Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความเดิมชื่อ : จากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อัลมอนด์ ถึงโฮย่า และกลยุทธ์การทำลายสหภาพแรงงานยุคโลกาภิวัฒน์


 


สันติ ธรรมประชา


 


ภายใต้การเติบโตของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่ก้าวมาจากสังคมศักดินา ได้สร้างกำลังแรงงานเสรีเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังผู้ใช้แรงงานทำการผลิตเป็นพลังสร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆให้โลกมวลมนุษยชาติ  ขณะที่ผู้เป็นเจ้าของการผลิตหรือชนชั้นนายทุนไม่ว่าที่ใดในโลก ได้ทำการผลิตโดย มีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด เพื่อขยายทุนให้มีขอบเขตทั่วโลก เพื่อการผูกขาด 


 


ระบบุทนนิยมจึงมองแรงงานเป็นเพียงสินค้า เป็นปัจจัยการผลิตมากกว่าคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุนจึงเป็นธรรมชาติของระบบทุนนิยม


 


อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม  ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกก็หาได้เป็นเพียงผู้ยอมจำนนต่อสภาพดังกล่าว  ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกจึงลุกขึ้นสู่เพื่อกำหนดอนาคตชีวิตของตนเอง เพื่ออนาคตที่ดี ชีวิตที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่ตลอดกาลเช่นกัน ในรูปแบบต่างๆ  เช่น สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน ฯลฯ


 


โลกเรา จึงได้ รู้จัก  วันที่ 1 พฤษภาคม  "วันกรรมกรสากล หรือ วันเมย์เดย์ (May Day) ที่มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น  ที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด


 


สภาพดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย


 


ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปด  คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง


 


กล่าวสำหรับสังคมไทย  ผู้ใช้แรงงานไทยก็หาได้ยอมจำนนกับสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุน ก็เริ่มมีขบวนการต่อสู้มานานไม่ว่ายุคสมัย อำนาจอนุรักษ์นิยม เผด็จการทหาร หรืออำนาจที่มาจากระบบรัฐสภาครองเมืองก็ตาม นับตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ที่รวมตัวในรูปแบบสมาคมลับ(อั้งยี่) สมาคมอาชีพต่างๆ  สหภาพแรงาน สหพันธ์แรงานฯลฯ และมีช่วงเติบโตสูงสุดยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ประวัติศสาตร์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่รัฐไทยและทุนก็มีกลยุทธ์ต่างๆเพื่อทำลายขบวนการแรงงานอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน


 


อาทิเช่น การจัดระเบียบสหภาพเข้าสู่การควบคุมโดยกฏหมายแรงงานสัมพันธ์  การจัดองค์กรไตรภาคีเพื่อดึงอำนาจการชี้ขาดไปสู่องค์กรกลางภายใต้การชี้นำของรัฐ การห้ามนัดหยุดงาน ( ต.ค.2519- ม.ค.2524)  การใช้ตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งตัวแทนแรงงานในองค์กรไตรภาคีในการแบ่งแยกผู้นำ และควบคุมขบวนการแรงงาน 


 


ขณะเดียวกัน ในช่วงดังกล่าว นายจ้างก็ได้มีการพัฒนากลยุทธในการตอบโต้สหภาพแรงงานในเชิงรุก ได้แก่ การจ้างงานระยะสั้น การจ้างลูกจ้างชั่วคราวเข้าทำงานแทนลูกจ้างที่หยุดงานประท้วง การยื่นข้อเรียกร้องสวนทาง การเลิกกิจการ เลิกจ้างผู้นำสหภาพ แล้วจดทะเบียนบริษัทใหม่  การเลิกจ้างผู้นำแรงงานในช่วงการก่อตั้งสหภาพ  


นอกจากนี้แล้ว  นายจ้างจะทำทุกวิถีทางในการที่จะล้มสหภาพแรงงาน ไม่ว่าการจะเป็นการเลิกจ้างแกนนำ การสร้างแรงจูงใจให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยมีการจ้างทนายความมืออาชีพ และการมีเปลี่ยนฝ่ายบุคคลเพื่อมาทำหน้าที่ทำลายสหภาพโดยตรงเข้ามาทำงาน เช่น  เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้าง นายจ้างบอกว่ายินดีให้ตามที่ลูกจ้างเสนอ แต่ว่าจะต้องแลกกับการไม่มีสหภาพแรงงานอีกต่อไป หรือบางโรงงานได้ออกแถลงการณ์ประกาศให้ลูกจ้างรู้โดยทั่วกันว่า ไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงานอยู่ในโรงงานของตน  


