Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกในวันนี้ (9 ก.ย.) เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการเมืองตามแนวทางสันติวิธีและประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 8 เรื่อง โดยเรียกร้องทั้งผู้สนับสนุนพันธมิตรและรัฐบาลยึดแนวทางสันติวิธี ไม่ใช้อาวุธ การปลุกปั่นมวลชนโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ขอให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการชุมนุมภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สนับสนุนให้มีการเจรจากัน เรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาเพื่อการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฏกติกาทางการเมือง และเรียกร้องให้ทหารวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา


 


แม้เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกจะสนับสนุนการชุมนุมภายใต้กฎหมายแลกระบวนการยุติรรม แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการกดดันรัฐบาลโดยอ้างและนำเอาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือต่อรอง โดยเฉพาะการข่มขู่ว่าจะยุติการให้บริการสาธารณะต่างๆ รวมถึงการยึดสถานที่ราชการ และยังมีข้อเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรฯ ทุกท่านเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ และดำเนินการอุทธรณ์หรือต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจทางการเมืองและเป็นการสร้างค่านิยมตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้องต่อสาธารณชน


 


นอกจากนี้เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ โดยกลุ่มนักศึกษาที่เผยแพร่แถลงการณ์เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ


 


โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้


 


 







มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย


กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย


 


            9 กันยายน 2551


 


เรื่อง             เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการเมืองตามแนวทางสันติวิธีและประชาธิปไตย


เรียน             ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายสมัคร สุนทรเวช) และ


                   นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


เอกสารแนบ   รายชื่อผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องในหนังสือฉบับนี้


 


 


                   ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันได้ดำเนินเข้าสู่ภาวะเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนชาวไทยสองกลุ่มใหญ่ คือ ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ ตลอดจนการกดดันของพนักงานรัฐวิสาหกิจหลายหน่วยงานเพื่อยุติการให้บริการสาธารณะ ซึ่งพัฒนาการของการเผชิญหน้าได้นำไปสู่การปะทะด้วยการใช้กำลังระหว่างสองฝ่ายในรุ่งเช้าของวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมาโดยมีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สร้างความสูญเสียแก่ญาติพี่น้องของบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเช้าวันเดียวกัน ดังปรากฏเป็นข่าวและได้ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น


 


                   กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ในฐานะประชาชนชาวไทย รวมทั้งผู้ห่วงใยต่อสถานการณ์ของประเทศที่ได้เฝ้ามองพัฒนาการทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เห็นพ้องกันว่าภาวะการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประชาธิปไตย การบริหารประเทศ กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตและความผาสุกของประชาชนชาวไทยโดยส่วนรวม


 


                   ด้วยเหตุดังกล่าว กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองที่มิได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด หากแต่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในแนวทางสันติวิธีและตามหลักการประชาธิปไตย จึงใคร่ขอเรียกร้องดังนี้


 


                   1. ขอให้กลุ่มผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายดำเนินการทางการเมืองตามแนวทางสันติวิธีอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธ และการปลุกปั่นมวลชนโดยบิดเบือนความจริง อันจะนำมาซึ่งการขยายความขัดแย้งไปสู่วงกว้างและการนองเลือดในที่สุด ดังที่สังคมไทยเคยประสบมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งใหญ่ ๆ ด้วยกัน นับตั้งแต่ ตุลาคม 2516, ตุลาคม 2519 และ พฤษภาคม 2535 ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นบทเรียนได้อย่างดีแล้ว


 


                   2. ขอให้กลุ่มผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายดำเนินการชุมนุมภายใต้กรอบของกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ พวกเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการกดดันรัฐบาลโดยอ้างและนำเอาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือต่อรอง โดยเฉพาะการให้ผู้สนับสนุนฝ่ายตนข่มขู่ว่าจะยุติการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงการยึดสถานที่ราชการ


 


                   3. ขอให้ทั้งสองฝ่ายยินยอมเจรจาร่วมกันเพื่อยุติปัญหาโดยเร็ว โดยพยายามหลีกเลี่ยงการตั้งเงื่อนไขที่ไม่มีทางแก้และเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายยินยอมเจรจาตามที่ประธานวุฒิสภาได้เสนอมา แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะจัดสรรการเมือง "แบบใหม่" ที่อาจประกอบด้วยผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น กำหนดให้อัตราส่วนผู้แทนราษฎรแบบแต่งตั้งและเลือกตั้งเป็นแบบร้อยละ 70/30 ดังที่ปรากฎตามข่าว ซึ่งพวกเราเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศแต่อย่างใด


 


                   4. ขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตรฯ ทุกท่านเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ และดำเนินการอุทธรณ์หรือต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจทางการเมืองและเป็นการสร้างค่านิยมตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้องต่อสาธารณชน


 


                   5. ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ


 


                   6. ขอเรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาที่มีอยู่เป็นหลัก ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฏกติกาทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากฝ่ายพันธมิตรฯ ยินยอมเจรจา รัฐบาลควรมีความจริงใจในการนำข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลและไม่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยมาปรึกษากับรัฐสภาเพื่อแสวงหาทางออกต่อไป ดังนั้น พวกเราจึงไม่พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาในขณะนี้ หรือแม้แต่การดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวของรัฐบาล เช่น การทำประชามติ เพราะเห็นว่ามิได้เป็นการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด อีกทั้งมีความสิ้นเปลืองและอาจก่อให้เกิดการแตกแยกในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจเป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการรุนแรงของฝ่ายรัฐต่อผู้ชุมนุมต่อต้าน หากผลการลงประชามติส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่ยอมรับผลนั้น


 


                   7. ขอให้ฝ่ายทหารมีความอดกลั้นและวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ดังกล่าว โดยยึดหลักการประชาธิปไตยและไม่ใช้กำลังในการยึดอำนาจรัฐเหมือนในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ดังที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวล เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินต่อไปได้ตามกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และรักษาภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก


 


                   8. ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยสัมมาทิฐิและมีสติ ปราศจากโมหะและอคติต่อกัน ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ และตัดสินใจโดยใช้เหตุผล พร้อมทั้งพิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในแนวทางที่ถูกต้อง


 


                   กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียตระหนักว่าข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นอาจมิได้มีอะไรแปลกใหม่จากที่หลาย ๆ ฝ่ายได้เสนอไว้ หากแต่ต้องการร่วมตอกย้ำจุดยืนทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามหลักการและวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย และแสดงให้เห็นว่าพวกเรามิได้เห็นด้วยกับการดำเนินการในหลาย ๆ เรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังที่ผ่านมา


 


                   ในท้ายสุดนี้ พวกเราหวังว่าทุกฝ่ายจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อ "พัฒนา" การเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชน "ส่วนใหญ่" สามารถมีส่วนร่วมและเพื่อประโยชน์ของเขาเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ พวกเราเห็นว่าการบรรลุเป้าหมายที่ดีงามควรต้องดำเนินตามแนวทางและหลักการที่ดีงามด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตยและตามหลักนิติธรรมถึงแม้ว่าจะใช้เวลาบ้างหรือไม่ถูกจริตทุกคน แต่ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มากที่สุดและเป็นระบอบที่บกพร่องน้อยที่สุดแล้ว ก็ควรสนับสนุนและยอมรับกติกาที่กำหนดขึ้น รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้มีสำนึกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างถูกต้อง และเพื่อให้การเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


 


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา                      


 


 


ขอแสดงความนับถือ


กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และ ศิษย์เก่า


มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย


 


 


รายชื่อผู้ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องฯ


1.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ นักศึกษาปริญญาเอก Crawford School of Economics & Government


2.จักรกริช สังขมณี นักศึกษาปริญญาเอก Research School of Pacific & Asian Studies


3.ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ นักศึกษาปริญญาเอก Faculty of Asian Studies


4.วสุนธรา เยี่ยงพฤกษาวัลย์ นักศึกษาปริญญาเอก National Centre for Epidemiology & Population Health


5.วรัญญา ฉันทพันธุ์ นักศึกษาปริญญาเอก Centre for Applied Macroeconomic Analysis


6. อรุณรัตน์ ตั้งมั่นคงวรกุล นักศึกษาปริญญาเอก National Centre for Epidemiology & Population Health


7.ภาวิน ศิริประภานุกูล นักศึกษาปริญญาเอก School of Economics


8.ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์ นักศึกษาปริญญาเอก Research School of Pacific and & Asian Studies


9.ประเสริฐ แรงกล้า นักศึกษาปริญญาเอก Research School of Pacific and & Asian Studies


10.วรรณรัตน์ พรศิริวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก School of Biochemistry and Molecular Biology


11.เฉลิมพล สำราญพงษ์ นักศึกษาปริญญาเอก Centre for Resource & Environmental Studies


12.นัฏฐวี เกียรติวีระกุล นักศึกษาปริญญาโท Centre for Arab and Islamic Studies


13.ทบพล จุลพงศธร นักศึกษาปริญญาโท Faculty of Asian Studies


14.พิทักษ์สิน สิวรุจน์ นักศึกษาปริญญาโท Graduate School of International Affairs


15.Damien Kilner นักศึกษาปริญญาโท Faculty of Asian Studies


16.พิชญา ลิ้มจำรูญ นักศึกษาปริญญาตรี Faculty of Arts


17.Vince Maguire นักศึกษาปริญญาตรี Faculty of Asian Studies


18.Larissa Hall นักศึกษาปริญญาตรี Faculty of Asian Studies


19.Ian Phillips นักศึกษาปริญญาตรี Faculty of Asian Studies


20.จินตนา แซนดิแลนด์ซ อาจารย์ National Thai Studies Centre


21.Craig Reynolds อาจารย์ Faculty of Asian Studies


22.Peter Warr อาจารย์ Research School of Pacific and & Asian Studies


23. Nicholas Farelly นักวิจัย Research School of Pacific and & Asian Studies


24.พนิตนาฏ โรจนเบญจวงศ์ ศิษย์เก่า University of Leeds (ปัจจุบัน)


25.วราภรณ์ แช่มสนิท ศิษย์เก่า สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบัน)


26.วาสนา อิ่มเอม ศิษย์เก่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ปัจจุบัน)


27.วราวุธ ฤกษ์วรารักษ์ ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยนเรศวร (ปัจจุบัน)


28.กฤตยา อาชวนิจกุล ศิษย์เก่า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบัน)


29.สุรีย์พร พันพึ่ง ศิษย์เก่า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบัน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net