Skip to main content
sharethis



14 ส.ค. 51 - ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สหภาพแรงงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ออกแถลงการณ์พร้อมแถลงข่าวยืนยันที่จะเคลื่อนไหวจนกว่าบริษัทจะยอมรับขอเสนอของสหภาพฯ ทั้งนี้สหภาพเรียกร้องให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพฯ กลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม, ให้บริษัทไม่ลงโทษเอาผิดพนักงานที่ผละงาน และให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์และส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพออกไป


 


สืบเนื่องจากการเลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดช โดยบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย)ให้เหตุผลว่า การใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทได้อ้างว่าเป็นการทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง โดยบริษัทได้นำเรื่องไปฟ้องกับศาลแรงงานกลาง และแจ้งว่าศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้โดยบริษัทให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. เป็นต้นมา


 


จากนั้นทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นทำธรรม และตอบโต้ความพยายามล้มสหภาพฯ ไม่ว่าจะเป็นการผละงาน หรือการรณรงค์เดินขบวนประท้วง เป็นต้น


 


ทั้งนี้ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนว่าจากการเจรจาเมื่อวันที่ 13 .. ที่ผ่านมา บริษัทยังยืนยันที่จะไม่ต่อรองกับข้อเสนอ 3 ข้อที่สหภาพได้เสนอไป แต่กลับมีคำชี้แจงออกมาว่าบริษัทจะรับพนักงานกลับ แต่ให้พนักงานเหล่านั้นไปทำสัญญาเป็นรายบุคคลว่าจะไม่เอาความผิดทางวินัย ซึ่งทางประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ให้ความเห็นว่า ความผิดทางแพ่งและทางอาญานั้นอาจคงอยู่


 


ส่วนทางเคลื่อนไหวทางด้านการต่อสู้ทางกฎหมาย ขณะนี้ทางสหภาพแรงงานได้จ้างทนายความ เพื่อขอรื้อคดีมาสู้ใหม่กับศาลแรงงาน จ. สมุทรปราการ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบว่าจะรื้อคดีใหม่ได้หรือไม่?


 


จนกระวันนี้ (14 ส.ค. 51) ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ได้ออกแถลงการณ์พร้อมแถลงข่าวยืนยันที่จะชุมนุมหน้าโรงงานและเคลื่อนไหวรณรงค์ จนกว่าบริษัทจะยอมรับขอเสนอของสหภาพฯ คือ


 



  1. ให้บริษัทรับประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ นางสาวจิตรา คชเดช กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทเหมือนเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทางสหภาพยืนยันว่าผู้บริหารมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน เพราะคำตัดสินของศาลเป็นเพียงการอนุญาตให้เลิกจ้างได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งให้เลิกจ้าง

 



  1. ให้บริษัทไม่ลงโทษใดๆ และไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญากับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานและพนักงานบริษัททุกๆ คนที่ผละงาน

 



  1. ให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์และส่อพฤติกรรมทำลายสหภาพออกไป

 


นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังได้ระบุว่า ทางสหภาพยังคงยืนหยัดที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมของผู้ใช้แรงงานต่อไป และหวังว่าทางบริษัท จะปฏิบัติตามและเคารพในจรรยาบรรณทางการค้า (Code of Conduct) ที่ให้ไว้ของบริษัทไทรอัมพ์ (Triumph) เอง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของทางบริษัทนั้น เช่น ในเรื่องการมุ่งเน้นถึงสาระความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กล่าวไว้ในปริญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The General Declaration of Human Right) ข้อตกลงที่เกี่ยวกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (Global Compact) ขององค์การสหประชาชาติ


 


 







 


แถลงการณ์(ฉบับเต็ม)กรณีการชุมนุมต่อต้านการล้มสหภาพไทรอัมพ์


           


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นสหภาพที่เกิดจากการรวมตัวกันของพนักบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่อาคารเลขที่ 393หมู่ 17 นิคมอุสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ. สมุทรปราการ ประเทศไทย โทร. (66)2-315-3283 ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนียี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น โดยสินค้าส่วนใหญ่นั้นจะส่งออกไปขายยังต่างประเทศ


           


สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3,700 คน จากจำนวนพนักงานของบริษัทฯ ทั้งหมดทุกแผนกประมาณ 5,300 คน  นับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นต้นมาสหภาพฯ ได้ดำเนินกิจกรรมปกป้องสิทธิเสรีภาพของพนักงาน รวมทั้งยกระดับสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ทั้งภายในและภายนอกโรงงานอย่างขันแข็งมาโดยตลอด จนกระทั่งส่งผลให้พนักงานของบริษัทฯ ได้รับสวัสดิการในโรงงานที่นับได้ว่าอยู่ในระดับดีมากเมื่อเทียบกับโรงงานอื่นๆ ทั่วไปในประเทศไทย  นอกจากนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังมีบทบาทแข็งขันในสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อฟ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย รวมทั้งขบวนการแรงงานในประเทศและสากลอีกด้วย


 


ล่าสุดทางสหภาพฯ เพิ่งผ่านการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อปรับสภาพการจ้างงาน โดยพนักงานสามัคคีกันต่อสู้เรียกร้องตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. 2551 จนบริษัทจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพฯ 4 ข้อ ประกอบด้วยการปรับขึ้นค่าจ้าง โบนัส ฐานเงินเดือน และค่าครองชีพ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งครั้งของคณะกรรมการสหภาพฯ ชุดปัจจุบันในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกสหภาพฯ


 


ความพยายามทำลายสหภาพแรงงาน


ด้วยความสำเร็จที่เป็นผลมาจากความเข้มแข็งและความสามารถของสหภาพฯ ในการต่อสู้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานในโรงงานนั้น ส่งผลให้ผู้บริหารจำนวนหนึ่งของบริษัทไทรอัมพ์ในประเทศไทยไม่พอใจและมีท่าทีที่ไม่ดีต่อสหภาพแรงงาน รวมทั้งมีพฤติกรรมหลายครั้งที่ส่อเจตนาจะทำลายหรือขัดขวางการดำเนินการของสหภาพฯ อาทิเช่น


 


- หลังจากที่ประธานและคณะกรรมการสหภาพฯ ชุดปัจจุบันได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพฯ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2551 กรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่จึงไปแจ้งจดทะเบียนที่กระทรวงแรงงานฯ ตามขั้นตอนของกฏหมาย  ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือทางกระทรวงฯ กลับแจ้งว่าไม่สามารถจดทะเบียนกรรมการสหภาพฯ ให้ได้ เนื่องจากมีหนังสือคัดค้านการเลือกตั้งประธานสหภาพฯ ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ  ภายหลังเมื่อทางสหภาพฯ เข้าไปตรวจสอบหลักฐานในการคัดค้านนั้นพบว่า รายชื่อผู้คัดค้านในหนังสือดังกล่าวไม่มีอยู่ในทะเบียนสมาชิกสหภาพฯ แต่อย่างใด การคัดค้านการจดทะเบียนกรรมการสหภาพฯ ชุดใหม่เป็นเพียงเทคนิคในการขัดขวางสหภาพฯ ของผู้บริหารบริษัทฯ ที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี  ต่อมาสหภาพฯ จึงยืนยันความชอบธรรมของกรรมการฯ ชุดใหม่และสามารถจดทะเบียนกรรมการสหภาพฯ ชุดนี้ได้ทันกำหนดการยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างงานต่อบริษัท


 


            - หลังจากที่คุณจิตรา คชเดช ประธานสหภาพฯ คนใหม่ ได้ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง NBT ในวันที่ 24 เม.ย. 51 เพื่อพูดถึงประเด็นการทำแท้งเนื่องในวันสตรีสากล ทางบริษัทฯ ได้เปิดเวบไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ให้พนักงานดู  ทั้งนี้เวบไซต์ดังกล่าวได้บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโจมตีศัตรูทางการเมืองโจมตีของตนในขณะนั้นว่า คุณจิตราซึ่งบังเอิญสวมเสื้อรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่มีข้อความว่า "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ขณะออกรายการโทรทัศน์นั้น เป็นสมาชิกของขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากคุณจิตราสวมเสื้อที่สนับสนุนนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนต์และกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ และการที่คุณจิตราสวมเสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ไปออกรายการโทรทัศน์นั้น เป็นแผนการของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น  ข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาอ่านข่าวของคุณจิตราในเวบไซต์ผู้จัดการจำนวนหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ประธานสหภาพฯ อย่างรุนแรง