กระนั้นก็ตาม ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ลูกจ้างยังถูกละเมิดสิทธิอยู่ เช่น ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน การไม่สิทธิในการนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็นในโรงงาน นอกจากนั้น และในระหว่างที่มีข้อพิพาทแรงงานอยู่นั้น นายจ้างจะรับคนงานรับเหมาค่าแรงเข้ามาทำงาน ทำให้อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานลดลง ทั้งยังพยายามแบ่งแยกลูกจ้างประจำและลูกจ้างเหมาค่าแรงออกจากกัน มีการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกจ้างเหมาค่าแรงโดยให้สวัสดิการเท่ากับลูกจ้างประจำ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างเหล่านั้นไปรวมตัวกับสหภาพแรงงาน แต่ปัญหาที่รุนแรงมากที่สุดในการจ้องทำลายสหภาพแรงงานก็คือ การข่มขู่เอาชีวิตแกนนำสหภาพ ซึ่งยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ  แต่ก็มีคนงานบางส่วนที่ไม่สามารถทนสภาพดังกล่าวได้ และต้องยุติบทบาทของตัวเองลงไปในที่สุด


 


หรือเราสามารถสรุปยุทธศาสตร์ที่รัฐและทุนใช้ในการควบคุมแรงงานโดยสรุปได้ดังนี้ คือ


1.โดยผ่านกฏหมาย  2.โดยการใช้อำนาจรัฐเผด็จการทั้งในทางลับและเปิดเผย 3.โดยผ่านกลไกของรัฐ เช่น ศาล กระทรวงแรงงาน ฯ  4.โดยผ่านสถาบันด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งได้แก่คณะกรรมการไตรภาคี 5.โดยผ่านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ  6.โดยการแบ่งแยกผู้นำแรงงาน


 


อย่างไรก็ตามในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน ไม่นานมานี้ทางบริษัทอัลมอนด์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่แถวอุตสาหกรรมตะวันออก ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงานอัลมอนด์ และทางบริษัทฯ ได้ขอใช้สิทธิ์ปิดงานโดยปิดเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์   


 


ขณะที่แถบนิคมอุตสาหกรรมลำพูนนั้น  ซึ่งสหภาพแรงงาน อิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ที่มีบริษัทโฮยา กลาส ดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด  เป็นเจ้าของโรงงาน เป็นเรื่องที่สร้างความงุนงงแก่สหภาพฯ  เมื่อมีหนังสือที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งว่ามีการจดทะเบียนสหภาพแรงงานไม่ถูกต้อง เพราะผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 95 พรบ.แรงงานสัมพันธ์นั้น แทนที่จะส่งเรื่องคุณสมบัติของผู้จดทะเบียนก่อตั้งสหภาพแรงงานให้ศาลแรงงานพิจารณาตามลำดับขั้นตอน อธิบดีกลับตัดสินใจทำหนังสือแจ้งว่ามีการจดทะเบียนสหภาพแรงงานไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตัวเขาเองเป็นผู้รับจดทะเบียนเองแต่แรก


 


ในอีกมุมหนึ่ง  ณ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณหน้าบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) ได้เลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า การใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการ "กรองสถานการณ์" ช่องเอ็นบีที ในหัวข้อ "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง โดยบริษัทได้นำเรื่องไปฟ้องกับศาลแรงงานกลาง และแจ้งว่าศาลอนุญาตให้เลิกจ้าง


 


นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การทำลายสหภาพแรงงานฯ ยุคโลกาภิวัฒน์ นายจ้างใช้ทุกกลยุทธ์


 


กล่าวสรุปได้ว่า  การดำเนินการของบริษัทมีเจตนาแอบแฝงที่จะทำลายสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของคนงาน ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนงานตามระบอบประชาธิปไตย  และเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม


 


ดังนั้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานต่างๆนั้น  ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงาน เพื่อปกป้องสิทธิของคนงานไม่ให้ถูกนายจ้างรังแกเอารัดเอาเปรียบตามอำเภอใจ และเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net