คน ระบบ หรือ กรรม ทำวิกฤติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์

ชื่อบทความเดิม : คน ระบบ หรือกรรม ที่ทำให้บ้านเมืองวิกฤติ 

 

 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุบ้านการเมืองหรือสถานการณ์ใดที่ทำให้สังคมระส่ำระสาย เกิดวิกฤติ หรือมีความขัดแย้งที่รุนแรงจนยากจะหาทางออก เรามักจะพูดถึงสาเหตุแห่งเรื่องราวทั้งหมดอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) ระบบที่ไม่ดี (อาจจะเป็นระบบการเมือง การควบคุมทางสังคม การถ่วงดุล หรือการตรวจสอบ) และ 2) คุณภาพของคนไม่ดี แต่ทั้ง 2 ประเด็นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่จนแยกไม่ออก ระบบที่ไม่ดีก็ยากที่จะทำให้ได้คนมีคุณภาพ ขณะที่คนที่ไม่มีคุณภาพย่อมสร้างระบบที่ดีได้ยากเช่นกัน

 

แล้วระบบ คือ อะไร "ระบบ" หรือ System เป็นหน่วยความสัมพันธ์หนึ่งที่มีโครงสร้างและ องค์ประกอบต่างๆ ทำหน้าที่ร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน

 

ดังนั้น การที่จะนำพาระบบไปสู่จุดหมายได้นั้นต้องเกิดจากการทำหน้าที่ร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบอย่างสอดคล้องประสานกัน มีความสมดุล พอเหมาะพอดี และมีกลไกการควบคุมความสัมพันธ์ที่สามารถเกื้อหนุนให้องค์ประกอบต่างๆ ได้ทำหน้าที่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อใดที่ระบบขาดสมดุล ด้วยกลไกการควบคุมไม่ดี ด้วยองค์ประกอบไม่ทำหน้าที่อันควรกระทำ เมื่อนั้นระบบย่อมนำพาไปสู่ความเสื่อมและล่มสลายไปในที่สุด          

 

กระบวนการพัฒนาคุณภาพของคน จึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการสร้างระบบควบคุมให้กระบวนการเหล่านั้นได้ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเมื่อใดที่ระบบนั้นเสื่อมจนไม่สามารถพัฒนาคนต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องล้างระบบใหม่ หรือสร้างระบบอื่นมาทดแทน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุด

 

ระบบ ระบอบต่างๆ ในสังคมทุกวันนี้ล้วนเป็นเพียงสมมุติ ไม่ได้จีรังยั่งยืนอะไร แม้แต่ระบบการเมืองการปกครองก็ตาม ประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตยมา 75 ปี ก็ถือว่าอายุยังน้อยเมื่อเทียบกับระบบเก่าที่เคยใช้กันมา แต่ด้วยเหตุปัจจัยในแต่ละยุคสมัยย่อมทำให้ระบบนั้นแตกต่างกันไป เช่น ในระบบกษัตริย์เป็นใหญ่สมัยก่อน พระเจ้าแผ่นดินย่อมมีอำนาจ และใช้อำนาจผ่านกลไกต่างๆ ได้แก่ ขุนนาง ไพร่ และทาส เป็นระบบชนชั้นที่ต้องทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อรักษาระบบ หรือสังคมนั้นไว้ ซึ่งเราอาจจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างผู้มีอำนาจล้นฟ้ากับคนอีกนับล้านที่ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกเฆี่ยนตี แต่โดยรวมแล้วแม้จะต่างกันด้วยสถานะทางสังคมแค่ไหน แต่การดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็ไม่ได้ต่างกันมาก ไม่ว่ากษัตริย์หรือทาสก็อาจจะตายด้วยโรคง่ายๆ เช่น อหิวาห์ หรือ ไข้ทรพิษ

 

ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจึงเป็นเหตุปัจจัยให้การใช้อำนาจนั้นอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ "ทศพิศราชธรรม" ด้วย นั่นคือ ระบบควบคุมอำนาจสูงสุด และเมื่อกษัตริย์ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในธรรม ก็จะถูกแย่งชิงบัลลังก์ได้โดยง่าย เพราะขุนนาง ทหาร หรือเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเองรวมหัวกันโค่น หรือไม่ก็เพราะอาณาจักรอื่นที่แข็งแกร่งกว่าเข้ามาบุกยึดเอา

 

เมื่อทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง วิทยาการ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผู้คนพัฒนาขึ้น สังคมมีความซับซ้อนและเริ่มมีคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาเสรีภาพ จึงต้องมีระบบควบคุมความสมดุลที่ก้าวหน้าให้ทันกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จะใช้ระบบที่กษัตริย์ หรือผู้นำเดี่ยวในรูปแบบอื่นๆ มีอำนาจมากๆ แล้วใช้อำนาจนั้นผ่านเทคโนโลยี ความทันสมัย หรือความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์นั้นคงไม่ได้ เพราะความเสียหายจะมากมายหลายเท่าทวี ยกตัวอย่างเช่น การจะริเริ่มขุดคลองขยายระบบชลประทาน หรือขยายพื้นที่ทำนาในเขตภาคกลางเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ต้องใช้เวลานับ 100 ปี จนถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งใช้คนไปก็มาก ล้มตายไปเสียก็เยอะ ต้องกวาดต้อนผู้คนจากลาว จากอีสาน ไปอยู่แถบภาคกลาง เช่น สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี จนไม่ได้มีโอกาสกลับบ้านเกิด

 

แต่ทุกวันนี้แค่เพียง ครม.อนุมัติงบประมาณ จะขุดคลองเป็น 1,000 กิโลเมตร จะผันน้ำข้ามประเทศ จะถมทะเลสร้างเมือง จะเอาอุทยานแห่งชาติทั้งประเทศให้เอกชนไปสร้างโรงแรม รีสอร์ท หรือแม้แต่จะสร้างสนามบินใต้น้ำ ก็คงทำกันได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี และถ้าการกระทำนั้นไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คน ก็จะเกิดผลกระทบและความขัดแย้งมากมาย แล้วระบบสังคมโดยรวมจะอยู่ได้อย่างไร ระบบก็ต้องเพี้ยน ขาดสมดุล และมีแต่จะล่มจมไปเท่านั้น นี่ก็คือเหตุปัจจัยและความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบให้ทำงานรู้เท่าทันคนและเทคโนโลยี  

 

เมื่อนักการเมืองต่างก็จ้องอาศัยโครงการพัฒนาแบบนี้หาประโยชน์ใส่ตัว ผ่านระบบการเลือกตั้งที่ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้เป็นผู้แทน เช่น โกงเลือกตั้ง และซื้อเสียงเพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล หรือมีตำแหน่งใน ครม. แล้วร่วมกับข้าราชการกังฉิน นายทุนสามานย์ ออกนโยบาย และโครงการพัฒนาที่ตนเองได้ประโยชน์ โดยอาศัยกลไกที่สำคัญที่สุด คือ การผันเงินงบประมาณไปสู่ระบบเศรษฐกิจ อาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นเครื่องมือให้โครงการนั้นๆ ดำเนินการไปได้ และสิ่งที่ดูเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดก็ต้องบอกว่า "เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญของบ้านเมือง" คือ ถ้าเป็นระบบแบบนี้แล้วเราเรียกมันว่า "ประชาธิปไตย" ก็อย่าเป็นเสียเลยดีกว่า ก็ยึดอำนาจเป็นเผด็จการแล้วก็ทำตามใจตนเองไปเลย อันนี้ต้องบอกว่าสังคมไทยเข้าใจกันผิด อ้างเหตุผลเพื่อรักษาประชาธิปไตยแบบผิดๆ

 

สังคมปัจจุบันจึงต้องการระบบที่ดีในการตรวจสอบ ถ่วงดุล มีส่วนร่วม วิพากษ์วิจารณ์ได้ และสำนึกรับผิดชอบ ดังนั้น สังคมจะสมดุลอยู่ได้ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นกับประชาธิปไตยเชิงปริมาณอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ได้ เพราะสังคมต้องการระบบ หรือระบอบอะไรก็ได้ที่สามารถทำหน้าที่ 2 อย่างนี้ คือ 1) ให้ความสำคัญกับการยกระดับทางจิตวิญญาณของคน 2) สร้างระบบความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่กำลังทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้ได้พยายามที่จะทำในสิ่งนี้กันมากน้อยเพียงใด

 

นั่นคือเรื่องของระบบ ส่วนเรื่องคุณภาพของคนนั้น มีหลายๆ สิ่งในชีวิตที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราน้อมนำมาสู่ตนเองอย่างแยบคาย คือมี "โยนิโสมนสิการ" มีการพิจารณาอย่างลึกซึ้งรอบด้าน ก็จะนำมาสู่สำนึกภายในที่ดีขึ้น มีความเจริญงอกงามทางความคิดและเติบโตขึ้นได้ จริงๆ แล้วก็เริ่มจาก System thinking (การคิดเชิงระบบ) คนจะมีคุณภาพได้ต้องหัดคิดเชิงระบบให้เป็น ซึ่งในทางพุทธศาสนาก็คือหลัก "อิทัปปัจจยตา" หมายถึง ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลของสรรพสิ่ง เมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิด สิ่งหนึ่งย่อมเกิดตามมา และไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไป หรือเมื่อยังมีเหตุให้เกิดอยู่ก็ย่อมมีผลอันเกิดจากเหตุในสักวันหนึ่ง "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธองค์ตรัสถึงเหตุแห่งธรรมนั้น และทางดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น" ดังที่ พระอัสสะชิ แสดงต่อมานพบุตรของพราหมณ์ผู้หนึ่ง จนดวงตาเห็นธรรม และตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุ นามว่า พระสารีบุตร และได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า

