Skip to main content
sharethis

26.. 51 - ที่ห้อง 262 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมการประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ ระโนด สทิงพระและสิงหนคร นำโดยนายเจริญ ทองมา ประธานกรรมการประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ นายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำประมงอวนลาก อำเภอระโนด ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง "ปกป้องแหล่งทำการประมง/แหล่งอาหาร จากโครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา ถึงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน


 


โดยแถลงการณ์ระบุว่า ชาวประมง 3 อำเภอไม่ต้องการให้ บริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในบริเวณอ่าวไทยจากรัฐดำเนินการขุดเจาะในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะยาวต่ออาชีพประมง และแหล่งอาหารของพี่น้องประชาชน จึงขอเรียกร้องให้หาทางออกร่วมกัน


 


นอกจากนี้แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ชาวประมงเตรียมตัวให้พร้อม ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นจะออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 แจ้งให้ทราบอีกครั้ง ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น แกนนำระบุว่า จะประชุมหารือกันอีกครั้ง


 


 






 


แถลงการณ์ชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ


ฉบับที่ 1


"ปกป้องแหล่งทำการประมง/แหล่งอาหาร


จากโครงการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งสงขลา"


 


ถึง พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน


 


ตามที่ บริษัท นิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในบริเวณอ่าวไทยจากรัฐ ซึ่งการสัมปทานครั้งนี้ เป็นการขุดเจาะน้ำมันใกล้ชายฝั่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคตต่อพื้นที่ทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านในอำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนครและพื้นที่ใกล้เคียง แต่รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้าน มิได้ไยดีว่าชาวประมงพื้นบ้าน เป็นผู้ประกอบอาชีพสุจริต หาเช้ากินค่ำ เป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สำคัญการทำประมงด้วยวิธีนี้ เป็นรากฐานค้ำจุนสังคมไทยมานานตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน รัฐมิได้สนใจว่าชาวประมงพื้นบ้านจะมีความเดือดร้อนอย่างไร รัฐสนใจเพียงแต่ให้บริษัทที่รับสัมปทานได้รับประโยชน์เท่านั้น


 


ชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ จึงได้พยายามนำเสนอปัญหา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำการประมงพร้อมข้อมูล เหตุผล รายละเอียด ให้กับบริษัททราบ ว่าพื้นที่เป้าหมายของโครงการซึ่งทับซ้อนกับการทำประมง คืออยู่ในบริเวณที่ห่างจากชายฝั่งเพียง 14 - 30 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 16 ปีนั้น ชาวประมงพื้นบ้านไม่ต้องการให้ดำเนินการขุดเจาะในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะยาวต่ออาชีพประมง และแหล่งอาหารของพี่น้องประชาชน จึงขอเรียกร้องให้หาทางออกร่วมกัน แต่ทางบริษัทยังคงยืนยันที่จะดำเนินโครงการฯ โดยไม่มีทางออกใดๆ จึงมีการพูดถึงการจ่ายค่าชดเชยผลกระทบที่ชาวประมงสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน และทางบริษัทผู้รับสัมปทานบ่ายเบี่ยงมาตลอด


 


ต่อมากลุ่มชาวประมงได้นำปัญหาดังกล่าว เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาทราบ และได้พยายามเข้ามาแก้ไข ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายคณะ และได้ประชุมกันหลายๆ ครั้ง แต่ผลสรุปที่ออกมาไม่ชัดเจน ดูเหมือนเป็นการหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยง ถ่วงเวลา พูดกันไม่ตรงประเด็น ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา มีความชัดเจนเพียงเฉพาะว่า "ไม่ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไร บริษัทก็จะดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในวันที่ 1 กันยายน 2551 นี้ ให้ได้"


 


คณะกรรมการชาวประมงอำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด อยากกราบเรียนพี่น้องชาวประมงว่า พวกเราต้องต่อสู้ ยืนหยัดในการรักษาและปกป้องพื้นที่ทำมาหากินที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และปกป้องแหล่งโปรตีนอันเป็นอาหารของพี่น้องประชาชน และอยากกราบเรียนพี่น้องชาวประมงต่อไปว่า "เตรียมตัวให้พร้อม หลังจากนี้เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร พวกเราจะออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ให้พี่น้องชาวประมงทราบข้อมูลว่าพวกเราจะร่วมกันดำเนินการต่อไปอย่างไร"


 


ขอแสดงความนับถือ


คณะกรรมการประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ


วันที่ 26 สิงหาคม 2551


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net