Skip to main content
sharethis

ประจักษ์ ก้องกีรติ


 



 


ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันจะคลี่คลายลงไปอย่างไร สังคมไทยมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันขบคิดต่อ คือ เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้คน และรับมือกับความขัดแย้งที่บานปลายไปเป็นความรุนแรงได้อย่างไร 


 


ในสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลเมืองได้อย่างเสรี ความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้จาก 2 จุด คือ หนึ่ง ระหว่างรัฐกับประชาชน และสองระหว่างประชาชนด้วยกันเอง


 


คราวนี้ ผมมีหนังสือที่จะแนะนำสองเล่มด้วยกัน เรียกว่าเป็นแพคเกจคู่เพื่อทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ผมแนะนำหนังสือสองเล่มนี้โดยมีความหวังใจแบบไร้เดียงสาว่า เราจะเรียนรู้บทเรียนความรุนแรงจากสังคมอื่น และช่วยกันหาทางปลดชนวนความขัดแย้งและระงับความคุกรุ่นไม่ให้มันลุกลามไปถึงจุดเดือด


 


 หนังสือเล่มแรกค่อนข้างจะเก่าสักหน่อย เมื่อเทียบกับเล่มอื่นๆ ที่เคยแนะนำในครั้งก่อนๆ มีชื่อเชยๆ ยาวๆ ว่า "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ความรุนแรงทางการเมือง และรัฐ" เขียนโดยศาสตราจารย์โดนาเทลลา เดลลา พอร์ทา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1995 แม้จะเก่าสักหน่อย แต่ก็เป็นหนังสือคลาสสิคที่นักเรียนทุกคนที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมและความรุนแรงทางการเมืองต้องอ่าน  ผู้เขียนศึกษาเปรียบเทียบความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปยักษ์ใหญ่สองประเทศ คือ อิตาลีกับเยอรมันนีจากทศวรรษ 1970 ถึง 1990 โดยตั้งคำถามการวิจัยง่ายๆ 3 คำถามคือ หนึ่ง ทำไมความรุนแรงทางการเมือง (ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อจลาจล การลอบสังหาร การก่อการร้าย ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ) จึงเกิดขึ้นมาเป็นพิเศษในอิตาลีและเยอรมันนีมากกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ สอง เหตุใดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศพุ่งถึงจุดสุดยอดในทศวรรษ 1970 แทนที่จะเป็นช่วงเวลาอื่น ส่วนคำถามสุดท้าย แล้วทำไมโดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความรุนแรงทางการเมืองในอิตาลีนั้นมีลักษณะรุนแรงกว่าในเยอรมันนี


 


อาจารย์พอร์ทาแกเสนอว่า เพื่อจะอธิบายปริศนาทางการเมืองทั้งสามข้อนั้น เราต้องมุ่งพิจารณาไปที่รูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในทั้งสองประเทศทางหนึ่ง กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยกันเองอีกทางหนึ่ง  พอร์ทาอธิบายว่า เหตุที่เราไม่อาจพิจารณาแต่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการทางการเมืองเท่านั้น ก็เพราะว่าความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยมีหลากหลายมากกว่านั้น เมื่อรัฐประชาธิปไตยเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นธรรมดาที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้แข่งขันกัน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มองค์กรทางการเมืองใน "ภาคประชาสังคม/ประชาชน" ที่มีอุดมการณ์และความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันจึงไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ และไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะมีกฎกติกา (ไม่ว่าจะเขียนอยู่ในกระดาษหรือในมโนสำนึกของผู้คน) ในการกำกับความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรงได้อย่างไร


 


สังคมเผด็จการแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการทำลายสิทธิเสรีภาพจนเหลือศูนย์ ไม่เปิดให้มีการเคลื่อนไหวอะไรได้เลย เพื่อรักษาระเบียบของสังคมและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเอาไว้  สังคมประชาธิปไตยไม่อาจแก้ปัญหาได้ง่ายๆ แบบนั้น เพราะหากเราทำลายสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมจนเหลือศูนย์ เราก็ทำลายหัวใจของสังคมประชาธิปไตยลงไปด้วย 


 