 

จะคิดเชิงระบบได้ก็ต้องใจกว้าง เปิดรับข้อมูลอย่างรอบด้านทุกมิติ (ไม่ใช่รับแต่ข้อมูลที่ตัวเองชอบ) แล้วนำมาเชื่อมโยงหาเหตุ หาผล หาความเป็นมาเป็นไป จนเข้าใจที่มาที่ไป และผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น แล้วรู้ว่าจะต้องตัดสินใจ หรือแก้ไขในจุดใดที่เป็นสาเหตุหลักแห่งปัญหานั้น แล้วก็แสวงหาหนทางวิธีการแห่งการดับเหตุนั้น นั่นคือ "ธรรมจักรกัปวัฏสูตร" กงล้อแห่งธรรม อันมีอริยสัจ 4 เป็นหัวใจ โดยมีหนทางแห่งมรรค 8 เป็นพลังขับเคลื่อน เป็นกระบวนการคิดเชิงระบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เมื่อ 2500 ปีมาแล้ว จริงๆ แล้วสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มิได้เกิดจากการคิดวิเคราะห์ในสภาวะปกติ แต่เป็นปัญญาวิเคราะห์ที่เกิดจากการภาวนา หรือ "ภาวนามยปัญญา" เป็น วิปัสนาญาณ ซึ่งเป็นญาณหยั่งรู้ในภาวะที่จิตมีความสงบที่สุด (สมาธิ) จะเกิดพลังทางปัญญาอันมหาศาล (เป็น system thinking ในฌานสมาธิ) ซึ่งสูงส่งกว่าปัญญาจากการคิดวิเคราะห์ธรรมดา หรือ "จินตมยปัญญา" ที่พวกเราเข้าใจอย่างเทียบกันไม่ได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วนำมาสั่งสอน นำมาสร้างระบบ จึงเป็นสัจธรรมอันจริงแท้ เป็น "อะกาลิโก" (เหนือกาลเวลาไม่ล้าสมัย) เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบที่สุด พระองค์จึงไม่ให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมในสิ่งที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติ ซึ่งก็คือพระธรรมวินัยทั้งหลายนั่นเอง

 

System thinking ของพระพุทธองค์ จึงเป็นภาวะที่ไม่มีกิเลส ตัณหาเคลือบแฝง ซึ่งต่างจากการคิดวิเคราะห์เชิงระบบในสภาวะปกติธรรมดาของคนทั่วไป ดังนั้น คนพาล คนชั่วที่มีความเฉลียวฉลาดจึงสามารถคิดแผนการชั่วร้ายอย่างเป็นระบบและสร้างหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อโลกได้ พระพุทธองค์จึงให้ระวังอวิชาในจิตใจ และต้องเร่งถอดถอนมันออกจึงจะพ้นทุกข์ได้

 

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า... "แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติเรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น" ดังนั้น อย่าต้องเสียเวลาในการเถียงกันด้วยเรื่องอื่น มรรค 8 จึงเป็นหนทางสู่เป้าหมายของการพ้นทุกข์ ด้วยอาศัย "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง คือ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ซึ่งย่อลงเหลือเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา คือ สุดยอดเคล็ดลับคัมภีร์พลิกโลก เพื่อให้คนได้นำไปปฏิบัติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองก่อน แล้วนำไปสู่การช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงไปด้วย อันนี้คือการยกระดับทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นกระบวนการสร้างคนที่มีคุณภาพที่สุด ประชาธิปไตย หรือระบอบอะไรก็ได้ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นที่สุด

 

ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรือ ระบอบกษัตริย์เป็นใหญ่ จะเกิดมาจากการภาวนามยปัญญา หรือการรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเป็นโพธิญาณของเจ้าลัทธิคนไหน ระบอบทั้งหลายล้วนเกิดจากมนุษย์ธรรมดาๆ ที่คิดวิเคราะห์หาเหตุ หาผล หาทางสร้างระบบ ระบอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ห่วงเวลา ความเชื่อ หรืออัตตาตัวตน (ตัวกูของกู) แทบทั้งสิ้น และข้อสรุปที่เหมือนๆ กันของทุกระบบที่ว่ามาก็คืออาศัย "วัตถุกำหนดความสุข" ทั้งนั้น คือ เอาความเจริญทางวัตถุ ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ก็มุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพลังในการสร้างความแข็งแกร่งด้านวัตถุเป็นหลัก

 

ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งแนวคิดการเมืองแบบตะวันตกจึงอิงอยู่กับสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางรูปธรรม (วัตถุ) คือ สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็บอกว่าไม่มีอยู่จริง เช่น ความเชื่อเรื่องกรรม เขาจึงเชื่อว่าคนเราเกิดมาเมื่อมีอาการครบ 32 แล้ว ก็จะเท่าเทียมกัน มีศักยภาพเหมือนกัน สิ่งที่ทำให้คนต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู แต่ในทางพุทธเชื่อว่าต้องประกอบกันทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู และกรรมด้วย (…เรามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นผู้ติดตาม ใครทำกรรมอันใดไว้ จะเป็นบุญ หรือเป็นบาป ย่อมได้รับผลกรรมนั้น…) บางครั้งกรรมในอดีตก็พาให้ไปเกิดในสภาพการเลี้ยงดูที่ไม่ดีก็ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ แม้หลายคนจะถูกเลี้ยงดูในสภาพเดียวกันแต่ก็กลับมีอุปนิสัย ความฉลาด ความสามารถ ทักษะ และความดี ความเลวที่แตกต่างกัน แล้วจะอธิบายอย่างไร? เมื่อคนต่างกันอย่างนี้ จึงเห็นว่าความเข้าใจเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาพ ของบุคคลย่อมต่างกัน และเข้าถึงต่างกันไปด้วย คนที่ชั่วช้าเลวทรามแต่ฉลาด ไม่ใช่เขาไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เขาไม่สนใจที่จะเคารพมันต่างหาก พอๆ กับคนที่ยากจนข้นแค้น อยู่กับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เฉพาะหน้า อยู่กับระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์ แล้วก็ถูกเขาหลอกใช้อยู่ร่ำไป หรือเต็มใจให้หลอก ทั้งๆ ที่เขามีโอกาสที่จะเลือกรับข้อมูลด้านอื่น เลือกที่จะเข้าใจเหตุผลความดี ความงามของชีวิต สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค แต่เขาก็ไม่มีทางพัฒนาตัวเองไปได้มากกว่านี้ นั่นเพราะอะไรบังตา หรือบังใจเขาอยู่ จึงทำให้เขาเป็นคนแบบนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะกรรม แล้วทำไมสังคมไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมพุทธจึงไปหลงอยู่กับสมมุติแห่งการเมืองประชาธิปไตยปลอมๆ จนแทบจะฆ่ากันตาย

 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ฆ่าหมู่กัน หรือสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น อันจะเป็นกรรมร่วมกันของสังคมที่จะต้องจองเวรตามล้างตามเช็ดกันอีกนานแสนนาน สังคมไทยอาจจะจำเป็นต้องทิ้งประชาธิปไตยแบบสมมุติๆ ที่ว่านี้ไปก่อน เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ และคนเหล่าใดที่มั่นใจว่าตนเองมีคุณธรรมสูงส่งและมีศักยภาพพอ ช่วยหาวิธีเอาเหตุปัจจัยแห่งปัญหาทั้งปวงออกไปจากระบบก่อนเสียด้วย เนื่องจากว่าคนเรานั้นเกิดแต่กรรม จึงมีคน 4 ประเภท เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ตอนนี้ระบบของเราได้สร้างผู้นำ นักการเมือง และลิ่วล้อลูกสมุน เป็นบุคคลประเภทบัวที่จมปลักจมโคลน แถมยังถูกแท่งหินแห่งกิเลสตัณหาถมทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง ไม่ใช่บัวประเภทที่พร้อมจะบานรับอรุณ จึงไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยในสภาวะปกติแบบนานาประเทศกับเขาได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่มี "หิริโอตัปปะ" ไม่มีสำนึกที่จะทำอะไรเพื่อความดีงามของสังคม ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ ก็จะเสียหายทั้ง ระบบ และ คน ที่พอจะมีดีอยู่บ้าง (กลายเป็นระบบที่ซื้อได้ คนที่ซื้อได้ ถ้าหากมีเงินมากพอ) และเราก็สูญเสียโอกาสดีๆ หรือหาโอกาสยากเต็มทีที่จะสร้าง ระบบ และ คน ที่ดีขึ้นกว่านี้ การปล่อยให้สังคมหลงไปกับมายาภาพประชาธิปไตยอย่างเช่นปัจจุบัน เป็นเหตุปัจจัยอันสำคัญที่จะทำลายระบบสังคมชาวพุทธได้มากที่สุด      

 

นั่นคือเรื่องของ คน และ ระบบ ภายใต้ภาวะวิกฤติ ซึ่งเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ต้องการพลังทางปัญญาอันสูงส่งเพื่อแก้ไขปัญหาอันยากยิ่งนี้อย่างแท้จริง ประเทศเรายังมีบุญบารมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้างหนอ หรือว่าเพราะกรรมของคนไทย กรรมของประเทศไทย ที่ได้เคยทำกับคนอื่นเขาเอาไว้มาก มันจึงเป็นเช่นนี้...  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท