สำหรับความรุ่งเรืองใหม่ๆ"


 


ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้จะทำให้ผู้รับได้พัฒนาขึ้น รู้เท่าทันกลลวงของนักการเมือง ท่านใช้คำว่า "ความเข้มแข็งแบบไฮเพอร์ (Hyperempowerment)"


 


ความพยายามที่จะปิดกั้นการกระจายของข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


ในตอนหนึ่ง ผู้บรรยายได้กล่าวว่า "พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีมากว่า 5 หมื่นปี อาจจะถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงภายในเวลา 20 ปี ด้วยการสื่อสารแบบไฮเพอร์"


 


การเมืองแบบไฮเพอร์จะเปลี่ยนแปลงสังคมโลกไปอย่างที่มนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ คาดไม่ถึงก็แล้วกัน ผู้บรรยายสรุป


 



  1. สรุป 

ผมเองขอเรียนตามตรงว่า ยังไม่ค่อยแตกฉานในเนื้อหาที่ได้กล่าวมาแล้วเท่าที่ควร แต่ที่ต้องรีบนำมาเสนอก็เพื่อเป็นการจุดประกายให้คนที่เรียกหาการเมืองใหม่ได้ฉุกคิด


 


ผมมีคำถามอยู่ในใจหลายข้อ เช่น เมื่อการสื่อสารแบบไฮเพอร์เกิดขึ้นแล้ว ถามว่าสังคมจำเป็นจะต้องมีตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาอีกหรือไม่ ในเมื่อตัวแทนของเราก็พร้อมจะหักหลังประชาชนอยู่ตลอดเวลา


 


หากเน้นให้แคบลงมา การสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่พร้อมๆ กับไล่ที่โรงเรียนเก่าแก่ ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net