Skip to main content
sharethis


ผู้ประท้วงถือภาพนายพลอองซาน บิดาแห่งการเรียกร้องเอกราชของพม่า และภาพบุตรสาวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี (ที่มา: AP Photo/Apichart Weerawong)


 



ผู้ประท้วงชาวพม่าที่หน้าสถานทูต (ที่มา: REUTERS/Chaiwat Subprasom)


 



เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพการชุมนุม (ที่มา: REUTERS/Chaiwat Subprasom)


 


 


ชาวพม่าในไทยประท้วงหน้าสถานทูตรำลึก 1 ปี การปฏิวัติชายจีวร


วานนี้ (18 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักกิจกรรมชาวพม่าจำนวนกว่า 20 คน รวมตัวกันเดินทางเข้ามาบริเวณสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เพื่อรำลึกการครบรอบ 1 ปี การประท้วงรัฐบาลพม่าในเดือนกันยายน 2550 หรือการปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution)


 


มีการยื่นหนังสือผ่านทางสถานทูต เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ให้เป็นอิสระ ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ให้มีเสรีภาพสื่อ และให้รัฐบาลทหารพม่าคืนอำนาจแก่ประชาชน


 


โดยการชุมนุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์ก่อกวนใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้จัดกำลังมาคอยอำนวยความสะดวก และควบคุมการจราจรตลอดเวลา


 


สำหรับเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากการประท้วงการประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง 5 เท่าของรัฐบาลและประท้วงราคาสินค้าแพงเมื่อกลางเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยการประท้วงเริ่มต้นจากกลุ่มอดีตนักศึกษารุ่น 1988 และต่อมาเริ่มมีพระสงฆ์ออกมาประท้วง


 


โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ปีที่แล้วนับเป็นวันแรกของการปฏิวัติชายจีวรที่พระสงฆ์นับพันรูปใน 4 เมืองใหญ่ของพม่าได้แก่ย่างกุ้ง ซิตตะแหว่ ป่าโคะกู่ และมัณฑะเลย์ออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ หลังจากพ้นเส้นตายคืนวันที่ 17 ก.ย. 51 ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าในเมืองป่าโคะกู่ออกมาขอโทษพระสงฆ์ในเมือง หลังจากเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ทหารพม่าสลายการชุมนุมของพระสงฆ์ในเมืองป่าโคะกู่ที่ชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาน้ำแพง ทำให้มีพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ 3 รูป


 


โดยพระสงฆ์ออกมาประท้วงหลายเมืองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. และเรื่อยมาจนถึงการประท้วงในวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งมีพระสงฆ์และประชาชนออกมาชุมนุมร่วมแสนคน กระทั่งถูกรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามในเวลาต่อมา


 


 


ซูจียอมรับอาหารปันส่วนแล้ว หลังประท้วงงดรับอาหารร่วม 1 เดือน


สำหรับความเคลื่อนไหวของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพวัย 63 ปี ซึ่งถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านของนางริมทะเลสาบย่างกุ้ง เป็นเวลาส่วนใหญ่ในชีวิต 19 ปีหลังนี้ อาหารปันส่วนที่ได้รับในแต่ละวันเป็นอาหารเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวของนาง โดยสถานการณ์ในพม่าล่าสุดนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารพม่าเผยเมื่อวันอังคารว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยังถูกกักบริเวณในบ้านพัก ยอมรับอาหารจากทางการพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน


 


"คนรับใช้ของนางยอมรับเสบียงอาหารแล้วเมื่อเย็นวันจันทร์ (15 ก.ย.)" เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวโดยขอปิดบังชื่อ


 


อย่างไรก็ดี เนียน วิน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กล่าวว่า เขายังไม่สามารถยืนยันข่าวนี้ได้ "ผมรู้ว่าเสบียงถูกส่งไปที่บ้านของนางเมื่อเย็นวันจันทร์ แต่ผมยังไม่รู้ว่านางยอมรับไว้หรือไม่" เขากล่าว


 


เมื่อวันอาทิตย์นั้น แพทย์ประจำตัวของซูจีมีโอกาสเข้าไปตรวจสุขภาพของนางและใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพของนางซูจี จี วิน ทนายความของซูจี เผยว่าแพทย์ตรวจพบว่านางขาดอาหารหลังจากนางปฏิเสธรับอาหารส่วนใหญ่ที่ได้รับแจกจ่ายจากรัฐบาลทหารมาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม


 


ทนายผู้นี้เผยด้วยว่า ซูจีกับคนรับใช้ 2 คนของนางต้องพึ่งเสบียงอาหารปริมาณเล็กน้อยที่เหลือเก็บไว้ในบ้าน เขายืนยันด้วยว่า ซูจีไม่ได้อดอาหารประท้วง แต่นางปฏิเสธรับอาหารที่ทางการนำมาส่งให้ เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


 


ความกังวลปัญหาสุขภาพและการบริโภคอาหารของนางซูจีทำให้รัฐบาลทหารพม่ายอมให้นางได้พบกับทนายความของนางหลายครั้งอย่างที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้ทนายเข้าหารือเกี่ยวกับการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งกักบริเวณนาง


 


จี วิน บอกว่า เขาได้หารือกับรัฐบาลทหารถึงวิธีที่จะผ่อนคลายกฎการกักบริเวณ เช่น อนุญาตให้นางได้รับจดหมายจากภายนอก หรือยอมให้คนรับใช้ทั้งสองของนางสามารถเข้านอกออกในบ้านพักได้อย่างอิสระ


 


 


กระบอกเสียงพม่าอ้างจับสมาชิกเคเอ็นยูวางระเบิดที่พะโค


หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ เมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่ารายงานเมื่อวันอังคาร (16 ก.ย.) ว่า พม่าจับกุมตัวนายซอว์ ยะ โค สมาชิกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู ซึ่งเป็นกองกำลังกบฏ ในข้อหาลอบวางระเบิดร้านวิดีโอ คาเฟ่ ในเมืพะองโค ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กชายวัย 13 ปี และเด็กสาววัย 20 ปี พร้อมทั้งเตือนว่า กลุ่มกบฏเคเอ็นยูอาจกำลังวางแผนโจมตีอีก


 


นายซอว์ ยะ โค ยอมรับสารภาพว่าได้วางระเบิดถล่มร้านวิดีโอ คาเฟ่ และยังรับสารภาพด้วยว่าได้วางระเบิดที่ร้านขายของชำ แต่ถูกเก็บกู้ไว้ได้ทัน


 


นิว ไลท์ เมียนมาร์ รายงานอีกว่า ขณะนี้ มีสมาชิกหัวรุนแรงของกบฏเคเอ็นยูอีก 5 คน และกลุ่มนักศึกษาที่ถูกเนรเทศ 2 คน ได้ลักลอบเข้ามาในประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจในการวางระเบิดโจมตีทั่วกรุงย่างกุ้ง เมืองใหญ่สุดของพม่าอีก หากพบเห็นบุคคลผู้ต้องสงสัย ประชาชนควรจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย


 


ที่มา: แปลและเรียบเรียงจากเอพี รอยเตอร์ และเดลินิวส์


 


อ่านเพิ่มเติม


2007 Burmese anti-government protests, wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/2007_Burmese_anti-government_protests

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net