Skip to main content
sharethis

เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานและพนักงานร่วม 40 ราย ให้เหตุผลสารพัดทำให้บริษัทเสียภาพพจน์ เสียลูกค้า เสียหายในการผลิต แกนนำไม่ยอมลงลายมือชื่อ ยันไม่มีความผิด ก่อนที่ รปภ. จะอุ้ม ลาก ออกนอกโรงงาน ด้าน สอฟส. จัดชุมนุมชี้แจงช่วงเย็น ประธานสหภาพยืนยันสามารถดำเนินกิจกรรมสหภาพตามปกติ เพราะกำลังคัดค้านคำสั่งเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และอุทธรณ์คำสั่งอธิบดีเรื่องผู้จดทะเบียนสหภาพขาดคุณสมบัติ

 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2551 ช่วงเช้า กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) จำนวน 21 คน และพนักงานจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้รวมทั้งประธานสหภาพแรงงานและรองประธานสหภาพแรงงานที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเลิกจ้าง ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากฝ่ายบุคคลของบริษัทโฮยา กลาส ดิสก์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน จำกัดให้มาที่โรงงานในวันจันทร์ที่ 4 ส.ค. 2551 โดยฝ่ายบุคคลไม่แจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียกพบ

 

ต่อมาเวลาประมาณ 9.00 น. วานนี้ (4 ส.ค.) ที่บริษัทโฮยา กลาส ดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ 14 คน จากจำนวน 21 คน และพนักงานบริษัทเข้าพบ มีการแบ่งกลุ่มพนักงานและแยกห้องเพื่อแจ้งเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

 

กรรรมการสหภาพแรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับฟังข้อกล่าวหา แต่ไม่ลงลายมือชื่อเพื่อรับทราบในข้อกล่าวหา เพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา และมีกรรมการสหภาพแรงงานบางส่วนจำนวน 6 - 7 คน ยังไม่ยอมออกจากบริษัทเพราะถือว่ายังเป็นคณะกรรมการลูกจ้างอยู่

 

โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้แจ้งไปทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน มาเจรจากับทางบริษัท เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เดินทางมาถึงทางบริษัทก็ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน รอที่ด้านหน้าโรงงาน

 

บริษัทไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน และคณะกรรมการสหภาพแรงงานประชุมในบริษัท และเสนอให้ไปใช้ประชุมที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ในเวลา 13.00 น. โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ยอมรับข้อเสนอของทางบริษัทและเชิญทางบริษัทและคณะกรรมการสหภาพแรงงานไปประชุมที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ตั้งแต่เวลา 13.00 น.

 

ในเวลา 11.00 น. กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลือยังไม่ออกจากโรงงาน เพราะกลัวจะมีความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ยืนยันว่าคณะกรรมการลูกจ้างสามารถออกจากโรงงานเพื่อไปประชุมที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ได้ไม่มีความผิด แต่ถ้าไม่มั่นใจจะอยู่ในโรงงานจนถึง 17.00 น. ค่อยเดินทางไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้เดินทางกลับไปก่อน ส่วนคณะกรรมการลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวยังคงจับกลุ่มคุยกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ภายในบริเวณโรงงาน และรอเดินทางออกจากโรงงานไปในเวลา 13.00 น.

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 11.20 น. ตัวแทนนายจ้างได้ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) กดดันให้พนักงานกลุ่มนี้ออกนอกโรงงาน มีการพูดกับพนักงานว่า ไม่ใช่พนักงานแล้ว เขาเลิกจ้างแล้ว และต่อมามีการสั่งให้ รปภ. นำตัวออกไป โดยมีการกล่าวว่า อุ้มออกไปได้เลย ไม่ต้องกลัว เรา (รปภ.) ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ถ้าอยู่ต่อจะแจ้งข้อหาบุกรุก

 

โดยกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกนำตัวออกไป ได้แก่นายธาดา ทิมาเกตุ รองประธานสหภาพแรงงาน สอฟส. นายภาสกร พิทักษ์ นายวิชัย วงศ์แสนศรี นายสุขสันต์ อิ่นคำ และนายณัฐกร ศรีนันต๊ะ โดยนายธาดา และนายภาสกร ถูกอุ้มและถูกลาก ส่วนที่เหลือถูกลากและดึงออกไป เป็นเหตุทำให้พนักงานส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว

 

เวลา 13.00 น. พนักงานที่ถูกแจ้งเลิกจ้างเดินทางไปรอประชุมที่สำนักงานแรงงาน โดยทางบริษัทส่งตัวแทนนายจ้าง คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและทนายมาชี้แจง แต่ผู้บริหารซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจไม่ยอมลงมาคุยกับคณะกรรมการลูกจ้าง ทำให้การชี้แจงไม่มีความคืบหน้า

 

สำหรับหนังสือแจ้งเลิกจ้างที่พนักงานแต่ละคนได้รับ มีเหตุผลในการเลิกจ้างแตกต่างกันออกไป หากเป็นพนักงานเทคนิคจะให้เหตุผลว่าจงใจให้ผลผลิตล่าช้า หมดสมรรถภาพในการทำงาน ปรับแต่งเครื่องจักรให้ผิดปกติจนหยุดทำงาน หากเป็นแกนนำสหภาพแรงงานจะระบุว่า ทำการยุยงปลุกปั่นให้พนักงานให้ร้ายบริษัท ใช้สื่ออิเล็คทรอนิคส์ดำเนินกิจกรรมสหภาพแรงงาน ยุยงให้พนักงานร้องเรียนต่อลูกค้าของบริษัท ยุยงให้พนักงานยื่นข้อเรียกร้องที่ใส่ร้ายผู้บริหาร ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจากการผลิตไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนสูงขึ้น เสียโอกาสในการผลิตและจำหน่ายสินค้า คิดเป็นมูลค่า 28 ล้านบาท ซึ่งคำนวณความเสียหายระหว่างวันที่ 10-15 กรกฎาคม นอกจากนี้ยังให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่าพนักงานกลุ่มหนึ่งทำร้ายร่างกายผู้บริหารโดยใช้แสงเลเซอร์ยิงผู้บริหารจนได้รับบาดเจ็บที่ตา

 

ในหนังสือเลิกจ้างระบุว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทเป็นความผิดร้ายแรง โดยในหนังสือแจ้งเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือว่าการเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ลงลายมือชื่อโดย นายมาซาโนริ โมริโมโต้ ตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหาร

 

โดยขณะนี้มีพนักงานถูกแจ้งเลิกจ้างอย่างน้อย 38 คน ได้แก่กรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 21 คน และ พนักงานช่างเทคนิคซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 17 คน

 

โดยในช่วงเย็น แกนนำสหภาพแรงงานจึงชุมนุมเพื่อชี้แจงสมาชิกสหภาพแรงงานทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยช่วงหนึ่งของการปราศรัย แกนนำสหภาพแรงงานกล่าวว่า เพราะเราเป็นผู้ใช้แรงงานที่ออกมาต่อสู้รุ่นแรกจึงเจ็บมากหน่อย แต่การต่อสู้ครั้งนี้เพื่อสวัสดิการทำงานที่ดีของพนักงานรุ่นหลังๆ และพนักงานรุ่นหลังๆ ในภาคเหนือ ก็จะออกมาสู้อีก สหภาพแรงงานจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในภาคเหนือต่อไป

 

โดยมีการชี้แจงว่า ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันอังคารที่ 5 ส.ค. จะมีการเดินทางไปร้องเรียนเรื่องดังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และจะไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เพื่อทำหนังสือร้องเรียนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และฟ้องต่อคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงานด้วย

 

นายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องชี้แจงในช่วงเย็นต่อเพื่อนพนักงาน เพราะ หนึ่ง มีนายผดุง เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นนายทะเบียนออกใบอนุญาตให้สหภาพแรงงาน ได้มีหนังสือออกมาระบุว่าสหภาพแรงงานจดทะเบียนไม่ถูกต้อง เพราะผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานขาดคุณสมบัติตามมาตรา 95 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ระบุว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ จะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้

 

โดยขณะนี้ทางสหภาพแรงงานอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพราะผู้ช่วยผู้จัดการที่มีตำแหน่งในสหภาพแรงงานนั้น ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเลิกจ้าง ให้คุณให้โทษพนักงาน ให้โบนัส ทำเพียงเสนอขั้นพื้นฐานเป็นลำดับขั้น ผู้ช่วยผู้จัดการเพียงแค่เสนอรายชื่อเบื้องต้นตามลำดับขั้น และต้องให้ผู้จัดการหรือผู้จัดการโรงงานซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับผู้ช่วยผู้จัดการแต่อย่างใด

 

สอง ในวันนี้มีการแจ้งเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นการแจ้งเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด และมีการบอกว่าไม่มีสหภาพแรงงาน สอฟส. แล้ว จึงต้องมีการชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นกับเพื่อนพนักงาน โดยขอยืนยันว่า สหภาพแรงงานยังอยู่เคียงข้างสมาชิกที่ทำงานอยู่ มีกระบวนการทำงานตามปกติ และสหภาพแรงงานอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดี

 

ด้านวิสุทธิ์ มะโนวงศ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า หนังสือที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจ้งว่ามีการจดทะเบียนสหภาพแรงงานไม่ถูกต้อง เพราะผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 95 พรบ.แรงงานสัมพันธ์นั้น แทนที่จะส่งเรื่องคุณสมบัติของผู้จดทะเบียนก่อตั้งสหภาพแรงงานให้ศาลแรงงานพิจารณาตามลำดับขั้นตอน อธิบดีกลับตัดสินใจทำหนังสือแจ้งว่ามีการจดทะเบียนสหภาพแรงงานไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตัวเขาเองเป็นผู้รับจดทะเบียนเองแต่แรก

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของโรงงานพยายามปลดแกนนำสหภาพแรงงาน สอฟส. ออกจากการเป็นพนักงานของโรงงาน 3 ราย ได้แก่ นายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพ สอฟส. นายอัครเดช ชอบดี และนายธาดา ธิมาเกตุ รองประธานสหภาพ สอฟส. โดยฝ่ายพนักงานได้มีการฟ้องศาลแรงงานว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นศาล นายจ้างมีคำสั่งพักงานแกนนำทั้ง 3 คน โดยขณะนี้แกนนำสหภาพ สอฟส. ทั้ง 3 คน ได้ขึ้นศาลเป็นครั้งแรก ณ ศาลแรงงานภาค 5 จ.เชียงใหม่ เมื่อ 31 มิ.ย. ที่ผ่านมา

 

สำหรับสถานาการณ์ล่าสุดในวันนี้ (5 ส.ค.) สมาชิกสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดลำพูน เพื่อร้องเรียนเรื่องดังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และเดินทางไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน เพื่อทำหนังสือร้องเรียนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และฟ้องต่อคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงานด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net