Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม : ถอยหน้าถอยหลัง...ประชาธิปไตยไทย


 


จิตติภัทร พูนขำ


 


ระเบิดที่ขว้างใส่ชาวอังกฤษในตอนนี้ จะพุ่งกลับไปที่ชาวอินเดียเอง


ในภายหลังเมื่อชาวอังกฤษไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกต่อไปแล้ว


มหาตมะ คานธี


 


 


 


ณ วันนี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนักวิชาการผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯได้ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ใช้หลักการหรือแนวคิดแบบ "คานธี" ในการประท้วงและกระทำอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่ปราศจากความชอบธรรม ประเด็นนี้ผมใคร่ขอยกเอาแนวทางของคานธีมาวางให้ท่านพินิจพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน


 


ภายหลังจากเหตุการณ์กบฏในปี ค.ศ. 1857 ที่ชาวฮินดูได้แก้แค้นและใช้ความรุนแรงต่อจักรวรรดินิยมอังกฤษ คานธีได้บทสรุปดังนี้คือ ประการแรก ถ้าพวกเขาต้องการอิสรภาพ ชาวอินเดียจะต้องสมานฉันท์กันเองเสียก่อน ไม่เพียงระหว่างศาสนาคือ ฮินดู มุสลิม และกลุ่มศาสนิกชนที่เล็กกว่าคือ สิกข์ คริสต์ เชน ปาร์ซีและยิวเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นระหว่างวรรณะและชนชั้นด้วย


 


ประการที่สอง เอกราชจะต้องปลดปล่อยและสร้างพลังให้แก่ชาวอินเดียที่อ่อนแอ มิใช่การเปลี่ยนผ่านกำลังอำนาจไปยังคนที่มั่งคั่งด้วยกำลังทหาร ที่ดินและทองคำ ดังที่คานธีได้กล่าวไว้ในหนังสือฮินดู สวาราช (ซึ่งหมายความว่า "การปกครองตนเองของอินเดีย") ไว้ว่า อินเดียมิได้หมายถึง "มหาราชาเพียงไม่กี่คน สำหรับข้าพเจ้า มันหมายถึงคนเป็นล้านๆเหลือคณานับ" คานธีชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญของชนชั้นนำว่าคือ "ผู้ที่เราเอ่ยนามนั้นหาใช่ผู้ที่เรารู้จักหรือรู้จักเราไม่" อย่างไรก็ตาม คานธีเห็นว่าการปฏิวัติของชาวอินเดียนั้นจะแตกต่างไปจากการปฏิวัติของชาวฝรั่งเศสหรือรัสเซีย นั่นคือ "ถึงแม้ว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาชน ก็ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง...ประชาธิปไตยของข้าพเจ้าหมายถึงการที่ทุกคนได้เป็นนายของตนเอง"


 


ประการที่สามคือ จะต้องต่อสู้กับอังกฤษโดยไม่ใช้ความรุนแรงหรืออหิงสา เหตุการณ์ในปี ค.ศ.1857 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการลุกฮือขึ้นโดยใช้ความรุนแรงจะถูกปราบปรามอย่างรวดเร็วและอำมหิต อย่างไรก็ดี อีกเหตุผลหนึ่งในการไม่ใช้ความรุนแรงก็คือ การใช้ความรุนแรงจะกลายเป็น "นิสัย" คานธีกล่าวว่า "ระเบิดซึ่งขว้างใส่ชาวอังกฤษในตอนนี้ จะพุ่งกลับไปที่ชาวอินเดียเองในภายหลังเมื่อชาวอังกฤษไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกต่อไปแล้ว"


 


แนวทางประการที่สี่ของคานธีคือ ไม่ควรต่อต้านอังกฤษอย่างมืดบอดไร้สติ เพียงเพราะความอดสูทั้งปวงจากการปกครองของคนต่างด้าว เพราะมีหลายกลุ่มในอินเดียที่เชื่อมั่นในชาวอังกฤษ และชาวอังกฤษหลายคนก็เป็นคนดีและเป็นมิตรต่อชาวอินเดีย คานธีจึงยืนกรานว่า ในการต่อต้านการปกครองของอังกฤษนั้นไม่ควรใช้ความรุนแรง หรือด้วยความเกลียดชังหรือรังเกียจเดียดฉันท์ต่อบุคคล หรือเจ้าหน้าที่อังกฤษทั้งหลาย หรืออาจกล่าวเป็นคำพูดง่ายๆว่า "จงเกลียดตัวบาป ไม่ใช่ผู้ทำบาป" 


 


คานธีกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "ข้าพเจ้าต้องกดความปรารถนาของตนเองไว้อย่างเหี้ยมโหด นับตั้งแต่ได้อ่านประวัติศาสตร์ของบริษัทอินเดียตะวันออก จิตใจของข้าพเจ้าก็ปฏิเสธที่จะภักดีต่อจักรวรรดิอังกฤษ และต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อหยุดยั้งกระแสธารแห่งการคิดกบฏ ความคิดแรกที่ผุดขึ้นในใจก็คือ อังกฤษควรถูกขับออกไปจากอินเดียพร้อมสัมภาระทุกอย่าง แต่ความรู้สึกที่ลึกลงไปยังคงขืนยืนยันว่า สิ่งที่ดีของอินเดียนั้นวางอยู่ในความสัมพันธ์กับอังกฤษ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องบังคับตนเองให้รักพวกเขา"


 


อารยะขัดขืนของคานธีจึงวางอยู่บนหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรง และเมื่อตัดสินใจเลือกใช้มรรควิธีนี้แล้วก็ต้องกล้าที่จะยอมรับกับผลของการกระทำที่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีด้วย ดังที่คานธียินดีให้ตำรวจของจักรวรรดิอังกฤษจับกุมตัวไปคุมขังได้ โดยปราศจากความขัดขืน ด้วยเหตุฉะนี้ อารยะขัดขืนนั้นจึงยังคงเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือประท้วงบนพื้นฐานของขื่อแปของบ้านเมืองนั้นๆ อยู่ แม้ว่ากฎหมายนั้นๆ จะไม่มีความยุติธรรมหรือเป็นเผด็จการก็ตามที


 


คำถามที่ตามมาคือ กลุ่มพันธมิตรฯกำลังกระทำการที่เป็นอารยะขัดขืนแบบคานธี กระนั้นหรือ?


 


ในวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มพันธมิตรฯได้บุกเข้าทำลายสถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งการคุกคามสื่อ (อนึ่ง มิได้หมายความว่าสื่อของรัฐนั้นมีความถูกต้องและเป็นกลาง เพราะพฤติการณ์ได้ชี้ให้เห็นแจ่มแจ้งแล้วว่าสื่อนั้นเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล แทนที่จะเป็นสื่อของประชาชน) การกระทำดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ที่มิอาจจะยอมรับได้ และพึงได้รับการประณามอย่างรุนแรงที่สุด นอกจากนั้น การที่ศาลออกหมายจับกุมตัวแกนนำพันธมิตรฯนั้น หากท่านทั้งหลายกำลังดำเนินรอยตามอย่างท่านคานธีแล้วไซร้ ท่านพึงตระหนักถึงข้อจำกัดประการสำคัญนี้ที่ว่า จะต้องเคารพในอำนาจศาลสถิตยุติธรรมและยอมมอบตัวอย่างสันติ โดยปราศจากการขัดขืนและแข็งข้อ เพราะนั่นคงไม่อาจเรียกการกระทำนั้นได้ว่าอารยะขัดขืน แต่หากเป็น "อารยะขัดขืนจอมปลอม" เท่านั้นเอง   


 


อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องยอมรับว่ากลุ่มพันธมิตรฯในช่วงเวลานี้นั้นประกอบไปด้วยกลุ่มคนต่างๆหลากหลายที่เข้ามาเป็นองคาพยพของกลุ่มตรงนี้ เราคงไม่อาจสรุปอย่างเหมารวมได้ว่าคนเหล่านี้ถูกจ้างมา หรือเป็นคนไม่มีการศึกษา โง่หรืออะไรต่างๆ นานาที่รัฐบาลและสื่อบางสำนักพยายามขึ้นป้ายให้แก่กลุ่มพันธมิตรฯ แต่ต้องไม่ละเลยข้อสังเกตสำคัญนั่นคือ ผู้ชุมนุมเหล่านี้เป็นประชาชน (และเพื่อนร่วมสังคมโลกของเรา) ที่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง และมีหลายส่วนหลายกลุ่มที่มาชุมนุมร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมบางประการ แต่กระนั้นก็ดี สำหรับแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ผู้เขียนกลับเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ได้มีความชอบธรรมทางการเมืองใดที่ออกมาเรียกร้องในนามของประชาชน และเพื่อประชาธิปไตย เพราะในประการแรก สิ่งที่ท่านเรียกร้องนั้นกลับไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวได้ว่ากลับหัวกลับหางประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ หากจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือการเมืองภาคประชาชนตามศัพท์ทางวิชาการก็คงไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก แต่อาจพอเรียกอย่างหลวมๆได้ว่าเป็น การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบอนุรักษนิยมที่มีบรรดาศักดิ์และจงรักภักดี 


 


ในประการต่อมา เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ไม่ได้มีความชัดเจนแจ่มชัด และยังแปรเปลี่ยนไปอย่างเลื่อนลอย วันนี้จะประท้วงเรื่องนี้ อีกวันหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่าคือขบวนการเคลื่อนไหวขาดเป้าหมายในเชิงโครงสร้างที่จะเรียกร้องหรือเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนต่อโครงสร้างทางสังคมต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกัน ตรงนี้เราแทบจะไม่อาจเปรียบเทียบความก้าวหน้าหรือพัฒนาการการเมืองภาคประชาชนของไทยกับประเทศอื่นๆในการเมืองโลกได้ เช่นในละตินอเมริกา การเมืองภาคประชาชนของเขาต่อต้านต่อระบบนายทุนกดขี่ การเรียกร้องการปฏิรูประบบที่ดิน การต่อต้านทุนข้ามชาติ หรือระบบกษัตริย์นิยมหรือศักดินาต่างๆ ในทางกลับกัน กลุ่มพันธมิตรฯเรียกร้องสิ่งที่สะเปะสะปะ และถอยหลังเข้าคลองไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทย์ (absolutism) ไม่ว่าจะด้วยคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มองค์คณะบุคคลที่อยู่เหนือการเมืองประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มพันธมิตรฯคงไม่อาจพูดได้ว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชน และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน (อนึ่ง เราน่าจะมีสิทธิตั้งคำถามได้ว่า การดำเนินการของกลุ่มพันธมิตรฯนั้นมี "เบื้องหน้าเบื้องหลัง" อย่างไรหรือไม่? มีใครสนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังหรือไม่? เงินสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯมาจากไหน? และสุดท้ายใครจะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้? และประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร? ซึ่งตรงนี้อยู่นอกเหนือขีดความสามารถของบทความสั้นๆนี้ แต่ผมว่านี่เป็นเงื่อนปมที่ใหญ่มากของสังคมการเมืองไทยที่รอวันคลี่คลาย)  


 


ในอีกด้านหนึ่ง การกระทำของรัฐบาลภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งและได้เสียงข้างมากภายใต้ระบบรัฐสภา หากแต่การใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อประชาชนนั้นย่อมไม่มีความความชอบธรรมของรัฐบาลที่(ชอบอ้าง)มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ สมัครยังเผชิญกับข้อกล่าวหาทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีไปรับหน้าที่พิธีกรรายการชิมไปบ่นไป ทั้งเรื่องการกระทำขัดมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญกรณีไม่นำเรื่องข้อตกลงปราสาทพระวิหารเข้ารัฐสภา เป็นต้น ในวิกฤตครั้งนี้ การยั่วยุยั่วยวนของ(รัฐบาล)สมัครนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ ต่อสถานการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย และไม่มีวุฒิภาวะทางการเมือง แต่กลับยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความโกรธเกลียดชังเพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นกมลสันดานหรือดั่งคำพูดของคานธีว่าเป็น "นิสัย" ของสมัคร (และสังคมไทยโดยรวมด้วยหรือไม่นั้นอาจถกเถียงกันได้) ที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ คำพูดของสมัครเมื่อวานนี้ (29สิงหาคม 2551) สะท้อนกมลสันดานนี้อย่างชัดเจน "...จะเอาบ้านเมืองให้พังไปต่อหน้าต่อตาหรือ ไม่ใช่คนไทยหรือ ดูก็หน้าตาดีทั้งนั้น...ไม่อยากใช้คำว่า สุดจะอดกลั้น"


 


ข้าพเจ้าเห็นว่าทัศนคติเช่นนี้ไม่สมควรหลุดออกมาจากปากของผู้นำประเทศไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามที สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การไม่ใช้ความรุนแรงและหาทางออกผ่านกลไกทางรัฐสภา โดยมีการเปิดประชุมสภาอย่างรีบด่วน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนหาทางออกของปัญหา พรรคการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งก็ย่อมต้องเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ ตรงนี้สอดประสานกับบทบาทของสื่อมวลชนและนักวิชาการที่พึงทำหน้าที่ในการนำเสนอแนวทางต่างๆให้แก่สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกัน ผมว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมากๆในการกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง รายการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ควรที่จะละเลิกรายการไร้สาระเสีย และหันมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์หาทางเลือกทางออกต่างๆแก่สังคม ตรงนี้ผมว่าสำคัญมากๆ และทัศนะต่างๆก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นพ้องตรงตามกันเสียทั้งหมด ความแตกต่างหลากหลายในความคิดของคนกลุ่มต่างๆในพื้นที่สาธารณะย่อมมีประโยชน์ต่อสังคมการเมืองไทย มากกว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนสองกลุ่มบนท้องถนนเท่านั้น และนี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย


 


หากว่าการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชนดำเนินไปโดยปราศจากกลไกประชาธิปไตยของรัฐสภา อำนาจตุลาการ พรรคการเมือง สื่อมวลชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ แล้ว สุดท้ายเหตุการณ์นี้จะไม่แตกต่างไปจากภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กล่าวคือ วาทกรรม"ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" จะยิ่งลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนาและหนักแน่น และนี่จะเป็นเงื่อนปมที่จะทำให้การเมืองประชาธิปไตยไทยคลี่คลายและพัฒนาการอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสุ่มเสี่ยงต่อการไม่เคารพต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม มิพักต้องพูดถึงประชาธิปไตย พัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนไทยอาจจะกลายเป็นสิ่งที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่าเป็น "ฝ่ายค้านนอกสภาที่จงรักภักดี" เท่านั้น และการเมืองไทยก็จะเป็นเพียง "ระบอบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำ ที่ซึ่งทหาร, ตุลาการ, และเครือข่ายข้าราชบริพาร—หรือนัยหนึ่ง ชนชั้นนำผู้เปี่ยมล้นด้วยความเป็นไทยและคุณธรรมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รับบทเป็นผู้พิทักษ์/แก้ไขหรือตุลาการ/กรรมการคอยกำกับชักใยอยู่หลังฉาก" 


 


ความลงท้าย


 


ติบอร์ เมนเท สหายของคานธีได้พูดกับคานธีบ่อยๆว่า "ทำไมท่านไม่โจมตีระบบวรรณะโดยตรงเลยเล่า?"


คานธีกล่าวว่าเขาไม่เชื่อในระบบวรรณะยกเว้นแต่ในรูปแบบอุดมคติบางประการในเรื่องอาชีพต่างๆ ก็เท่านั้น แต่เนื่องจากระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเลวร้ายอย่างสิ้นเชิงและจำเป็นต้องขจัดให้หมดไป เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าจึงกำลังกำจัดทำลายมันให้สิ้นซาก โดยจัดการกับการแบ่งแยกกีดกันพวกนอกวรรณะ...ถ้าการกีดกันพวกนอกวรรณะหมดไป ระบบวรรณะก็จะหมดไปด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมุ่งเป้าหมายไปที่การกีดกันพวกนอกวรรณะ


 


ตรงนี้สอดคล้องกันไปกับคำนิยาม "ประชาธิปไตย" ของศาสตราจารย์จ๊าค ร็องซีแอร์ (Jacques Ranciere) ว่าหมายถึงการมีส่วนของภาคส่วนที่ไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนทางการเมือง (the part that has no part) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการปกครองของใครก็ได้ ไม่ว่าจะมีชาติตระกูล เพศ ศาสนา เชื้อชาติ ภาษาวัฒนธรรม ฐานะชนชั้น คุณวุฒิทางการศึกษา คุณธรรมจริยธรรม ลัทธิความเชื่อ ฯลฯ ก็ล้วนสามารถมีส่วนร่วมในการเมืองได้อย่างเสมอภาค


 


ข้าพเจ้าขอสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและสันติวิธีโดยปราศจากความรุนแรงอย่างสุดจิตสุดใจ กระนั้นก็ดี ความรุนแรงย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงได้หากว่าการกระทำนั้นทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคนระบบที่ อยุติธรรมในสังคม เช่นระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ ดั่งเช่นในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 และ/หรือระบบทุนนิยมสามานย์ ดั่งเช่นการปฏิวัติล้มล้างระบบนายทุนในประเทศในละตินอเมริกาเป็นต้น หากเป้าประสงค์เป็นเช่นนั้นแล้วไซร้ ข้าพเจ้าก็ขอสนับสนุนพลังปฏิวัติ (revolutionary forces) ดังกล่าว และไม่มีข้อกังขาสงสัยอันใดเลยต่อกระบวนการเคลื่อนไหวนั้นๆ แต่มิใช่การเคลื่อนไหวที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ดั่งเช่นในรัฐไทยปัจจุบัน เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกและ "พลังที่มองไม่เห็น" ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับพลังประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net