Skip to main content
sharethis


 


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ ประเด็นกรณีที่กระทรวงแรงงานถอนทะเบียนสหภาพแรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสก์ ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนว่าเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐขาดความเป็นกลาง เหมือนเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน


                                                          


 






 


 


"ยังมีมิติของเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย ประเด็นที่เกิดขึ้นในนิคมฯ ลำพูนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเป็นกระเด็นใหญ่ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนก็คือ คนงาน 12 คนเสียชีวิตกะทันหันและคนงานเหล่านี้ก็ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิคส์"


 


"เราต้องเข้าใจว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่มาจากภาคชนบท มีการศึกษาต่ำ และยังทำงานในโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะฉะนั้นการสร้างอำนาจต่อรองจึงค่อนข้างยาก เพราะโรงงานขนาดเล็ก แต่โฮย่า เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่จึงมีศักยภาพที่จะตั้งสหภาพได้ และส่วนใหญ่คนที่จะตั้งสหภาพไม่ใช่คนงานในภาพการผลิตจริงๆ แต่จะเป็นคนงานที่มีความรู้ ที่เป็นหัวหน้าสายการผลิตหรือระดับสูงขึ้นไป"


 


"สหภาพแรงงานได้ดำเนินการมีหนึ่งปีแล้ว สหภาพกลับถูกถอนทะเบียนเนื่องจากคณะกรรมการบางคนไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไปนิยามว่าคณะกรรมการบางคนมาจากฝ่ายบริหารไม่ได้เป็นฝ่ายผลิตโดยตรง โดยรูปการแล้วเหมือนเป็นการทำลายสหภาพแรงงานฯ เพราะกว่าจะจดทะเบียนได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ"


 


"เป็นภาพสะท้อนว่ารัฐยังขาดความเป็นกลางอยู่ แทนที่มองว่าสิ่งที่ลูกจ้างทำคือการสร้างอำนาจต่อรอง ไม่ใช่เพื่อทำลายบริษัท แต่การอยู่ร่วมกันก็ต้องสามารถเจรจากันได้ เพื่อให้ทั้งบริษัทและคนงานสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่รัฐแทนที่จะมองมุมของลูกจ้างกลับไปใช้กฎหมายแบบเคร่งครัด"


 


 


 


 


อยากให้ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ?


นิคมอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจากนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการเน้นการกระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบท และที่ผ่านมา การพัฒนาค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท รูปแบบของนิคมอุตสาหกรรม ก็คือการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบท นิคมอุตสาหกรรมลำพูนก็ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์นั้น


 


ความจริงก็คือ การส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐเข้าไปลงทุนสร้างในโครงสร้างพื้นฐานเป็นนิคมอุตสาหกรรมแล้วชักชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุน จะเห็นว่าในช่วงแรกก็เป็นนิคมที่เน้นการลงทุนการแปรรูปสินค้าเกษตร เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกร แต่ภายหลังไม่มีการลงทุนมากในนิคมอุตสาหกรรมจึงมีการเปลี่ยนการส่งเสริมมาเป็นส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมแรกที่เข้าไปก็คืออุตสาหกรรมประเภทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์


 


ในปัจจุบันนี้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรงงานอิเล็กทรอนิคส์ โดยที่ผู้เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าในพื้นที่ภาคเหนืออากาศแห้ง ขณะเดียวกัน แรงงานก็เป็นแรงงานที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง คือจบ ปวช. ปวส. เป็นต้น จึงเป็นที่ต้องการของโรงงาน ในขณะที่แม้ว่าลำพูนจะอยู่ไกลแต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและสามารถจัดส่งได้จำนวนมาก


             


เมื่อเราพูดถึงอุตสาหกรรม ที่เข้ามาลงทุนขยายตัวการผลิตในประเทศไทย เป็นประเภทชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิคส์ ที่เป็นการประกอบชิ้นส่วนซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นชิ้นส่วนนำเข้า เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็จะถูกส่งออกเพื่อไปประกอบกับชิ้นอื่นเพื่อเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์หรือคอมพิวเตอร์เป็นต้น แล้วลักษณะสำคัญของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ก็คือ จะจ้างแรงงานหญิงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีอายุ 18-25 ส่วนแรงงานชายจะมีการจ้างในสัดส่วนที่น้อย ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ซุปเปอร์ไวเซอร์ หรือลีดเดอร์ เป็นต้นไม่ใช่พนักงานการผลิตโดยตรง


 


ปัญหาในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจากอะไรบ้าง ?


ปัญหาในภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ไม่ใช่แต่ในประเทศไทยอย่างเดียว จะเรียกได้ว่าเป็นเขตปลอดสหภาพแรงงาน เพราะเป็นเขตการลงทุนที่ใช้ค่าแรงถูกมาเป็นแรงจูงใจ เพราะฉะนั้น การมีสหภาพแรงงานก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เพราะเขาจะมองว่าจะมีการเรียกร้องซึ่งทำให้ต้นทุนหรือค่าจ้างหรือสวัสดิการสูงขึ้น ฉะนั้นโดยทั่วไปเขตนิคมเหล่านี้โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะมีพ.ร.บ. ต่างหาก (พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2520) ก็คือค่อนข้างจะมีการบริหารที่เป็นอิสระ


 


แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะมีสหภาพแรงงาน ประเด็นมี 2 มิติ คือมิติค่าแรงถูก เราก็จะเห็นว่านักศึกษาที่จบ ปวช. และ ปวส. แต่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ และนิคมฯ ก็มักจะจ่างค่าแรงขั้นต่ำมาโดยตลอด และก็ไม่ค่อยจะปรับให้สูงกว่านั้น ถึงแม้ว่าจะเข้ามาทำงานเป็นเวลานานก็ยังจะจ่ายขั้นต่ำอยู่ ขณะเดียวกันโรงงานก็มีกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวด และก็เนื่องจากคนงานไม่มีตัวแทนหรือมีการรวมกลุ่มกัน ฉะนั้นการตัดสินใจจึงอยู่กับฝ่ายจัดการ


           


นอกจากนั้น ยังมีมิติของเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย ประเด็นที่เกิดขึ้นในนิคมฯ ลำพูนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเป็นกระเด็นใหญ่ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนก็คือ คนงาน 12 คนเสียชีวิตกะทันหันและคนงานเหล่านี้ก็ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิคส์ ในช่วงนั้น มีหมอสองกลุ่มออกมาวินิจฉัยไม่เหมือนกัน กลุ่มแรกก็ออกมาวินิจฉัยว่าคนงานเสียชีวิตด้วยการเป็นโรคของสารโลหะหนัก แต่หมออีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาวินิจฉัยว่าคนงานเป็น HIV เสียชีวิต


 


และนอกจากนั้น ในชุมชนก็มักจะบอกว่าโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียงลงแม่น้ำแม่กวง กรณีล่าสุดที่นักวิชาการเข้าไปวิจัยพบว่า ในน้ำใต้ดินมีการปนเปื้อนของสารเคมี ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นในไต้หวันที่มีการลงทุนของบริษัทอิเลคทรอนิคส์ แล้วก็มีการถอนการลงทุนออกไปแล้ว แต่พื้นที่ที่เข้าไปลงทุนนั้นรัฐบาลก็ประกาศว่าเป็นพื้นที่วิกฤติเพราะการปนเปื้อนของสารเคมีนั้นลงไปสูงน้ำใต้ดินและก็ไม่สามารถที่จะพื้นฟูได้ต้องใช้เงินทุนอย่างมาก


           


หมายความว่า พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม มีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ?


ประเด็นปัญหาก็คือ การที่นิคมอุตสาหกรรม มี พ.ร.บ.ของตัวเองขึ้นมา การที่กระทรวงแรงงานจะเข้าไปตรวจจึงทำได้ไม่เต็มที่ และจะเข้าไปขอข้อมูลเรื่องสารเคมีในนิคมฯ ก็ไม่ยอมเปิดเผยเพราะอ้างว่าเป็นความลับของบริษัท เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับเป็นดินแดนที่จัดการกันเอง โดยที่คนข้างนอกไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ส่วนใหญ่เราก็จะเห็นว่านิคมฯไปตั้ง อบต. ก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบ แต่ในนิคมที่มีการใช้สารเคมีที่สลับซับซ้อนในกระบวนการผลิต ถามว่าความสามารถของอบต.ที่จะไปจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทำได้หรือไม่ เช่นขยะอุตสาหกรรม หรือผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสุขภาพคนงาน


           


อยากให้อาจารย์ช่วยเล่ากรณี บจก.โฮยา กลาสดิสก์ ที่มีความพยายามจะล้มสหภาพแรงงานฯ ในขณะนี้ ?


การเคลื่อนไหวของโฮย่า ก็คือ คนงานถูกปฏิเสธสิทธิในการรวมกลุ่มดังนั้นการสร้างอำนาจต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อำนาจในการเปลี่ยนสภาพการจ้างหรือทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดภัยต่อการทำงานคนงานแทบไม่มีส่วนร่วมเลย ก็ถือว่านี่เป็นเรื่องการจัดการของบริษัท คนงานที่จะลุกขึ้นมาจัดตั้งสหภาพแรงงานก็จะถูกเลิกจ้าง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จึงสะสม ทำให้คนงานได้รับข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องสหภาพแรงงาน สิทธิ เพราะมีองค์กรพัฒนาชุมชนเข้าไปฝังตัวทำงานกับคนงาน คนงานจึงเริ่มเข้าใจสิทธิเริ่มจัดตั้งสหภาพเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของตนเอง


 


แรงงานทางด้านอิเล็กทรอนิคส์ พวกเขามีการศึกษาสูง ได้ค่าจ้างต่ำ นายจ้างมักจะอ้างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงพ.ศ. 2540 เรื่องสุขภาพในการทำงาน มีคนงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน บางคนเกษียณตัวเองกลับไปใช้ชีวิตในชนบทเนื่องจากสุขภาพย่ำแย่ คนงานถูกบังคับให้ทำ OT ทั้งที่จริงเป็นเรื่องของความสมัครใจ ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับคือการผลิตที่สามารถยืดหยุ่นได้ ช่วงที่มีการผลิตมากก็ทำ OT ทางฝ่ายนายจ้างก็สามารถบอกได้ว่าการทำ OTขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคนงาน แต่ว่าทางบริษัทก็มีมาตรการในการจัดการ เช่นไปเลื่อนวันหยุดของพนักงาน ย้ายตำแหน่งการทำงานของพนักงานเป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขซ้อนไปซ้อนมาของนายจ้างทำให้แรงงานต้องไปทำ OT บางทีก็ต้องไปทำงานวันอาทิตย์ด้วย ทั้งที่ทำงานมาวันละ 12 ชั่วโมงแล้ว


 


ผลการวิจัยเรื่องแรงงานในไทยที่อาจารย์เคยทำมาเป็นอย่างไรบ้าง ?


ที่ผมวิจัยมาพบว่า แรงงานไทยเป็นแรงงานที่ทำงานโดยมีชั่วโมงการทำงานมากกว่าแรงงานทางประเทศตะวันตก คนงานประเทศไทยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 80 ชม.ในขณะที่คนงานชาติตะวันตก ทำงานเฉลี่ย 35 ชม.ต่อสัปดาห์ แม้แต่ประเทศกัมพูชาเอง การทำ OT ก็ระบุไว้ว่าไม่ให้เกิน 4 ชม.ต่อวัน ด้วยสภาพการทำงานแบบนี้ ทำให้แรงงานไทยไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่มีเวลาที่จะไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมถึงสิทธิของตัวเอง หรือเวลาที่จะอยู่กับครอบครัว


           


เราต้องเข้าใจว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่มาจากภาคชนบท มีการศึกษาต่ำ และยังทำงานในโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะฉะนั้นการสร้างอำนาจต่อรองจึงค่อนข้างยาก เพราะโรงงานขนาดเล็ก แต่โฮย่า เป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่จึงมีศักยภาพที่จะตั้งสหภาพได้ และส่วนใหญ่คนที่จะตั้งสหภาพไม่ใช่คนงานในภาพการผลิตจริงๆ แต่จะเป็นคนงานที่มีความรู้ ที่เป็นหัวหน้าสายการผลิตหรือระดับสูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นกรรมการทั้ง 18 คนจึงไม่ได้เป็นพนักงานที่อยู่ในสายการผลิตทั้งหมด แต่ทางกระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบแล้ว จึงสามารถอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งสหภาพขึ้นมาได้ ก่อนที่จะจัดตั้งสหภาพ ก็มีการให้ความรู้กับพนักงานก่อนซึ่งถ้าเป็นสหภาพอื่นที่มีแรงงานที่มีการศึกษาต่ำก็จะทำได้ยากกว่า


           


แล้วทำไมจู่ๆ สหภาพแรงงานฯ ถึงถูกเพิกถอนในตอนนี้ ทั้งๆ ที่ก่อตั้งมานานหนึ่งปีแล้ว ?


ประเด็นที่น่าสนใจคือ สหภาพแรงงานได้ดำเนินการมีหนึ่งปีแล้ว สหภาพกลับถูกถอนทะเบียนเนื่องจากคณะกรรมการบางคนไม่มีคุณสมบัติ เนื่องจากไปนิยามว่าคณะกรรมการบางคนมาจากฝ่ายบริหารไม่ได้เป็นฝ่ายผลิตโดยตรง โดยรูปการแล้วเหมือนเป็นการทำลายสหภาพแรงงานฯ เพราะกว่าจะจดทะเบียนได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนแล้ว ใช้เวลานานจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากบางคนจากกระทรวงแรงงานเพื่อเร่งรัดให้เร็วขึ้น


 


อยู่มาวันหนึ่ง พอสหภาพแรงงานฯ เริ่มที่จะรวมตัวกันได้แล้ว เริ่มมีการเรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง ก็กลับมีการถอนทะเบียนของสหภาพฯ ในวันที่สหภาพฯ ทราบเรื่องปรากฏว่า กรรมการสหภาพถูกเลิกจ้างทันที่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งมาถึงสหภาพแรงานวันที่ 4 ส.ค. 2551 ในวันเดี่ยวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ว่ารัฐกับนายจ้างรู้ข้อมูลกันรวดเร็วแบบนี้


 


มองกระทรวงแรงงานอย่างไร ต่อกรณีที่ถอนทะเบียนสหภาพแรงงานฯ ?


เป็นภาพสะท้อนว่ารัฐยังขาดความเป็นกลางอยู่ แทนที่มองว่าสิ่งที่ลูกจ้างทำคือการสร้างอำนาจต่อรอง ไม่ใช่เพื่อทำลายบริษัท แต่การอยู่ร่วมกันก็ต้องสามารถเจรจากันได้ เพื่อให้ทั้งบริษัทและคนงานสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่รัฐแทนที่จะมองมุมของลูกจ้างกลับไปใช่กฎหมายแบบเคร่งครัด ตีความว่ากรรมการสหภาพบางคนอยู่ในฝ่ายบริหารของบริษัท ทั้งที่จะเลิกจ้าง ใครเป็นอำนาจของนายจ้าง คนที่อยู่ในส่วนบริหารนั้นทำไม่ได้ ต้องมองว่าสหภาพแรงงานคือเครื่องมือที่จะสร้างความเป็นธรรมให้ชีวิตของคนงานดีขึ้น ทำให้คนที่มาลงทุนต้องคำนึงถึงการใช้แรงานด้วย รัฐควรมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่านี้


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net