Skip to main content
sharethis


นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ประเวศด็อทคอม


 


ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) ว่า นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้บรรยายเรื่อง "ทางออกประเทศไทยภายใต้วิกฤตทางสังคม" ซึ่งจัดที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ว่า สภาพสังคมไทยที่มีความซับซ้อน ทำให้ประเทศไม่มีทางออก หรือหาทางออกยาก ซึ่งนอกจากมีวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง แล้ว ยังมีความวิตกกังวลกับการเจริญพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งรวมเป็น "มหาวิกฤตการณ์สยาม" ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมา ตนพูดเรื่องวิกฤตกรุงรัตนโกสินทร์ หรือเรียกว่า คลื่นลูกที่ 4 ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นวิกฤตที่รุนแรง และหาทางออกยาก ไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร และเป็นวิกฤตที่ทำลายตัวเอง


 


นพ.ประเวศ กล่าวว่า สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจ คงแก้ไขไม่ได้หากโครงสร้างหลายอย่างโดยเฉพาะความยากจน และความไม่เป็นธรรม หรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างออกไปทุกวัน ส่งผลให้การเมืองหาทางออกยาก และคนในเมืองกับคนชนบทเลือกผู้แทนต่างกัน เรียกว่า "สองนครา ประชาธิปไตย" ที่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยเสนอ นอกจากนี้ ยังเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ เพราะผลของระบบบริโภคนิยม ทำให้สร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพไม่ได้ นำมาสู่การเผชิญหน้าของคนสองฝ่ายที่ต่อสู้กัน คือ ฝ่ายที่เชื่อว่า "ระบอบทักษิณ" ดี ทำให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งยั่งยืน ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่า ฉ้อฉล และ คอร์รัปชั่น ซึ่งความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงนี้ทำให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นไม่ได้


 


นพ.ประเวศ กล่าวว่า เหตุ 5 ประการ ที่ทำให้วิกฤตแก้ยาก คือ 1.โครงสร้างสังคมไทยเป็นแนวดิ่ง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง ซึ่งขัดแย้งกับสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสังคมแนวราบ ทำให้เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม ไม่ดี แม้ประเทศไทย มี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อสังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง ทำให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรม การแก้ปัญหาต้องเผยแผ่ความดี ทำให้สังคมมีความเสมอภาค เกิดภราดรภาพ


 


2.การปกครองไทยยังปกครองโดยอำนาจรวมศูนย์ ทำให้เป็นเผด็จการโดยอำนาจรัฐ แม้มีการเปลี่ยนแปลงข้างบนโดยอำนาจรัฐที่สูงสุด แต่ประชาธิปไตยยังไม่เกิด เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารประเทศ แต่อำนาจยังถูกรวบรัด ยังเป็นเรื่องผลประโยชน์ ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันมาก เกิดความไม่โปร่งใส มีการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งจะแก้ไขแบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องตีตรงนี้ให้แตก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนข้อความในกระดาษแผ่นหนึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ว่า "Local Democracy" คือ ประชาธิปไตยที่มีฐานของสังคม ชุมชน ท้องถิ่น เหมือนกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่นมารวมกันเป็นประเทศ อเมริกาจึงไมได้มีแต่ จอร์จ บุช ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจึงแข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้ทำรัฐประหารไม่ได้ เพราะอำนาจได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นแล้ว


 


 "ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชน เรียกว่า ประชาธิปไตยสมานฉันท์ อาศัยความพร้อมเพรียง ไม่ซื้อเสียง ทำให้เป็นฐานที่แข็งแกร่ง ทุกอย่างจะเติบโตได้ต้องมีฐานส่วนล่างที่แข็งแรง" นพ.ประเวศ กล่าว


 


นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า 3.ระบบการศึกษาทำให้สังคมอ่อนแอทางสติปัญญามาก เอาวิชามาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตและสังคมเป็นตัวตั้ง ทำให้คนในชุมชนไม่เข้าใจในชุมชนของตนเอง เมื่อการศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับการศึกษาที่อ่อนแอ 4.การพัฒนาต้องมาจากรากฐาน ไม่ใช่การมองความเจริญจากด้านบนลงมาข้างล่าง หัวพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐานที่แข็งแรงรองรับไปสู่ข้างบน ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอด การพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง ต้องพัฒนาจากฐาน เพราะสร้างจากยอดไม่มีทางสำเร็จ ไม่มีฐานของประชาธิปไตย ชุมชน และท้องถิ่น ซึ่งเป็นอย่างนี้มานับ 100 ปีแล้ว คนท่องแต่วิชา แต่ไม่เข้าใจชีวิตและสังคม ทำให้ตัดขาดจากวัฒนธรรม ขณะนี้ผู้นำประเทศมีความจำเป็นต้องเห็นความสำคัญของการศึกษา บุคคลทั้ง 5 ประเภท คือ นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชน จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจรากฐานของสังคม ด้านเศรษฐกิจหากหวังพึ่งเงินจากต่างประเทศจะเกิดผันผวนได้ง่าย เกิดวิกฤตซ้ำซาก ดังนั้น ต้องสร้างความเจริญจากฐานจะมั่นคงกว่ายอด เพราะฐานจะรองรับด้านบน


 


5.ธนกิจการเมือง การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2475 ได้ผู้แทนมีอุดมคติ มีความรู้ อุทิศตนเพื่อบ้านเมือง แต่ต่อมาเสื่อมลง เพราะอำนาจกองทัพ และอำนาจเงินเข้าแทรกแซง ทำให้คุณภาพของนักการเมืองที่เข้ามาไม่มีคุณภาพ เกิดรัฐประหารเพราะนักการเมืองทำงานไม่ได้ และภายหลังเกิดปรากฏการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อำนาจเงินเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เอื้อประโยชน์กันระหว่างทหาร และนักการเมือง มีการใช้เงิน 30 ล้านบาทต่อผู้แทน 1 คน หากจ่ายทั้งสภารวมเป็นเงินถึงหมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาสู่วงจรการเมือง ทำให้ประเทศไปไม่ได้ เกิดความไม่มั่นใจในตัวนักการเมือง ทำให้เกิดรัฐประหารซ้ำซาก


 


นพ.ประเวศ กล่าวว่า สำหรับทางออกเฉพาะหน้า ความวิตกกังวลที่จะเกิดการปะทะ เกิดความรุนแรง นองเลือด เผชิญหน้า ดังนั้นต้องหาทางไม่ให้เกิดการนองเลือด ต้องร่วมกันฝ่าความยุ่งยากให้ได้ด้วยสันติวิธี เคารพกฎหมาย และมีความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดอนาธิปไตย การสมานฉันท์จะเกิดขึ้นไม่ถ้าความเห็นที่แตกต่างเป็นแบบขาวกับดำ ในต่างประเทศก็ทำไม่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไร จะเดินขบวนหรือเคลื่อนไหวอย่างไร ขอให้ใช้หลักฐานและข้อเท็จจริงมาว่ากัน ถ้าเถียงกันโดยไม่ลงมือตีกัน แต่ใช้ความรู้ มีคำพูดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า "สันติประชาธรรม" คือ มีธรรมะ มีสันติธรรม จะนำไปสู่ความถูกต้อง แต่ถ้าเกิดการฆ่ากัน ประชาธิปไตยก็ไม่มีคุณภาพ


 


"การแก้ปัญหาตอนนี้ต้องใช้สันติวิธี ใช้นิติธรรม คือ ต้องยึดหลักความยุติธรรมตามกฎหมายและกฎกติกาต่างๆ และสัมมาธรรม คือ ต้องใช้ความรู้อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของความถูกต้องต้องปรองดองกันไว้ ให้เวลากับสังคมไทย ต้องใช้ความอดทน ใช้ขันติธรรม นิติธรรม การเล่นฟุตบอลยังมีกรอบ กติกา ดังนั้น อย่าไปถ่มน้ำลายรดหน้า ต้องช่วยกันเขียนกรอบ กติกา และกลไก แล้วช่วยกันกำกับให้ประชาชนเข้าใจจะได้ช่วยกันกำกับให้อยู่ในกรอบ กติกา ประเทศจะไปได้" นพ.ประเวศ กล่าว


 


นพ.ประเวศ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาจากฐานของสาเหตุทั้ง 5 ประการ คือ 1.ต้องส่งเสริมสังคมเพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สู่ประชาสังคม จะทำให้ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม ของสังคมดีขึ้น 2.การปกครองแบบรวมศูนย์ การเปลี่ยนแปลงต้องใช้วิธีเจรจา ปัญหาต้องแก้และจบลงด้วยสันติวิธี 3.ต้องส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเอาปัญหาความจริงของสังคมเป็นตัวตั้ง 4.การพัฒนาต้องมาจากรากฐาน สถานบันที่อาจมีส่วนช่วยได้คือมหาวิทยาลัย ต้องเป็นสถาบันที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งและแข็งแกร่งให้ท้องถิ่น และ 5.ธนกิจการเมือง ประชาชนต้องมีความฝัน มีจินตนาการ และความเพียรร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหา และนำสังคมไปสู่สังคมแบบอารยะสังคม รวมถึงต้องไม่พยายามสร้างปัญหาที่จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่เพิ่มขึ้น


 


"วิกฤตที่เกิดขึ้นต้องถือเป็นโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือยกระดับสู่จุดใหม่ที่ลงตัว ถ้าไม่เกิดปัญหาที่ปริ่มๆ สิ่งใหม่จะเกิดไม่ได้ ความขัดแย้ง ความโกลาหลที่เกิดขึ้นต้องตั้งสติให้ดี และถือเป็นโอกาส ต้องตะล่อมอย่าให้เกิดการนองเลือดแล้วจะดีขึ้น และต้องเจรจากัน มีเหตุผล ถ้าทำได้ ฝันไม่ไกลเกินเอื้อม ประเทศมีทางออก นำไปสู่ยุคศรีอารยะ วันนี้นำมันแพงเราอยู่ได้ เพราะฐานรากของประเทศคือชุมชน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เรายังทำนาได้ ไม่ขาดที่ทำกิน ดังนั้นต้องช่วยกันฝ่าวิกฤตไปให้ได้" นพ.ประเวศ กล่าว


 


นายสมภพ มานะรังสรรค์ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ "ทางออกประเทศไทยภายใต้วิกฤติทางสังคม" ว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 มีจีดีพีเฉลี่ย 5.9% อัตราการขยายตัวมากกว่าครึ่งเป็นเรื่องของการใช้แรงงาน ขณะที่การขยายตัวของภาคการผลิตมีเพียง 15% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นการขยายตัวเชิงปริมาณมิใช่เชิงคุณภาพ และเศรษฐกิจไทยเป็นลักษณะเปิดกว้างต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก คิดแล้วตกถึง 65% ของจีดีพี ถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราส่วนการส่งออกของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 25 เท่านั้น สิ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าสูงต่อเนื่อง คือ 1.การขยายตัวของภาคการส่งออก 2.ภาคการเกษตรที่ได้รับปัจจัย 4 เอฟ คือ ด้านอาหาร (Food) ด้านอาหารสัตว์ (Feed) ด้านโรงงงานอุตสาหกรรม (Factory) และด้านเชื้อเพลิง (Fuel) ที่เป็นความต้องการของตลาดโลก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างที่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการอุปทานและอุปสงค์ให้สอดคล้องกัน 3.เงินออมในประเทศที่มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเงินฝากประจำมีสัดส่วนใกล้เคียงกับมูลค่าจีดีพี ซึ่งสะท้อนถึงการขาดการวิเคราะห์เรื่องการไหลเวียนของเงินทุน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นระบบและประสานสอดคล้องกัน และ 4.ทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีอยู่สูงมาก ซึ่ง ธปท.ต้องดูแลในจุดนี้ให้ดี


 


"ปัจจัยทั้ง 4 ด้านดังกล่าวรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกับมาทบทวน ว่า วิวาทะด้านนโยบายด้านเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งต้องเร่งประสานการทำงานซึ่งกันและกัน ดังนั้นถ้าจะกลับมามองเศรษฐกิจไทยก็ต้องพิจารณาใน 4 ปัจจัยคือ วัฒนธรรม การเมือง สังคมและนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ภาคการเมืองเป็นผู้กำหนดต้องทำให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนกับที่ผ่านมาเป็นเศรษฐกิจแบบวณิพก คือ มีวัฒนธรรมแบบขี้ขอและขี้ฉ้อ" นายสมภพ กล่าว


 


ด้านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ผอ.สถาบันวิมุตตยาลัย ได้บรรยายเรื่อง "ทางออกประเทศไทยภายใต้วิกฤติทางจริยธรรม" ว่า เหตุที่ประเทศไทยเจอวิกฤตหลายครั้ง เพราะมีปัญหาเรื่องจริยธรรม เนื่องจากขณะนี้คนทำงานด้านจริยธรรมน้อยลง ไม่มีคุณภาพ สังคมมีความสลับซับซ้อน จึงนำไปสู่จริยธรรมเดิมๆ ซึ่งเป็นแบบจริยธรรม "ไตรภูมิพระร่วง" ดังนั้น ประเทศจะต้องสร้างจริยธรรมใหม่ขึ้นมา จึงจะก้าวหน้าไปได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาที่ดี พัฒนาคุณภาพประชาธิปไตย สื่อจะต้องมีสิทธิเสรีภาพ กฎหมายจะต้องมีศักดิ์สิทธิ์และเข้มแข็งอย่างมาก ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ คนเลวก็คิดว่าสามารถทำเลวได้โดยไม่ต้องติดคุก ในต่างประเทศนักการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมมาก โดยคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีจะต้องสาบานกับคัมภีร์ไบเบิ้ล ฉะนั้นจะต้องตีแผ่นักการเมืองที่ฉ้อโกง โดยจะต้องไม่ซุกความผิดไว้ใต้พรม


 


"วิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้อยากให้ทุกฝ่ายเอาธรรมเป็นที่ตั้งแล้วกลับไปที่ของตัวเอง การเมืองก็เป็นการเมือง กฎหมายเป็นกฎหมาย ศาสนาเป็นศาสนา ซึ่งการเมืองการปกครองที่ดีจะต้องเป็นไปตามระบอบธรรมาธิปไตย หรือธรรมาภิบาล แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ตุลาการภิวัฒน์คือธรรมาธิปไตย ทำอะไรจะต้องยึดความถูกต้องความจริง เอากฎหมายเป็นแผนแม่บท กลับไปสู่ที่ตั้งเดิม วันนี้เรากำลังมีหวังกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์" พระมหาวุฒิชัย กล่าว


 


นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวอภิปรายในหัวข้อ"ทางออกประเทศไทยภายใต้วิกฤตทางการเมือง" ว่า ในระบอบประชาธิปไตยต้องให้คนใช้ปัญญามากขึ้น เช่น การเลือกพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภา ต้องดูว่า ตรงไหนเหมาะสมกว่ากันด้วยเหตุผล ความแตกต่างทั้งหลายต้องนำมาถกเถียงหาข้อดี ข้อด้อย นำไปสู่ข้อสรุปร่วมกัน แต่ขณะนี้สังคมอยู่ในภาวะ anomy เป็นภาวะผิดปกติของคนในสังคม ที่ไม่สามารถจำแนกได้ระหว่างสิ่งถูกและสิ่งผิด แต่สนใจว่า ตัวเองจะได้ประโยชน์อะไร กลายเป็นใครมีพวกมากกว่าก็จะห้ำหั่นเอาให้ชนะให้ได้ ประนีประนอมกันไม่ได้ การขาดสติปัญญาจึงอันตราย สังคมจะตกอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนาน เดินหน้าลำบาก ทั้งนี้ คนสองกลุ่มในการเมืองไทยที่ขัดแย้งกัน ต่างก็มีพลัง รัฐบาลที่อยู่ก็มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แต่มีเสถียรภาพน้อยมาก ล่อแหลม นับวันถอยหลัง แขวนบนเส้นด้าย คือ คดีชิมไปบ่นไป และเขาพระวิหาร ไปจนถึงคดียุบพรรค รวมแล้วน่าจะอยู่ได้ประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งต้องดูคดียุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย มาเป็นตัวเปรียบเทียบด้วย แม้จะฝืนเดินต่อไป จะเดินได้ด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ฟังนายกฯแล้ว คงไม่เลือกทางนี้ เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพอีกแล้ว นักลงทุนคงชะลอการลงทุน ตอนนี้การลงทุนก็ชะลออยู่ กระทบแรงงานใหม่ เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ไปกระทบรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง


 


นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หนีไปนอกประเทศ และออกแถลงการณ์ว่า ขอให้รออีกนิดแล้วจะกลับมา ตนมองว่า คงทำเพื่อให้ความหวัง กับกลุ่มที่ให้การสนับสนุน หมายความว่า ยังไม่วางมือจากการเมือง น่าจะสั่งการมาได้ ส่วนอีกกลุ่มที่แย่งชิงการนำ ก็พยายามทำให้อำนาจทางการเมืองน้อยที่สุด การต่อรองทางการเมืองก็จะน้อยไปด้วย ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นวิกฤตไปอีกนานพอสมควร การเมืองในพรรคพลังประชาชน ที่มีความแตกแยกก็เป็นการส่งสัญญาณการต่อรองทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะยังมีเงินมากพอสมควรพอที่จะสนับสนุนในพรรคได้ เพื่อจะเข้าสู่อำนาจให้ได้ เพราะหากไปอยู่อีกข้างของอำนาจ จะทำอะไรก็ลำบาก เพราะสังคมไทยยอมจำนนต่ออำนาจ


 


นายสมบัติ กล่าวว่า สำหรับนโยบาย 116 วันสมานฉันท์ หากดูตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลก็มีเรื่องสมานฉันท์ แต่เมื่อนายกฯ เป็นนักบู๊ หากมีอะไรโผล่มาก ก็คงโต้ตอบแบบเดิม บางครั้งเป็นคนเริ่มความขัดแย้งด้วยซ้ำ เช่น เรื่อง ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้กลุ่มพันธมิตรออกมา ตัวนายกฯคงเชื่อว่า มีเสียงมากในสภา จะทำอะไรก็ได้ ก็คงไม่ใช่ เพราะเลือกตั้งแล้ว ไม่ใช่ว่าจะทำให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนหมดไป ประชาชนเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองที่สำคัญ แต่นายกฯไม่เข้าใจมิติประชาธิปไตยที่นอกเหนือไปจากสภา ทั้งนี้เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หลายพรรคมีผลประโยชน์ร่วม ทั้งนี้ หลักการทั่วไป การเขียนกฎกติกา ต้องไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียมาเขียน ไม่เช่นนั้นความน่าเชื่อถือน้อย ซึ่งหากฝ่ายการเมืองจะแก้ คงไม่มีใครยอม เพราะทางรอดของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ การแก้มาตรา 237 วรรคสองและมาตรา 309 การจะแก้รัฐธรรมนูญ หากจะทำจริงก็ตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมา ก็น่าจะเป็นธรรมขึ้น ทุกฝ่ายพอรับได้


 


นายสมบัติ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ท้าทายมาก ว่า ประชาธิปไตยที่เอามาใช้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ นักการเมืองถ้าใช้อำนาจไม่เหมาะสม นำพาประเทศออกไปไม่ได้ ก็คงมีปัจจัยมาแทรก ไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งก็ไม่เป็นทางออกของสังคมอีก ส่วนการแก้ปัญหาการซื้อเสียง ความจริง การเลือกตั้งในทุกประเทศมีการใช้เงินมาก แต่รัฐบาลกลางจ่ายให้ แต่ของไทย นักการเมืองต้องไปหามาเอง และเชื่อว่า ส่วนใหญ่รายงานเท็จกับ กกต.ว่าใช้เงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ในการหาเสียง กฎหมายฝึกให้ผู้แทนโกหก นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องนายทุน และการเกิดกลุ่มก๊วน ทั้งนี้ งานวิจัยหลายเล่ม ระบุว่า เงินเป็นปัจจัยสำคัญมากในพื้นที่ที่มีความยากจน อย่างไรก็ดี การซื้อสิทธิขายเสียงของไทย น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ มิติทางเศรษฐกิจก็มีผลกับการเมือง โดยเฉพาะปัญหาพลังงาน วันนี้แนวโน้มการบริโภคน้ำมันสูงขึ้นมาก เห็นแน่ 200 เหรียญต่อบาร์เรลในเร็วๆนี้ อย่าชะล่าใจแม้ตอนนี้ราคาจะลด ต้องทำให้ชัดเจนเรื่องน้ำมัน อี85 ว่า จะสนับสนุนอย่างไร หรือการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชที่เป็นพลังงานทดแทน ตนเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลตั้งใจทำงาน และพูดความจริงกับประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ รัฐบาลจะมีเสถียรภาพ ทำให้การเมืองเปลี่ยนโฉมได้ภายใน 10 ปี


 


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net