ในแง่นี้นักประชาธิปไตยจึงเผชิญโจท์ที่ยากกว่าคือ จะรักษาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมกับระเบียบของสังคมไว้ได้อย่างไร และจะป้องกันไม่ให้มีกลุ่มขบวนการใดๆ ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างบิดเบือนได้อย่างไร นี่เป็นโจทก์ที่เราทุกคนต้องช่วยกันคิด และสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมแรกที่เผชิญกับปัญหานี้


 


หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมอิตาลีและเยอรมันนีเผชิญกับการทดสอบนี้อย่างหนักหน่วงในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในภาคประชาสังคมนั้นรุนแรงและแหลมคมกว่าความขัดแย้งที่พวกเขามีกับรัฐด้วยซ้ำไป พอร์ทาเสนอว่าเราต้องเลิกมองภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวที่สมานฉันท์และเห็นสอดคล้องต้องกันไปเสียหมด หากมองมันเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวต่อสู้กันเองด้วย 


 


ด้วยเหตุนี้งานชิ้นนี้จึงใช้แนวคิดทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า "ขบวนการต่อต้าน" (counter-movements) มาอธิบายปรากฎการณ์การปะทะขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐ พอร์ทาไม่ได้คิดค้นแนวคิดนี้ขึ้นมาเอง หากหยิบยืมมาจากงานหลายชิ้นของนักทฤษฎีคนอื่นๆ ที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่มีการจัดตั้งกลุ่มหรือขบวนการหนึ่งขึ้นมาในภาคประชาสังคมเพื่อมาตอบโต้ขบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ขบวนการต่อต้านการทำแท้งในสหรัฐฯ ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับขบวนการสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง  หรือ ขบวนการต่อต้านกลุ่มนีโอนาซีของบรรดานักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้ายในเยอรมันนี เป็นต้น


 


โดยคำนิยามกว้างๆ ขบวนการต่อต้านอาจจะเป็นขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย เสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยมก็ได้ ขอแต่เพียงว่าถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม  เราจึงไม่อาจตัดสินได้ล่วงหน้าว่าขบวนการต่อต้านจะต้องเป็นขบวนการที่มีลักษณะล้าหลังหรือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับสังคมเสมอไป ในหลายกรณีขบวนการต่อต้านมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เช่น ในอิตาลีและเยอรมันนี ขบวนการต่อต้านของนักศึกษาและปัญญาชนก่อตัวขึ้นมาเพื่อทัดทานกับการเคลื่อนไหวแบบเหยียดผิวและต่อต้านระบบรัฐสภาของพวกนีโอนาซี


 


โครงสร้าง องค์กร และผู้ประกอบการความรุนแรง


ทีนี้ ก็มาถึงปัญหาว่าเหตุใดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับขบวนการทางการเมือง และระหว่างขบวนการทางการเมืองด้วยกันเองจึงมีลักษณะรุนแรงมากเป็นพิเศษในบางช่วง พอร์ทาเสนอว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากการทำงานของปัจจัย 3 ระดับประกอบกัน คือ ปัจจัยระดับมหภาค ซึ่งหมายถึงโครงสร้างทางการเมืองและเศษฐกิจของประเทศ  ปัจจัยระดับกลาง ได้แก่ รูปแบบการจัดองค์กร วิธีการระดมทรัพยากรเพื่อมาเคลื่อนไหว และอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่ม  และสุดท้ายคือ ปัจจัยระดับจุลภาค ซึ่งได้แก่ ทักษะการนำของผู้นำ อุดมการณ์และทัศนคติของแกนนำ รวมถึงบุคลิกของสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการ


 


ในระดับโครงสร้างนั้น ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในยามที่รัฐอ่อนแอ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือในช่วงที่ระบอบการเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในสถานการณ์เช่นนี้  การเมืองมีแต่ความไม่แน่นอน และคนรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับสภาพที่เป็นอยู่ บวกกับเมื่ออำนาจรัฐอ่อนแอ จึงเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะที่ละเมิดกฏหมายหรือใช้ความรุนแรงได้มากกว่าปรกติ


 


แต่พอร์ทาเสนอว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างนี้แม้จะสำคัญ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะในสถานการณ์ผันผวนประชาชนก็ยังอาจจะเลือกใช้ยุทธวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธีได้  พอร์ทาเสนอว่าปัจจัยระดับกลางและระดับจุลภาค คือ รูปแบบการจัดองค์กรและการตัดสินใจของผู้นำเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าความรุนแรงจะถูกนำมาใช้เมื่อไร             


ในระดับจุลภาค ความรุนแรงเกิดขึ้นง่ายและถี่ขึ้น หากตัวผู้นำขบวนการทางการเมืองมีวิธีคิดหรือทัศนคติที่ไม่ปฏิเสธความรุนแรง มองว่าความรุนแรงก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ไม่มีพิษมีภัยในตัวมันเอง อาจหยิบมาใช้เมื่อไรก็ได้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม  ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงบุคลิกของผู้นำบางประเภทที่คุ้นชินกับการใช้ความรุนแรง และมองการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการต่อสู้ทางการทหาร เป็นเรื่องของสงคราม เป็นเรื่องของเบี้ยกับขุน การใช้ภาษาและวิธีคิดแบบการทำสงครามมาชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มตน ทำให้กลุ่มขบวนการนั้นๆ มองความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติที่หลี่กเลี่ยงไม่ได้ เพราะมองว่าทำสงครามแล้วก็ย่อมต้องเสียเลือดเนื้อกันเป็นธรรมดา พอร์ทายังพบว่าขบวนการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายซ้ายและขวาของอิตาลีและเยอรมันนีใช้ความรุนแรงมากขึ้น เมื่อกลุ่มถูกโดดเดี่ยวจากสังคม เข้าไม่ถึงช่องทางการเมืองตามปรกติหรือถูกกีดกันออกจากการเมืองในระบบ รวมทั้งกลุ่มที่สูญเสียฐานมวลชน พอร์าอธิบายว่าการเปลี่ยนสถานะตนเองจากการเป็นขบวนการที่มีฐานสนับสนุนกว้างขวาง มีสมาชิกจากหลากหลายชนชั้นและสถานะไปเป็นกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายๆ ลัทธินิกายทางศาสนา (sect) ความรุนแรงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เพราะกลุ่มลัทธิไม่มุ่งแสวงหาความชอบธรรมในวงกว้างจากสาธารณะอีกต่อไป การเคลื่อนไหวที่รุนแรงท้าทายกฎหมายเป็นยุทธวิธีที่พวกเขายอมที่จะเสี่ยง หากมันสามารถรักษาสปิริตอันแน่นแฟ้นในกลุ่มสมาชิกเอาไว้ และทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายตรงกันข้ามได้


 


มีปัจจัยสำคัญอีกสามปัจจัยที่ทำให้กลุ่มขบวนการทางการเมืองหนึ่งๆ (ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบใด) เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ หนึ่ง การจัดองค์กรในลักษณะที่คล้ายกองกำลังที่มุ่งการเผชิญหน้า และใช้ยุทธศาสตร์แบบกดดัน ไม่เจรจา (organization of conflicts) สอง อารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง (aroused emotions) อันเนื่องมาจากประสบการณ์ในการต่อสู้ ปะทะขัดแย้งรายวันกับฝ่ายตรงข้าม จนก่อตัวเป็นสปิริตในการต่อสู้แบบนักรบ มองการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องของพวกเขาและพวกเรา และปัจจัยประการสุดท้ายซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยที่สอง คือ ความรับรู้ที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองรอบตัว (distorted perceptions of the external reality) อันเนื่องมาจากการถูกกล่อมเกลาทางการเมืองและรับข้อมูลข่าวสารทางเดียวอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนปัดปฏิเสธข้อมูลความเป็นจริงจากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มเดียวกับตน มองว่ากลุ่มตนเองเท่านั้นที่ผูดขาดความถูกต้องทั้งในทางการเมืองและศีลธรรม ประเมินกำลังของกลุ่มสูงจนเกินจริง รวมทั้งประเมินสถานการณ์การเมืองที่ไม่ได้วางอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น ประเมินว่าบ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ที่สุกงอมต่อการปฏิวัติด้วยกำลังรุนแรงแล้ว  ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้กลุ่มขบวนการหนึ่งๆ แปรเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหวแบบสันติไปสู่การเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงเป็นยุทธวิธี   


 


แล้วสังคมการเมืองประชาธิปไตยจะรับมือกับความรุนแรงของกลุ่มขบวนการเหล่านี้อย่างไร? อาจารย์พอร์ทาแกไม่ได้ตอบประเด็นนี้ไว้เท่าไร ทำให้เราต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากหนังสืออีกเล่มหนึ่งแทน  


 


ความรุนแรงจากขบวนการ "อนารยะ"


เล่มที่สอง ชื่อยาวอีกเช่นกัน คือ ขบวนการอนารยะ: ขบวนการติดอาวุธฝ่ายขวาและประชาธิปไตยในละตินอเมริกา (Uncivil Movements: The Armed Right Wing and Democracy in Latin America) เขียนโดย ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ชื่อ Leigh Payne ตีพิมพ์เมื่อปี ค..           2000 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์


 


หนังสือเล่มนี้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่อนารยะในอาร์จนตินา บราซิล และนิคารากัว โดยเธอให้คำนิยามขบวนการอนารยะ (แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า uncivil) ว่า มันคือ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หากใช้วิธีการทั้งอารยะบวกกับอนารยะในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของตน" กล่าวง่ายๆ ว่า ขบวนการหนึ่งอาจจะเข้าข่ายเป็นขบวนการอนารยะในสองความหมาย


 


หนึ่ง คือ ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น  สอง แม้จะมีวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม แต่มีเป้าหมายที่สวนทางกับประชาธิปไตย หรือต้องการค้ำจุนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยุติธรรม (เช่น ระบบทาส นโยบายเหยียดสีผิว) ก็ถือว่าเป็นขบวนการอนารยะด้วยเช่นกัน  เมื่อเอ่ยถึงตรงนี้ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนคำแปลภาษาไทยของ civil society ที่มีคนแปลไว้ว่า ประชาสังคม เนื่องจากมันกินความเพียงแค่ครึ่งเดียวของรากศัพท์เดิม คือ ด้านที่เป็นการรวมกลุ่มของ "ประชาชน" ที่ไม่ใช่รัฐ แต่คำแปลนี้ไม่ได้กินความไปถึง civil ในความหมายที่เป็นการรวมกลุ่มอย่างมี "อารยะ"  ด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างง่ายๆ เป็นสูตรสำเร็จว่า ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวในนามประชาชนก็เป็นอันใช้ได้ มีความชอบธรรมดีงามในตัวเอง  ถ้าจะให้ดีน่าจะแปลคำนี้ว่า "ประชาอารยะสังคม" เพื่อสร้างความเข้าใจเสียใหม่ว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนก็ต้องถูกกำกับด้วยวิธีการและเป้าหมายที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย


 


ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ รัฐบาลในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะรับมือกับความรุนแรงที่เกิดจากขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่อนารยะอย่างไร? ลี เพน เสนอว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมียุทธศาสตร์ในมือมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดทอนพลังของขบวนการอนารยะ ไม่ได้มีเพียงแค่การปราบปรามด้วยความรุนแรง โดยรัฐบาลอาจเปิดโปง สืบสวนสอบสวน ฟ้องร้องทางศาล หรือดำเนินคดีอย่างจริงจังกับพวกหัวรุนแรง นับตั้งแต่การจับกุม และการตัดสินลงโทษการเคลื่อนไหวที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถลดทอนหรือหยุดยั้งโอกาสที่ขบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งๆ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้รุนแรงมากขึ้นได้  ในขณะเดียวกันก็หันไปเจรจากับกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้มีลักษณะสุดขั้ว  ที่ต้องหมายเหตุเอาไว้คือ รัฐต้องไม่สับสนและตัดสินใจผิดพลาดทำในสิ่งตรงกันข้าม คือ ใช้ไม้นวม (เจรจา) กับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และใช้ไม้แข็ง (สลายการชุมนุมอย่างรุนแรง) กับผู้ชุมนุมทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือมีส่วนตัดสินใจวางแผนในการใช้ความรุนแรง


 


ลี เพน สรุปไว้อย่างถูกต้องทีเดียวว่าที่ "ปฏิบัติการอันรุนแรงและละเมิดกฎหมาย ยังมีให้เห็นอยู่ก็เพราะว่าปฏิบัติการทางการเมืองอันรุนแรงนั้นมีต้นทุนแสนจะต่ำเมื่อเทียบกับผลสำเร็จอันยั่วยวนและเร้าใจจากปฏิบัติการดังกล่าว"  เธอเสนอว่า ถ้าพูดแบบเศรษฐศาสตร์ การที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลขึ้น (culture of impunity) ทำให้ความรุนแรงเป็นทางเลือกที่ขบวนการต่างๆ เก็บเอาไว้ในกระเป๋าและพร้อมที่จะงัดออกมาใช้เมื่อถึงยามจำเป็น เพราะคิดว่าใช้แล้วก็จะพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้ 


 


ในกรณีของละตินอเมริกาที่เธอศึกษา ขบวนการฝ่ายขวาก่อความรุนแรงในหลายรูปแบบโดยไม่เกรงกลัวโทษทางกฎหมาย เช่น พกปืนในที่สาธารณะ เผาทำลายอาคารบ้านเรือน และลอบสังหารผู้นำขบวนการประชาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้าย  การนิ่งเฉยของรัฐไม่เพียงแต่เป็นการอนุญาตให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนการกระทำดังกล่าวในทางอ้อมอีกด้วย  เมื่อต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้น การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นยุทธวิธีที่น่าสนใจน้อยลง ไม่มีใครอยากใช้ ใช้แล้วไม่คุ้ม รัฐทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้นได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังกับทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับประชาชนด้วย  สังคมเองก็สามารถทำให้ต้นทุนของการใช้ความรุนแรงสูงขึ้นด้วยการร่วมกันประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย  อย่างไม่เลือกข้าง และไม่กำกวม ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเป็นการรัฐประหารโดยกองทัพ การยกพวกไปทำร้ายร่างกายกลุ่มการเมืองอื่นที่เห็นต่างจากตน หรือการใช้กำลังเข้าบุกรุกอาคารสถานที่ ทำลายทรัพย์สิน และคุกคามคนอื่น  ดังที่นักทฤษฎีหลายรายชี้ให้เห็นทั้งในทางทฤษฎีและในเชิงประจักษ์ว่า ท่าทีและการตอบสนองจากรัฐและสังคมมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของยุทธวิธีที่ขบวนการทางการเมืองหนึ่งๆ เลือกใช้  การนิ่งเฉยดูดายของสังคมและไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดของรัฐคือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของความรุนแรง  


 


อย่าให้ความรุนแรงยุติการทำงานของเหตุผล


ถามว่าทำไมสังคมประชาธิปไตยถึงเชิดชูหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมในที่สาธารณะให้เป็นหัวใจสำคัญของระบอบ นอกเหนือไปจากหลักการที่สำคัญอีกสองข้อคือ การจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และการให้ฝ่ายกองทัพต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาลพลเรือน (เพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังตามอำเภอใจในการขึ้นสู่อำนาจ)  คำตอบก็คือ สังคมประชาธิปไตย เชื่อมั่นในการทำงานของเหตุผล เราปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เพราะต้องการให้เหตุผลได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ ให้ทุกคนได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีต่อประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม  เนื่องจากเราไม่เชื่อว่ามีใครผูดขาดความจริงและความถูกต้องไว้เพียงผู้เดียว  แต่เมื่อความรุนแรงถูกนำมาใช้ เหตุผลก็หยุดทำงาน


 


ความรุนแรงจึงเป็นอุปสรรคและศัตรูสำคัญของระบอบประชาธิปไตย  การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งดี และพลเมืองที่แข็งขัน (active citizen) ก็ทำให้ประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้น แต่จิตใจและสปิริตอันแข็งขันของพลเมืองก็ต้องถูกใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย มิฉะนั้น แทนที่จะเป็นคุณกลับจะกลายเป็นโทษต่อระบอบประชาธิปไตยไปเสีย โจทก์ของสังคมไทยในสภาวะ post-makawan คือ จะรักษาส่วนที่เป็นสปิริตและจิตใจของพลเมืองที่เอาธุระกับปัญหาบ้านเมืองเอาไว้ แต่แปรเปลี่ยนมันไปในทิศทางที่ไม่ทำร้ายและทำงายระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร         


 


สังคมประชาธิปไตยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการใช้เหตุผล แต่ไม่เคยและไม่ได้ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการใช้ความรุนแรง เพราะนั่นจะนำเรากลับไปสู่สภาวะธรรมชาติ ที่ไร้รัฐ ไร้หลักนิติธรรม และไร้สันติสุขของพวกเราทุกคน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net