 


บริษัทฯ จึงอาศัยโอกาสนี้จัดให้พนักงานแต่ละแผนกเดินเข้าไปอ่านข่าวจากเวบไซต์ผู้จัดการ พร้อมกับกล่าวหาว่าประธานสหภาพฯ ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง และโกหกว่าจะทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถขายสินค้าได้  จากนั้นปรากฎว่ามีการเผยแพร่แถลงการณ์และสำเนาความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวในเวบดังกล่าวหลายฉบับออกมาโจมตีประธานสหภาพฯ โดยบางฉบับมีการขู่ทำร้ายร่างกายประธานสหภาพฯ ด้วย  อย่างไรก็ตาม ลักษณะของเอกสารจำนวนมากนั้นพิมพ์โดยใช้กระดาษรีไซเคิลของบริษัท สมาชิกสหภาพฯ จึงตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่จัดทำแถลงการณ์และเอกสารเหล่านั้นคือฝ่ายผู้บริหารของบริษัทฯ  ต่อมาทางบริษัทฯ ได้เรียกให้ประธานสหภาพฯ ไปพบเพื่อให้ทำบันทึกชี้แจงในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยนายเคนเนท หลุย มาร์แชล กรรมการผู้จัดการชาวแคนาดา ได้กล่าวว่า "เห็นใจและสงสารมากกับกรณีดังกล่าว แล้วจะไม่ติดใจเอาความในเรื่องดังกล่าว และให้ใช้เครื่องเสียงของทางบริษัทชี้แจ้งกับคนงานในโรงอาหาร" โดยทางบริษัทฯ ได้ให้ฝ่ายบุคคลทำการบันทึกวีดีโอไว้ ทางประธานสหภาพฯ จึงใช้โอกาสดังกล่าวชี้แจงความจริงด้วยความบริสุทธิใจ จนทำให้พนักงานเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง


 


            - ในช่วงระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ เพื่อขอปรับสภาพการจ้างครั้งที่ผ่านมา ทางฝ่ายผู้บริหารฯ ได้เสนอให้ปรับค่าจ้างตามความต้องการของบริษัทฯ และให้พนักงานรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพฯ ลงมติรับข้อเสนอของทางบริษัทฯ เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของทางสหภาพฯ ตกไป โดยมีการขู่ว่าหากไม่รับข้อเสนอตามที่ทางบริษัทฯ เสนอ ทางบริษัทแม่ที่เยอรมนีอาจจะปิดบริษัทที่เมืองไทยแล้วจ้างทำการผลิตแบบเหมาช่วง (Sub-contract) แทน แต่ทางสหภาพฯ ไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นกลวิธีของผู้บริหารที่พยายามจะลดบทบาทและความสำคัญของสหภาพแรงงาน ด้วยการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในอนาคตว่าต่อไปบริษัทจะเป็นผู้เสนอการปรับสภาพการจ้างงานเองแล้วให้พนักงานลงมติรับรอง แทนที่ข้อเรียกร้องนั้นจะมาจากความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง


 


ล่าสุด พฤติกรรมในการพยายามทำลายสหภาพแรงงานของผู้บริหารไทรอัมพ์ในไทยก็ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อทางบริษัทฯ ได้แอบไปยืนคำร้องต่อศาลแรงงานอย่างลับๆ เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างประธานสหภาพฯ โดยกล่าวหาว่า การที่ประธานสหภาพฯ ใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการโทรทัศน์ช่องเอ็นบีที เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ  ลูกค้าและประชาชนทั่วไปคว่ำบาตรสินค้าของบริษัทฯ นอกจากนี้พนักงานของบริษัทฯ และประชาชนเรียกร้องให้บริษัทฯ ดำเนินการกับประธานสหภาพฯ  อย่างไรก็ดี ตลอดกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว ประธานสหภาพฯ ไม่เคยทราบเรื่องและได้รับการติดต่อใดๆ ทั้งสิ้นจากทั้งศาลแรงงานและบริษัทฯ  ศาลได้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวจนกระทั่งมีคำตัดสินลับหลังเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 อนุญาตให้ทางบริษัทฯ สามารถเลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดชได้  ล่วงเลยมาอีกหลายวัน วันที่ 29 ก.ค. 51 ทางบริษัทฯ ถึงได้เรียกนางสาวจิตรา ประธานสหภาพฯ ไปพบผู้บริหาร 3 ท่าน หนึ่งในนั้นคือ นายเคนเนท หลุย มาร์แชล กรรมการผู้จัดการชาวแคนาดา โดยทางบริษัทฯ ได้นำรถของบริษัทฯ มารับไปที่สำนักงานใหญ่ ณ อาคารวานิช 2 ในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งห้ามให้บุคคลอื่นตามไปเป็นเพื่อน  เมื่อพบกับผู้บริหารฯ ประธานสหภาพฯ ถึงได้รับแจ้งให้ทราบว่าบริษัทฯ ได้ขออำนาจศาลเลิกจ้างและศาลได้มีคำตัดสินอนุญาตแล้ว  ในครั้งนั้นนายเคนเนท หลุย มาร์แชลได้เสนอให้ประธานสหภาพฯ เขียนใบลาออกโดยทางบริษัทฯ จะให้เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 11 เดือน แต่ทางประธานสหภาพฯ ยืนยันไม่ขอรับข้อเสนอของทางบริษัทฯ เพราะไม่เชื่อว่าคำตัดสินของศาลแรงงานดังกล่าวเป็นความจริงเนื่องจากไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน


 


ผละงานเพื่อปกป้องสหภาพแรงงาน


หลังจากที่ประธานสหภาพฯ ไม่ยอมลาออกตามข้อเสนอของผู้บริหารไทรอัมพ์ในประเทศไทย ทางบริษัทฯ จึงเลิกจ้างประธานสหภาพฯ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 51 เป็นต้นไป  อย่างไรก็ตาม ในเช้าวันที่ 30 ก.ค. เวลาประมาณ 7.00 น. เมื่อพนักงานในบริษัทฯ ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงไม่พอใจการกระทำของผู้บริหารอย่างรุนแรงและตัดสินใจพากันผละงานออกมาเพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน เนื่องจากพนักงานเชื่อว่าทางบริษัทฯ มีเจตนาที่จะทำลายสหภาพแรงงาน


           


เมื่อพนักงานราว 3,000 คน ผละงานอย่างพร้อมเพรียง ผู้บริหารของบริษัทฯ ได้อ้างตลอดเวลาว่า บริษัทฯ ได้เลิกจ้างประธานสหภาพฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่ว่าพฤติกรรมในที่สาธารณะของประธานสหภาพฯ ซึ่งเชื่อมโยงไทรอัมพ์กับความเชื่อทางการเมืองส่วนบุคคลสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทฯ และการกระทำของบริษัทฯ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่สหภาพแรงงาน 


           


อย่างไรก็ดี สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ในประเทศไทยขอชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้บริหารในไทยอย่างรอบด้านแล้ว เป็นที่เชื่อได้ว่าบริษัทไทรอัมพ์ในประเทศไทยจงใจฉวยโอกาสนี้ทำลายสหภาพแรงงาน


 


ที่สำคัญเมื่อพิจารณาการยื่นคำร้องขอเลิกจ้างของบริษัทฯ แล้ว จะพบว่าเหตุผลในการเลิกจ้างประธานสหภาพและกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงานนั้นไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


 


1) กระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงานไม่เปิดโอกาสให้ประธานสหภาพฯ ได้เข้าไปต่อสู้คดี เนื่องจากทางประธานสหภาพฯ ไม่เคยได้รับหมายศาล หมายปิด และคำสั่งใดๆ จากศาล ทั้งนี้ศาลได้เลือกที่จะส่งเอกสารของศาลไปยังบ้านเช่าที่ประธานสหภาพฯ ไม่ได้อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว  เมื่อประธานสหภาพฯ ไม่ได้ไปติดต่อศาลเนื่องจากไม่ได้รับหมายเรียก ศาลกลับมิได้ส่งเอกสารไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฏร์ทั้งที่บริษัทฯ ได้ยื่นเอกสารทะเบียนราษฏร์ของประธานสหภาพฯ ต่อศาลด้วย รวมทั้งไม่ส่งเอกสารมายังที่อยู่ของบริษัทฯ หรือที่อยู่ของสหภาพไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ประธานสหภาพฯ ทำงานและสังกัดอยู่แต่อย่างใด ส่วนทางบริษัทก็ไม่เคยแจ้งเรื่องให้ประธานสหภาพฯ ทราบเลยแม้แต่น้อยทั้งที่ต้องพบปะกันเป็นประจำแทบทุกวันในสถานที่ทำงาน ส่งผลให้เกิดการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวในศาลในที่สุด


           


2) หลังจากศาลแรงงานมีคำตัดสินอนุญาตให้เลิกจ้างประธานสหภาพฯ แล้วในวันที่ 8 ก.ค. 51 นายจ้างยังเลือกที่จะแจ้งให้ประธานสหภาพฯ ทราบในวันที่ 29 ก.ค.51 นับได้ว่าบริษัทจงใจถ่วงเวลาทำให้ประธานสหภาพฯ ไม่สามารถยื่นอุทรณ์ต่อศาลได้ตามกฎหมาย ซึ่งให้สิทธิอุททรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอนุญาตให้บริษัทฯ เลิกจ้างได้


           


3) ส่วนข้ออ้างในการเลิกจ้างที่ว่าการกระทำของประธานสหภาพฯ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายนั้น สหภาพฯ ขอยืนยันว่า น.ส.จิตรา คชเดชได้ไปออกรายการโทรทัศน์ NBT เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ในนามประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เป็นการกระทำนอกเวลาทำงานในนามองค์กรสหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ไม่ขึ้นต่อกับทางบริษัทฯ และประธานสหภาพฯ มิได้มีเจตนาที่จะทำให้บริษัทฯ เสียหายใดๆ ทั้งสิ้น การแสดงความคิดเห็นของประธานสหภาพฯ ในรายการโทรทัศน์เป็นเรื่องประเด็นการทำแท้ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของบริษัทฯ และทัศนะทางการเมืองตามที่ถูกเวบไซต์ข่าวผู้จัดการโจมตีแต่ประการใด  


 


ในเรื่องผลกระทบต่อสินค้าของบริษัทฯ นั้น ข้อเท็จจริงคือว่า หลังจากการออกรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นได้ว่าการกระทำของประธานสหภาพฯ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของบริษัทฯ ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่ทำการผลิตให้บริษัทฯ ยืนยันได้ว่าไม่มีการลดอัตราการผลิตลงเลย พนักงานยังต้องทำงานล่วงเวลาจำนวนมากก่อนหน้าที่จะมีการผละงานเสียด้วยซ้ำ  นอกจากนี้ยอดขายของบริษัทฯ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 นั้น ยังเป็นยอดจำหน่ายภายนอกประเทศ การอ้างว่าประชาชนทั่วไปรวมทั้งพนักงานของบริษัทฯ ได้มีการเรียกร้องให้ดำเนินการกับประธานสหภาพฯ และขู่ว่าจะคว่ำบาตรสินค้าของทางบริษัทนั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด


 


4) เนื่องจากความบกพร่องในการส่งหมายศาลและหมายปิด ทำให้ประธานสหภาพฯ ไม่มีโอกาสไปชี้แจงต่อศาล หลักฐานและเหตุผลประกอบดุลยพินิจของผู้พิพากษาทั้งหมดจึงล้วนมาจากฝ่ายผู้ร้องหรือบริษัทแต่เพียงฝ่ายเดียว กระบวนการพิจารณาคดีในศาลแรงงานครั้งนี้จึงขาดความสมบูรณ์และความเป็นธรรมอย่างชัดเจน


 


ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ฉวยโอกาสเลิกจ้างประธานสหภาพฯ และทำลายสหภาพแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม สมาชิกของสหภาพฯ จึงขอยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป เพราะหากปล่อยให้บริษัทเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานอย่างฉ้อฉลได้เช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจกรรมของสหภาพไทรอัมพ์และขบวนการแรงงานโดยรวมในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะกลวิธีของบริษัทไทรอัมพ์ประเทศไทยดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการเลิกจ้างแกนนำของสหภาพแรงงานต่อไป


