(มาแล้ว เนื้อหา) ดีเบต 4 กลุ่ม "นักศึกษา" : บทบาทนักศึกษาในสถานการณ์วิกฤตการเมือง

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม ดีเบต 4 ขั้ว ในหัวข้อ "บทบาทนักศึกษาในสถานการณ์วิกฤตการเมือง" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนักศึกษาจาก 4 กลุ่มเข้าร่วม คือ ศตวรรษ อิทรายุท ตัวแทนนักศึกษากลุ่มสาธิตมัฆวานฯ ธนากร สัมมาสาโก กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ตัวแทนนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก (กปก.) อนุธีร์ เดชเทวพร อุปนายกฝ่ายกิจกรรมภายนอก ตัวแทนองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ทั้งนี้ ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ุ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

0 0 0

 

อ.พวงทอง: ให้ผู้ร่วมเสวนากับเราในวันนี้ได้อธิบายจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มในปัจจุบัน

 

ธนากร ตัวแทนจาก สนนท.: สวัสดีครับนักศึกษา พี่น้อง และคุณครูที่ห่วงใยสังคม ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมเพื่อนนักศึกษาและพี่น้องประชาชนที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง และคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชมและน่าภาคภูมิใจในสถานการณ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตย และสำหรับสังคมไทยขณะนี้ เป็นเรื่องปกติที่คนในสังคมประชาธิปไตยต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น กรณีของยุโรป กว่าจะสร้างประชาธิปไตยได้ก็ใช้เวลากว่า 200-300 ปี และต้องมีความขัดแย้งโผงผาง แต่สังคมไทยไม่ชอบความขัดแย้งโผงผางและชอบการประนีประนอม ซึ่งไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยในระยะยาวได้ ทั้งนี้ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่ต้องจัดการร่วมกัน

 

จุดยืนของ สนนท.พวกเราก็เรียกร้องมาโดยตลอดในเรื่องการคัดค้านการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงที่นำไปสู่การรัฐประหาร รัฐบาลพระราชทาน รัฐบาลแห่งชาติ หรืออำนาจนอกระบบ และไม่เอาการเมืองแบบ 70:30 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

ข้อต่อมาคือ เรียกน้องให้ทุกภาคส่วนของสังคม ที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายออกมาสร้างการเมืองที่ไปไกลกว่าการเมือง 2 ขั้ว คือไปไกลกว่าการเมืองแบบ พันธมิตรและรัฐบาล

 

ข้อที่4 เรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนของสังคมมาปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550

 

อนุธีร์ ตัวแทน อมธ.: ในฐานะขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความขัดแย้งที่ผ่านมา เรารักษาจุดยืนในการประกาศชัดเจนว่าเราไม่เข้าข้างฝ่ายใดก็ตาม ในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เราไม่ต้องการเห็นการก่อความรุนแรง การประทุษร้ายต่อกัน และสุดท้ายเราต้องการให้ทุกฝ่ายหันเข้าสู่ประชาธิปไตย เดินเข้าสู่กฎหมาย ให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา เคารพซึ่งกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย เราเห็นว่าการชุมนุมหรือการเรียกร้องเป็นสิ่งเหมาะสมที่ควรต้องมีในระบอบประชาธิปไตย แต่ภาคประชาชนก็ต้องมีกฎเกณฑ์ กติกา การล้ำเส้นออกมาจึงไม่เห็นด้วยในหลายครั้ง ทั้งการชนของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย หรือการยั่วยุต่อกันเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม จากจุดยืนที่เลือกจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดมีเหตุผล คือ หนึ่งในแง่องค์กร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลุ่มองค์กรทางการเมือง ดังนั้น จึงไม่สามารถรวมความคิดทางการเมืองให้เป็นไปในทางเดียวกันได้ ภายในองค์กรก็มีความเห็นต่าง และใน อมธ.ไม่ใช่คณะกรรมการบริหาร 10 กว่าคนมารวมกัน แต่ยังรวมถึงกลุ่มชุมนุม ชมรม และคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วย

 

จุดนี้ทำให้ในการออกแถลงการณ์หรืออะไรก็ตามต้องประชุมหลายๆ ครั้ง และภายในมหาลัยมีความคิดเห็นหลากหลายทางการเมือง ฉะนั้นแล้วในสุดท้ายเราไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในฐานะส่วนบุคลแน่นอนว่าเรามีจุดยืน มีความเห็นต่างๆ กันไป บางคนอาจเลือกข้าง แต่สุดท้ายแล้วในฐานะองค์การนักศึกษาบางครั้งในสถานการณ์ที่คลุมเครือเราไม่สามารถเลือกข้างฝ่ายใดได้ แต่ก็นิ่งเฉยไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้จึงเป็นการเรียกร้องให้ทุกคนกลับสู่สิ่งที่ควรจะเป็น คือ กลับมาอยู่ในกรอบ และพยายามให้การศึกษากับคนในมหาวิทยาลัยให้เรียนรู้เรื่องการเมือง เปิดพื้นที่พูดคุย ทำความเข้าใจ ตั้งสติพิจารณาปัญหาต่างๆ ทำเพื่อหวังผลในอนาคตและจะทำต่อไปเรื่อยๆ

 

ศตวรรษ ตัวแทน สาธิตมัฆวาน: ก่อนอื่นผมต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้มาพูดแทนพันธมิตรฯ ทั้งหมด ขอพูดแทนนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ได้มาร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือ จุดเริ่มต้นอยากบอกว่า ดีใจที่ นักศึกษาทุกคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เป็นกลางหรืออะไรก็ตาม คิดว่ายังดีกว่าการอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย และการแสดงความเห็นก็เป็นสิทธิที่ทุกคนจะทำได้ ต่อให้มีนักศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปอยู่เวที นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) โดยบริสุทธิ์ใจและเต็มใจที่จะไป ผมก็ยอมรับเพราะเป็นสิทธิที่จะทำได้

 

ขอพูดถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาภายในการเคลื่อนไหวของพันธมิตร ไม่ได้มองถึงการเอากลุ่มบุคคลที่สามเข้ามาร่วม ไม่ยึดติดที่ว่าจะทักษิณหรือไม่ทักษิณ รัฐบาลจะจบหรือไม่จบอย่างไร แต่หวังผลที่ว่านักศึกษาที่กล้าที่จะก้าวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันนี้ ในอนาคตหลังจากที่จบพันธมิตรฯ หลังจากจะมีการเมืองใหม่หรือไม่มีก็ตาม นักศึกษาที่ก้าวออกมาแล้วจะไม่กลับไปอยู่นั่งกับที่เหมือนเดิม และคาดหวังว่าเขาจะก้าวออกมาเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นในอนาคต ไม่ว่ากิจกรรมทางการเมือง สังคม ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับความบันเทิงหรือวัตถุนิยม

 

ส่วนจุดยืนต่อพันธมิตร คิดว่าไม่จำเป็นต้องเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ เอาพันธมิตรฯ หรือไม่เอาพันธมิตรฯ คิดว่าสังคมไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง และ 1 หรือ 2 ทางนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ถูก วันหนึ่งอาจจะมีคนคิดทางออกที่ 3 ออกมา และคนในสังคมอาจเข้าแถวไปทางนั้น ผมไม่ได้ปิดกั้นว่าผมถูกร้อยเปอร์เซ็นต์หรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ขออธิบายเรื่องข้อเสนอการเมืองใหม่ 70:30 โดยส่วนตัวซึ่งคงไม่สามารถคิดแทนผู้ใหญ่ได้ ตามที่เข้าใจคิดว่าการเมืองใหม่เป็นประเด็นที่โยนออกมาเพื่อให้สังคมคิดร่วมกัน และร่วมกันเสนอว่าควรมีแนวทางอย่างไร ถ้าส่วนตัว 70:30 แล้วให้เลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 ก็ไม่เห็นด้วย แต่ในรายละเอียดต้องคุยกันว่าจะออกมาแบบไหน ประเด็นหลักคือให้มีการมีส่วนร่วม การที่มีตัวแทนร้อยเปอร์เซ็นต์มาผูกขาดทุกวันนี้ หรือจะให้คนเจ็ดแปดคนมาเลือกแล้วก็แต่งตั้งก็เป็นปัญหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

 

วันนี้เราบอกว่าเกษตรกรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ว่าวันนี้ในสภามีเกษตรกรหรือเปล่า แล้วจะทำอย่างไรให้เขาได้มีส่วนร่วม จะเลือกตั้งเป็นกลุ่มอาชีพแล้วเข้าไปในสภา หรือวิธีการอะไรก็ได้ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย อย่ายึดติดกับคำว่า 70:30

 

และเป็นสิ่งที่ดีที่คนหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว แม้บางครั้งอาจมีบางมุมที่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกันบ้างก็เป็นสีสันของประชาธิปไตย และเห็นดีว่าทุกวันนี้นักศึกษาหลายๆ กลุ่มออกมามากขึ้น ในวันนี้อาจเป็นคนละวงกัน แต่จบเรื่องนี้ไปแล้วอาจต้องออกมาเคลื่อนเรื่องอื่นร่วมกัน เช่น เรื่องมหาลัยออกนอกระบบ ก็คงต้องทำต่อไปไม่จบแค่เพียงพันธมิตรฯ จบหรือไม่จบเท่านั้น

 

กฤดิกร ตัวแทน กปก.: กลุ่ม กปก.เป็นกลุ่มเล็ก โดยกลุ่มชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำของพันธมิตรฯ ในลักษณะที่เป็นอยู่ และได้แบ่งความไม่เห็นด้วยออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกคือส่วนเรียกร้องของพันธมิตรฯ และส่วนที่สองคือการกระทำของพันธมิตรฯ ที่ออกมาช่วงนี้

 

ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ที่ไม่สามารถจะรับได้ เช่น การประกาศขับไล่ผู้นำ เป็นประเด็นต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่การเรียกร้องให้คุณทักษิณจนถึงคุณสมัครออกจากตำแหน่ง มองว่าถ้าเฉพาะการเป็นข้อเสนอทำได้ แต่การออกมาเป็นคำสั่ง คือ "คุณไม่ยอมออกเราจะไม่หยุดการชุมนุม" อย่างนี้เรามองว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลัก เพราะต้องยอมรับว่าไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับทักษิณหรือสมัคร ก็ต้องยอมรับว่าอย่างน้อยเขามีฐานเสียงของคนทั้งประเทศ ซึ่งพันธมิตรฯ ไม่มีส่วนนั้น ฉะนั้นอำนาจของคนส่วนน้อยก็คือการยื่นข้อเสนอให้คนส่วนใหญ่ฟัง ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอว่า "รัฐบาลควรจะออก" เมื่อนั้นคุณจึงมีสิทธิยื่นเงื่อนไข

 

แต่ตราบเท่าที่คุณยังเป็นส่วนน้อย คุณไม่มีสิทธิที่จะทำในลักษณะยื่นคำขาดออกไป "นี่คือคำขาดครั้งสุดท้าย ไม่ออกก็ไม่หยุด" อย่างนี้เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้

 

ประการที่ 2 ข้อเสนอเรื่อง 70:30 แน่นอนว่าไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ผมเคยถามอาจารย์ว่าข้อเสนอเหล่านี้รับได้หรือเปล่า อาจารย์บอกว่าเขาอาจจะแค่เสนอมาก่อนเพื่อปูทางไปสู่การเป็นประชาธิปไตย แต่ผมฟังเทปจากมัฆวานแล้วไม่ได้จบที่ 70:30 ต้องเริ่มจาก 90:10 80:20 และไปจบที่ 70:30 เป็นคำตอบสุดท้าย อย่างนั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในความคิดผม หรือสอง ต่อให้เป็นแนวทางที่เสนอ แต่ไม่มีสิทธิจะไปจำกัดว่าเอา 70 มาจากคนกลุ่มเล็กๆ แล้วจำกัด 30 เปอร์เซ็นต์ให้กับคนส่วนมาก เราไม่มีทางรับได้

 

และในแง่การกระทำที่ไม่สามารถรับได้ คือ การบุกยึดทำเนียบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราออกแถลงการณ์ร่วมกับ อมธ.เมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คือเราต้องบอกว่าการชุมสามารถทำได้ แต่เข้าไปบุกยึดทำเนียบนั้นก้าวร้าวและรุนแรงมาก เกินขอบเขตที่จะรับได้ เพราะถ้าคุณจินตนาการว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งคิดจะไปบุกไวท์เฮาส์ จะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่จะข้ามรั้วเข้าไปก็ผิดแล้ว มีแค่ประเทศไทยที่ให้เข้านอนค้างมาสิบกว่าวันแล้ว นี่เป็นการกระทำที่เราไม่อาจรับได้ คุณชุมนุมของคุณได้แต่คุณต้องอยู่ภายใต้กรอบ

 

อ.พวงทอง: ความคิดเห็นต่อยุทธวิธี การขับเคลื่อนของพันธมิตรฯ

 

อนุธีร์ ตัวแทน อมธ.: ในแง่เหตุผลความไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ขององค์กรเรามีจุดร่วมที่ว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งเหตุผลของแต่ละคนก็ต่างกัน แต่ในแง่ส่วนตัว การลุกล้ำเข้าสถานที่ต่างๆ มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของมวลชน ถ้าเราเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ และเราไม่สามารถทำให้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยได้ เราก็ไม่สามารถยื่นคำขาดลักษณะนั้นได้ แต่พันธมิตรฯ อาจคิดว่ากำลังปฏิวัติประชาชน จึงยึดสถานที่ต่างๆ

 

มองในแง่ยุทธศาสตร์คิดว่าผิดพลาดพอสมควร เพราะมันทำให้เกิดภาพลบต่อสังคม เป็นการใช้ความรุนแรงประเภทหนึ่ง เป็นการบุกรุก ทำให้เกิดความเสียหาย ขัดกับสิ่งที่พันธมิตรพูดคือ "อารยะขัดขืน" ซึ่งการอารยะขัดขืนในทางรัฐศาสตร์ คือการขัดขืนต่อกฎหมายและยอมรับความผิดนั้น แต่พันธมิตรฯ ไม่ทำตามกฎหมายตรงนั้น ไม่ได้ไปมอบตัวกับทางการ เป็นสิ่งที่คิดว่าไม่มีอารยะประเทศที่ไหนปล่อยให้เกิด เป็นการละเมิดกฎหมายและประชาธิปไตยในทางหนึ่ง

 

ธนากร ตัวแทนจาก สนนท.: เห็นด้วยกับที่พูดมา แต่ขอเสริม คือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เดินทางไปคุยกับนักศึกษา มข. (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) โดยนั่งรถไฟฟรีซึ่งมีคนขึ้นเต็ม ไม่มีที่นั่ง ต้องไปนั่งรอยต่อขบวนรถไฟ จึงได้คุยกับคนขอนแก่นที่ต้องการเดินทางไปทำงานรับเหมาที่ จ.ชุมพร ซึ่งเขาเล่าว่าเมื่อเดินทางไปถึงหัวลำโพงไปต่อชุมพรไม่ได้เพราะสหภาพรถไฟหยุดเดินรถ แต่เขามีเงินติดตัวเพียง 500 บาทไม่สามารถโดยสารรถทัวร์ได้ จึงต้องนั่งรถไฟกลับขอนแก่น

 

ประเด็นของผมก็คือว่า แนวทางเคลื่อนไหวของพันธมิตรนอกจากจะเป็นอารยะขัดขืนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของชนชั้นล่างด้วย

 

กฤดิกร ตัวแทน กปก.: ขอพูดเนื้อหา 2 ประเด็น ประเด็นแรกโดยตัวพันธมิตรฯ เอง ซึ่งอารยะขัดขืน อารยะ ในความคิดผมมันต้องไปในทางที่ดีขึ้น คือ ขัดขืนให้ดีขึ้น อารยะขัดขืนควรจะให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราพิจารณาจากข้อเสนอของพันธมิตรฯ แล้ว พิจารณาจากสิ่งที่พันธมิตรฯ สื่อออกมาเป็นการขัดขืนเพื่อเป็น "พันธมิตรประชาชนกลุ่มหนึ่งเพื่อคณาธิปไตย" มากกว่าการเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

 

จากข้อเสนอเจ็ดสิบสามสิบ การบอกว่านายกฯ ต้องมาจากส.ส. หรือการกระทำต่างๆ มากมายทำให้ชัดเจนว่าไม่ได้เป็น "อารยะขัดขืน" ที่ทำให้ดีขึ้นแต่มองว่าเป็น "อนารยะขัดขืน" คือทำเพื่อให้มีขึ้นเพื่อให้เลวลงมากกว่า ในแง่ของพันธมิตร

 

แต่ในแง่ของสหภาพฯ อาจจะมองได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นการกระทำแบบอารยะขัดขืน อยากยกที่คุณปลื้ม ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุลได้เคยแสดงความเห็นว่า ปกติการทำอาระขันขืนลักษณะหยุดรถไฟ สหภาพหยุดทำงาน เป็นภาวะที่คลายกับไทยเป็นแบบประเทศเผด็จการไปแล้ว ทั้งที่ประเทศไทยและรัฐบาลยังเป็นประชาธิปไตยอยู่คุณยังทำอย่างนี้ แล้วต่อไปคุณค่าหรือ Value ของอารยะขัดขืนมันก็จะไม่มี ต่อไปเผด็จการเต็มๆ ขึ้นมาคุณคิดเหรอว่ามันจะมีคุณค่า

 

อ.พวงทอง: ดิฉันอยากจะให้เวลากับคุณศตวรรษในการอภิปรายยาวหน่อย เพราะว่าทั้ง 3 ท่านมีจุดยืน มีประเด็นที่ใกล้เคียงกันในเรื่องวิธีการของพันธมิตร

 

ศตวรรษ ตัวแทนสาธิตมัฆวาน: อาจแตกต่างกันตั้งแต่จุดเริ่มในการมอง แต่บางคนมองว่าจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. ที่มีทหารออกมา แต่ไม่อยากให้ตัดตอน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วตัดมาที่ 26 ส.ค. ที่บุกยึดทำเนียบ พันธมิตรฯ อาจจะมองว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม มีปัญหามากมาย อาจจะเรื่องนอมินีหรืออะไรก็ตาม มันมีทั้งที่ถูกกล่าวหาและตัดสินแล้ว

 

ส่วนเรื่องอารยะขัดขืนไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่คิดว่าการบุกยึดท่าเรือ ยึดรถไฟคิดว่าน่าจะทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร อีกอย่างการยึดทำเนียบ หรือ NBT ถ้ามองแง่ยุทธศาสตร์อาจมองว่าผิดพลาด ถ้ามองว่าอารยะขัดขืนคือการยอมรับกฎหมายและยอมรับผลที่จะตามมา วันนี้คิดว่าแกนนำอาจจะยังไม่ได้มอบตัว แต่ก็ยังไม่ได้หนีไปไหน ถ้าสังคมเรียกร้องให้พันธมิตรฯ มอบตัว ทำไมไม่เรียกร้องทักษิณมอบตัว คิดว่าถ้าวันหนึ่งคุณทักษิณกลับมามอบตัว แกนนำอาจจะมอบตัวและอาจจะขึ้นรถคันเดียวไปเลยก็ได้

 

อ.พวงทอง: ขออธิบายตรงนี้ในเชิงข้อมูล อันที่จริงคุณทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการุติธรรมแล้ว การที่หนี แสดงว่าผิดในการละเมิดกฎหมาย และอาจไม่มีความพยายามที่จะส่งตัวกลับ แต่ในกรณีของพันธมิตรฯ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย

 

ศตวรรษ ตัวแทน สาธิตมัฆวาน: เรื่องกระบวนการยุติธรรม เราเชื่อระดับหนึ่งเสมอมา เราไม่รู้ว่าแกนนำมองอย่างไร แต่มองเองว่าถ้ามอบตัวแล้วไม่ได้ประกันตัวจะทำอย่างไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ จะมีอะไรที่ไม่ควรถูกกระทำเกิดขึ้นหรือเปล่า ค่อนข้างกังวลและไม่ได้เชื่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนยุติธรรมชั้นต้นอย่างตำรวจว่าจะโปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือใช้มาตรฐานเดียวกันทุกคดี จากเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา

 

อ.พวงทอง: เปิดประเด็นกับอีก 3 ท่าน ตรงที่ว่าเหตุที่พันธมิตรทำไม่น่าอยู่ในข่ายอารยะขัดขืน ทั้งนี้เมื่อพูดถึงอารยะขันขืน ด้านหนึ่งก็คือวิธีการที่กลุ่มนอกรัฐ ที่ไม่ได้มีอาวุธ ต้องใช้ด้านอื่นคือมวลชนในการกดดันอำนาจรัฐ อารยะขัดขืนเองในรูปแบบต่อต้านขัดขืนก็มีหลากหลาย อย่างการนัดหยุดงานของคนงาน ก็เป็นสิ่งที่ประเทศอารยะยอมรับกัน

 

บางที บางอย่างของการเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ สิ่งนี้คืออะไร พอจะตอบได้ไหม เพราะอารยะขัดขืนไม่ได้มีขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า... และมีกฎเกณฑ์ที่เป็นนามธรรมสูงมาก

 

กฤดิกร ตัวแทน กปก.: โดยส่วนตัว เส้นสำคัญที่สุดที่ระบุว่าคืออารยะขัดขืนหรือไม่ น่าจะมองจากสองหลัก คือ หนึ่งข้ามเส้นกฎหมายหรือไม่ สองข้ามบรรทัดฐานสากลหรือไม่

 

บรรทัดฐานสากล หมายความว่า ประชาธิปไตยหรือกฎหมายของแต่ละประเทศต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่จะมีชุดความคิดร่วมกันอยู่ อย่างการร่างรัฐธรรมนูญในแง่ที่เป็นความคิดร่วมในการร่าง ก็เป็นขอบเขตร่วม เช่น การสามารถใช้สิทธิของตนได้เต็มที่ตราบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น นี่คือความคิดร่วนในลักษณะความคิดร่วมสากล ถ้าการขัดขืนไปข้ามเส้นตรงนี้มันไม่น่าใช่อารยะขัดขืน

 

อ.พวงทอง: เราจะยอมรับ มีความอดทนมากแค่ไหนต่อสิทธิที่มันจะก่อให้เกิดความลำบากแก่เรา เวลาที่มีการเรียกร้อง

 

ธนากร ตัวแทนจาก สนนท.: เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เรื่องการเมืองภาคประชาชนที่ทำให้สังคมควบคุมอำนาจได้ แต่สังคมของพันธมิตรฯ ที่ไปควบคุมรัฐได้ไปทำรายคนส่วนมาก ไม่รู้ความอดทดอยู่ตรงไหน แต่คิดว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นการบีบบังคับ เอาประชาชนเป็นตัวประกัน คิดว่าพันธมิตรฯ ควรมีความอดทนเช่นกัน ไม่ใช่เพียงบอกให้คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามใช้ความอดทน ชุมนุมได้และให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าประชาชนทั้งประเทศจะเห็นด้วย

 

อ.พวงทอง: ในขณะที่เราเรียกร้องว่าประชาชนทั่วไปต้องอดทน กับการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มนอกรัฐ แล้วเห็นแต่เรื่องติดอย่างเดียว แต่ว่าจากประเด็นของคุณธนากรก็คือพันธมิตรมีขันติแค่ไหนในการชุมนุมของตัวเอง

 

ศตวรรษ ตัวแทน สาธิตมัฆวาน: เคยได้ยินคนบ่นเรื่องรถติดตอนสมัชชาคนจนมาชุมนุม ยอมรับว่าการเอาคนมาชุมนุมกระทบทำให้รถติด แต่ในการมาชุมนุมป้าคนหนึ่งในพันธมิตรฯ บอกว่าเขาเคยบ่นรถติด แต่พอมามีส่วนร่วมเขาบอกว่าเข้าใจแล้วทำไมต้องเกิดรถติด เขาบอกว่าจะเลิกบ่นอีก เข้าใจว่าพันธมิตรฯ เองต้องอดทน ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

 

เรื่องการหยุดงานรัฐวิสาหกิจคิดว่าน่าจะทำได้เลย แต่เรื่องยึดทำเนียบหรือสถานที่ราชการอาจมีข้อถกเถียงกันบ้างถึงความเหมาะสม การที่คุณสมัครบอกให้ไปชุมนุมที่สวนลุมฯ ชุมนุมไป 10 ปี รัฐบาลก็ไม่เดือดร้อน ยอมรับการชุมนุมมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้ให้สังคมมีภาวะกดดันเพื่อเป็นแรงบีบไปสู่รัฐบาล ให้ฉุกคิดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ย้อมมาดูการกระทำของตัวเองว่าถูกผิดแค่ไหน และยอมรับหรือไม่ในสิ่งที่ผิด ไม่ใช่ที่พันธมิตรบอกว่ารัฐบาลผิด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็บอกว่ารัฐบาลถูกเสมอ

 

การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายสมัครหมดสภาพนายก แม้ไม่มีข้อบังคับในการกลับเข้ามาใหม่ แต่ด้วยสามัญสำนึกบางอย่างก็ไม่น่ากล้ากลับมาอีกครั้ง

 

คิดว่าพันธมิตรฯ ต้องอดทนต่อไป แต่คิดว่าอดทนมาพอควรไม่อย่างนั้นคงเผาทำเนียบไปแล้ว

 

พวงทอง: พันธมิตรฯ ก็มีขันติ มีความอดทน อยู่ในระดับหนึ่ง ในแง่ของความแตกต่างกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่นักการเมืองหรือพรรคกาเมือง ทั้งนักวิชาการ และนักศึกษาเองการแสดงความคิดเห็นออกไป บ่อยครั้งเราเห็นว่าจะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง ในแง่นี้อยากถามว่าคุณคิดยังไงกับพันธมิตรฯ ในแง่ของขันติเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

 

อนุธีร์ ตัวแทน อมธ.: ถ้าพูดเรื่องความอดทน ขบวนการภาคประชาชนไม่ว่าขบวนการใดๆ ควรมีความในหลายๆด้าน อดทนในความคิดเห็นที่แตกต่าง อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และประมวลตัวเอง และอดทนอีกครั้งในการพยายามอธิบายให้คนเข้าใจ ต้องรู้จักอดทนรู้จักจังหวะเวลา เช่นว่า ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับเรา เราจะทำไปในขอบเขตแค่ไหนไม่ให้คนไม่พอใจ มันต้องอดทนกับจังหวะเวลาด้วย

 

พวงทอง: ช่วงเวลาที่ผ่านมาพันธมิตรฯ เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างแค่ไหน

 

ศตวรรษ ตัวแทน สาธิตมัฆวาน: ต้องยอมรับว่าพันธมิตรมีการรวมตัวจากคนที่หลากหลาย และมีหลากหลายความคิด บางครั้งสิ่งที่สะท้อนจากเวทีหรือจากทำเนียบรัฐบาลยังค่อนข้างเหวี่ยง คิดว่าหลายคนหรือในหลายครั้งที่มีการเสนอความคิดที่ไม่ตรงกับแนวทางสายหลักของพันธมิตรฯ อาจโดยแรงสะท้อนกลับไปบ้าง แต่เชื่อว่าทุกครั้งที่มีข้อเสนอก็พบว่ามีการปรับปรุง เช่น การพูดคำหยาบ มีความพยายามจัดให้เข้ารูปเข้ารอย รวมทั้งในส่วนวิธีการดำเนินกิจกรรม

 

ส่วนตัวคิดว่าการจะเคลื่อนไหวในกิจกรรมที่เราคิดเอง ไม่ต้องการสร้างความแตกแยกโดยเฉพาะในกลุ่มขบวนการนักศึกษาด้วยกัน การที่สนนท.ออกมาแสดงความคิดเห็นโจมตีไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรแล้วต้องไปกดดันให้ขอโทษ ตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าทุกคนมีสิทธิเสนอความเห็นต่าง และเสนอแนะ แต่อะไรบางอย่างที่คิดว่าทำดีแล้วก็จะรับฟังปรับได้ก็ปรับ แต่คิดว่าถ้ายังยืนยันและเชื่อในสิ่งที่ทำอยู่ก็ไม่เสียหายอะไร

 

ธนากร ตัวแทนจาก สนนท.: พันธมิตรฯ ก็มีหลายกลุ่ม หลายองค์กร และแกนนำหลายๆ คนก็มีความอดทน แต่หลายคนก็มีปฏิกิริยากับการที่นักวิชาการออกมาด่า หรือออกมาให้เหตุผลไม่เห็นด้วยในบางประเด็น พันธมิตรฯ ก็เอาขึ้นไปด่า สมมติว่านักวิชาการบางคนเดินผ่านไป ก็เกิดเสียงโห่ร้องขับไล่โวยวายขับไล่ อย่างกรณียึด NBT นักข่าวอย่างคุณกิตติ สิงหาปัต พันธมิตรฯ ก็ไปตะโกนด่า ขับไล่ สาดน้ำใส่

 

ผมคิดว่า ความอดทนตรงนี้ มันต้องแยก ไม่ใช่เหมารวมเป็นพันธมิตรฯ ทั้งหมด แล้วก็ความอดทนสำหรับ พันธมิตรฯ คิดว่ามีอยู่พอสมควร แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่ค่อยจะมีความอดทน

 

กฤดิกร ตัวแทน กปก.: ประเด็นเรื่องที่บอกว่า ให้ไปชุมุนมในสนามหลวงหรือสวนลุมฯ มันจะเป็นการช่วยจำกัดความเห็นไม่ให้ไปรบกวนชาวบ้านมาก แต่การที่บอกว่ามันจะไม่เป็นการกดดันรัฐบาล ทำให้ไม่เกิดผลอะไรนั้น ไม่เห็นด้วย ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นผู้เรียกร้องเพราะคุณมีเรื่องเดือดร้อน แต่ไม่สนใจความเดือดร้อนของคนอื่น ผมคิดว่าคุณไม่ใช่คนที่เข้าใจความเดือดร้อนที่แท้จริง คนที่เข้าใจความเดือดร้อนที่แท้จริงจะต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นด้วย

 

อีกเรื่องที่คิดว่าคงต้องอาศัยความกล้าหาญในการพูดมาก ที่ว่าแกนนำพันธมิตรฯ มีขันติมากที่ไม่เผาทำเนียบ น่าจะมองอีกทางหนึ่งได้ว่ารัฐบาลก็มีขันติมากที่ไม่ถล่มตั้งแต่ไปบุกทำเนียบ ต้องมองมุมกลับด้วย อย่างการที่ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมบอกนักศึกษาอย่าออกไปชุมนุมเพราะเกรงอันตราย อย่างน้อยอย่าออกไปในนามมหาวิทยาลัย เมื่อ 2-3 วันก่อนสนธิจึงด่ามหาลัยศรีปทุมเพราะไม่อยากให้ออกชื่อ มีลูกมีหลานให้ไปเรียนม.รังสิต อย่าให้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ พูดอะไรทำนองอย่างนี้ แบบนี้เรียกว่ามีขันติหรือ

 

พวงทอง: ส่วนรัฐบาลเปิดกว้างแค่ไหน จากท่าทีของนักการเมืองเอง คิดอย่างไร การเรียกร้องให้มีการถอยคนละก้าว เราเห็นการถอยคนละก้าวของนักการเมืองบ้างไหม

 

ศตวรรษ ตัวแทน สาธิตมัฆวาน: การชุมนุมครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าไม่มีความบริสุทธิ์ใจในการแก้ไข และแก้ด้วยผลประโยชน์ช่วยเหลือพวกพ้อง จนมาถึงระดับหนึ่งรัฐบาลอ้างว่าจะถอนร่างและไม่กลับเข้ามาแก้อีก แต่จากเหตุผลแวดล้อมหลายๆ อย่างเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจที่จะถอนร่าง เป็นการถอยเพื่อให้กระแสสังคมโถมมายังพันธมิตรว่ารัฐบาลได้ถอยแล้วทำไม่คุณยังไม่หยุดอีก ซึ่งคิดว่ารัฐบาลต้องหาทางที่จะนำรัฐธรรมนูญมาแก้ไขอีกรอบ

 

ประเด็นต่อมาเรื่องคุณสมัคร ศาลได้ตัดสินแล้วว่าผิดกฎหมายแต่ไม่ได้กำหนดห้ามกลับมารับตำแหน่งอีก วันนี้ที่พูดถึงจริยธรรมคุณธรรมทำให้ชัดเจนว่าการโดนคดีอย่างนี้ อีกทั้งในคำพิพากษายังระบุถึงการสร้างเอกสารให้ผ่านคดี และเมื่อศาลตัดสินไปแล้วพรรคพลังประชาชนยังออกมายืนยันให้คุณสมัครเป็นนายกอีกรอบนึ่ง รวมกับท่าทีของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เห็นสัญญาณว่าจะยอมถอยอะไรเลย

 

อนุธีร์ ตัวแทน อมธ.: รัฐบาลถอยเป็นบางครั้ง เหมือนอารมณ์ขึ้นลง อารมณ์แปรปรวนพอสมควร แต่ในแง่ที่เขาปล่อยมาได้ร้อยกว่าวัน ก็ต้องยอมรับว่าเขาถอยพอสมควร แต่พอถึงจังหวะที่ตำรวจไปสลายเวทีนั้นเป็นเรื่องทำพลาดแล้ว ต่างฝ่าต่างใช้ความอดทนไม่เพียงพอ และในส่วนรัฐบาลผมมองว่ารัฐบาลไม่ได้รักษาความอดทนไว้ตลอดเวลาเท่าไหร่

 

ธนากร ตัวแทนจาก สนนท.: มันมีบางประเด็นที่ถอย บางประเด็นที่ไม่ถอย อย่างแก้รัฐธรรมนูญเข้าใจว่าเป็นการถอยว่าไม่แก้แล้ว แต่ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ก็ไม่ถอย ดันหน้าไปเรื่อยๆ จนมุดหัวเข้าไปในทำเนียบ นึกไม่ออกว่าพันธมิตรฯ ถอยตรงไหน แต่คิดว่ารัฐบาลก็ถอยเยอะ

 

กฤดิกร ตัวแทน กปก.: ประการแรกนักการเมืองจะรับฟังความคิดเห็นที่ตัวเองชอบโดยส่วนใหญ่ไม่ไม่ใช่ทุกกรณี แต่อยากถามกรณีที่บอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความจริงใจนั้นพันธมิตรฯ เป็นนักอ่านใจหรือ ประการที่สองคือการยื่นข้อเสนอแล้วเขายอมทำตามแล้วมีคนยื่นข้อเสนอกลับอีกถ้ามีกลุ่มอื่นยื่น ตรงนี้มีแต่กลุ่มพันธมิตรเท่านั้นหรือที่มีสิทธิจะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล กลุ่มอื่นยื่นข้อเสนอไม่ได้เหรอ ส่วนการที่สมัครไปศาลแล้วถูกตัดสิน ถามว่าคนที่ไม่ไปมอบตัวผ่านกระบวนการยุติธรรมมีสิทธิที่จะว่าคนที่เค้าผ่านกระบวนการยุติธรรมมาแล้วด้วยหรือ

 

อ.พวงทอง: ดิฉันคิดว่าปรากฏการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ ไม่ใช่เฉพาะแต่ทำให้นิสิตนักศึกษามีความเห็นที่แตกต่างเท่านั้น แต่การพูดคุยในเวทีสะท้อนความรู้สึก ความคิดเห็นของคนส่วนต่างๆ ในสังคมด้วยเหมือนกันในการมีความเห็นที่แตกต่างต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

 

โดยอดีตที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการให้ความร่วมมือกันในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ร่วมมือกันในการที่จะสนับสนุนกลุ่มนอกสภา กลุ่มประชาสังคม แต่กรณีนี้ดิฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ด้านหนึ่งเป็นการเปิดมิติทางการเมือง ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตั้งคำถามกับการเมืองภาคประชาชนให้มากขึ้น

 

ทรรศนะที่นำเสนอในที่นี้ด้านหนึ่งเป็นทรรศนะส่วนตัวก็สะท้อนความเห็นของกลุ่มพลังเงียบ หรือกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในการจัดตั้งของฝ่ายการเมืองใดด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท