Skip to main content
sharethis

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)


 


จากกระแสข่าวเรื่องการเกิดสตอร์ม เซิร์จ (Storm surge) หรือ คลื่นซัดฝั่งอันเนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นเขตร้อนที่บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก จนทำให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวเกิดความตื่นตระหนกนั้น แท้จริงแล้วจากการศึกษาข้อมูลงานวิจัยการพยากรณ์แนวทางเดินและความแรงของพายุในเขตร้อนร่วมกับแบบจำลองสมุทรศาสตร์ในอ่าวไทย โดยทีมวิจัยด้านแบบจำลองสภาพภูมิอากาศจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่า การเกิดสตอร์ม เซิร์จ ในบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก จนส่งผลกระทบต่อจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีความเป็นไปได้น้อยมาก


 


รศ.ดร.ปรุงจันทร์ วงศ์วิเศษ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การเกิดพายุไต้ฝุ่นซึ่งมีความเร็วลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะมีผลต่อการยกตัวขึ้นของระดับน้ำ (ระดับน้ำหนุนสูง) ประกอบกับคลื่นที่สูงขึ้นจากแรงลม ทำให้คลื่นเคลื่อนที่เข้ากระทบฝั่งที่ความสูงมากกว่าระดับน้ำทะเลปกติมาก ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สตอร์ม เซิร์จ


 


ทั้งนี้ จากการวิจัยแบบจำลองการพยากรณ์แนวทางเดินของพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา พบพายุไต้ฝุ่นเพียง 2 ลูกเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาในบริเวณอ่าวไทย คือ พายุไต้ฝุ่นเกย์ และพายุไต้ฝุ่นลินดา ซึ่งทั้งสองครั้งเส้นทางเดินของไต้ฝุ่นจะผ่านบริเวณจังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้น การเกิดพายุไต้ฝุ่นในอ่าวไทยรูปตัว ก แทบไม่มีความเป็นไปได้


 


"บริเวณอ่าวไทยตอนบนนั้นมีลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างแคบ (รูปตัว ก) และขัดกับเส้นทางพัดของลม ทำให้ช่วยลดความเร็วลมของพายุลง พายุที่เข้ามาถึงอ่าวไทยจึงไม่รุนแรงและมีลักษณะเป็นเพียงพายุดีเปรสชั่นเท่านั้น เช่นเดียวกับพายุไต้ฝุ่นมุ่ยฟ้าที่พัดถล่มประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2547 แต่กลับอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน อย่างไรก็ดี หากลมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงพัดเข้าปะทะกับกระแสน้ำจากทะเลจีนใต้ที่มีอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรง อาจทำให้เกิดพายุในอ่าวไทยตอนบนได้ แต่เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้มักจะอ่อนกำลังลงในช่วงปลายเดือนกันยายน และลมตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ลมจากทั้งสองทิศจะมีอิทธิพลรุนแรงขึ้นพร้อมกันจนสามารถทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่น และสตอร์ม เซิร์จ ขึ้นได้" รศ.ดร.ปรุงจันทร์ กล่าว


 


ด้าน ดร.นิติมา อัจฉริยะโพธา อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิจัย JGSEE ผู้ศึกษาแบบจำลองสมุทรศาสตร์ในอ่าวไทย กล่าวว่า แม้ในอดีตพายุไต้ฝุ่นเกย์ และลินดา จะทำให้เกิดสตอร์ม เซิร์จที่มีความรุนแรง และสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถพยากรณ์เส้นทางเดินของพายุไต้ฝุ่น ตำแหน่งคลื่นขึ้นกระทบฝั่ง และความสูงของคลื่นที่จะกระทบฝั่งได้อย่างแม่นยำ โดยหากมีการก่อตัวของพายุดีเปรสชั่นขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีการรายงานข้อมูลการเกิดพายุ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาใช้คำนวณกับแบบจำลองการพยากรณ์แนวทางเดินของพายุไต้ฝุ่นจะสามารถทำนายเส้นทางของพายุ ไต้ฝุ่น และหากเส้นทางพายุไต้ฝุ่นใกล้เข้าสู่ประเทศไทย แบบจำลองสมุทรศาสตร์ในอ่าวไทยจะสามารถทำนายบริเวณที่คลื่นซัดฝั่งหรือสตอร์ม เซิร์จได้ โดยใช้ข้อมูลกระแสลมพายุ ข้อมูลอุณหภูมิ และความเค็มของน้ำทะเลในระดับความลึกต่างๆ  อีกทั้งยังสามารถทำนายความสูงของน้ำทะเลที่เกิดจากการยกตัวของน้ำจากระดับปกติ และความแรงของคลื่นที่ซัดชายฝั่งได้ด้วย


 


ทั้งนี้ การพยากรณ์เส้นทางเคลื่อนที่ไต้ฝุ่นจะสามารถบอกทิศทางล่วงหน้า 2-3 วัน แต่จะแม่นยำที่สุดภายในเวลา 24 ชั่วโมง  และจำเป็นต้องใส่ข้อมูลใหม่ทุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้ทราบว่าไต้ฝุ่นจะเคลื่อนที่ไปทิศทางใด ขณะที่การพยากรณ์การเกิดสตอร์ม เซิร์จ จะพยากรณ์เมื่อทราบเส้นทางเคลื่อนที่ของไต้ฝุ่น และจะแม่นยำที่สุดภายในเวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน ซึ่งเพียงพอต่อการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net