โจเซฟ สติกลิตซ์ซ: การกำกับดูแลของรัฐและเหล่าผู้บริหาร สร้างวิกฤติวอลล์สตรีทขึ้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทตวามเดิม: โจเซฟ สติกลิตซ์ กล่าวว่าการกำกับดูแลของรัฐ และเหล่าผู้บริหารช่วยกันสร้างวิกฤติวอลล์สตรีทขึ้น

 

Siam Intelligence Unit

 

หมายเหตุ : โจเฟซ อี สติกลิตซ์ ศาตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2001 สำหรับงานของเขาในเรื่องเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร, เป็นคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมในปี 2008

 

ศ. สติกลิตซ์ยังเป็นผู้สนับสนุน บารัค โอบามา และล่าสุดเป็นประธานของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในช่วงการปกครองของคลินตัน ก่อนที่จะเข้าร่วมกับธนาคารโลกในฐานะหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และรองประธานอาวุโส เขาเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือกับ ลินดา บิลเมส เรื่อง "สงครามราคาสามล้านล้านเหรียญ : ต้นทุนที่แท้จริงของความขัดแย้งในอิรัก"

 

…

 

หลายคนดูตื่นตระหนกกับความเข้มข้นและความรุนแรงของ ความโกลาหลในภาคการเงินครั้งล่าสุด ผมเป็นคนหนึ่งในบรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายๆคน ที่ได้คอยเฝ้ามองและกล่าวเตือนถึงความเสี่ยงดังกล่าวมาแล้ว

 

มีคำตำหนิมากพอที่จะแบ่งปันให้รับไปอย่างถ้วนทั่ว แต่เป้าประสงค์ของการตีความคำตำหนิเหล่านั้นก็คือ เพื่อคาดเดาว่าทำอย่างไรเพื่อให้การเกิดปัญหาครั้งใหม่ส่งผลกระทบลดน้อยลง

 

ประธานาธิบดีบุชได้กล่าวคำพูดที่เป็นที่รู้จักกันดีเมื่อไม่นานมานี้ ว่าปัญหานั้นง่ายมาก : เป็นเพราะมีบ้านถูกสร้างขึ้นมามากเกินไป ซึ่งก็ถูกอยู่หรอก แต่คำตอบนี้เรียบง่ายเกินไป คำถามถัดมาคือ แล้วปัญหาคือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

บางคนอาจจะพูดว่า เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา) ล้มเหลวสองครั้ง คือล้มเหลวในการเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) และล้มเหลวในการควบคุมนโยบายการเงิน (conduct of monetary policy) การที่มีสภาพคล่อง (เงินปล่อยกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ) ที่ท่วมท้นตลาด และความหละหลวมในการกำกับดูแล นำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อฟองสบู่แตก เงินกู้แบบทดหลายชั้น ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประเมินสภาพสินทรัพย์ที่สูงเกินไป ก็พลันหลอมละลาย

 

สำหรับบรรดาเครื่องมือการเงินแฟชั่นใหม่ๆ นี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาวิกฤตการณ์ทางการเงิน ที่มีพื้นฐานอยู่บนการเพิ่มพลังทางการเงินหลายชั้น หรือการกู้ยืม และโครงการที่เป็นลำดับชั้นพิรามิด

 

"นวัตกรรม" ใหม่ๆ เหล่านี้ก็เพียงแต่ ซุกซ่อนขอบเขตของการสร้างแรงทดที่เป็นระบบ และทำให้ความเสี่ยงนั้นลดความโปร่งใสลง และเป็นเพราะบรรดานวัตกรรมเหล่านี้แหละ ที่ได้ทำให้การพังทะลายครั้งนี้ มีความตื่นเต้นเร้าใจเสียยิ่งกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินก่อนหน้านี้ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องตอบเพิ่ม : เหตุใดเฟดจึงล้มเหลว?

 

ประการแรก คีย์หลักในการกำกับดูแลอย่าง อลัน กรีนสแปน ไม่ได้เชื่อถือในเรื่องการกำกับดูแลสักเท่าใดนัก เพราะเมื่อมีข้อสังเกตเรื่องส่วนเกินในระบบการเงินขึ้นมา พวกเขาก็เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลตนเอง — นี่เป็นความเขลาอย่างไร้ที่ติ

 

ประการที่สอง ระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ตกอยู่ในรูปแบบที่เลวร้ายจากฟองสบู่ไฮเทค การตัดภาษีเมื่อปี ค.ศ. 2001 ไม่ได้เป็นการออกแบบเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นการให้ของขวัญแก่พวกคนมั่งคั่ง — กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากเมื่อปลายควอเตอร์ของศตวรรษก่อน

 

การุณยฆาต (The coup d"grace) คือสงครามอิรัก ที่ส่งผลให้มีการถีบตัวของราคาน้ำมัน เงินที่เคยถูกจับจ่ายใช้สอยสินค้าสหรัฐตอนนี้ก็ถูกเบี่ยงเบนออกไปต่างประเทศ เฟดต้องเอาใจใส่อย่างยิ่งยวดเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

 

สิ่งที่ทำก็เป็นเพียงแต่การแทนที่ฟองสบู่ไฮเทคด้วยฟองสบู่ลูกใหม่ ซึ่งก็คือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ การออมทรัพย์ภาคครัวเรือนดิ่งฮวบลงเป็นศูนย์ ถึงระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ครั้งการถดถอยครั้งใหญ่เป็นต้นมา เฟดพยายามบริหารเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ แต่แนวทางที่ทำนั้น เป็นเรื่องสายตาสั้น เพราะอเมริกายังชีวิตอยู่บนเงินและเวลาที่หยิบยืมจากคนอื่นมา

