ออว์ ซาร์ ธิ: ให้ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยลาออก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากบทความเดิมชื่อ : เสน่ห์ จามริกต้องออกไป

ออว์ซาร์ ธิ
1 สค. 2551

ฮ่องกง - เมื่อวันที่ 28 กค. เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติ "เพื่อแสดงถึงความกังวลและความผิดหวังอย่างยิ่ง... ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยองค์กรของสหประชาชาติ"

เนื่องจากการเขียนหนังสือเปิดผนึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติเป็นขั้นตอนที่ไม่ปกติสำหรับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสถานะทางกฎหมายเช่นนี้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาน้ำเสียงที่แข็งกร้าว ผู้อ่านน่าจะคาดหวังว่าคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย

ทว่าผิดถนัด  จุดประสงค์ของหนังสือฉบับนี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแท้จริงแล้วเป็นการโยนความผิดไปให้กับคณะกรรมการชุดหนึ่งของสหประชาชาติ สำหรับเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอันไม่เป็นสาระเพื่อยื้อแย่งปราสาทเขาพระวิหารกันระหว่างไทยและกัมพูชา

เสน่ห์บอกว่า คณะกรรมการมรดกโลกนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ "ทำให้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องตกอยู่ในอันตราย" ไม่ใช่บรรดาผู้นำชาตินิยมเล่นเล่ห์กลการเมืองเพื่อประโยชน์ตัวเอง

แต่เสน่ห์ไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านั้น  เขาไปไกลเกินข้ออ้างที่แสร้งกังวลต่อสวัสดิภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ปัญหา ด้วยการถือหางคำกล่าวอ้างของประเทศตนอย่างไม่ละอาย

"ดูเหมือนว่าความเห็นของฝ่ายไทย ได้ถูกละเลยมาโดยตลอด" เขาร้องทุกข์ ก่อนสรุปด้วยการเรียกร้องให้สหประชาชาติ "ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกลางที่มี คุณธรรมสูงยิ่ง เพื่อแสวงหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น"

โดยมารยาทที่เป็นทางการแล้ว ย่อมต้องมีการตอบหนังสือ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการได้ว่าเมื่อหนังสือฉบับนี้ไปถึงมือผู้รับที่นิวยอร์ค ผู้รับจะมีอาการอะไรอื่นได้นอกจากอาการเหลือเชื่อ

แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยก็มีช่วงเวลาขึ้นๆ ลงๆ และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นอยู่คณะเดียวในหมู่มิตรสหายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดอื่นๆ ในเอเชีย ที่ได้ทำงานผิดทิศผิดทางไปในบางครั้งบางคราว  แต่ทว่าความผิดพลาดอื่นๆ ล้วนจืดไปเลยเมื่อเทียบกับความขายขี้หน้าจากงานนี้

ไม่เพียงแต่เป็นการผิดเวลา ที่ออกมาหลังจากการเลือกตั้งของกัมพูชาเมื่อสองฝ่ายได้ตกลงที่จะถอนทหารไปแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นวิจารณญานที่เลวร้ายอย่างยิ่งอีกด้วย ที่มุ่งเป้าไปที่สหประชาชาติ แทนที่จะเป็นตัวละครหลักฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง จนเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ อย่างรุนแรงในห้วงเวลาอันวิกฤตในประวัติศาสตร์ขององค์กรเอง

พึงระลึกว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้อุบัติขึ้นมาจากความนึกฝันของข้าราชการที่กรุงเทพฯ หรือไม่ใช่แม้กระทั่งเป็นผลจากการลงทุนลงแรงของตัวกรรมการชุดปัจจุบันเอง หากแต่เป็นผลมาจากการต่อสู้อย่างยากลำบากในระดับโลก ในการผลักดัน จัดตั้งและปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกคน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหนี้ต่อขบวนการต่อสู้นี้ทั้งในแง่ภารกิจและเสียง ดังนั้นจึงมีหน้าที่ที่จะต้องธำรงคุณค่ายึดถือต่างๆ ของขบวนการต่อสู้และใช้เสียงนั้นเพื่อถ่ายทอดอธิบายมันออกมา

นั่นหมายความว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกคาดหวังว่าจะต้องดำเนินการสอดคล้องกับบทบัญญัติของสิ่งที่เรียกว่า หลักการปารีส (Paris Principles) อันว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หากจะยังต้องการการยอมรับว่าเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมอยู่ และหากจะยังต้องการการยอมรับนับถือและที่ทางในแวดวงระหว่างประเทศอยู่

หลักการดังกล่าวมีเป็นต้นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรเป็นอิสระในด้านการทำงานและด้านการเงิน และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเกี่ยวกับมาตรฐาน กฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

บทบาทนี้ไม่รวมถึงการกลายเป็นกระบอกเสียงนโยบายรัฐบาล หรือออกถ้อยแถลงใดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ชัดแจ้ง

แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยในขณะนี้ยังคงถูกจัดว่าดำเนินการตามหลักการนี้อยู่ แต่สถานะก็ยังไม่อาจวางใจได้  องค์กรกำกับดูแลสามารถพิจารณาทบทวนกรรมการได้ทุกเมื่อและสามารถถอดถอนหากไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำสุด

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของศรีลังกาเมื่อปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ๆ นอกบทบัญญัติของหลักการปารีส โดยไม่สนใจคำร้องเรียนจากกลุ่มต่างๆ ในประเทศและภูมิภาค ตลอดจนคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าจากผู้ชำนาญการอิสระของสหประชาชาติ

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่มีวี่แววอันตรายอันใกล้สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะสูญเสียสถานะทางการไป แต่ด้วยการส่งหนังสือฉบับนี้ไป ก็เกิดการเสียหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

เนื่องด้วยเงื่อนไขข้อตกลงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับคมช. 2550 ก็ใกล้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการออกกฎหมายฉบับใหม่มากำกับการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ และการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

แต่เวลาของประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จบสิ้นลงไปแล้ว  หนังสือถึงสหประชาชาติฉบับนี้ของเสน่ห์ จามริกคือสัญญาณเตือนไม่ใช่สำหรับวิกฤตการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หากเป็นวิกฤตการณ์ในองค์กรของเขาเอง  มันเป็นแผ่นพับโฆษณาที่แสดงให้เห็นว่าเขาออกนอกลู่นอกทางไปไกลขนาดไหนตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา และเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะมีอะไรตามมามากกว่านี้อีกหากเขายังคงถูกปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

เสน่ห์มีเรื่องเดียวที่ต้องทำในตอนนี้คือ ลาออก บทบาทประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ใช่การเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อนโยบายต่างประเทศ หากแต่เป็นการธำรงและปกป้องสิทธิมนุษยชน  เมื่อขาดคุณสมบัติ เขาก็ต้องลาออก  ให้กรรมการคนอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่  กรรมการคนอื่นคงไม่มีใครทำแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว และบางคนอาจถึงกับสามารถพาองค์กรกลับเข้าร่องเข้ารอยตามจุดประสงค์ที่แท้จริงได้  ที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ให้มีคนอย่างเสน่ห์เข้ามากุมบังเหียนอีก

(ออว์ซาร์ ธิ เป็นนามปากกาของสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย มีประสบการณ์กว่า 15 ปีในการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศไทยและพม่า  สามารถอ่านบล็อก Rule of Lords ของเขาได้ที่ http://ratchasima.net)

 

    อ่านจดหมาย 









คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความผิดหวังคณะกรรมการมรดกโลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท