Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มเฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และ กลุ่มศึกษาปัญหายา ได้จัดการพบปะหารือในระดับภูมิภาคเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคี (เอฟทีเอ) และผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆในภูมิภาคกว่า 80 คน


 


ประธานร่วมในพิธีเปิด ได้แก่ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ดร.อามิด เซน กุ๊บตา จากคณะกรรมการรณรงค์แห่งชาติว่าด้วยนโยบายด้านยา จากประเทศอินเดีย ระบุว่า ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีหรือเอฟทีเอ ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศคู่สัญญาตามคำโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในทางกลับกัน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมากมาย โดยเฉพาะสาธาณสุขในประเทศ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศจอร์แดนที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ พบว่า ตั้งแต่ปี 2544 ยาที่ขายในประเทศร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเป็นคู่แข่งทำให้สามารถกำหนดราคาขายสูงเท่าไรก็ได้ และนับตั้งแต่เอฟทีเอสหรัฐ-จอร์แดนมีผลบังคับใช้ แทบไม่มีการลงทุนผลิตยาในจอร์แดนเลย


 


ด้าน ดร.นุสราพร เกษสมบูรณ์ จากกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้แสดงตัวเลขจากงานวิจัย  2 ชิ้นที่ชี้ให้เห็นตรงกันว่า หากประเทศไทยรับข้อเรียกร้องด้านสิทธิบัตรของสหรัฐฯที่ยื่นมาในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รอบที่ 6 ที่เชียงใหม่ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 คิดเป็นเงิน 799,887 ล้านบาท และจะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศหดตัวมากถึง 305,129 ล้านบาท


 


"ในการเจรจาเอฟทีเอ รัฐบาลต้องตระหนักว่า การเข้าถึงยาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การเพิ่มความเข้มงวดในทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลกเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย ฉะนั้น ข้อเรียกร้องที่ประเทศคู่เจรจายื่นมาจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ มีการหารือกับทุกภาคส่วนอย่างโปร่งใส และต้องมีการทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคประชาสังคม"


 


การประชุมเพื่อพบปะหารือในระดับภูมิภาคเรื่องการเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคี (เอฟทีเอ) และผลกระทบต่อการเข้าถึงยาครั้งนี้จะมีไปจนถึงวันพุธที่ 27 สิงหาคมนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net