 


จุดยืนและข้อเรียกร้อง


สมาชิกสหภาพฯ จำนวนกว่า 3,000 คน ยังคงยืนหยัดพละงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงานและจะเคลื่อนไหวรณรงค์ในสังคมวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยุติพฤติกรรมของผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี โดยปัจจุบันสหภาพมีข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ดังนี้


 


1) ให้บริษัทฯ รับนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กลับเข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทเหมือนเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทางสหภาพฯ ขอยืนยันว่าผู้บริหารมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน เพราะคำตัดสินของศาลเป็นเพียงการอนุญาติให้บริษัทสามารถเลิกจ้างได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งให้เลิกจ้าง


 


2) ให้บริษัทฯ ไม่ลงโทษใดๆ และไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญากับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และพนักงานบริษัททุกคนที่ผละงาน


 


3) ให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีพฤติกรรมที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงานออกไป


 


สุดท้ายทางสหภาพฯ หวังว่าทางบริษัทไทรอัมพ์จะปฏิบัติตามและเคารพในจรรยาบรรณทางการค้า (Code Of Conduct) ของบริษัทไทรอัมพ์เอง ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กล่าวไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The "General Declaration of Human Right") ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (Global Compact)ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัวก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และมีสิทธิในการเจรจาต่อรองค่าจ้างภายใต้บทบัญญัติของกฏหมาย (ข้อตกลง ILOที่ 87 และ 98) ตัวแทนพนักงานจักต้องมิได้รับการเลือกปฏิบัติและจักต้องสามารถเข้าไปในสถานที่ทำงานที่จำเป็น เพื่อที่จะกระทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนพนักงานได้เป็นอย่างดี (ข้อตกลง ILO ที่ 135 และข้อแนะที่ 143) บริษัทจักจ้างพนักงานทุกคนตามพื้นฐานของความรู้ความสามารถและความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน บริษัทห้ามมิให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันหรือเลือกปฏิบัติอันมีสาเหตุมาจากความเชื่อ สีผิว ศาสนา สัญชาติ ถิ่นกำเนิด ความเห็นทางการเมืองหรือสหภาพแรงงาน พื้นฐานทางสังคมและจริยธรรม เพศหรืออายุ(ข้อตกลง ILO ที่ 100 และ 111) เป็นต้น


 


ทั้งนี้เพื่อที่จะอำนวยต่อการดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงานอย่างสมานฉันท์ต่อไป


 


 


อ่านข่าวเก่า


ปธ.สหภาพไทรอัมพ์ ถูกเลิกจ้าง นายจ้างอ้างใส่เสื้อ "ไม่ยืนฯ" ทำ บ.เสียชื่อ
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์รวมตัวผละงาน เรียกร้องรับ "ปธ.สหภาพ" กลับเข้าทำงาน
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 400 กว่าคนบุกสำนักงานใหญ่ กดดันนายจ้างเรียกร้องความเป็นธรรม
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผละงานวันที่ 3 นายจ้างยันไม่รับประธานสหภาพเข้าทำงาน
ร่อนจดหมายประณามเลิกจ้าง ปธ.สร.ไทรอัมพ์ จี้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน-ทำลายสหภาพแรงงาน
แรงงานไทรอัมพ์ฯ นับพันบุกทำเนียบ ร่อนหนังสือจี้นายกฯ แก้ปัญหา "ขบวนการล้มสหภาพแรงงาน"

แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนของบริษัทไทรอัมพ์ สำนักงานใหญ่ ประเทศเยอรมัน
เสวนา : การละเมิดสิทธิแรงงาน: กรณีศึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ โฮยา อัลมอนส์ ฯลฯ"
สหภาพแรงงานตะวันออก ค้านการจัดระเบียบการชุมนุมและร้องสิทธิคนงานไทรอัมพ์
เสวนา: "กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิแรงงาน"
ประมวลความเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 10 - 14 ส.ค. ที่ผ่านมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net