Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ  จันทร์เรือง


 


ในสภาวะที่ผู้คนในบ้านเมืองของเรากำลังอยู่ในอาการที่เครียดและเบื่อหน่ายต่อการต่อสู้ชิงดีอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเบื่อหน่ายต่อความเหลวแหลกของระบบการเมืองในระบบตัวแทนที่มุ่งแต่ต่อรองอำนาจให้แก่กลุ่มหรือก๊วนของตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติทั้งที่อยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤติ และก็เบื่อหน่ายต่อการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรที่มีข้อเรียกร้องที่ไม่รู้จักจบสิ้นที่มาพร้อมกับ "การเมืองใหม่" ซึ่งล้าหลังยิ่งกว่าการเมืองเมื่อแรกเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เสียอีก ทำให้หลายๆคนหวนคิดถึงสังคมในอุดมคติที่เราเรียกกันว่า "ยูโทเปีย(Utopia)"


 


ยูโทเปียเป็นแนวคิดเชิงอุดมคติเกี่ยวกับโลกอันสมบูรณ์ที่ โทมัส มอร์ (Thomas More) นักปรัชญามานุษยนิยมชาวอังกฤษเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๕๑๖ ในยุคสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ แห่งราชวงศ์ทิวดอร์(สมัยเดียวกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น)  โดยเขียนขึ้นเป็นภาษาละตินและต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ๑๕๕๑ โดยราล์ฟ โรบินสัน มอร์ เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดจนได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญเมื่อปี ๑๙๓๕ และเป็นนักการเมืองมือสะอาด แต่มอร์ต้องเสียชีวิตจากการถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๕๓๕ สืบเนื่องจากความเห็นขัดแย้งทางการเมืองต่อพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด


 


เขาเห็นความลำบากยากแค้นของประชาชน ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างขุนนางกับชาวนา ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนจากรัฐไปเจรจาการค้าที่แฟลนเดอร์ หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลสแห่งเนเธอร์แลนด์ขึ้นภาษีนำเข้าขนสัตว์ในอัตราที่สูงลิ่ว


 


ระหว่างการเดินทาง มอร์เกิดแรงบันดาลใจให้นึกถึงหนังสือ Republic ของเพลโตที่ว่าด้วยการปกครองที่ดี และเมื่อย้อนนึกถึงความทุกข์ยากของอังกฤษในเวลานั้น มอร์จึงเขียนถึงสังคมในอุดมคติที่มีชื่อว่า "ยูโทเปีย(Utopia)" ขึ้น โดยตั้งใจเขียนเป็นวรรณกรรมเสียดสีล้อเลียนความโง่เขลาและความเลวร้ายของสังคมในสมัยนั้น สังเกตจากการตั้งชื่อต่างๆ อาทิ ยูโทเปีย มาจากภาษากรีก หมายถึงเมื่องที่ดีหรือเมืองที่ไม่มี ณ แห่งหนใด( eu-topia = good place และพ้องเสียงกับความหมายที่ว่า no place เช่นกัน)


 


แม้แต่ชื่อเมืองก็เช่นเดียวกัน เช่น เมืองอามอรอท(Amaurote) เมืองศูนย์กลางแห่งยูโทเปีย ก็แปลว่าเมืองแห่งความมืดมัว ส่วนตัวละครที่เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของยูโทเปียก็ชื่อ ราฟาเอล ไฮโธลเดย์(Hytholday) ซึ่งแปลว่าผู้ที่พูดแต่เรื่องไร้สาระ หรือประเทศข้างเคียงอย่างชาวโพลีเลอไรท์ส(Polylerites) ก็แปลว่าคนเหลวไหล ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงถึงเจตนาของผู้เขียนที่จะชี้ให้เห็นว่ายูโทเปียนี้เป็นเพียงเรื่องที่สมมุติขึ้นเท่านั้น


 


ยูโทเปียเป็นประเทศตั้งบนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ส่วนกว้างที่สุดยาวถึงสามร้อยยี่สิบกิโลเมตร มีแม่น้ำล้อมรอบ และมีแผ่นดินล้อมรอบอีกชั้นเพื่อกันพายุและการบุกรุก มีทางเข้าทางเดียวตรงหน้าเกาะที่มีป้อมซึ่งเป็นคุกสูงตั้งอยู่ คนไม่ชำนาญก็เข้าไม่ถูกทางเพราะจะหลงกระแสน้ำ ยูโทเปียมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ ประกอบด้วย ๕๔ เมือง โดยแต่ละเมืองมีระยะทางห่างกันด้วยการเดินไม่เกินหนึ่งวัน


