Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ฉัตรชัย ไพยเสน ศูนย์การศึกษาสหภาพแรงงาน


 


 


"ปะทะกันแล้ว มีคนตายด้วย" เป็นเพียงตัวอย่างการสนทนาของประชาชนทั่วไปในคืนวันที่ 2 กันยายน 2551 ยอมรับว่าตะลึงมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อตั้งสติได้แล้วจึงมานั่งตรึกตรองและวิเคราะห์ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า..มันเกิดอะไรขึ้น?......ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?....ทำใจให้ว่างก่อนแล้วค่อยเขียน....



 


พันธมิตรฯ-นปก.-นปช?


 


ไม่ง่ายนักที่จะเขียนถึงเรื่องนี้ แต่โดยมุมมองส่วนตัวจากการได้ร่วมสัมผัสแล้ว มองว่าทั้ง พันธมิตรฯ-นปก.-นปช ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย ทุกกลุ่มต่างมีแนวคิด มีอุดมการณ์ที่เป็นของตนเอง แม้ว่าจะเป็นแนวคิดและอุดมการณ์ ที่แตกต่างกันก็ตาม ซึ่งถ้ามองถึงกลุ่มคนที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมของทั้ง พันธมิตรฯ-นปก.-นปช แล้วก็เช่นเดียวกัน เป็นกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ล้วนมาด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ของตัวเขาเอง เฉกเช่นเดียวกันกับเราๆ ท่านๆ ที่ล้วนมีแนวคิดและอุดมการณ์เป็นของตัวเองเช่นกัน การไปเข้าร่วมชุมนุมจึงเป็นเรื่องของจิตใจของแต่ละบุคคล ที่ยินดีในการไปเข้าร่วมชุมนุมกับผู้ที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน...ถามว่าเขาผิดหรือไม่ที่ทำเช่นนั้น? ก็ไม่น่าจะผิดอะไรเพราะทุกคนต่างมีความรู้ มีวิจารณญาณ มีแนวคิด มีอุดมการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย


 


การจะตัดสินว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด ใครถูกหรือใครผิดนั้น อยู่ที่ว่าจะมองจากมุมไหน?



 


"ปะทะกันแล้ว มีคนตายด้วย"….???


 


ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมุ่งประเด็นไปที่ทำไมจึงปะทะกัน? ใครอยู่เบื้องหลัง? หรือ พรก.ฉุกเฉินจำเป็นแค่ไหน? แต่ประเด็นที่ผมสนใจมากไปกว่านั้นคือ ผู้ตายเป็นใคร? ทำไมจึงไม่มีการนำเสนอผ่านสื่อ?


ไม่เคยรู้จักกับผู้ตาย ทำให้ยิ่งอยากทราบ...แต่ไม่มีคนหรือสื่อพูดถึง...ทำไม? กลุ่มต่างๆ ทำไมนิ่งเงียบ?


ยิ่งเมื่อได้ทราบว่า ผู้ตายนั้นเป็นประชาชนต่างจังหวัดที่มีฐานะยากจนคนหนึ่ง ยิ่งเกิดความแคลงใจว่าทำไม? ทำไม? ทำไม?


 


ในเมื่อทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายต่างอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของภาคประชาชน?


สื่อที่มักประกาศตัวว่า จะนำเสนออย่างเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ?


แต่เมื่อมีคนเสียชีวิต กับเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ทุกกลุ่มใยนิ่งเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น?


เสมือนว่าชีวิตคนไม่ได้มีค่าอะไรเลยงั้นหรือ? หรือเพราะว่าเขามีแนวคิด มีอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากคุณ? หรือเพราะเขาเป็นเพียงประชาชนที่ยากจนเท่านั้น? เขาไม่สมควรที่จะได้รับความสนใจจากสังคมเลยใช่หรือไม่?



 


คุณเป็นคนไทย...ผมก็คนไทย...แล้วเขาเป็นใคร?


 


เป็นคำถามที่คาใจเป็นอย่างยิ่ง เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย? ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมืองเลยหรือไร? เป็นคนจนที่แนวคิด มีอุดมการณ์ที่แตกต่าง แล้วมาแสดงออกทางการเมือง เป็นความผิดหรือไม่? หรือผิดเพราะเขาเป็นคนจน? ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่าในผืนแผ่นดินนี้ ไม่มีที่ว่างสำหรับการแสดงความคิดเห็นของคนจนๆ เลย


 


คุณค่าของชีวิตคนจน มีน้อยกว่าจนรวย มีน้อยกว่าผู้มีการศึกษาสูงๆ มีน้อยกว่าผู้ทำงานสื่อทั้งหลาย เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?แล้วบทบาทและพื้นที่ของคนจนอยู่ที่ไหนในสังคมไทย?.......และถ้าผู้ที่เสียชีวิตไม่ใช่คนจน...จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือต้นทุนทางสังคมสูง..สื่อจะให้ความสำคัญ..สังคมต้องให้ความสนใจมากกว่าหรืออย่างไร?


 


ทุกคนพูดเสมอเรื่องความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ...แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้..กลุ่มต่างและสื่อต่างๆ จะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร? ชีวิตคนมิใช่ผักปลา การเสียชีวิตของคนจนๆ ที่เป็นคนไทยเหมือนกับเราๆ ท่านๆ มีความสำคัญน้อยกว่ากันได้อย่างไร?


 


พื้นที่ของคนจนหายไปไหน?...ตัวแทนที่ได้ชื่อว่าตัวแทนภาคประชาชนไม่รวมถึงคนจนด้วยหรือไร?


เสียใจมากๆ จริงเพราะผมก็เป็นคนจนๆ คนหนึ่ง ที่มีความภูมิใจว่าผมก็คือคนไทย? แต่...มีความสำคัญน้อยกว่าคุณ...


 


ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร....ผมขอไว้อาลัยให้กับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 2 กันยายน 2551....ด้วยความจริงใจ และขอวิงวอนให้สังคม กลุ่มต่างๆ และสื่อต่างๆ โปรดทบทวนเรื่องนี้ด้วยว่า ท่านมีความเป็นคนไทยมากกกว่าผู้ที่เสียชีวิตหรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net