Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


 



 


โอลิมปิกครั้งนี้ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ชอบนักชอบหนาในการเอามาตราหน้าจีน เรื่องของ "ทิเบต" แทบที่จะเรียกได้ว่า "ขโมยซีน" ประเด็นอื่นๆ ไปเสียสิ้น… แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจมิใช่น้อยก็คือ การละเมิดสิทธิแรงงานที่เกี่ยวพันโยงใยมาจากประเด็นธุรกิจเกมส์กีฬา แต่ก็ไม่ใช่จีนและโอลิมปิกเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามก็คือการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ที่ชักใยโดยยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตก


 


การประณามจีนในประเด็นนี้


ในรายงานของโครงการรณรงค์ Play Fair2008 ที่ร่วมกันจัดทำโดยเครือข่ายรณรงค์เพื่อคนงานเครื่องนุ่มห่ม (CCC) สมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) และสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังระหว่างประเทศ (ITGLWF) ได้เปิดโปงให้เห็นว่าโอลิมปิกนั้นมีมูลค่ามหาศาลต่อทั้งที่คณะกรรมการโอลิมปิก แบรนด์ และนักกีฬาที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย กลุ่มรณรงค์เพื่อผู้บริโภคและสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ ได้พยายามเรียกร้องรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปีให้รัฐบาลจีนหยุดปิดกั้นเสรีภาพในการรวมตัวและเรียกร้องสิทธิ และคุ้มครองคนงานจากการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ


 


ทั้งนี้เพราะนับตั้งแต่จีนเปิดประตูสู่การค้านับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 มีคนงานจีนนับหมื่น นับแสนราย ที่ถูกเลิกจ้างและจำนวนไม่น้อยถูกคุมขังเพราะพวกเขาเรียกร้อง "เสรีภาพในการรวมตัวและต่อรอง"  การประท้วงของคนงานจีนมีต่อเนื่องมาหลายปี แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ "2 มีนาคม 2008, คนงานนับพันคนที่ถูกลอยแพโดยไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม ได้เริ่มประท้วงที่หน้าหอประชุมของเมือง


 


การละเมิดสิทธิแรงงานที่โรงงาน Yue Wong Cheong ในเซิงเจิ้น ซึ่งรับจ้างผลิตสินค้าลิขสิทธิ์โอลิมปิกกว่า 50 รายการ ทั้งจ่ายคนงานเพียงแค่ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงานวันละ 13 ชั่วโมง ปัญหาเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย การใช้สลิปเงินเดือนปลอมเพื่อหลอกตาเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาตรวจสอบ โดยในการประท้วงเพื่อให้เกิดการ "แข่งอย่างยุติธรรม" ในปี 2008 จึงเป็นการกดดันรัฐบาลจีนครั้งใหญ่ให้เคารพในสิทธิและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรอง


 


นอกจากนี้ก่อนเริ่มพิธีเปิดไม่กี่วันกลุ่มสหภาพแรงงานและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันออกแคมเปญรณรงค์กดดันที่เกาะฮ่องกง เพื่อให้จีนและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) คำนึงถึงการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา


 


เฮ้ย! จีนยังเบาะๆ ยักษ์ใหญ่ของบรรษัทจากตะวันตกก็ไม่น่ามองข้าม


แต่ก็ใช่ว่าจะมัวแต่มุ่งจับผิดกีฬาโอลิมปิกและจีนเท่านั้น การละเมิดสิทธิแรงงานที่สำคัญที่สุดก็คือบรรษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก และผู้ผลิตเหมาช่วงให้กับบรรษัทเหล่านี้


 


โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิกอย่างเต็มตัวนับตั้งแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิส ในปี 1984 โดยได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างกีฬากับธุรกิจคล้ายกับจะมีการตั้งอยู่บนจริยธรรมและมนุษยธรรมที่อยากจะช่วยเหลือด้านงบประมาณให้กับการกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างสปิริตของเกมส์กีฬาระดับโลก ต่อมาโอลิมปิกก็ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังที่สุด


 


นอกจากการห้ำหั่นกันของนักกีฬาแต่ละชาติ สังเวียนโอลิมปิกยังเป็น "สมรภูมิ" โชว์สินค้า โชว์แบรนด์ของบรรดายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย และก็ไม่น่าแปลกใจที่ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะสนับสนุนทีมชาติต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนการทำสงครามของตะวันตกที่จะได้โชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศคู่ค้า


 



 


ในปี 2004 โอลิมปิกที่เอเธนส์ มูลค่าทางการตลาดของบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้เพิ่มขึ้น โดย Nike เพิ่มขึ้น 14.7% adidas เพิ่มขึ้น 11.9% และ Yue Yuen ผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาสัญชาติไต้หวันที่ส่งสินค้าให้บรรษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้นถึง 8.8%


 


ก่อนฟุตบอลโลกในปี 2006 adidas ที่เป็นสปอนเซอร์ใหญ่และมีการโหมโฆษณาอย่างหนัก ทำให้ adidas สามารถขายสินค้าได้เพิ่มถึง 20% ในไตรมาสที่สองของปีนั้น ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.33 พันล้านดอลลาร์


 


ปัจจุบันยักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังมุ่งเป้าสู่ตลาดเอเชีย และโอลิมปิกที่จีนถือว่าเป็นประตูที่สำคัญ


 


ประเทศจีนเอง ก็ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ปัจจุบันประมาณการกันว่าตลาดจีนมีมูลค่าถึง 4.2 - 5.6 พันล้านดอลลาร์


 


ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ ไตรมาสแรกของปี 2007 Nike สามารถขายสินค้าเพิ่มถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2006 โดยเมื่อสิ้นปี 2006 Nike มีส่วนแบ่งในตลาดจีนประมาณ 15% ส่วน adidas ตามหลังมาติดๆ ที่ 12% สำหรับ Nike ที่มีร้านจำหน่ายสินค้าทั่วโลก มากกว่า 3,000 แห่ง กำลังเปิดสาขาใหม่จีนเกือบทุกๆ วัน ส่วน adidas ซึ่งมีร้านจำหน่ายสินค้าทั่วโลกมากกว่า 2,500 แห่ง ขณะนี้มีร้านในจีนถึง 300 กว่าเมือง บรรษัทตั้งความหวังที่จะขยายร้านออกเป็น 5,000 แห่ง ในปี 2010 และตั้งเป้าว่าเมื่อถึงปีนั้น adidas จะมียอดขายในจีนสูงถึง 1.56 พันล้านดอลลาร์


 


ทั้งนี้ adidas ได้ทุ่มเทสนับสนุนกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นชุดกีฬา อุปกรณ์ และบริการต่างๆ เป็นเงินประมาณ 80 - 100 ล้านดอลลาร์ รวมถึงได้ทุ่มเทสนับสนุนทีมนักกีฬาจากสหราชอาณาจักรถึง 201 ล้านดอลลาร์ในปักกิ่งเกมส์ โอลิมปิกฤดูหนาวที่แวนคูเวอร์ในปี 2010 จนถึงที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2012


 


… แต่กระนั้น แรงงานทำรองเท้าชาวจีนของ adidas จะตั้งอดออมเงินเดือนของเขาถึง 4 เดือน จึงจะสามารถซื้อตั๋วเข้าชมพิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้ได้


 


แล้วคู่แข่งอย่าง Nike จะยอมรึ? Nike ได้สนับสนุนทีมบาสเกตบอลจีนในการแข่งขันครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ กว่า 80% โดยจากข้อมูลขอบรรษัทพบว่า ในปี 2007 นั้น Nike ใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์และการสนับสนุนการกีฬาไปถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์


 


… แต่กระนั้น (อีกครั้ง!) เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ แรงงานบรรษัทเหมาช่วงในเวียดนามพึ่งประท้วงใหญ่ ขอขึ้นค่าแรงที่แทบจะไม่พอเลี้ยงชีพ


 










ชีวิต CEO


ชีวิตแรงงาน



  • แฮร์เบิร์ต ไฮน์เนอร์ (Herbert Heiner) CEO ของ adidas ได้รับเงินค่าจ้างถึง 2.8 ล้านยูโรในปี 2007

 



  • ส่วน มาร์ค ปาร์คเกอร์ (Mark Parker) ของ Nike ได้รับค่าจ้าง 1.14 ล้านดอลลาร์โบนัส 1.29 ล้านดอลลาร์ และเงินรายได้อื่นๆ อีก 2 ล้านดอลลาร์ ในปี 2006

 


 


 



  • แรงงานทำรองเท้าของโรงงาน Tae Kwang ในเวียดนาม ซึ่งผลิตรองเท้าให้กับ Nike ได้รับเงินเดือนเพียง 63 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นค่าแรงที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ
  • ในปากีสถานแรงงานทำลูกฟุตบอลได้รับค่าตอบแทนจากการเย็บลูกฟุตบอลหนึ่งลูก ประมาณ 0.57 - 0.65 ดอลลาร์ต่อลูก โดยอัตรานี้ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงมา 6 ปีแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปากีสถานเพิ่มขึ้นถึง 40%
  • ในอินเดียแรงงานทำลูกฟุตบอลได้รับค่าตอบแทนจากการเย็บลูกฟุตบอลหนึ่งลูก ประมาณ 0.88 ดอลลาร์ และสามารถเย็บลูกฟุตบอลได้ 2-4 ลูกต่อวัน โดยอัตรานี้ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงมา 5 ปีแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 10%
  • แรงงานของบรรษัท Yu Yuen ในจีนต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมงต่อวัน โดยได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงเพียง 0.53 ดอลลาร์ ส่วนแรงงานจ้างเหมา (subcontractor) ได้รับเงินเดือนเพียง 71-86 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจีน

 


 


การกดขี่แรงงานของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา นั้นมีสายพานโยงใยไปทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้โรงงานเหมาช่วงในประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูก ซึ่งเป็นเทคนิคการลดต้นทุนที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมนี้…


 


เมื่อหลายปีก่อน Nike เสียภาพพจน์อย่างมากจากการถูกเปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับการกดขี่แรงงานในโรงงานผลิตรองเท้าที่กระจายอยู่ทั่วโลก ภายใต้ความกดดันที่ต้องการกอบกู้ภาพพจน์ของบริษัท ในปี 1997 Nike ให้สัญญาต่อสาธารณชนว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 23 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในเดือนกรกฎาคม 2000 ผู้บริหารสูงสุดของ Nike ในขณะนั้นคือ นายฟิลลิป ไนท์ (Phillip Knight) ยืนยันคำมั่นสัญญานี้โดยสนับสนุนพันธะสัญญาระดับโลก (Global Compact) ของสหประชาชาติอย่างออกหน้าออกตา แต่การวิจัยที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1997 ยังมีข้อกังขาว่า Nike  ทำได้จริงตามสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ ข้อมูลของไนกี้ในประเทศเอเชียและเม็กซิโกสะท้อนให้เห็นว่า Nike ยังคงละเมิดสิทธิแรงงานเหมือนเดิม


 


Nike เคยแสดงท่าทีในด้านบวกครั้งหนึ่งต่อสิทธิแรงงานในอินโดนีเซีย ในเดือนกันยายน 1998 คนงานคนหนึ่งชื่อฮาร์ยันโต ถูกไล่ออกจากโรงงานเพราะทำกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพ กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มช่วยให้เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแถลงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พอกลับมาถึงอินโดนีเซีย Nike รีบจัดการให้เขากลับเข้าทำงานและรับประกันว่าจะไม่มีการข่มขู่คุกคามเขาอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหภาพคนอื่น ๆ ในโรงงานยังถูกกีดกันเหมือนเดิม


 


ที่เม็กซิโกเหตุการณ์ที่โรงงาน Kuk Dong น่าจะถือว่าได้รับความสนใจและถูกจับตามองมากที่สุด โรงงานแห่งนี้เป็นของเกาหลี Nike ว่าจ้างโรงงานผลิตสินค้าในเดือนธันวาคม 2000 ไม่นานหลังจากที่ Nike ลงนามในสัญญาที่ผิดกฎหมายกับสหภาพ CROC ที่ฝ่ายบริหารโรงงานจัดตั้งขึ้นมาเพื่อข่มขู่คนงานและขัดขวางไม่ให้คนงานก่อตั้งสหภาพโดยอิสระ

ในเดือนมีนาคม 2000 โรงงาน Kuk Dong เริ่มผลิตเสื้อกีฬาให้ Nike โดยมีตราของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เช่น มิชิแกน นอร์ทแคโรไลนา ออเรกอน อริโซนาและอินเดียนา ในเดือนมกราคม 2001 คนงานหลายร้อยคนนัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลาสองวันครึ่งเพื่อขอค่าแรงเพิ่มและปรับปรุงสภาพการทำงาน ตำรวจปราบจลาจลและสมาชิกสหภาพ CROC บุกเข้าทำร้ายคนงานประมาณ 300 คนและทุบตีด้วยกระบอง นักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาจึงชุมนุมประท้วงเพื่อสนับสนุนคนงาน Kuk Dong และข้อพิพาทเรื่องแรงงานครั้งนี้เป็นข่าวพาดหัวในสหรัฐอเมริกา หลังจากถูกกดดันอย่างหนัก Nike จึงขอให้โรงงานรับคนงานจำนวนหนึ่งที่ถูกไล่ออกเพราะการนัดหยุดงานกลับเข้ามาใหม่ แต่ผู้นำสหภาพอีกหลายคนยังถูกกีดกัน และสหภาพ CROC ยังคอยตามกลั่นแกล้งและคุกคามคนงานที่พยายามก่อตั้งสหภาพในโรงงานแห่งนี้

ที่เวียดนามเมื่อวันที่ 26 .. 51 ที่ผ่านมา แรงงานเวียดนามประมาณ 14,000 ของโรงงานทำรองเท้าสัญชาติเกาหลีใต้ในเวียดนาม Hwa Seung Vina ได้ทำการหยุดงานประท้วงเรียกร้องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับราคาข้าวของที่แพงขึ้นเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้โรงงานผู้ผลิตเหมาช่วงต่อทำรองเท้าให้กับ Nike  ในเวียดนามสามารถผลิตรองเท้าผ้าใบได้ถึง 75 ล้านคู่ได้ในแต่ละปี แต่ค่าแรงของแรงงานเหล่านั้นแทบที่จะเทียบไม่ได้กับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายตัดเย็บมันขึ้นมา


 


Yue Yuen บรรษัทผลิตรองเท้าสัญชาติไต้หวัน ที่ผลิตสินค้าส่งต่อให้แบรนด์ดังๆ อย่าง Nike, Addidas, Reebok, Asics, New Balance, Puma, Timberland และ Rockport เองก็กระทำการกดขี่แรงงานมิใช่น้อย


 


หลายปีที่ผ่านมา กลุ่ม NGOs และนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิแรงงานได้รายงานว่า สภาพการทำงานในโรงงานของบรรษัท Yue Yuen นั้นย่ำแย่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงต่ำ, การคุกคามทางเพศในโรงงาน, ห้องน้ำที่มีไม่เพียงพอ, ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการใช้แรงงานจ้างเหมาช่วง ระหว่างปี 2006 -2007 จากการสำรวจของโครงการรณรงค์ Play Fair พบว่าโรงงานหลายแห่งในจีน และอินโดนีเซีย สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานย่ำแย่ แรงงานต้องทำงานกว่า 12 ชม. ต่อวัน


 


….นี่เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย สำหรับการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล สำหรับชาวโลก เกมส์กีฬาอาจเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจ แต่เบื้องลึกของมันอาจน่าหดหู่กว่านั้น ซูเปอร์สตาร์นักกีฬาทั้งหลาย นอกจากจะมีเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาของแบรนด์ยักษ์ใหญ่คอยสนับสนุนให้พวกเขาให้เป็นเทวดาแล้ว… คราบเหงื่อและน้ำตาของแรงงานก็แปะซึมอยู่ทุกอณูในสิ่งเหล่านั้นด้วยเช่นกัน


 


 


……………………….


ประกอบการเขียน:


จรรยา ยิ้มประเสริฐ,"ทำไมต้องบอกโอลิมปิกและจีนให้แข่งอย่างยุติธรรม!" (ประชาไท, 19 April 2008)


เพ็ญนภา หงษ์ทอง, "สู่โอลิมปิกด้วยเส้นทางสายแรงงานทาส" (ฟ้าเดียวกัน ปีที่2 ฉบับที่ 2 เมษายน - มิถุนายน 2547)


"Just Do It" กับการรอคอยให้ไนกี้เคารพสิทธิแรงงาน (ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียงจาก Tim Conner, "Still Waiting for Nike to Respect the Right to Organize", วิทยาลัยวันศุกร์, เข้าดูเมื่อ 11 August 2008)


http://en.wikipedia.org/wiki/Yue_Yuen_Industrial_Holdings


TELL THE SPORTSWEAR INDUSTRY TO PAY FAIR! (www.playfair2008.org, เข้าดูเมื่อ 11 August 2008)


Clearing the Hurdles: Steps to Improving Working Conditions in the Global Sportswear Industry (www.playfair2008.org, เข้าดูเมื่อ 11 August 2008)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net