Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข


 


ผมไม่เห็นด้วยกับ "ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ" ที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเสนอเข้าสภาอย่างแน่นอนและอย่างไม่ต้องสงสัย


การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นพื้นเป็นฐานก่อนจะมามีผู้ปกครองเสียอีก เพราะเรามีการชุมนุมเราจึงมีกติกา มีกระบวนการที่จะอยู่กันอย่างสันติ และเพื่อการนั้นเราจึงมีกลไกรับใช้ต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือรัฐ (ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ นั่นแหละ)


จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้ชุมนุมจะต้องไปขออนุญาตจากรัฐ ในทางกลับกับ รัฐเองต่างหากที่ต้องขออนุญาตจากการชุมนุม กล่าวคือ ผู้บริหารรัฐเองต้องมีความชอบธรรมเพียงพอที่จะรับการทายท้าและการรณรงค์อย่างสันติจากการชุมนุม (ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภา หรือ ศาล)


ผมจึงไม่ขอลงรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะส่วนใหญ่เข้าข่ายเลอะเทอะเอาเสียทีเดียว และผลเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพนั้นกว้างใหญ่ไพศาล กระทบต่อคนด้อยโอกาสและเดือดร้อนจริงๆ จนต้องชุมนุมมากมาย โดยอาจไม่กระทบกับการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพือประชาธิปไตยที่กำลังชุมนุมอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เลยด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม "ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ" นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง มันง่ายที่จะฟันธง แต่สารภาพตามตรงว่า ผมใช้เวลาคิดไม่น้อยหรือเตลิดไปไกลกับข้อเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 เมื่อได้อ่านและฟังถ้อยคำที่นายกฯสมัคร สุนทรเวช เสนอจะแก้


"บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณา ชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม"


คิดนาน เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจว่า หากการชุมนุมมุ่งหวัง "ไม่ชนะ ไม่เลิก" (ซึ่งแปลว่า ข้าฯคือความถูกต้องแต่ผู้เดียว) แล้วใช้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่การโกหก ปั่นกระแส ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อมุ่งหวังในชัยชนะนั้น เป็นเรื่องทำได้หรือไม่


ไม่ว่าเราจะเคารพในวิจารณญาณของบุคคลเพียงใด แต่ประวัติศาสตร์สำคัญของมนุษยชาติในหลายเผ่าพันธุ์นั้นฟ้องอยู่แล้วว่า ความเสียหายจากการโกหกบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเผ่าพันธุ์ ไม่เลือกว่าเขาจะเป็นประชาชนในประเทศมหาอำนาจ ศิวิไลซ์หรือล้าหลัง


หนึ่งในนั้นคือเยอรมนีในยุคนาซีครองเมือง กับอีกหนึ่งคือกรณีของรวันดา ทั้งสองกรณีเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ และการชุมนุม จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขนานใหญ่


ผมจะไม่กล่าวถึงกรณีรวันดา ซึ่งสามารถติดตามเรื่องนี้ได้จากภาพยนตร์เรื่อง Hotel Rwanda เขียนบทและกำกับโดย Terry George หรือไม่ก็อ่านบทความของ ประจักษ์ ก้องกีรติ "คลื่นแห่งความเกลียดชัง : สื่อกับความรุนแรง" ในประชาไท ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว


ในเยอรมนีก่อนสงครามโลก สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ เริ่มต้นจากความดีความงามอุดมคติ ความเป็นธรรม แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นำประเทศเข้าสู่สงคราม และทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปหลายล้านคน


หลังการสิ้นสุดของสงครามโลก หลังหยุดการกรอกหูของสื่อนาซี ความจริงเปิดเผยขึ้น ประชาชนเยอรมนีเฝ้าถามว่า ที่ผ่านมาไปสนับสนุนการกระทำของพรรคนาซีไปได้อย่างไร


เชื่อหรือไม่ ประชากรส่วนใหญ่ในเวลานี้ของเยอรมนียังต้องมีส่วนชดใช้ความผิดนั้นผ๋านการชดเชยความสูญเสียให้กับชาวยิว และตราบาปเหล่านั้นก็ยังล้างไม่ออก


เพื่อนหลายคนบอกว่า เยอรมันเพิ่งจะกล้าร้องเพลงชาติเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ผมเองไปเที่ยวหลายเมืองในเยอรมนี มองหาธงชาติสักผืนก็แทบไม่เห็น


60 ปีที่ผ่านมา คนเยอรมัน สร้างประเทศของเขาให้ฟื้นจากความย่อยยับ โดยไม่ยอมอาศัยความหมายของชาติหรือสัญลักษณ์ใดๆ ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงภัยอันยิ่งใหญ่ของการคลั่ง "ชาติ" น่าแปลกเขาจึงรวมตะวันออกและตกได้อย่างไม่ยากเย็น


ผมเข้าใจเอาว่า พรรคกรีนของเขาซึ่งประกาศนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นพรรคที่ปัญญาชนบ้านเรารู้จักกันดี ก็ไม่เคยเอาเรื่องสำนึกความเป็นชาติมาใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ และผมเข้าใจเอาเองว่า ด้วยประวัติศาสตร์แบบนี้ จึงไม่มีใครเอา "ชาติ" ไปรั้งโลกาภิวัตน์ แม้จะรู้กันว่า มีการก่อตัวของนาซีใหม่อยู่บ้างประปรายก็ตาม


ทั้งหมด เมื่อต้องมาพิจารณาข้อเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด ไม่มีใครอยากเห็นการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นวิถีทางการต่อสู้และการแสดงความเป็นเจ้าของประเทศอันประเสริฐแต่ถูกใช้ไปในทางปลุกระดม โกหก ปั่นประแส จวนเจียนจะนำประเทศไปทำสงครามกับเพื่อนบ้าน


อย่างไรก็ตาม เนื้อหาและวิธีการของการชุมนุม ต้องแยกให้ออกจากสิทธิการชุมนุม ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การแก้ไขข้อความเงื่อนไขของการชุมนุมในมาตรา 63 ตามข้อเสนอของคุณสมัครนั้น ท่านเองคงไม่ได้เตลิดไปไกลอย่างผมคิดหรอก อย่างมากสุดก็เพื่อปลดล็อก แก้ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอันเกิดจากการชุมนุมของพันธมิตรฯในเวลานี้เท่านั้น ซึ่งที่สุดมันก็นำไปสู่เหตุผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอยู่ดี เราจะบอกว่าอะไรคือโฆษณา อะไรคือชวนเชื่อ และอะไรคือข้อมูลเท็จ เงื่อนไขเหล่านี้มันหาเหตุที่จะปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมได้เสมอ


ซึ่งที่สุดผลกระทบเหล่านี้มันจะไปตกอยู่กับชาวไร่ชาวนา แรงงาน ผู้เดือดร้อนอื่นๆ อีกมาก ที่ต้องแสดงออกด้วยการชุมนุม ซึ่งอาจจะเป็นการต่อสู้วิธีเดียวที่เหลืออยู่ของเขา


พอกันทีกับการสังเวยสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งมวลเพื่อปราบปรามหรือเอาชนะคนเพียงบางกลุ่ม เราเป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว แต่นั่นเป็นเรื่องของขบวนการรัฐประหารซึ่งไม่เคยเห็นหัวประชาชน เห็นแต่ความเป็นอภิชนของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องไม่ทำอย่างนั้น


แต่หากจำเป็นจะควบคุมเนื้อหาการชุมนุม ไม่ให้เกินเลยไปกระทบความมั่นคงและสันติภาพ จะแก้ไขเรื่องปลุกระดม เรื่องโฆษณาชวนเชื่อ เราจะทำได้อย่างไร ผมไม่รู้หรอกครับ แต่รัฐบาลต้องศึกษา โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์ เครื่องหมาย สี และสถาบันต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขของการปลุกระดมทั้งหลาย


ศึกษาเถอะครับว่า อะไรแบบไหนจะเป็นประโยชน์ต่อ "ประชาชน" ไม่ให้สัญลักษณ์เหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือให้ใครหยิบไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเอาชนะใครต่อใคร เช่น การชูธงในการชุมนุมในนามของชาติเป็นเรื่องควรกระทำหรือไม่ การโฆษณาว่าใครรักชาติมากกว่าใครทำได้หรือไม่ การรณรงค์ให้ใส่เสื้อสีจนกระทั่งทำให้ผู้ไม่ใส่กลายเป็นอื่น กระทำได้หรือไม่ การจะกล่าวว่า ใครจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์นั้นกระทำได้หรือไม่ หรือการพิจารณายกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ (มาตราในกฎหมายอาญา) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงและหลายฝ่ายมาปลุกปั่นเสมอ เป็นต้น


ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องออกกฎหมาย แต่อย่างน้อยประชาชนควรจะต้องรู้ว่า การชูธงชาติ ไม่ได้นำไปสู่การกู้ชาติ ฟื้นชาติ หรือสร้างชาติ เสมอไป แต่มันอาจนำความย่อยยับมาด้วย การรณรงค์ให้ใส่เสื้อสีเดียวกันก็อาจไม่ได้นำความรักความสามัคคีมาให้เสมอไป แต่นำความแตกแยกมาให้ด้วยเช่นกัน


ขณะเดียวกัน การไม่ชูธงในเรื่องเหล่านี้ ก็นำมาสู่การสร้างชาติได้เหมือนกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net