Skip to main content
sharethis

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือภาคอีสานยังวิกฤติ ขณะที่กรุงเทพฯ เตรียมรับมือ Storm  Surge โดย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือต่อต้านการออกมาเตือนเรื่องดังกล่าว แต่จากการหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจากข้อมูลสถิติในช่วง 57 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยมีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวขึ้นแล้วพัดเข้า กทม. แต่เพื่อการเตรียมการป้องกันไว้ในวันที่ 17 ส.ค.นี้


 



แผนการป้องกันภัยพิบัติจะร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ประเมินพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบกรณีเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงจะเป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งประกอบด้วย เขตบางนา ตั้งแต่แยกบางนาไปถึง จ.สมุทรปราการ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตจอมทอง จะเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่าพื้นที่เหล่านี้จะจมอยู่ใต้น้ำ 50 เซนติเมตร - 1 เมตร พื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร


 



ตั้งศูนย์ควบคุมภัยพิบัติ


กทม.เตรียมแผนอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเบื้องต้นจะประสานกับเหล่าทัพในการจัดหาเรือท้องแบน รถบรรทุก ในการเข้าไปรับประชาชนส่วนสถานที่รองรับได้เตรียมการประสานกับศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (ไบเทค บางนา) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซิตี้ บางนา โรงเรียน และ วัดในพื้นที่ เป็นต้น


 



ส่วนแผนป้องกันและเผชิญเหตุ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนจะตั้งศูนย์ควบคุมภัยพิบัติ โดยจะนำระบบ ICS (Incident command System) แบ่งการทำงานเป็น 12 ฝ่าย เช่น ฝ่ายดำเนินการ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายจัดหาที่พักพิง ฝ่ายรับบริจาค ฝ่ายเข้ารื้อถอน หน่วยเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิต ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ ฝ่ายอาหาร เป็นต้น โดยการเตือนภัย ศูนย์ดังกล่าวจะเรียกประชุมได้ภายใน 1 ชั่วโมง ออกประกาศแจ้งเตือนกับประชาชนได้ทันที


 



อีสาน-เหนือน้ำท่วมยังวิกฤติ


นายศิริพงศ์   หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ   กล่าวว่า จากการติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ที่วิกฤติจนมีระดับน้ำสูงสุดในรอบ  30 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา   พบว่า ล่าสุดระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.เชียงราย  เลย   และหนองคาย เริ่มลดระดับลงแล้ว แต่ระดับน้ำที่เริ่มเพิ่มขึ้นคือ จ.นครพนม มุกดาหาร และ โขงเจียม อุบลราชธานี เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่ง ในพื้นที่ด้านบนที่น้ำโขงไหลผ่าน    เริ่มจะทยอยไหลลงมาข้างล่างเรื่อยๆ   และถ้าไม่มีฝนตกหนักมา ซ้ำสถานการณ์จะดีขึ้น   ขณะเดียวกันยังพบว่าน้ำสาขาต่างๆ   เช่น แม่น้ำ กก อิง  เลย แม่สรวย แม่น้ำ สงคราม ลำน้ำ ก่ำ   ก็ระบายไหลออกไม่ได้  เนื่องจากระดับน้ำในน้ำโขงสูง ขึ้น คาดว่าระดับน้ำ   ในแม่น้ำสาขาก็จะทรงตัวอยู่จนอีก 1 สัปดาห์


 



"สมัคร" ปัดจีนไม่ใช่ต้นเหตุน้ำท่วม


เมื่อถามว่าที่เอ็นจีโอตั้งข้อสังเกตว่าเขื่อนจีนปล่อยน้ำ นายศิริพงศ์ กล่าวว่า   คิดว่าไม่น่าจะเกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน   โดยภาวะน้ำโขงที่สูงผิดปกติในรอบ 30 ปีในสัปดาห์นี้ มาจากน้ำฝนที่ตกไหลมาจากจีนและลาว มีมาก ซึ่งจากตัวเลขพบว่าจีน ปล่อยน้ำลงน้ำโขงเพียง 18% ขณะที่ลาว   38% และเขื่อนสองแห่งของจีนผลิตน้ำได้เพียง  เพียง 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำโขงที่ไหลผ่านหนองคาย มีมากถึง 140,000 ล้านลูกบาศก์เมตร


 



ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ปริมาณฝนตกจำนวนมากที่บริเวณท้ายเขื่อนของประเทศจีน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เกิดเหตุ เพราะจีนเปิดประตูระบายน้ำจากเขื่อน


 



มท.1 เชื่อน้ำท่วมเหตุจีนปล่อยน้ำ


พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  จ.เชียงราย และ จ.น่าน  พบว่าขณะนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว โดยภาพรวมมีการช่วยเหลือที่รวดเร็ว เชื่อว่าหน้าจะเกิดจากน้ำที่ล้นจากแม่น้ำโขง เนื่องจากว่าประเทศจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนมาก จึงส่งให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทย


 



นครพนมยังจมน้ำท่วม


นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ พร้อมกับดูการทำเขื่อนกระสอบทราย กั้นริมห้วยบังกอ เพื่อป้องกันน้ำโขงล้นท่วมนาข้าว



ขณะที่ นายบุญสนอง บุญมี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้สรุปข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยระบุว่าทั้ง 12 อำเภอ ถึงขั้นวิกฤติ นาข้าวจำนวนกว่า 1 ล้านไร่ จมน้ำแล้วกว่า 1 แสนไร่ และระดับน้ำโขงยังพุ่งขึ้นไม่หยุดอยู่ที่ 12.60 เมตร และมีแนวโน้มขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตร


 



น้ำท่วม "อ.เชียงของ"  ยังไม่ทุเลา


นายกร ปิจดี หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า น้ำท่วมใน 3 อำเภอ คือ อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว โดยแม่น้ำโขงระดับน้ำอยู่ที่ 9.34 เมตร ต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ระดับ 11.80 เมตร ส่วนระดับน้ำสาขาอื่นๆ ก็เริ่มลดระดับเช่นเดียวกัน ยกเว้นบริเวณแม่น้ำโขงบริเวณบ้านปากอิง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ อยู่ในระดับวิกฤตที่ระดับ 19.15 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.15 เมตร และแม่น้ำอิง บริเวณบ้านแต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ ที่อยู่สูงกว่าจุดวิกฤติกว่า 2 เมตร หรือระดับน้ำสูงกว่า 18 เมตร ส่งผลให้ประชาชนใน 7 ตำบล อ.เชียงของ ยังคงได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง มีชาว อ.เชียงแสน 200 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วม


 


 


 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net