Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และองค์กรภาคี 15 องค์กร ร่วมออกแถลงการณ์พิเศษ ครั้งที่ 1 กรณีการจับกุมนักกิจกรรม สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จ.ยะลา แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


แถลงการณ์ระบุว่า วานนี้ (15 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนพาณิชยาการยะลา ได้ร่วมกันตรวจค้นจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่บ้านพักนักศึกษาในย่านชุมชนตลาดเก่า ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 5 คนซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนกันและเป็นทีมงานของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และขณะถูกจับกุมนักศึกษาดังกล่าวกำลังเตรียมตัวจะไปหาทุนเพื่อจัดทำโครงการ เพิ่มศักยภาพบทบาทนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 22-25 ส.ค.51 โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)


 


ทั้งนี้ นักศึกษาทั้ง 5 คนประกอบด้วย  1.นายอิสมาแอ เต๊ะ อายุ 22ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.นาย อามีซี มานาก อายุ 22ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ เอกบัญชี 3.นายรุสลัน ตุหยง อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา 4.นายแวรอซี ลาเต๊ะ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา 5.นายรอมลี ลาเต๊ะ อายุ 20ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ เอกชีววิทยา


 


โดยนักศึกษาสองในห้าคน คือ นายอิสมาแอ กับ นายอามีซี มานาก เคยถูกจับกุมแล้ว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.51 พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน และเคยถูกซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพด้วยโดยเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจที่ 11 และเจ้าหน้าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในขณะถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 9 วัน จากนั้นก็ถูกปล่อยตัวด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบ


 


นอกจากนี้แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้ระบุข้อเรียกร้องให้ภาครัฐชี้แจงเหตุผลของการจับกุมกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวต่อภาคสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อขจัดความคลุมเครือที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อีกทั้งให้ดำเนินการกับกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวตามอำนาจทางกฎหมายและตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักนิติธรรมและมนุษยธรรม


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะเป็นกฎหมายที่นำชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการจับกุม กักขัง และการซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพอย่างทารุณ อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือการทำลายล้างผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากฝ่ายเจ้าหน้าทีรัฐ


 


หากตรวจสอบพบว่าการจับกุมนักศึกษาในครั้งนี้มีความไม่เป็นธรรมจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม ภาครัฐจะต้องแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และองค์กรร่วมภาคีจะมีการเคลื่อนไหวจนกว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวจะได้รับความเป็นธรรม


 


 


 


แถลงการณ์พิเศษ ครั้งที่ 1


เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน และองค์กรร่วมภาคี


กรณี การจับกุมนักกิจกรรม สมาพันธ์นิสิตนักศึกษา จังหวัดยะลา


 


            เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนพาณิชยาการยะลา ได้ร่วมกันตรวจค้นจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่บ้านพักนักศึกษาย่านชุมชนตลาดเก่า ถนนสิโรรส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จำนวน 5 คน ประกอบด้วย


 


 1.นายอิสมาแอ เต๊ะ อายุ 22ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ


 2. นาย อามีซี มานาก อายุ 22ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ เอกบัญชี


 3. นายรุสลัน ตุหยง อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา


 4. นายแวรอซี ลาเต๊ะ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา


 5. นายรอมลี ลาเต๊ะ อายุ 20ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ เอกชีววิทยา


 


            ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนกันและเป็นทีมงานของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) ที่ในขณะถูกจับกุมนั้นนักศึกษาดังกล่าวกำลังเตรียมตัวจะไปหาทุนเพื่อจัดทำโครงการ เพิ่มศักยภาพบทบาทนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 22-25 สิงหาคม 2551 โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.) แต่ด้วยความสงสัยอย่างหวาดระแวงแบบเหมารวมของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ต่อประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน ว่าน่าจะมีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และการสร้างสถานการณ์ต่างๆ จึงทำให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวต้องถูกจับกุมอย่างไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน และสองในห้าคนที่ชื่อ นายอิสมาแอ เต๊ะนักศึกษาชั้นปีที่ 4คณะวิทยาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ กับ นาย อามีซี มานาก อายุ 22ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ เอกบัญชี ทั้งสองคนนั้นเคยถูกจับกุมแล้ว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน และเคยถูกซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพด้วยโดยเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจที่ 11 และเจ้าหน้าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในขณะถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 9 วัน จากนั้นก็ถูกปล่อยตัวด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใด


 


            เหตุการณ์การจับกุมนักศึกษาซึ่งทำกิจกรรมเพื่อหวังที่จะสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างเร็ววันในครั้งนี้นั้น เป็นการส่อเจตนาของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่อย่างชัดเจนว่า มีความไม่พอใจต่อการทำกิจกรรมของนักศึกษาอย่างไร้เหตุผลและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและองค์กรร่วมภาคีไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1.   ขอให้ภาครัฐชี้แจงเหตุผลของการจับกุมกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวต่อภาคสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อขจัดซึ่งความคลุมเครือที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้


2.   ขอให้ภาครัฐดำเนินการตามอำนาจทางกฎหมายและตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักนิติธรรมและมนุษยธรรมกับกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว


3.   ยกเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ความมั่นคง อันเป็นกฎหมายที่นำชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการจับกุม กักขัง และการซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพอย่างทารุณ อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือการทำลายล้างผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากฝ่ายเจ้าหน้าทีรัฐ


4.   ถ้าหากตรวจสอบพบว่าการจับกุมนักกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา     ในนามของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) ในครั้งนี้นั้น มีความไม่เป็นธรรมจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม ภาครัฐจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ทั้งนี้ทางเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และองค์กรร่วมภาคีจะมีการเคลื่อนไหวจนกว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวจะได้รับความเป็นธรรม


 


เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และองค์กรร่วมภาคีขอประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ถ้าตราบใดยังมีความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เครารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในทุกส่วนภูมิภาคของประเทศไทย เราจะขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนและพร้อมที่จะร่วมกันต่อสู้ทุกวิถีทางโดยใช้หลักสันติประชาธรรมเพื่อความสงบสุขและสันติภาพจะได้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป


 


 ด้วยจิตสมานฉันท์


 เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และองค์กรภาคี


องค์กรภาคีร่วมแถลงการณ์


1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)


2. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)


3. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)


4. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


5. กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม ม.รามคำแหง


6. กลุ่มประกายไฟ


7. เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อสันติภาพ


8. เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (คสตส.)


9. สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง


10. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.)


11. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี (สนป.)


12. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา (สนส.)


13. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดนราธิวาส (สนน.)


14. ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้


15. พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net