Skip to main content
sharethis

 อานุภาพ นุ่นสง...สัมภาษณ์
อรรถพงศ์ ศักดิ์สงวนมนูญ...เรียบเรียง



จากกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีแนวนโยบายนำที่ดินราชพัสดุจำนวน 1 ล้านไร่ มาจัดสรรให้เกษตรกรเช่า ภายใต้แนวคิดที่ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจำนวนมากที่ควรนำมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมที่สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน ดังนั้น ครม.จังเห็นชอบให้กรมธนารักษ์รวบรวมที่ราชพัสดุทั่วประเทศกว่า 12 ล้านไร่พิจารณาว่าสามารถพัฒนาสร้างประโยชน์ด้านเกษตรกรรมได้หรือไม่ โดยใน 3 เดือนข้างหน้านี้จะมีพื้นที่ 1 ล้านไร่นำมาบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้เกษตรกรเข้าไปทำกิน


นโยบายดังกล่าว ในเบื้องต้นจะไม่ครอบคลุมถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แต่พุ่งเป้าไปที่การกระจายพื้นที่ให้แก่เกษตรกรรายย่อยรายละประมาณ 15-20 ไร่ มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 30 ปี ส่วนอัตราค่าเช่าจะพิจารณาจากทำเล ที่ตั้ง ลักษณะพื้นที่เป็นสำคัญ ส่วนเงื่อนไขการให้สิทธิเช่าที่ราชพัสดุแก่เกษตรกรนั้นมีหลักการสำคัญคือ 1.ผู้มีสิทธิเช่าต้องเป็นเกษตรกรที่ยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน โดยอาศัยฐานข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย 2.ต้องใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร และ 3.ไม่สามารถขายหรือแลกเปลี่ยนใดๆ จากผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ได้ ยกเว้นการตกทอดให้แก่ทายาทเท่านั้น


กล่าวได้ว่า นโยบายการนำที่ราชพัสดุมาจัดสรรให้เกษตรกรเช่านั้นมิได้เป็นนโยบายใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ช่วงปี 2548 สมัยรัฐบาล พ...ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการแก้ปัญหาคนจนด้วยการให้ไปขึ้นทะเบียนคนจน ในยุคนั้นมีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนคนจนด้วยปัญหาการไร้ที่ดินทำกินจำนวนมาก รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการนำที่ราชพัสดุมาจัดสรรให้เกษตรกรเช่ารายละ 3 ไร่ในระยะเวลาเช่า 3 ปี อย่างเช่น กรณี อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ที่ พ...ทักษิณ เดินทางมาแจกสิทธิ์ให้เกษตรกรด้วยตัวเอง ขณะที่ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวกำลังจะหมดระยะเวลาการเช่า


...ผลจากนโยบายการนำที่ดินราชพัสดุให้เกษตรกรเช่า อย่างกรณี อ.ดอยหล่อ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินจริงหรือไม่ กลไกการดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นมากน้อยแค่ไหน ผลที่ออกมาสร้างโอกาสหรือเพิ่มภาระให้แก่เกษตรกรกันแน่...และนโยบายชุดใหม่ที่กำลังจะดำเนินการคือนำที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่มาจัดสรรให้เกษตรกรเช่าอีกครั้งนั้นคือทางออกในการแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดิน สามารถเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่ หรือทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าวควรเป็นไปในทิศทางใด อ่านมุมมอง "ประยงค์ ดอกลำไย" กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับปัญหาเกษตรกรมานานกว่า 20 ปี


--------------------------------------------------


อยากให้วิเคราะห์ผลจากนโยบายการลงทะเบียนคนจนที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ในปี 2548 ที่มีการนำที่ราชพัสดุให้เกษตรกรคนจนที่ไปลงทะเบียนเช่าเป็นเวลา 3 ปี ตอนนี้กำลังหมดสัญญาเช่า ผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง


ประเด็นแรกถามว่าคนจนได้ประโยชน์ไหม ภายใต้รัฐช่วยราษฎร์ในนโยบายแก้จนภายใต้รัฐบาลทักษิณ ถ้าอนุมานว่าภายใต้คนที่ไปขึ้นทะเบียนคนยากจนทั้งประเทศ 4.8 ล้านคน เฉพาะประเด็นปัญหาการไร้ที่ดินที่ อ.ดอยหล่อ มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนประมาณ 6,700 ราย ทีนี้ในการจัดสรรนั้นก็ถือเอาว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนจนในเรื่องที่ดินก็เอารายชื่อมา แต่ในจำนวน 6,700 รายนั้นไม่ได้เรียงเอาจากคนที่จนที่สุดขึ้นไป แต่มีการคัดเลือกเอาแค่ 900 กว่ารายเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบว่าคนที่ไปขึ้นทะเบียนมานั้นจนจริงหรือไม่ หรือจนระดับไหนก็ไม่ได้มีการคัดกรอง คือเอาคนที่ไปขึ้นทะเบียนมา ซึ่งมีความต้องการที่ดินและแสดงตนว่าตนเองเป็นคนจนแล้วอยากจะได้ที่ดิน จำนวน 6,700 ราย


ทีนี้คือหากจะให้คนจนได้ประโยชน์จริงๆ แล้ว ก็ต้องเอาคนที่จนที่สุดมาเรียงในกลุ่ม แล้วก็ตัดออกมา 1,000 คน แล้วก็เอามาเข้าสู่กระบวนการจัดสรรที่ดินให้เช่า แต่ในกรณีนี้เขาใช้วิธีคือใช้กลไกของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้คัดสรร เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าเขาคัดเลือกเอากับบุคคลที่ใกล้ชิดกับกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก อันนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาเพราะว่าคนจนจริงๆ จะไม่ได้รับ ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาอย่างหนึ่งอันนี้คือขั้นที่หนึ่ง


เมื่อคนเหล่านี้ได้ที่ดินไปแล้ว อันที่สองเป็นบทเรียนที่สำคัญคือขนาดและคุณภาพของที่ดิน ขนาด  3 ไร่ คิดว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดิน 3 ไร่ เมื่อเทียบกับภายใต้ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมันเล็กมาก เพราะว่าอย่างน้อยต้อง 15 ไร่ ในพื้นที่ตรงนี้ 3 ไร่ สภาพที่ดินนั้นไม่เหมาะสมที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะพืชล้มลุก แต่ว่ากรมธนารักษ์ก็เข้าไปกำหนดหลักเกณฑ์ว่าสมควรที่จะให้ปลูกเฉพาะพืชล้มลุกเท่านั้น เมื่อไปตรวจสอบในพื้นที่จริงๆ เราก็พบว่ามันเป็นพื้นที่ดินลูกรัง ซึ่งไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชที่มีรากตื้นอย่างพืชไร่ทั่วไป หรือว่าพืชล้มลุกแน่นอน แต่จะมีเพียงบางจุดเท่านั้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกแต่ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นไม่เหมาะสม 


อันต่อมาคือระยะเวลาการให้เช่าที่กำหนดไว้เพียง 3 ปี เพราะฉะนั้นการที่เกษตรจะลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องหรือว่าการที่เกษตรได้รับจัดสรรที่ดินจะไปลงทุนนำเอาสาธารณูปโภคต่างๆ เข้าไป ไฟ น้ำ เขาไม่คุ้มเพราะเขาไม่เห็นอนาคตว่า 3 ปีเป็นอย่างไร การลงทุนต้องใช้เงินที่สูงมากเพื่อที่จะเอาน้ำไฟ เข้าไป


เพราะฉะนั้น มันจึงทำให้ไม่เกิดการใช้ประโยชน์สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในระดับยากจนจริงๆ ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ เหมือนกับว่าเขาเสียค่าเช่าแล้วยืนเฝ้าที่ เขาก็นึกถึงการขายที่ดินตรงนั้น และถามว่าคนที่สามารถที่จะใช้ที่ดินตรงนั้นได้บ้าง ก็คือต้องเป็นคนที่มีศักยภาพในการลงทุน และถ้าหากว่ามีทุน แต่ว่ากำหนดภายในระยะเวลาเท่าเดิมนั้นมันก็อาจจะไม่คุ้มทุน


สิ่งต่อมาก็คือขนาดของที่ดิน เราพบว่ามีคนที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินมากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน จากปัญหาที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ไม่ได้ ก็ไปกว้านซื้อที่ดินหลายๆ แปลงมาต่อกัน สิ่งต่อมาคือเราก็พบว่าการที่เขากำหนดว่าภายใน 3 ปีให้เกษตรกรสามารถทำได้แต่เพียงพืชล้มลุกอย่างเดียวนั้น ก็ปรากฏว่าในพื้นที่ตรงนั้นที่พ้น 3 ปีมาแล้วก็มีการปลูกพืชยืนต้นอย่างเช่นยางพารา ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นับจากวันปลูกไปอย่างน้อย 7 ปี แต่ในขณะที่สัญญาให้คนจนเช่าเพียง 3 ปีเท่านั้น มันเป็นความล้มเหลวตรงที่ว่าเมื่อได้รับการจัดสรรมาแล้วแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนไป


ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขามาจัดสรรให้แบบเป็นแปลง ๆ ละ 3 ไร่ตรงนี้เป็นแนวความคิดแบบปัจเจก คือกลายเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งสิ่งนี้ก็กลายเป็นจุดอ่อนที่เราเห็นว่าการให้เช่าตรงนี้อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งแนวคิดแบบปัจเจกในกรณีนี้ก็เหมือนกับการแจก ส... 4-01 การแจกโฉนดทั่วๆ ไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ตกไปอยู่ในมือของคนที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าชาวบ้าน


พอมีนโยบายจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุ 1 ล้านไรขึ้นมาแล้ว เอาที่ อ.ดอยหล่อ เป็นตัวอย่างว่า เพียงแค่การจัดการที่ดิน 3,000 ไร่ ยังล้มเหลวคือว่าคนจนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ซึ่งพอมีโครงการนี้ขึ้นมาอีก หลักก็คือว่าที่ดินราชพัสดุนั้นคือที่ดินของรัฐที่สงวนไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ในทางราชการ แต่หากว่าการเอามาจัดสรรให้กับเอกชนอย่างที่เราเห็นที่ อ.ดอยหล่อนั้น คืออ้างว่าจะเอามาให้คนจน ก็คือเอาคนจนมาครอบเอาไว้ในพื้นที่ดินราชพัสดุที่สมควรจะสงวนไว้เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ประโยชน์ทางราชการ หรือเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ปรากฏว่าเมื่อเอามาจัดสรรให้คนจนแล้ว พอ 3 ปีเปลี่ยนนโยบาย ที่ดินตรงนั้นไม่ใช่ของทหารอีกต่อไป เป็นที่ดินของสำนักงานพัฒนาภาค 3 เมื่อนโยบายหรือรัฐบาลบอกว่าให้กรมธนารักษ์ขอพื้นที่ตรงนั้นคืนมาแล้วจะมาจัดสรรให้กับคนจน คนจนที่ได้รับการจัดสรรก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ที่ดิน 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ อ.ดอยหล่อ ตอนนี้หลุดมือไปหมดแล้ว พอโครงการนี้ขึ้นมาคำถามที่สำคัญก็คือว่ามันจะไปซ้ำรอยเดิมหรือเปล่า


แต่เงื่อนไขของนโยบายล่าสุดต่างจากเดิม คือเนื้อที่มากขึ้น ระยะเวลาเช่าได้นานขึ้น


ซึ่งก็เป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า ที่ดินที่ให้เช่าต้องเป็นขนาดใหญ่ เพราะพื้นที่ 3 ไร่นั้นไม่พอแน่ๆ สำหรับการลงทุน อันที่ 2 ก็คือเรื่องระยะเวลา ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากี่ปี ซึ่งมีข่าวออกมาว่า 1-30 ปี ซึ่งนโยบายนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะลงตัว เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นห่วงในส่วนนี้ว่าจะไปซ้ำรอยปัญหาที่พื้นที่ อ.ดอยหล่อ


ตอนนี้นั้นมีเงื่อนไขอันหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในเวลานี้ เป็นคำแถลงของอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 24 ..ที่ผ่านมา บอกว่าสำหรับผู้บุกรุกที่ราชพัสดุอยู่เดิมนั้นต้องเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้เช่ากับกรมธนารักษ์ในพื้นที่เดิม และต้องปลูกพืชตามที่ได้รับคำแนะนำด้วย หากไม่สามารถทำได้ก็ไม่สามารถให้เช่าพื้นที่ได้ ซึ่งความหมายก็คือว่าที่ดินราชพัสดุที่เปลี่ยนมือไปแล้ว คนที่ใช้พื้นที่เหล่านี้อยู่ในปัจจุบันซึ่งปลูกไม้ยืนต้นไปแล้ว ถามว่าเขามีฐานะเป็นอย่างไรในตอนนี้ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ที่มาครอบครองสิทธิต่อจากเกษตรกร ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าของชาวบ้านหมดลง คนเหล่านี้ก็กลายเป็นบุคคลที่บุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ ก็แทนที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายก็เข้ามาสวมสิทธิในโครงการนี้ กลายเป็นผู้เช่าอย่างถูกกฎหมาย ได้พื้นที่มากขึ้น ระยะเวลาการเช่าก็มากขึ้นไปอีก ซึ่งคนพวกนี้ถ้าไม่ได้ทำสัญญาเช่าจากรัฐ คือไปครอบครองพื้นที่ต่อจากชาวบ้านก็หมายความว่าคนพวกนี้จะต้องเป็นบุคคลที่บุกรุกพื้นที่ของรัฐ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแต่กลายเป็นว่าโครงการนี้เป็นการเปิดให้เช่าที่ดินในที่ดินที่ตัวเองครอบครองอยู่ในปัจจุบัน


ในทางนโยบายของรัฐในกรณีนี้หมายความว่าเป็นการฟอกที่ดิน คือเอาพื้นที่มาจากทหารอาศัยมือคนจน 3 ปี แต่ว่า ณ วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว กำลังหมายถึงมีนัยยะอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินโดยตรง


เรื่องหนึ่งก็คือว่า การที่มีการบุกรุกที่ราชพัสดุที่ทั่วประเทศมีประมาณ 12 ล้านไร่  ซึ่งในเวลานี้มีคนเข้าไปอยู่ทั้งคนจนและคนรวย ซึ่งน่าจะมีเบื้องลึกมาจากกรณีนี้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะมีนักการเมือง หรือว่าธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย


แต่สิ่งที่อธิบดีกรมธนารักษ์แถลงที่ให้คนที่บุกรุกพื้นที่กรมธนารักษ์นั้นไปเช่าพื้นที่มันก็เหมือนกับว่าไปฟอกคนที่บุกรุกพื้นที่อยู่ให้ถูกต้อง อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอันหนึ่งเพราะว่าที่ดินราชพัสดุนั้นในปัจจุบันมีราษฎรเข้าไปบุกรุกถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมากมาย


ต่อมาก็คือว่ามีประชาชนที่ยากจนจริงๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ราชพัสดุ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏอยู่ชัดเจนว่ามีคนจนอยู่ในนั้นด้วย รัฐก็ให้ใช้กลไกของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ซึ่งใช้กระบวนการพิสูจน์ในกรณีที่ชาวบ้านยืนยันการอยู่อาศัยมาก่อน ก็คือว่าใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ราชพัสดุนั้น ชาวบ้านจะได้สิทธิตามกฎหมาย จะได้โฉนด น.. 3 ตามกฎหมายที่ดิน แต่ถ้าหากว่านโยบายนี้ออกมาเมื่อไรนั้นเท่ากับว่าเป็นการปิดกั้นการพิสูจน์สิทธิของชาวบ้าน แล้วบีบให้ชาวบ้านต้องมาเช่า แต่หลักใหญ่ๆ ก็คือว่ามันเป็นการปิดทางคนจนและไปเปิดทางให้กับคนรวยที่บุกรุกพื้นที่อยู่แล้ว สรุปง่ายๆ ว่าข้อสังเกตที่สำคัญก็คือใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์กันแน่ในพื้นที่นี้


นโยบายนี้โดยเบื้องต้นระบุชัดว่าให้สิทธิเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดทางกลุ่มธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาใช้สิทธิหรือไม่ แต่เห็นอธิบดีกรมธนารักษ์กำลังผลักดันอยู่


ตรงส่วนนี้เป็นข้อสังเกตอีกอันหนึ่งที่คิดว่าโครงการนี้น่าจะมีเบื้องลึกซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งเมื่อเรื่องวิกฤตอาหารและพลังงาน คนที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องของวิกฤตอาหารและพลังงานคือคนจนที่ไม่มีทางเลือก ไม่ใช่คนชั้นกลางที่รับจ้างทั่วๆ ไป หรือบริษัทใหญ่ๆ อย่างเช่นเจริญโภคภัณฑ์ เพราะฉะนั้นเนื้อที่ 1 ล้านไร่ โดยหลักการแล้วต้องให้กับเกษตรกรเพื่อที่จะปลูกพืชอาหาร เพื่อบริโภคเป็นหลัก คนจนที่ไม่มีโอกาสมีที่ดิน แล้วต้องไปรับจ้างเป็นแรงงานั้นมีจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ๆ หรือนิติบุคคลที่ผลิตอาการเพื่อขาย


ประเด็นอยู่ที่ว่า เหตุใดจึงต้องกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นรายใหญ่ แน่นอนว่าเพราะเขามีทุนสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากพื้นที่ตรงนั้น ทางอธิบดีบอกว่าเกษตรกรหรือนิติบุคคลนั้นจะได้รับสิทธิในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุดังกล่าวด้วย เพราะว่าจะให้ผลผลิตการเกษตรต่อไร่สูงขึ้น ส่วนเกษตรกรที่เช่าที่ราชพัสดุจะต้องปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานตามคำแนะนำที่ได้รับจากกระทรวงเกษตรเท่านั้น


คุณยังจำโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ได้ไหม ตรงนี้อาจจะเข้าสู่อีหรอบเดิมได้


อย่างแรกคืออาจล๊อคสเป๊คว่าจะต้องปลูกพืชเฉพาะที่กระทรวงเกษตรกำหนด สมมติว่าให้ปลูกปาล์ม แล้วถามว่าใครที่จะเป็นคนผลิตปาล์ม ซึ่งก็คือซีพี สองก็คือว่าถ้าให้บริษัทและเกษตรกรรายใหญ่เช่าที่ดิน ปัญหาก็คือว่าแล้วคนจนจะมีโอกาสได้อย่างไร เพราะหลักการเรื่องวิกฤตอาหารอย่างแรกนั้นต้องให้กับคนจนก่อน ส่วนเรื่องของพลังงานนั้นถ้าจะต้องให้กลุ่มพืชพลังงานก็ควรที่จะให้กับเกษตรกรหรือว่าคนจนที่เขามีทักษะเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้เราก็เชื่อว่าเกษตรกรนั้นเป็นผู้ที่มีทักษะเรื่องการเกษตรมากที่สุด ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยี เพราะว่าให้คนเหล่านี้ไปประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันจะไม่เกิดกับคนจน คนจนจะเป็นได้แค่ผู้รับจ้าง เป็นแรงงาน อยู่ในแปลงเกษตรภายใต้นโยบายนี้ แล้วมองไปอีกว่าพื้นที่ 1 ล้านไร่นั้นเป็นพื้นที่ของส่วนรวม เป็นที่ของรัฐ มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ แล้วผลประโยชน์มันก็ตกกับบริษัทนิติบุคคลและเกษตรกรรายใหญ่ ฉะนั้นเบื้องหลังจะนำไปสู่ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ซ่อนเอาไว้ภายใต้นโยบายอันนี้


และพิจารณาจากศักยภาพการผลิตที่เกิดขึ้นที่ อ.ดอยหล่อ เห็นได้ชัดว่าเกษตรกรรายใหญ่เป็นคนที่สามารถผลิตได้มากกว่า เพราะฉะนั้นภายใต้หลักการอันนี้เกษตรกรก็ไม่สมควรที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินเลย เพราะเป็นอย่างนี้เท่ากับว่าให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาผลิตอาหาร แล้วเอามาขายต่อให้กับเกษตรกรายย่อยในราคาแพง ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องไปซื้อที่ดินทำการผลิต ตั้งโรงงาน เพราะเขาบอกว่าจะสนับสนุนให้ตั้งโรงงาน อาจจะเป็นโรงงานปาล์มก็ได้  ทั้งๆ ที่เกษตรกรรายย่อยสมควรที่จะได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกิน หากมองในเรื่องของวิกฤตอาหาร กลายเป็นระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ยืมแรงงานเกษตรเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทั้งๆ ที่มันสมควรจะตกเป็นผลประโยชน์ของสังคม ท้ายที่สุดแล้วคนที่จะได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นอกเหนือไปจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในตัวโครงการที่กระทรวงเกษตรจะล๊อคเสปคต่อไป


ที่ผ่านมากรณีเกษตรกรไร้ที่ดินนั้น ทั้ง สกน.รวมทั้งเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเคยเสนอมาตรการแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการกระจายการถือครองด้วยการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า หรือการออกเป็นโฉนดชุมชนเพื่อป้องกันที่ดินหลุดมือเกษตรกร ตอนนี้ในระดับนโยบายเรื่องเหล่านี้คืบหน้าไปแค่ไหน 


ส่วนแรก เราต้องพูดถึงชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาเรื่องที่ดินอยู่ในเวลานี้ก่อน รัฐควรจะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในเวลานี้ก่อน มีคนประมาณ 10 ล้านคน ที่อยู่อาศัยในเขตป่าที่มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่แยกว่าอยู่ก่อนหรือว่าหลังก็ตาม 1 ล้านกว่าครอบครัว ซึ่งปัจจุบันตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ไปแล้วก็ได้ หมายความว่าคนเหล่านี้บุกรุกพื้นที่ป่าอยู่


กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อยู่อาศัยในที่ดินของวัดหลายประเภทอย่างที่พูดไป อาจจะเป็นที่วัด โรงเรียน ที่ทหาร ตชด. ซึ่งหมายรวมว่าพื้นที่ราชพัสดุที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว หรือว่าในที่ของเอกชน อย่างเช่นในส่วนของเครือข่ายสลัมที่ไม่มีที่อยู่ของตัวเอง ขณะนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นไม่มีความคืบหน้าไปไหนเลย ซึ่งปล่อยให้คาราคาซัง แล้วก็ไปต่อสู้กันในศาลแล้วท้ายที่สุดแล้วชาวบ้านก็แพ้คดีถูกพิพากษาว่าเป็นผู้บุกรุก ไร้ที่ทำกินต่อไป


เราคิดว่าไม่น่าจะนำที่ดินของรัฐที่สมควรจะสงวนเอาไว้ใช้ประโยชน์สำหรับส่วนรวมมาจัดสรรให้ เพราะในท้ายที่สุดมันก็ไม่ถึงมือของประชาชน อย่างที่ที่ดินที่ อ.ดอยหล่อ


แล้วจะเอาที่ดินมาจากไหน


หากถามว่าสมควรที่จะเอาที่ดินที่ไหนมา ในประเทศไทยนั้นมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ทั้งประเทศประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นตัวเลข 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานี้ก็มีปรากฏให้เห็นอย่างชัดอาจจะเป็น NPL บ้าง หรือว่าพื้นที่อย่างอื่นบ้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ และก่อให้เกิดผลเสียของประเทศด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร อันนี้ยังไม่ได้รวมที่ดินของชาวนาที่ขณะนี้นำไปขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่กำลังจะหลุดมือ หรือว่ากำลังจะถูกสหกรณ์ หรือ ธกส. ฟ้องประมาณอีกว่า 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่คาราคาซังที่รัฐบาลจะต้องแก้


ในขณะเดียวกันผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลสมควรที่จะเอาที่ดินเอกชนที่รกร้างว่างเปล่ามาดำเนินการมากกว่าที่จะเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งหมายความว่าเป็นที่ดินเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์รอการบังคับคดี รัฐสมควรที่จะไปซื้อเอามาจัดสรรให้กับเกษตรกร อาจจะใช้งบประมาณของแผ่นดินไปซื้อมา หรือว่าอาจจะเป็นการเวนคืนที่ดินก็ได้ ซึ่งการจัดสรรควรจะจัดสรรในรูปแบบของสหกรณ์หรือว่าในรูปแบบของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้ก็มีพื้นที่รูปธรรมที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดการในกรณีของโฉนดชุมชน


นั่นหมายความว่า แทนที่จะเอาที่ดินของรัฐมา ซึ่งที่ดินเหล่านั้นไม่เหมาะสมที่จะทำการเกษตร อย่างเช่นที่ อ.ดอยหล่อ ในขณะที่มีพื้นที่เกษตรที่ทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์จำนวนมหาศาล รัฐสมควรที่จะมีมาตรการเอาที่ดินเหล่านี้มาจัดสรรให้กับเกษตรกรยากจนในรูปแบบของการเช่าซื้อก็ได้ แต่ว่าหลักใหญ่คือการไม่เน้นแบบเป็นปัจเจก ควรที่จะจัดสรรแบบกรรมสิทธิ์รวมกลุ่ม หรือว่ารวมหมู่ แล้วให้กลุ่มนั้นตั้งกฎเกณฑ์ร่วมในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งอาจจะร่วมมือกับรัฐก็ได้ หลักก็คือว่าไม่ให้มีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์หรือเปลี่ยนมือไปสู่คนที่ไม่ใช่เกษตรกร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ


การที่รัฐจะได้ที่ดิน 30 ล้านไร่มานั้น เรื่องเงินผมคิดว่ารัฐมีศักยภาพหลายอย่าง เช่น ในการออกพันธบัตรก็ได้ หรือว่าจะเป็นมาตรการทางภาษีที่จะทำให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน อย่างเรื่องการเก็บภาษที่ดินในอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเสนอกันมานานมากแล้ว แต่ว่าไม่เคยมีความสำเร็จ เนื่องจากว่าผู้ที่ออกกฎหมายนั้นก็ครอบครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมหาศาลฉะนั้นก็จะมีคนที่สูญเสียประโยชน์ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย


เพราะหากนโยบายนี้เป็นไปได้จริง เราจะสามารถเห็บภาษีที่ดินได้ มีการคำนวณกันว่าเพียงแค่ 0.01 ของราคาที่ดินทั้งหมด รัฐจะเก็บได้ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในอัตรานี้ยังไม่ได้เป็นอัตราที่ก้าวหน้า ถ้าหากว่าเป็นที่ดินที่ไม่ได้ประโยชน์อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.05 ในปีถัดไป มาตรการตรงนี้จะทำให้คนที่ครอบครองที่ดินอยู่พยายามที่จะใช้ประโยชน์ทำให้ไม่สูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าก็จะทำให้คนไม่อยากที่จะกักตุนเอาที่ดินไว้ ก็ต้องการขาย รัฐก็ควรจะใช้เงินที่เก็บภาษีที่ดินมาตั้งเป็นกองทุนที่ดินขึ้น เพื่อรับซื้อที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าหรือที่นายทุนขนาดใหญ่จะขายเมื่อรับกับภาระในอัตราภาษีก้าวหน้าไม่ได้ นำมาจัดสรรให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อที่จะให้เช่าซื้อในระยะยาว ผมคิดว่าเกษตรไม่ต้องการแจกฟรีอาจจะเป็นการเช่าซื้อไป


ถ้านโยบายนี้เกิดขึ้น คนจนก็จะมีสิทธิเข้าถึงที่ดิน และรัฐอาจจะต้องจัดสรรเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เหมือนกับว่ามันเป็นข้อจำกัดก็อาจจะใช้เงินจากกองทุนที่ดินที่คิดเอาไว้มาจัดการให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบน้ำ ตลาด สาธารณูปโภค อาจจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถมีเงินเพื่อที่จะใช้คืนกองทุนที่ดินอย่างต่อเนื่อง ก็คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่ไม่ต้องเอาที่ดินของรัฐมาจัดสรร คนจนก็จะได้ประโยชน์ เกษตรกรที่ดินที่เคยเสียที่ดินไปแล้วก็จะมีที่ดินทำกินอีก และจะเป็นการจัดการอย่างยั่งยืน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net