บ้านเรือนของชาวยูโทเปียด้านหลังของทุกบ้านเป็นสวนปลูกดอกไม้ ผลไม้หรือผืชผัก และมีถนนอยู่ด้านหลังของสวนอีกด้วย ประตูบ้านมีสองทาง เปิดปิดได้โดยง่าย ปราศจากกลอน เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากทรัพย์สินเป็นของส่วนรวม จึงไม่มีอะไรต้องปิดบังหรือปิดกั้นไม่ให้คนอื่นใช้


 


นอกเมืองมีที่ทำการเกษตรจำนวนมาก ชาวยูโทเปียจะคัดเลือกชาวเมืองปีละสามสิบครอบครัวไปอยู่ที่ฟาร์มหรือสวนเพื่อทำงานสร้างผลผลิตให้เมืองเป็นเวลาสองปี คนที่กลับมาก็จะสอนชาวเมืองอื่นๆ ให้ทำการเกษตรเป็น แล้วพอถึงเวลาก็ไปผลัดเปลี่ยน ทุกสามสิบฟาร์มหรือสวนจะมีผู้ดูแลปกครองหนึ่งคนที่คัดเลือกขึ้นกันเอง เรียกว่า ไซโฟแกรนท์ (เทียบได้กับสมาชิกสภา)   อยู่ภายใต้การดูแลของทาร์นิบอร์(เทียบได้กับรัฐมนตรี) ซึ่งแต่ละคนดูแล สิบไซโฟรแกรนท์ เจ้าผู้ครองนครและทาร์นิบอร์ไม่สามารถออกกฎหมายโดยไม่ผ่านพิจารณาของสภา และกฎหมายฉบับหนึ่งต้องผ่านการอภิปรายหรือถกเถียงในสภาไม่ต่ำกว่าสามครั้ง การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดใดในรัฐจึงทำได้ยาก หากคนส่วนใหญ่ในเมืองไม่เห็นด้วยว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม


 


ชาวยูโทเปีย อยู่ดีกินดีมาก มีการแบ่งสรรปันส่วนอย่างเป็นระบบ ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งกันเพราะสิ่งจำเป็นในชีวิตมีพร้อมพูนแล้ว ชาวเมืองต่างทำงานตามหน้าที่ ไม่ใช้เวลาว่างไปในทางเกียจคร้าน แต่ก็มิได้ทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย ในแต่ละวันทำงานเพียงสามชั่วโมงตอนเช้า พักรับประทาอาหารกลางวัน แล้วทำงานอีกสามชั่วโมงตอนบ่าย เข้านอนตอนสองทุ่ม โดยนอนไม่ต่ำกว่าวันละแปดชั่วโมง


 


ที่ยูโทเปียไม่มีร้านเหล้า ไม่มีการพนัน หรือสิ่งยั่วยุอื่นๆ พวกเขาจึงแสวงหาแต่ความรู้หรือเพิ่มความชำนาญต่างๆ การอ่านและการถกเถียงกันเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นเรื่องปกติของชาวยูโทเปีย พวกเขาสนใจในหลากหลายวิชา แต่ที่นิยมเป็นพิเศษคือฟิสิกส์ ส่วนเกมการละเล่นที่ถนัดคือเกมคณิตศาสตร์ซึ่งต่อสู้กันด้วยตัวเลข เกมต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม หรือการฟังดนตรี


 


ยูโทเปียเป็นสังคมในฝันเพราะการสร้างค่านิยมในเรื่องการรักษาคุณธรรมและความพึงพอใจในการใช้ชีวิต ชาวยูโทเปียไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุ โดยเห็นว่าเงินและทองเป็นสิ่งหยาบช้า  ไม่มีค่า มีไว้สำหรับทำโซ่สำหรับทาส หรือจ้างคนชั่วไปทำสงครามแทน (เป็นการกำจัดสิ่งชั่วร้ายไปในตัว) ยูโทเปียไม่มีกฎหมายออกมาบังคับประชาชนมากมาย พวกเขาอยู่ร่วมกันด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใส่เสื้อผ้าเรียบง่ายคล้ายคลึงกัน เสื้อผ้าแต่ละชุดใช้ทนทานนานถึงเจ็ดปี  และผู้คนในระดับผู้ปกครองก็ไม่มีสิ่งบ่งบอกด้วยวัตถุใดใดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์หรือสิ่งประดับที่ชี้ให้เห็นว่าแตกต่างจากประชาชนอื่นๆ


 


กล่าวโดยสรุปก็คือยูโทเปียแท้ที่จริงแล้วคือรัฐที่คนในสังคมที่อยู่ด้วยศีลธรรมและคุณธรรมในการดำรงชีวิตนั่นเอง ตราบใดที่สังคมไทยเรายังยุ่งเหยิงวุ่นวายดังเช่นปัจจุบันนี้ ยูโทเปียจึงเป็นสังคมในความฝันที่จะมาทดแทนสิ่งที่เราขาดยังขาดอยู่


 


ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันใช่ไหมครับ


 


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net