รายงาน : ยังไงก็ไม่สน คนใต้จะเคลื่อนไหวต่อ

แม้การพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้เป็นผลมาจากการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 วันก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้สร้างผลสะเทือนในทางการเมืองอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ด้วย แต่ก็ใช่ว่า ทุกอย่างจะยุติลง

 

นอกจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของส่วนกลางแล้วนั้น ในส่วนอื่นก็มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน

 

อย่างเช่นในส่วนของคณะกรรมการองค์กระพัฒนาเอกชนภาคใต้(กป.อพช.ใต้) ซึ่งยังยืนยันตามมติเดิมที่ว่า รัฐบาลพรรคพลังประชาชนไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารประเทศอีกต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมุ่งหน้าสู่การสร้างการเรียนรู้ในเรื่องการเมืองใหม่ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นท้องถิ่นและนำปัญหาของชาวบ้านมาเป็นตัวตั้ง

 

ขณะที่นายศิริพล สัจจาพันธ์ รองประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ซึ่งเห็นสอดคล้องกันในเรื่องการเมืองใหม่ มองว่า แม้นายสมัครจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนยังอยู่ ก็เชื่อว่ายังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างทางการเมือง ดังนั้นคิดว่าภาคประชาชนคงต้องต่อสู้กันอีกต่อไป เพื่อรุกคืบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งตนเห็นด้วย และจะร่วมกันสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมืองเพื่อให้เกิดโครงสร้างทางการเมือง

 

"เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยที่มาจากการเรียนรู้ร่วมกัน โดยภาคประชาชนมีจุดรวมที่เหมือนกันคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่เพียงแค่การมีเสียงข้างมากเท่านั้น แต่ต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งการที่จะเห็นคนมีคุณธรรมหรือธรรมะในทางการเมืองนั้น อาจต้องใช้เวลาพิสูจน์ยาวนาน ดังนั้นเราจึงไม่นิยมการเลือกตั้ง แต่นิยมการคัดเลือกบุคคลหรือการหารือกันเพื่อหาฉันทามติ เพราะจะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ แต่ในการเลือกตั้งนั้นไม่มีการเรียนรู้ มีแต่การโฆษณาหาเสียง ไม่ใช่การเมืองที่สร้างการเรียนรู้ ซึ่งนั่นคือการเมืองใหม่"

 

ในส่วนของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ จะมีการประชุมแกนนำกันในวันที่ 15 กันยายน 2551 เพื่อกำหนดท่าทีต่อปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ตนจะเสนอว่าภารกิจในการขับเคลื่อนของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติจะมองไปที่รากฐานของชุมชน เป็นงานเย็นมุ่งไปที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง

 

ศิริพล บอกว่า การต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ถือว่า เป็นการต่อสู้ของภาคประชาชนด้วย ดังนั้นสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นสมาชิกประมาณ 30 กว่าแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนจริง ก็สนับสนุนการต่อสู้ดังกล่าว โดยบางแห่งได้ถ่ายเสียงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย

 

ส่วนผู้นำชุมชน อย่าง นพ.จำรัส สรพิพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาขอกลุ่มนักประชาสังคมในจังหวัดตรัง บอกว่า ถ้ารัฐบาลพรรคพลังประชาชนยังอยู่ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรได้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังเคลื่อนไหวขับไล่อยู่ต่อไป

 

"ตอนนี้มองว่าเป็นการประจันหน้ากันระหว่างคนดื้อกับคนดื้อ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอม แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือนึกถึงผลกระทบภาพรวมทั้งหมด อาจเป็นเรื่องปกติของคนที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้ก็เป็นได้ ที่ต้องมุ่งมั่นที่จะเอาชนะกันให้ได้ ทำให้มีมุมมองที่แคบลงๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งจำกัดอยู่ที่ตัวเอง"

 

หากภาวการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายมีค่าใช้จ่ายมาก หมายถึงมีการใช้ทรัพยากรอื่นๆ อีกมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าทั้งสองฝ่ายผิดแต่ก็มีส่วนที่ถูกอยู่ด้วย การแก้ปัญหาโดยเจรจายังใช้ไม่ได้ เพราะเหมือนกับการทำสงครามที่ถ้าไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำก่อนก็จะไม่ยอมเจรจา

 

ในส่วนตัวคิดว่าตอนนี้คงยังไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกัน สิ่งที่เห็นตอนนี้คือมีเสียงเรียกร้องหนึ่งแต่เบามาก คือให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความสงบ แล้วหันหน้าเข้าหากัน ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการเมืองระดับบนตอนนี้ทำให้ปัญหาของคนระดับล่างถูกละเลยไปด้วย

 

ในส่วนของนักวิชากร อย่างดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีมองใน 2 ด้าน คือ ถ้าสภาเลือกนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเคลื่อนไหวง่ายขึ้น เพราะจะกระตุ้นกลุ่มคนที่เป็นกลางออกเคลื่อนไหวด้วย เพราะคิดว่าปัญหาต่างๆจะยิ่งหมักหมม อีกทั้งเป็นประเด็นด้านจริยธรรมและความชอบธรรมด้วย

 

อีกทาง คือ ถ้าพรรคพลังประชาชนให้เป็นคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคพลังประชาชนจะยังไม่พ้นจากอำนาจรัฐและไม่สนใจเสียงคัดค้าน โดยจะพยายามทำตามสิ่งมุ่งหมายต่างๆ ทั้งการฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยไม่เลือกการยุบสภาแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมามีอำนาจอีกหรือไม่ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนก็จะยังมีอยู่ต่อไป

 

แต่ในส่วนการเคลื่อนไหวต่อไปของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดนครศรีธรรมราช เน้นไปที่กลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในส่วนกลาง การร่วมรณรงค์ ติดตามข่าวสารบ้านเมือง พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ส่วน รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกมาแล้วนั้น ถึงวันนี้เขาบอกว่า การที่ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แสดงให้เห็นว่าความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยยังเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้

 

"ตนคิดว่าในที่สุดคงได้รับการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการนิติรัฐ กฎหมายของประเทศ ไม่ว่าคดีทุจริต หรือยุบพรรค ถ้าสังคมไทยมีความอดทนเพียงพอ เชื่อว่าปัญหาสามารถคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ ในฐานะมหาวิทยาลัยเคารพในหลักปัจเจกชน บุคคลมีอิสรเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เคารพในการตัดสินใจ ไม่ว่าบุคลากร อาจารย์ หรือนักศึกษา" รศ.ดร.บุญสม กล่าว

 

ด้านนายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์ความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่จบง่าย จะยังมีต่อไปอีกเรื่อยๆและคาดว่าจะกระทบกับยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจำนวนน่าจะลดลงเกินกว่า 50 % ประกอบกับผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีผลต่อนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันด้วย

 

อย่างไรก็ตามในด้านการท่องเที่ยวคงจะเคลื่อนไหวอะไรได้ไม่มาก แต่จากการประชุมกันของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว 3 จังหวัดคือภูเก็ต พังงา กระบี่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีดังกล่าวนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องการเมืองควรปล่อยเอาไว้ก่อน เพราะเห็นว่าปัญหาทางการเมืองยังไม่แน่นอนว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่จะทางสมาคมฯหันมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวก่อนว่า ตอนนี้ในประเทศไทยยังคงเป็นปกติอยู่ เพื่อต้องการให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มขึ้น

 

สิ่งที่จะทำคือจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เชิญคณะทูตานุทูตและสื่อต่างประเทศเข้ามาเพื่อให้เห็นว่าภาพรวมยังคงเป็นปกติ ซึ่งต้องเร่งทำเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แม้ยังไม่แน่นอนว่าอาจจะมีการปิดสนามบินอีกหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าคนกระบี่พูดกันง่ายและน่าจะเข้าใจว่าการทำเช่นนี้เหมือนการทุบหม้อข้าวตัวเอง คิดว่าน่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

 

ส่วนนายธนารักษ์ พงศ์เภตรา ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ กล่าวว่า งานของสภาธุรกิจเน้นในเรื่องต่างประเทศ คือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย(IMT - GT) ซึ่งทางสภาธุรกิจของทั้งสองประเทศดังกล่าว ก็ไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสิ่งที่สภาธุรกิจเป็นห่วงก็คือเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2551 นี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าประชุมสุดยอดผู้นำประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ด้วย เกรงว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นนโยบายของรัฐจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

หรือหากยังเป็นรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนอยู่ แต่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งอาจเป็นนายสมัครคนเดิมหรือคนใหม่ ก็จะต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน ในขณะที่นักธุรกิจต้องการความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล หรือแลนด์บริดจ์ นโยบายด้านการพัฒนาระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์ในภาคใต้ เพราะในระยะสั้น 1 - 5 ปีนี้ นักธุรกิจในภาคใต้ต้องการให้พัฒนาเรื่องการขนส่งสินค้าระหว่าไทยกับมาเลเซียให้เร็วขึ้น ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของทางทีของสภาธุรกิจชายแดนใต้ต่อสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้นั้น เนื่องจากสมาชิกสภาฯ มาจาก 3 สถาบันคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ท่าทีจึงขึ้นอยู่กับองค์กรต้นสังกัดเป็นหลัก

 

นายธนารักษ์ บอกว่าในส่วนตนเองเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจุดยืนเช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของชาติด้วยการหาข้อยุติให้เร็วที่สุดโดยไม่มีการใช้ความรุนแรง รวมถึงขอให้ภาครัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดซึ่งหากปัญหายังยืดเยื้ออยู่ถึงสิ้นปีนี้จะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ไม่นับรวมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

 

คน ม.อ.วิ่งแก้บ่น"สมัคร"หลุดจากตำแหน่ง

บุคลากร กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดยนายคมกริช ชนะศรี นักวิชาการระดับ 8 กองกิจการนักศึกษา พร้อมด้วยบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกประมาณ 20 คน ได้ร่วมวิ่งแก้บนจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 บริเวณลานพระรูปกรมหลวงสงขลานครินทร์ จำนวน 3 รอบ พร้อมทั้งปล่อยลูกโป่งพร้อมป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "ต้านรัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติ" เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น.วันที่ 10 กันยายน 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท