Skip to main content
sharethis

วานนี้ (14 ส.ค.51) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีการนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ "ปัญหาสารตะกั่วในห้วยคลิตี้" จากกรณีที่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายคงศักดิ์ กลีบบัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ จำเลยในคดีรวมทั้งนายกำธร ศรีสุวรรณมาลากับพวก รวม 8 คน ในฐานะตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2549


 


หลังจากเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2549 ศาลมีคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ เป็นเงิน 4,260,000 บาท โดยมีรายละเอียดคือ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่คนละ 345,000 บาท ผู้เสียหายที่เป็นเด็กได้รับคนละ 620,000 บาท และผู้เสียหายที่เป็นเด็กเล็ก (ได้รับสารตะกั่วในขณะที่แม่อุ้มท้อง) ได้รับคนละ 820,000 บาท เนื่องจากได้ปล่อยสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่คลิตี้ลงสู่ลำหวยคลิตี้ จนเป็นเหตุให้ชาวชุมชนคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ และ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ็บป่วยและสัตว์เลี้ยงล้มตาย


 


คำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ระบุว่าจำเลยทั้งสองยังคงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น และการฟ้องของโจทก์ทั้งแปดไม่ได้ขาดอายุความ เพราะเข้าตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30


 


ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดและของจำเลยทั้งสอง เกี่ยวกับการรับผิดโดยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายนั้น มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้ง 8 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ 30 ม.ค.2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ


 


"เมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองและความร้ายแรงแห่งการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารตะกั่วดังกล่าวแล้วที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้มายังไม่เหมาะสม สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปดใหม่ ....รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท" คำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุ


 


สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยตามร่วมกันแก้ไขและฟื้นฟูห้วยคลิตี้ โดยนำตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในห้วยคลิตี้ออกไปให้หมด และให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูห้วยคลิตี้ให้สะอาดปราศจากสารตะกั่วและสารเคมีต่างๆ ให้มีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมนั้น ศาลเห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองสิทธิให้โจทก์ทั้งแปดฟ้อง และขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวได้ การอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น


 


 


 


 


สรุปประเด็นคำพิพากษา คดีคลิตี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม


อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 เวลา 9.00 น.


 


นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน                                                          โจทก์


 


บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด                                ที่ 1


นายคงศักดิ์ กลีบบัว โดย นางสุลัดดา กลับบัว ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน          ที่ 2                   จำเลย


 


เรื่อง      ละเมิด พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 96


           


            คดีนี้ทั้งโจทก์ทั้งแปด และจำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2549


 


            เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาญจนบุรี บัลลังก์ 9 ได้อ่านคำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นจากคำพิพากษาโดยสรุป ดังนี้


 


ประเด็น ที่ 1 ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดเคลือบคลุมหรือไม่


 


            ศาลเห็นว่า แม้การที่โจทก์ทั้งแปดมิได้บรรยายเรื่องค่าเสียหายของโจทก์แต่ละรายไว้ในตัวคำฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ทั้งแปดได้ระบุไว้ในตัวคำฟ้องแล้วว่ารายละเอียดปรากฏตามบัญชีค่าเสียหายเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดความเสียหายและค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคนไว้แจ้งชัดแล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เท่ากับโจทก์ทั้งแปดได้บรรยายไว้ในคำฟ้องแล้วนั่นเอง ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งแปดไม่เคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


 


ประเด็นที่ 2 ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์ทั้งแปดป่วยและกระบือของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ตายเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่คลิตี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดหรือไม่


 


            พิจารณาจากคำเบิกความของนางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ก็ดี คำเบิกความของนางสาลิกา วรหาญ นักวิชาการสาธารณสุข 8 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี และนายอัมพร บำรุงชีพ เจ้าหน้าที่บริหารงานทรัพยากรธรณี 7 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี พยานจำเลยทั้งสองก็ดี พยานหลักฐานอื่นในสำนวนก็ดี น่าเชื่อว่าคงมีสารตะกั่วตามธรรมชาติอยู่บ้างในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น ไม่เป็นสาเหตุถึงกับให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นโรคพิษตะกั่วได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าโจทก์ทั้งแปดป่วยด้วยโรคพิษตะกั่ว อันเกิดจากสารตะกั่วที่รั่วไหลหรือแพร่กระจายจากโรงแต่งแร่คลิตี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ด้วยว่ากระบือของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ตายจากสารตะกั่วที่รั่วไหลหรือแพร่กระจายจากโรงแต่งแร่คลิตี้เช่นกัน โดยมีราคาตัวละ 9,000 บาท


 


            ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเกิดจากพายุดีเปรสชั่นเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ไม่น่าเชื่อเพราะไม่สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเอง โดยจำเลยทั้งสองนำสืบทำนองว่า บ่อเก็บตะกอนบ่อที่ 3 น้ำใสสะอาดดื่มได้ เท่ากับบ่อที่ 3 แทบจะไม่มีตะกอนดิน เมื่อคันกั้นขอบบ่อที่พังก็อ้างว่าพังเฉพาะบ่อที่ 3 ถ้าเป็นเช่นนั้นตามเหตุผลไม่น่าจะมีตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้มากนัก แต่กลับปรากฏว่ามีตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้เป็นจำนวนมากและแพร่กระจายยาวถึงประมาณ 19 กิโลเมตร น่าเชื่อว่าทางโรงแต่งแร่คลิตี้ปล่อยสารตะกั่วลงในห้วยคลิตี้มาเป็นเวลานานหลายปี พิจารณาจากคำเบิกความของนายจเรประกอบคำเบิกความของนางสุลัดดา กลีบบัว ภริยาจำเลยที่ 2 และนายธงชัย ส่องสว่าง พยานจำเลยทั้งสองตลอดแล้ว เห็นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 และอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทในครอบครัวของจำเลยที่ 2 โดยกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 มี 4 คน เป็นพี่น้องกัน จำเลยที่ 2 เป็นพี่คนโตและเป็นประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนนายธงชัยน่าจะเป็นผู้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ไปปฏิบัติ อยู่ในระดับผู้ปฏิบัติเท่านั้น การปล่อยน้ำสู่ห้วยคลิตี้เช่นนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงซึ่งฝ่ายจำเลยรู้ดี ไม่น่าเชื่อว่านายธงชัยจะกระทำโดยที่ไม่ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 สั่งการให้เปิดระบายน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนสู่ห้วยคลิตี้เช่นนั้นถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการทำให้สารตะกั่วจากโรงแต่งแร่คลิตี้รั่วไหลหรือแพร่กระจายสู่ห้วยคลิตี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวด้วย จะอ้างว่าเป็นเพียงกรรมการบริษัทไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปด ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


 


ประการที่ 3 ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดขาดอายุความหรือไม่


 


            ศาลเห็นว่าบ่อเกิดแห่งหนี้มีทั้งเกิดจากสัญญา เกิดจากละเมิด เกิดจากกฎหมายบัญญัติด้วย ตามฟ้องของโจทก์ทั้งแปดต้องด้วยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 วรรคหนึ่ง อันเป็นหนี้ที่เกิดจากกฎหมายบัญญัตินั่นเอง มิใช่รับผิดอันเกิดแต่มูลละเมิดดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ความรับผิดตามหน้าที่ดังกล่าว ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


 


ประการที่ 4 ตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดและของจำเลยทั้งสอง ว่าสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดเพียงใด


 


            เห็นว่า ตามบัญชีค่าเสียหายของโจทก์ทั้งแปด เมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองและความร้ายแรงแห่งการรั่วไหลหรืแพร่กระจายของสารตะกั่วดังกล่าวแล้วที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้มายังไม่เหมาะสม สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปดใหม่ ดังนี้


 


            - ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก่อนฟ้อง เป็นเงินคนละ             112,000 บาท


            - ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง จนกว่าจะลดปริมาณของสารตะกั่วในร่างกายให้อยู่ในระดับที่จะไม่เกิดพิษต่อโจทก์ทั้งแปด ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันฟ้องเป็นเงินคนละ                                                                                                                                  240,000 บาท


            - ค่ากระบือที่ตายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน                                             99,000 บาท


            - ค่ากระบือที่ตายของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน                                             9,000 บาท


            - ค่ากระบือที่ตายของโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน                                             27,000 บาท


            - ค่าที่ต้องเสียความสามารถและโอกาสในการทำงานอย่างสิ้นเชิงหรือบางส่วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยได้รับทุกขเวทนาทางด้านจิตใจและสูญเสียอวัยวะ คุณภาพชีวิต โอกาสที่จะพัฒนาตนอย่างมีศักดิ์ศรีและความสามารถที่จะสืบต่อชาติพันธุ์ได้ และค่าขาดประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ขาดแหล่งอาหารขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากห้วยคลิตี้ กำหนดให้แก่


            โจทก์ที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 6 คนละ                                      3,000,000          บาท


            โจทก์ที่ 2 และที่ 7 คนละ                                                               3,500,000          บาท


            โจทก์ที่ 5 และที่ 8 คนละ                                                               3,800,000          บาท


 


            สรุปรวมค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งแปดได้รับเป็นรายบุคคลดังนี้


            โจทก์ที่ 1 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,451,000          บาท


            โจทก์ที่ 2 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,852,000          บาท


            โจทก์ที่ 3 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,361,000          บาท


            โจทก์ที่ 4 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,352,000          บาท


            โจทก์ที่ 5 ได้รับทั้งสิ้น                                            4,152,000          บาท


            โจทก์ที่ 6 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,379,000          บาท


            โจทก์ที่ 7 ได้รับทั้งสิ้น                                            3,852,000          บาท


            โจทก์ที่ 8 ได้รับทั้งสิ้น                                            4,152,000          บาท


                        รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งแปดได้รับทั้งสิ้น           29,551,000        บาท


 


            ค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดให้ดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้วจึงไม่กำหนดค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นตามคำขอท้ายฟ้องที่นอกเหนือจากนี้อีก อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดฟังขึ้นบางส่วน ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น


 


            สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอท้ายฟ้อง ที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขและฟื้นฟูห้วยคลิตี้ โดยนำตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในห้วยคลิตี้ออกไปให้หมด เพื่อให้ห้วยคลิตี้สะอาดปราศจากสารตะกั่ว โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูห้วยคลิตี้ให้สะอาดปราศจากสารตะกั่วและสารเคมีต่างๆ ให้มีสภาพตามธรรมชาติดังเดิมนั้น เห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองสิทธิให้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น


 


            พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 จำนวน 3,451,000 บาท 3,852,000 บาท 3,361,000 บาท 3,352,000 บาท 4,152,000 บาท 3,379,000 บาท 3,852,000 บาท 4,152,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 มกราคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งแปด สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ทั้งแปดได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งแปดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดี กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 100,000 บาท แทนโจทก์ทั้งแปดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น


 


 


 


หมายเหตุ


คดีนี้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับความช่วยเหลือในการดำเนินคดีจากสภาทนายความ


 


สรุปคำพิพากษาโดย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net