ปัญหาการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บุญยืน สุขใหม่

เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

 

ปัจจุบันการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงกำลังแผ่ขยายไปทั่วเราจะเห็นได้ว่าในสถานประกอบการต่างๆ มีคนงานจากหลายบริษัททำงานร่วมกัน อยู่ในตำแหน่งหน้าที่แบบเดียวกัน แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่แตกต่างกัน โดยที่คนงานเหมาค่าแรงจะได้รับค่าแรง สวัสดิการ และสิทธิ์ประโยชน์ที่เลวกว่าลูกจ้างประจำของสถานประกอบการ และนายจ้างที่แท้จริงจะปฏิเสธความรับผิดชอบในการปฏิบัติการตามกกหมายคุ้มครองแรงงาน การจ้างงานแบบนี้ได้ทำลายเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถานประกอบการเดียวกันต้องมีสภาพการจ้างเดียว ทำลายหลักการของค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน รวมทั้งยังทำลายความมั่นคงในการทำงานและสิทธิแรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก และที่สำคัญคือได้ทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) ในหมดที่ 7 เรื่องแนวนโยบายเศรษฐกิจ มาตรา 84 ดังต่อไปนี้ "(7) รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ"

 

และได้มีการแก้กฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจึงได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2551 (ฉบับที่ 2) เรื่องการจ้างเหมาค่าแรง มาตรา 11/1 วรรคสอง คือ "ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ"

 

หลังจากวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ ความหวังที่คนงานเหมาค่าแรงคาดหวังไว้ได้ถูกทำลายลงไปอย่างไม่ใยดีจากนายจ้าง และยิ่งเป็นการตอกย้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถที่จะให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ วันนี้จึงมีคำถามมากมายจากผู้ใช้แรงงานว่าเกิดอะไรขึ้นกับขบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทย หันมาดูขบวนการแรงงานของไทยสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน ในประเทศไทยมีทั้งหมด 12 สภาองค์การลูกจ้างแรงงาน ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ สหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์กรแรงงาน ที่ถือว่ามีการจัดตั้งที่เข้มแข็งที่คาดว่าจะเป็นองค์กรนำของขบวนการแรงงานในการแก้ไขปัญหาได้ หาได้ทำหน้าที่ของตนเองไม่ กลับไปรับใช้อำนาจทุนนิยมเรียกร้องหาเผด็จการในเวทีทางการเมือง ปัญหาของคนงานเหมาค่าแรงในภาคเอกชน ปัญหาลูกจ้างชั่วคราวในภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ถูกมองข้ามจากชนชั้นผู้นำของประเทศไทย

 

แม้ว่าระบบการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงจะขัดต่อหลักการต่างๆ มากมาย แต่การจ้างงานแบบนี้กลับขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนหลายสถานประกอบการมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากกว่าลูกจ้างประจำ นั่นเป็นเพราะว่าการจ้างงานเหมาค่าแรงทำให้นายจ้างลดต้นทุนการผลิตลงไปได้อย่างมาก และขณะเดียวกันยังทำให้คนงานรวมตัวกันยากอีกด้วย การจ้างงานแบบนี้จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่นายจ้างนำมาเพื่อลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน สหภาพฯแรงงานหลายแห่งอ่อนแอลง เนื่องจากพนักงานเหมาค่าแรงไม่กล้าเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน เพราะถูกนายจ้างข่มขู่ กลัวถูก "เปลี่ยนตัว" ตกงาน จนกระทั่ง "ยอมจำนน" ยอมรับสภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ขณะที่สหภาพฯแรงงานเองก็กลับเห็นว่าพนักงานเหมาค่าแรงกำลังมาแย่งงานพนักงานประจำและทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ ความไม่เข้าใจกันและแบ่งแยกกันเองพวกเราผู้ใช้แรงงาน ทำให้อำนาจการต่อรองของคนงานลดน้อยลง พร้อมกับสภาพการจ้างที่เลวลงไปเรื่อยๆ

 

ค่าจ้างขั้นต่ำกับชีวิตบัดซบของกรรมกรไทย

เพื่อนผู้ใช้แรงงานที่รักทั้งหลาย นานแค่ไหนแล้วที่เราต้องอดทนทำงานหนัก เสี่ยงอันตราย และส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลานานหลายชั่วโมง จนร่างกายเสื่อมโทรมและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำๆ เพียงเพื่อแลกกับเศษเงินของนายจ้างเป็นค่าแรงราคาถูกที่พอแค่เลี้ยงชีพได้ไปวันๆ

 

รัฐบาลทุกชุดมุ่งเน้นแต่เรื่องส่งเสริมการลงทุน ช่วยเหลือและให้สิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมายแก่นักธุรกิจ รวมทั้งพยามยามควบคุมค่าจ้างให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้กรรมกรอย่างพวกเราต้องยากจนดักดาน กินแต่อาหารที่ราคาถูกเสียยิ่งกว่าอาหารสุนัขของนายจ้าง ต้องทนอาศัยอยู่ในห้องเช่าแคบๆ บ้างก็มีหนี้สินเรื้อรังกระทั่งทำงานจนตายก็ไม่มีปัญญาใช้หมด ชีวิตต้องคงวนเวียนซ้ำซากอยู่กับการขายแรงงาน จากโรงงานหนึ่งยังอีกโรงงานหนึ่งชั่วลูกชั่วหลาน

 

ถึงเวลาแบ่งแยกแล้วทำลาย

พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่รัก สถานการณ์การจ้างงานแบบเหมาค่าแรงกำลังทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราแร้นแค้นลงทุกวัน นายทุนเขามุ่งที่จะขูดรีดแรงงานจากพวกเราด้วยวิธีการจ้างงานแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างกำไรให้มากที่สุด ขูดรีดไม่เลือกไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทไหน มีแต่คนงานเท่านั้นที่หลงไปตกอยู่ในเกมแบ่งแยกแล้วทำลายของพวกนายทุน

 

ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน สลัดความแบ่งแยกกันเองระหว่างพนักงานประจำและคนงานเหมาค่าแรงออกไป ทดแทนด้วยความคิดใหม่ที่ว่า "กรรมกรทั้งผอง พี่น้องกัน" สลัดความรู้สึก "ยอมจำนน" เปลี่ยนเป็น "ลุกขึ้นสู้" ขบวนการกรรมกรต้องเชื่อมั่นในพลังของการรวมตัวกันเราต้องรณรงค์ เคลื่อนไหวผลักดัน เพื่อกำหนดให้ "ภายในสถานประกอบการเดียวกันต้องมีสภาพการจ้างเดียว" ระบบการจ้างงานต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม

 

ค่าจ้างในระบบทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมนั้น คนส่วนใหญ่อย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเรียนสูงหรือเรียนต่ำ ต่างมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายแรงงานให้นายทุน ส่วนพวกนายทุนก็มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยดอกผลที่งอกเงยมาจากแรงงานของพวกเรา นายทุนทั้งหลายคิดแต่ว่า จะทำอย่างไรให้การผลิตเพื่อสะสมความมั่งคั่งของตัวเองดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างไรจึงจะสูบเอาดอกผลจากแรงงานของกรรมกรให้ได้มากที่สุด ดังนั้นแทนที่นายทุนจะคิดค่าแรงให้เราโดยดูจากมูลค่าของผลผลิตหรือส่วนแบ่งกำไรที่เราสร้างขึ้น พวกเขากลับจ่ายค่าจ้างเพียงเพื่อให้พวกเรามีเรี่ยวแรงมาทำงานต่อในวันพรุ่งนี้ และมีแรงงผลิตลูกหลานออกมารับช่วงเป็นกรรมกรต่อจากเราในอนาคตเท่านั้น อย่างนี้แหละเพื่อนเอ๋ยที่เขาเรียกว่า มัน "ขูดรีด" กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท