Skip to main content
sharethis

วันนี้ (28 ส.ค.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) และเครือข่าย ได้แก่นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น โครงการปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปที่ดิน และสถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประชาสังคมและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ต่อกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานที่ราชการ และสถานีโทรทัศน์เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา และถูกดำเนินคดีผู้ต้องหา 85 ราย และแกนนำ 9 ราย ถูกแจ้งข้อหากบฎ


 


โดยจดหมายเปิดผนึกเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "ทำให้บ้านเมืองเดินทางมาสู่ความตึงเครียดทางการเมืองอีกครั้ง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ทำให้อยู่บ้านเมืองอยู่ในภาวะชะงักงัน และเกิดความอึดอัดต่อทุกฝ่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง และยังเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย"


 


และยังเห็นว่าสิ่งที่เกิดขั้นเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง "รัฐสภาตัวแทน" กับ "ภาคประชาชนนอกสภา" เพราะรัฐกับประชาชนขัดแย้งเรื่องการจัดการทรัพยากรมาหลายทศวรรษนับตั้งแต่ปี 2528


 


และตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาพื้นที่การเมืองภาคประชาชน มีการระบุถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และคงเป็นช่องทางเดียวที่มีอยู่ของประชาชนที่จะแสดงออกเมื่อเกิดความขัดแย้งกับรัฐ


 


ในจดหมายเปิดผนึกยังเชื่อว่าวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเกิด "กลไก" และ "กระบวน" การคลี่คลายความขัดแย้งระหว่าง "การเมืองระบบตัวแทน" กับ "การเมืองภาคประชาชน" โดยท้ายจดหมายเปิดผนึกมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ให้ประชาชนและภาคประสาสังคมหาทางออกฝ่าวิกฤตร่วมกันโดยคำนึกผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง


 


สอง ยืนยันสิทธิการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มต่างๆ เป็นสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และสาม เห็นว่ามีการใช้สื่อของรัฐป้ายสีบิดเบือนสิทธิการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนเกินจริง และมีการดำเนินคดีผู้ชุมนุม มีการตั้งข้อหากบฎกับแกนนำ ถือเป็นข้อหาที่แรงเกิดไปสำหรับผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ


 


 






จม.เปิดผนึกถึงประชาสังคม


และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน


 


จากกรณีที่สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองที่เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของพันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งมีการบุกยึด สถานีโทรทัศน์ NBT และการบุกยึดสถานที่ราชการ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การดำเนินคดีผู้ต้องหาจำนวน 85 คนที่ไปบุกยึดสถานีโทรทัศน์ในข้อหา บุกรุกสถานที่ราชการ ทำให้เสียทรัพย์ รวมทั้งแจ้งข้อหากบฏ กับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มว่าจะใช้ความรุนแรงเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้ กำลังทำให้บ้านเมืองเดินทางมาสู่ความตึงเครียดทางการเมืองอีกครั้ง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ทำให้อยู่บ้านเมืองอยู่ในภาวะชะงักงัน และเกิดความอึดอัดต่อทุกฝ่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง และยังเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเสมอมา


 


เรา ในฐานะกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคเหนือ และนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนชัดของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภาที่ผ่านระบบตัวแทน กับการเมืองภาคประชาชนนอกระบบรัฐสภา เพราะนับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา สังคมไทยได้มีประสบการณ์ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐมาโดยตลอด เฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร


 


ขบวนการภาคประชาชน ได้มีพัฒนาการเติบโตขึ้น จากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านสัมปทานป่าไม้ การเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชน การต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล การต่อสู้เรื่องที่ดิน รวมไปถึง การต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น กรณีท่อก๊าซจะนะ กรณีโรงไฟฟ้าหินกรูด -บ่อนอก จวบจน ปัจจุบันความขัดแย้งข้างต้นนั้น ก็ยังไม่ถูกคลี่คลาย ด้วยเหตุที่กลไกของรัฐที่มีอยู่ก็ดำเนินการไปตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถให้ความเป็นธรรม และรองรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดการพัฒนาของตัวเองได้


 


รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญ 2550 มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาพื้นที่การเมืองภาคประชาชน ระบุถึง สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และคงเป็นช่องทางเดียวที่มีอยู่ของประชาชนที่จะแสดงออกเมื่อเกิดความขัดแย้งกับรัฐ


 


ปรากฏการณ์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งหนึ่งระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภา กับการเมืองภาคประชาชน ที่ได้กลายเป็นการเผชิญหน้าสร้างความตึงเครียด สถานการณ์เช่นนี้ กลไกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ของระบบรัฐสภา จึงไม่เพียงพอ ในการคลี่คลายความขัดแย้งเผชิญหน้าระหว่างประชาชนฝ่ายหนึ่ง กับอำนาจรัฐซึ่งถือกฎหมายในมือฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งในอำนาจรัฐ กับอำนาจของภาคประชาชน เป็นความขัดแย้งในทางโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่ระบบนิติรัฐที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการคลี่คลาย


 


วิกฤติการเมืองในครั้งนี้น่าจะก่อให้เกิดกลไก และกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างการเมืองระบบตัวแทน กับการเมืองภาคประชาชน


 


อาจกล่าวได้ว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคพลังประชาชน รัฐบาล และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมล้วนมีเหตุผล และจุดยืนของตนเองในการเคลื่อนไหว ซึ่ง เรา ในฐานะองค์กรประชาชนที่เฝ้ามองเหตุการณ์บ้านเมือง ต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังผลักให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะของความอึดอัด และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะถูกเลือกข้าง และนำไปสู่สถานการณ์การสู้รบอยู่ตลอดเวลา


 


            เรา ในฐานองค์กรประชาสังคม และองค์กรเครือข่ายประชาชนภาคเหนือมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังนี้


 


            1.ในการหาทางออกจากความตีบตันทางการเมืองจะต้องมีเวทีในการหาทางออกระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภา กับการเมืองภาคประชาชน โดยขอให้ประชาชน และประชาสังคมที่มีความห่วงใยต่อบ้านเมืองทุกฝ่ายจะต้องหาทางออกฝ่าวิกฤตนี้ร่วมกันโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง


 


            2.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ ถือเป็นการชุมนุมสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามกรณีการดำเนินการของพันธมิตรในช่วงวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการบุกยึด และคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน กรณีสถานีโทรทัศน์ NBT ก็ต้องมีตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส


 


            3.กรณีที่รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง และใช้สื่อของรัฐ เพื่อป้ายสีบิดเบือนการใช้สิทธิในการชุมนุมแก่กลุ่มพันธมิตรฯ จนเกินจริง และมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาผู้ชุมนุมจำนวน 85 คนและแกนนำทั้ง 9 คน ในข้อหา "กบฏ" นั้น ถือเป็นข้อหาที่แรงเกินไปสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิ์ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ


 


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)


นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ


ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น


โครงการปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปที่ดิน


สถาบันการจัดการทางสังคมภาคเหนือ


 


วันที่ 28 สิงหาคม 2551


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net