Skip to main content
sharethis

ตามที่เมื่อวันที่ 26 ส.ค. คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอประณามการเคลื่อนไหวที่นำสังคมไทยไปสู่หายนะ" โดยเนื้อหาเป็นการประณามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีว่าเป็นการไปสู่ "อนารยะขัดขืน" เป็นการทำลายสิทธิในการสื่อสารของฝ่ายต่างๆ ในสังคม และเรียกร้องให้สังคมไทยใช้สติกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นการกระทำที่มุ่งนำไปสู่การสร้างความรุนแรงและอาจนำพาสังคมไทยไปสู่ความหายนะมากขึ้นนั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง) นั้น


 


 


อรรถจักร์ชี้การกระทำพันธมิตรยึดเอ็นบีทีเกินเลยเงื่อนไขประชาธิปไตย


โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้แสดงความคิดเห็นหลังการอ่านแถลงการณ์ โดย รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่างจากการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวบ้านที่ผ่านมา


 


เพราะการยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป้าหมายไม่ได้ต้องการเจรจา ในขณะที่ชาวบ้าน เช่น สมัชชาคนจน ที่อย่าวมากก็เพียงเข้าไปภายในสถานที่ราชการเท่านั้น ไม่เคยยึดสถานที่ราชการอย่างพันธมิตร เป้าหมายของชาวบ้านเพียงแต่ต้องการกระตุกรัฐให้มาเจรจาแก้ปัญหา


 


แต่การแต่การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีก็เพื่อปิดกระบอกเสียง ปิดสื่ออีกขั้วของตน และปลายทางของพันธมิตรก็ไม่ได้มุ่งสู่การเจรจา เรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกรณีคาราวานคนจนล้อมตึกเนชั่น วิธีการอาจต่างกัน แต่เป้าหมายตั้งใจให้สื่อหยุดการนำเสนอข่าว ต้องการทำให้สื่อหมดศักยภาพในการสื่อสารกับสังคม สังคมต้องไม่เอาทั้งกรณีคาราวานคนจน และกรณีพันธมิตรยึดเอ็นบีที


 


 


ระวังความรุนแรงจะเปิดโอกาสให้ "อำนาจนอกระบบ" เข้ามา


รศ.ดร.อรรถจักร์ ย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานสังคมประชาธิปไตย เพราะแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับใครก็ตาม เราก็ต้องให้เขาพูด การยึดสถานีโทรทัศน์ในสังคมประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่กระทำไมได้


 


นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพิจารณารอบคอบ การใช้กฎหมายจัดการเด็ดขาดก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ โดยข้อเสนอของตนคือต้องมีพื้นที่สาธารณะในการเจรจา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพูด แล้วสังคมจะตัดสินเองว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตาม การเปิดให้มีการเจรรา ก็ไม่ง่ายในสถานการณ์แบบนี้ แต่หากเกิดความรุนแรงขึ้นจะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งสังคมไทยไม่ต้องการ


 


 


สมชายเสนอใช้กฎหมายอย่างพอเพียง ไม่ต้องงัด พ.ร.บ.ฉุกเฉิน


รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วิธีรับมือการชุมนุม สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการได้ แม้รัฐบาลสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่หากประกาศใช้ก็จะไม่เป็นผลดี ดังนั้นตนขอเสนอให้รัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างพอเพียงเช่น ประมวลกฎหมายอาญา ใครทำผิดก็ค่อยๆ ดึงออกมา ถ้าใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะทำให้สังคมเงียบลง และคนที่อยู่กลางๆ แม้ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ แต่ก็จะไม่มาร่วมกับรัฐบาล


 


รศ.สมชาย ยังกล่าวว่า การยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีดังกล่าว จะทำให้สังคมไทยจมดิ่งไปสู่ความยุ่งยากมากขึ้น และเป็นการละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย ส่วนเรื่องที่มีการโจมตีว่ามีการทุบทำลายทรัพย์สินนั้น ขอให้เป็นไปตามกระบวนการพิสูจน์ตามพยานหลักฐาน ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม เพราะพันธมิตรฯ เองก็บอกเสมอว่าเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ก็หวังว่าจะใช้กระบวนการยุติธรรมนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา


 


 


เตือนรัฐบาลจัดการ "ม็อบบรรดาศักดิ์" อย่างละมุนละม่อม จะเข้าทางหากเกิดรุนแรง


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม กล่าวว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังให้ดี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่ม็อบหรือกลุ่มจลาจลข้างถนน ไม่ใช่ม็อบของคนจน แต่เป็นม็อบบรรดาศักดิ์ ผู้เข้าร่วมมีสถานะทางสังคม ดังนั้น รัฐบาลที่ฉลาดจะต้องจัดการกับม็อบบรรดาศักดิ์เหล่านี้อย่างละมุนละม่อม ถ้าเข้าเงื่อนไขนองเลือดเมื่อใดรัฐบาลจะแพ้ ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของอาจารย์สมชาย จึงเชื่อการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางกฎหมายที่มีอยู่อย่างประมวลกฎหมายอาญาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ละมุนละม่อม


 


ม็อบนี้เป็นม็อบบรรดาศักดิ์ที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นม็อบคนละชั้นกับคนจน เป็นม็อบมีสื่อบางสื่อเป็นสมัครพรรคพวก ดังนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหาแบบระมัดระวังมาก มิให้เข้าสู่เงื่อนไขที่ถูกวางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเหตุการณ์วันที่ 26 ส.ค. นั้น มีเงื่อนไขการเป่านกหวีดสามประการซึ่งผมไม่สามารถพูดได้ ณ ที่นี้ ถ้ารัฐใช้ความรุนแรง จะเข้าสู่เงื่อนไขสามประการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการ


 


 


ชี้ไม่ใช่ผู้ลงมือ แค่สั่งการ-สนับสนุน ก็เอาผิดได้ ย้ำสื่อต้องไม่เลือกข้าง ขอให้ตรงไปตรงมา


รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ยังกล่าวอีกว่า การกระทำความผิดตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวการหรือผู้ลงมือก็ได้ แต่เป็นตัวการที่ไม่ต้องลงมือก็ได้ เช่น เป็นผู้สั่งกระทำ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำก็สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้ โดยใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ดำเนินการ สิ่งที่ควรจะต้องทำคือสังคมทั้งหมต้องมาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือรัฐบาลจะอยู่ได้โดยเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง ด้วยความชอบธรรมที่มีสังคมสนับสนุน ข้อเรียกร้องคือสังคมต้องมองเรื่องนี้ คนที่ยืนอยู่ในพันธมิตรหรือยืนอยู่ห่างๆ ต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์จะนำไปสู่อะไร ความชอบธรรมจากสังคมที่มากขึ้นหรือน้อยลงต่างหากจะเป็นตัวกำหนดการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ความชอบธรรมจากรายบุคคลอย่าง นพ.ประเวศ ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้


 


และสิ่งที่สื่อควรทำ ไม่ใช่เลือกข้างเชียร์ใคร แต่สื่อต้องการถ่ายทอดข้อมูลที่ตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ใช่ถ่ายทอดเฉพาะข้อความที่สนับสนุนจุดยืนของเรา นปก. มีการตีหัวคนอื่น สื่อออกข่าว ดังนั้นถ้าพันธมิตรไปตีหัวคนอื่นสื่อก็ต้องนำเสนอเหมือนกัน


 


รศ.สมชาย ยังไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ว่าเหตุการณ์ในวันที่ 26 ส.ค. คล้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะรัฐบาลในครั้งนั้นเป็นเผด็จการทหาร ขาดความชอบธรรมพื้นฐาน ต่างจากรัฐบาลสมัครที่มาจากการเลือกตั้ง เราอาจไม่ชอบสมัคร แต่อย่างน้อยคุณสมัครมาจากการเลือกตั้ง แถมมาจากการเลือกตั้งที่ทหารเขียนรัฐธรรมนูญด้วย การเคลื่อนไหวครั้งนี้หลักการพื้นฐานแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาสิ้นเชิง ครั้งนั้นเป็นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่ไม่มีความชอบธรรมพื้นฐานอยู่ แต่ปัจจุบันหากวัดจากระดับสังคมไทยยังต้องยอมรับว่านี่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย มีพื้นฐานความชอบธรรมหนุนหลังอยู่


 


"ขอย้ำว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้ ไม่ว่าการรัฐประหารนั้นจะเกิดขึ้นโดยฝีมือใครก็ตาม จะยิ่งซ้ำเติมให้สังคมไทยประสบหายนะมากขึ้น โดยก่อนหน้าเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 กระทั่งเกิดการรัฐประหารในคืนวันนั้นเป็นบทเรียนที่ดีที่ว่าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขหลังมีการรัฐประหาร" รศ.สมชายกล่าว


 


 


อรรถจักร์แนะสังคมพ้นไปจากสองขั้ว ลดการเสี่ยงปะทะ


รศ.ดร.อรรถจักร์ ยังกล่าวว่า ทั้งสองขั้วกำลังดึงประชาชนให้มาอยู่ข้างตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ท้ายที่สุดจะทำให้เกิดการปะทะกันมากขึ้น ทำไมไม่เลือกใช้วิธีทางกฎหมายจัดการคนทำผิด และสังคมน่าจะเลือกทางเลือกอื่นๆ แทนที่จะถูกแย่งโดยสองขั้วนี้ บรรยากาศสองขั้วทำร้ายสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เราไม่จำเป็นต้องฟังนายกรัฐมนตรีเรื่องเลือกข้าง แต่ทำให้ภาคสังคมมีวิจารณญาณและสามารถมองเห็นทางเลือกได้มากขึ้น เช่น สมมติว่าสื่อทั้งหมดเริ่มพูดถึงว่า เราจะหลุดไปจากสองทางเลือกนี้ด้วยการสร้างพลังทางสังคมชุดหนึ่งที่บีบทั้งสองฝ่ายให้ถอยไป ถ้าคิดแบบนี้ได้จะทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะลง เพราะทำให้ทั้งสองขั้วเห็นว่าสูญเสียความชอบธรรมไปจากสังคม


 


 


สมชายชี้อย่าโอ๋แต่ 9 แกนนำ ถูกตั้งข้อหาเวอร์ เพราะคนจนเจอแบบนี้มานานแล้ว


ส่วนกรณีที่รัฐบาลดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา แต่มีการตั้งข้อหาต่อแกนนำพันธมิตร 9 คน อย่างหนักรวมทั้งความผิดฐานเป็นกบฎตามมาตรา 113 นั้น และมีนักวิชาการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าเป็นการตั้งข้อหาเกินเลยไปนั้น


 


รศ.สมชาย ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันนี้ (28 ส.ค.) โดยเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาระดับโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม ที่ตามกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตั้งข้อหาได้อย่างกว้างขวางมาก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่มาเกิดเฉพาะกรณีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาเวลาชาวบ้านชุมนุม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาแรงๆ มากมายเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะวิจารณ์เรื่องนี้ ก็อย่าคิดเฉพาะหน้าสำหรับ 9 แกนนำ แต่ต้องพิจารณาถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ถ้าคิดแต่พันธมิตรก็เท่ากับว่า มีความลำเอียงเกิดขึ้น และเหมือนพันธมิตรได้รับสิทธิพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net