 

ประการสุดท้าย ศูนย์กลางของคำตำหนิทั้งหลายควรลงไปยังสถาบันการเงินโดยตรง สถาบันทั้งหลายนี้ — และความจริงคือเหล่าผู้บริหาร — มีแรงจูงใจที่ไม่พ้องไปกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมของเรา

 

พวกเขาได้รับรางวัลมากเพียงพอ ในข้อสันนิษฐานการบริหารความเสี่ยงและจัดสรรเงินทุน ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เพียงพอที่จะคุ้มสำหรับการที่พวกเขามีผลตอบแทนอย่างล้นเหลือเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาจัดสรรเงินทุนผิดพลาด พวกเขาบริหารความเสี่ยงผิดพลาด — พวกเขากลับเป็นตัวสร้างความเสี่ยงเสียเอง

 

พวกเขาทำในสิ่งที่โครงสร้างแรงจูงใจได้ถูกออกแบบมา นั่นคือการพุ่งเป้าไปยังผลกำไรระยะสั้น และกลับส่งเสริมการเข้าไปรับความเสี่ยงมากเกินไป

 

นี่ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรกของเราในระบบการเงิน ยิ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่บรรดาคนที่เชื่อในตลาดเสรีและไร้การกำกับดูแล วิ่งมาหารัฐบาลเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองช่วยเหลือ มีรูปแบบที่นี่ สิ่งที่ชี้แนะถึงปัญหาเชิงระบบระดับลึก — และกระบวนการแก้ปัญหาหลายแนวทาง

 

1. เราต้องเข้าไปแก้ไขแรงจูงใจสำหรับผู้บริหารเป็นอันดับแรก ลดขอบเขตของผลประโยชน์ทับซ้อน และปรับปรุงข้อมูลของผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการลดมูลค่าหุ้น ที่เกิดจากสิทธิเลือกซื้อหุ้น (stock option) เราควรจะลดแรงจูงในสำหรับการเข้าไปรับความเสี่ยงมากเกินไป รวมทั้งการมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายระยะสั้นซึ่งมีมานานมากเกินพอแล้ว ตัวอย่างเช่น กำหนดให้โบนัสจ่ายบนพื้นฐานของผลตอบแทนในระยะเวลาห้าปี แทนที่จะกำหนดเป็นผลตอบแทนรายปี

 

2. ประการที่สอง เราต้องสร้างคณะกรรมการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกซื้อและขายโดยธนาคาร กองทุนบำเน็จบำนาญ ฯลฯ ปลอดภัยพอสำหรับ "การบริโภคของมนุษย์" เฉพาะผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงจะได้รับเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ตามที่ตนต้องการ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ใช้เงินคนอื่นไปเล่นการพนัน บางคนอาจจะมองว่านี่อาจจะไปปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่นี่จะเป็นการดีที่จะกลับมาพิจารณาถึงนวัตกรรมที่เรามี — หรือก็คือความพยายามในการทำลายระบบการตรวจสอบและการกำกับดูแล สิ่งที่เราต้องการก็คือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สะท้อนถึงความต้องการของคนอเมริกันธรรมดาๆ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านเมื่อสภาวะทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป

 

3. เราต้องสร้างคณะกรรมการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน เพื่อตรวจสอบภาพรวมของระบบการเงินทั้งระบบ ตรวจสอบความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของบรรดาคนที่เกี่ยวข้องกันทั้งหลาย เพื่อป้องกันการสร้างแรงทดเชิงระบบมากจนเกินไป ดังที่เราได้มีประสบการณ์มา

 

4. เราต้องการกำหนดมาตรการกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อปรับปรุงความปลอดภัย และมีเหตุผลพอต่อระบบการเงินของเรา อย่างเช่น "กันชนความเร็ว" เพื่อลดการกู้ยืม จากประวัติศาสตร์แล้ว การขยายการกู้ยืมอย่างรวดเร็ว ต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญต่อวิกฤติ และวิกฤติครั้งนี้ก็ไม่เป็นข้อยกเว้นเช่นกัน

 

5. เราต้องการกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น รวมทั้งกฎหมายในการป้องกันการกู้ยืมแบบไล่ล่า

 

6. เราต้องการกฎหมายการแข่งขันที่ดีขึ้น สถาบันการเงินสามารถกัดกินเหยื่อที่เป็นลูกค้าจากบัตรเครดิตได้ง่ายเป็นเพราะการขาดการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เราไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า บรรษัทนั้น "ใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม" ก็ถ้ามันใหญ่ ก็ต้องแตกมันให้เล็กลง

 

การปฏิรูปเหล่านี้อาจไม่รับประกันว่าเราจะไม่พบวิกฤติครั้งต่อไป สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายในตลาดการเงินนั้นดูน่าประทับใจ แต่ในที่สุดแล้ว พวกเขาก็จะมองออกว่าควรจะหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลต่างๆได้อย่างไร แต่การปฏิรูปครั้งนี้จะทำให้วิกฤติครั้งใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้เกิดได้ยากขึ้น และหากมันเกิดขึ้นอีกก็จะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่ควรเป็น

 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

CNN : Commentary: How to prevent the next Wall Street crisis

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท