ศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความ

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประชาไท, โครงการสื่อแนวราบ, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง ศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความ

ที่ร้านเล่า ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท www.prachatai.com, โครงการสื่อแนวราบ www.localtalk2004.com กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง ศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความ โดยมีผู้นำเสนองานในสี่ประเด็นคือ ดนตรีร็อก จากขบถยุคบุพผาชนถึงการต่อสู้ทางการเมืองยุคปัจจุบัน, บททดลองนำเสนอ ว่าด้วยรสนิยมศิลปะและรสนิยมทางการเมืองของชนชั้นล่างในสังคมไทย, ประวัติศาสตร์และการตีความศิลปะกับบริบททางการเมืองในสังคมไทย, "ศิลปกรรม" อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์-ตั้ว ลพานุกรม และพูนศุข พนมยงค์

 

 

0 0 0

 

ดนตรีร็อก จากขบถยุคบุพผาชนถึงการต่อสู้ทางการเมืองยุคปัจจุบัน โดย ภฤศ  ปฐมทัศน์ คอลัมนิสต์ จาก Blogazine Prachatai ได้กล่าวถึง ขบวนการบุปผาชนว่าเป็นกลุ่มขบวนการทางวัฒนธรรมที่มีขึ้นมาในยุค 1960"s ซึ่งที่แนวคิดต่อต้านสงครามโดยเฉพาะสงครามเวียดนาม สนับสนุนสันติภาพ ภายใต้คำขวัญ Love and Peace มีท่าทีการต่อต้านสถาบันหลัก (Establishment)

 

ภฤศ เล่าว่าตัวดนตรีร็อคเองแต่เดิมเริ่มต้นมาด้วยท่าทีของขบถแบบวัยรุ่นท่าทายผู้ใหญ่ของยุคสมัยนั้น ตัวคำว่า ร็อคแอนด์โรล เป็นคำที่นักจัดรายการวิทยุผิวขาวคนหนึ่งใช้เรียกดนตรี ริทึ่มแอนด์บลูส์ (R&B) ให้แยกออกมาจากคนผิวดำ คำว่าร็อคแอนด์โรลก่อนหน้าที่จะเป็นใช้เรียกประเภทดนตรีก็เคยเป็นศัพท์แสลงหายถึงการร่วมเพศมาก่อน

 

โดย ภฤศได้เล่าต่อว่า ต่อมาดนตรีร็อคได้กลายเป็นวัฒนธรรมป็อบทั้งในฝั่งอเมริกาและฝั่งอังกฤษ เริ่มมีวงดนตรีแนวนี้ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้วัฒนธรรมของฮิปปี้หรือบุปผาชนได้เข้าร่วมเกาะกุมดนตรีนี้เอามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตน วงดนตรีบางวงเองก็สมาทานเอาวัฒนธรรมนี้เข้าไปกับดนตรีและการแสดงภาพลักษณ์ของวงด้วย เช่น การรับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันออก แนวคิด วิถีชีวิต อะไรพวกนี้เป็นต้น

 

ภฤศ ได้พูดเนื้อหาของดนตรีในยุคดังกล่าวว่า จะมีบางส่วนที่เป็นเพลงที่พูดถึงสังคมและการเมืองโดยเฉพาะพวกโฟล์คร็อค หรือที่เรียกกันว่าเป็นเพลงประท้วง บางเพลงสืบทอดมาแม้จนถึงปัจจุบันยังมีคนเอามาร้อง แต่ร้องในอีกบริบทหนึ่งเพราะเนื้อหาที่กว้าง เช่นเพลง We Shall Overcome

 

ขณะเดียวกัน ภฤศ ก็บอกว่าการสูญสลายของขบวนการบุปผาชนเองก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ และเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการยึดติดในอุดมการณ์บางด้านของพวกเขามากเกินไป เช่นความเป็นสันตินิยม มีคนเคยบอกไว้ว่า ว่า "คุณไม่สามารถบอกว่าตัวเองเป็นพวกโปรสันติภาพแบบสุดโต่งได้โดยไม่กลายเป็นพวกงี่เง่า  เพราะว่า หลักการโปรสันติภาพโดยไม่สนอะไรอื่นเลยแบบนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรเลยกับพวกที่สนับสนุนสงครามอย่างมืดบอด"

 

"พวกนี้มีลักษณะของ Idealist (อุดมคตินิยม) มากกว่า Pragmatist (ปฏิบัตินิยม) ปลายทางของขบวนการนี้จึงไม่ต่างอะไรกับฝันวูบวาบ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จีรัง จะมีก็แค่สิ่งสืบทอดทางวัฒนธรรม และการรำลึกถึงฝันวูบวาบพวกนั้นแบบหวนหาอดีต (Nostalgia)" ภฤศ กล่าว โดยเขาได้ยกตัวอย่างสิ่งสืบทอดทางวัฒนธรรมคือ เรื่องการค้นหาจิตวิญญาณภายใน การเรียนรู้ปรัชญาตะวันออกของชาวตะวันตก รวมถึงไลฟ์สไตล์ จำพวกการกินมังสะวิรัส โยคะ บริโถคเขียว บ้างก็ปรับแปลงจนกลายเป็นพวกนิวเอจ

 

จากนั้น ภฤศ จึงเล่าถึงการวัฒนธรรมย่อยอื่น ๆ ที่พ่วงมากับดนตรีร้อคยุคหลังบุปผาชนอย่างคร่าว ๆ เช่น การต่อต้านสังคมกระแสหลักทั้งด้านวัฒนธรรมและคุณค่าความหมายด้วยการตั้งกลุ่มวัฒนธรรมย่อยใต้ดิน เช่นพวกเมทัล มาจนถึงยุคปัจจุบันที่เวทีการต่อสู้ไม่จำเป็นต้องอยู่บนท้องถนนเสมอไป ประเด็นก็หลากหลายมากขึ้น หลายต่อหลายครั้งเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์โดยอาศัยความเป็นศิลปินกึ่งดาราของพวกเขา เช่น คริส มาร์ติน (Coldplay) เขียนสัญลักษณ์สนับสนุน Make Trade Fair ไว้ที่มือ มีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรเอกชน ศิลปินบางคนช่วยเหลือด้านงบประมาณองค์กรพวกนี้ บางคนก็ตั้งอะไรของตัวเองขึ้นมา อย่าง เซิร์จ ทังเคียน (System of a Down) กับ ทอม มอเรลโล (Rage against the Machine) ก็ตั้ง องค์กร Axis of Justice ขึ้น เพื่อรวบรวมศิลปิน แฟนเพลง ล่าสุดเห็นว่าเล่นเรื่องต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ

 

"ยังบอกไม่ได้ว่าการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของยุคปัจจุบันจะเชื่อใจกับมันได้ขนาดไหน ต้องรอดูต่อไป แต่ที่แน่ ๆ อย่าหวังว่าบุปผาชนจะหวนกลับมา พวกบุปผาชนตอนนี้หลายคนก็กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยเกลียดเคยต่อต้าน เหมือนบ้านเราที่ศิลปินบางคนที่เคยเขียนถึงอุดมคติงดงาม เสรีภาพ การไร้พรมแดนอะไรพวกนี้ แต่กลับไปขึ้นเวทีที่ชาตินิยมสุด ๆ แถมยังสนับสนุนการลิดรอนเสรีภาพสุด ๆ ด้วย" ภฤศกล่าว

 

0 0 0

 

ในหัวข้อ "บททดลองนำเสนอ ว่าด้วยรสนิยมศิลปะและรสนิยมทางการเมืองของชนชั้นล่างในสังคมไทย" โดย วิทยากร บุญเรือง กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ชวนผู้ร่วมเสวนาพูดคุยถึงการประณามวัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ของชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ ปัญญาชนและผู้ที่พยายามฉีกตัวเองออกไปจากวัฒนธรรมประชานิยม

 

วิทยากรพยายามบอกว่า ในด้านหนึ่งปัญญาชน นักวิชาการ ชนชั้นกลางที่มองว่าชนชั้นล่างเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา ได้ให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมประชานิยมอันเป็นวัฒนธรรมหลักของชนชั้นล่างในปัจจุบัน เป็นกระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า (Commoditization of Culture) ของนายทุน ซึ่งมีการผลิตซ้ำในมาตรฐานเดียวกัน ปัญญาชนเหล่านั้นกล่าวว่าวัฒนธรรมประชานิยมจะส่งผลกระทบต่อจินตนาการทำให้ผู้รับสารกลายเป็นมนุษย์มิติเดียว และในท้ายที่สุดผู้รับสารจะถูกครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จ เหมือนคนที่ใช้ยาเสพย์ติด ผู้เสพย์เกิดจิตสำนึกจอมปลอม (false consciousness) รวมทั้งความเป็นปัจเจกบุคคลที่แท้จริงก็จะหายไปเนื่องจากทุกคนทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

โดยวิทยากรได้กล่าวต่อไปอีกว่าสิ่งที่ปัญญาชน นักวิชาการ ชนชั้นกลาง ได้เหยียดหยามวัฒนธรรมประชานิยมนั้นเป็นการมองชนชั้นล่างว่าเป็นผู้ถูกกระทำมากเกินไป ซึ่งข้อจำกัดที่ทำให้ชนชั้นล่างต้องเสพย์วัฒนธรรมประชานิยมที่สำคัญที่สุดก็คือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ชนชั้นล่างไม่สามารถไปเสพย์งานศิลปะชั้นสูงได้

 

แต่การเสพย์วัฒนธรรมประชานิยมเอง ในด้านหนึ่งนายทุนก็ต้องทำการสำรวจตลาด และแตกแขนงการผลิตงานศิลปะเพื่อรองรับกลุ่มชนชั้นล่างที่หลากหลายอยู่ดี ถึงแม้จะเป็นการผลิตซ้ำมากๆ และในระบบทุนนิยมปัจจุบันที่คำนึงถึงผู้บริโภค ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นล่างก็จะสามารถเลือกสิ่งที่เขาจะเสพย์และนายทุนที่ทำการผลิตก็จะตอบสนองมันออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง, ลูกทุ่งภาษาถิ่นต่างๆ, การขายเซ็กส์แอบแฝงมิวสิควีดีโอ, เพลงของเพศที่สาม เป็นต้น

 

ประเด็นสำคัญที่วิทยากรพยายามจะนำเสนอก็คือ การเหยียดหยามวัฒนธรรมประชานิยมนั้น เกิดมาจากการพยามหนีความเป็น "mass" เป็นการพยายามทำตัวให้เด่นกว่าชนชั้นล่างและชนหมู่มากของสังคม โดยกลุ่มคนที่คิดว่าตนเองมี "รสนิยม" เหนือกว่าคนหมู่มากนั่นเอง

 

ซึ่งวิทยากรได้ลองตั้งสมมติฐานว่า เรื่องของรสนิยม และการพยายามหนีความเป็นคนหมู่มากนี่เอง อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ส่วนหนึ่งปฏิเสธระบบการปกครองที่คนหมู่มากมีส่วนร่วม เพราะคนเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะเกลือกกลั้วหรือทำตัวให้เสมอกว่าชนชั้นล่าง

 

โดยวิทยากรกล่าวว่านอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับการวิเคราะห์ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ที่ต่อต้านประชาธิปไตยนั้น ก็มีเรื่องของรสนิยมเป็นปัจจัยหนึ่งด้วย

 

ในตอนท้ายวิทยากรได้สรุปว่า จะมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ ยังไงก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย ทั้งรสนิยมการบริโภคศิลปะ สื่อ และรสนิยมทางการเมืองของชนชั้นล่าง กับ ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ผู้นำเสนอไม่ได้ปฏิเสธว่า แต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่องรสนิยมการบริโภค ซึ่งวิทยากรเสนอว่า ท้ายที่สุดแล้ว ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและจิตสำนึกที่พยายามทำตัวให้เหนือกว่าชนชั้นล่าง จะปฏิเสธรสนิยมทางศิลปะ และรสนิยมทางการเมืองที่เหมือนกับชนชั้นล่าง

 

0 0 0

 

ในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์และการตีความศิลปะกับบริบททางการเมืองในสังคมไทย" โดย ภาพันธ์  รักศรีทอง สำนักข่าวประชาไท

 

ภาพันธ์กล่าวว่า "ศิลปะ" สามารถถ่ายทอด "สาร" ผ่านช่วงเวลา โดยมีเอกลักษณ์ในการกระทำผ่านการการสร้างอารมณ์บางประการในการเสพ ทำให้ "สาร" ที่สอดแทรกอยู่ภายในสามารถเข้าไปถึง "ผู้รับสาร" ได้ แม้ว่าในช่วงเวลาหรือสภาวะของผู้เสพศิลป์ที่แตกต่างกันจะทำให้ตีความความหมายของสารเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

 

โดยในอดีตนั้นสำหรับกรณีของรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา มีบริบททางประวัติศาสตร์ที่นำมาสู่การต่อสู้เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางศิลปะหลายครั้ง การปฏิเสธอำนาจของ "ขอม" หรือเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ก็มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในระดับชนชั้นนำและสะท้อนการปฏิเสธอำนาจหรือการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ของรัฐขึ้น แทนที่ด้วย "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์" ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของรัฐสุโขทัยแทน เปรียบเสมือนศูนย์กลางจักรวาลใหม่ทาง "เถรวาท"

 

สำหรับศาสนาพุทธเถรวาทคงฝังตัวอยู่อย่างเล็กๆกระจายไปในหมู่ผู้ถูกปกครอง ตั้งแต่ยุคทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 12 จนหลังพุทธศตวรรษที่ 19 การรับอิทธิพลทางความเชื่อระลอกใหม่ทั้งที่ผ่านมาจากพม่า หรือนครศรีธรรมราชก็เข้ามา อาจด้วยตัวหลักการของศาสนาพุทธ เถรวาท พูดเรื่องบุญกรรมมากกว่าเทพเจ้าและพลังอิทธิฤทธิ์ และมีฐานรากมาจากการปฏิเสธระบบวรรณะในอินเดียอยู่แล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการที่ชนชั้นถูกปกครองจะหันมานับถือ จนกระทั่งเริ่มถูกท้าทายในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อฝรั่งตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ "ภาพแนวสมัยใหม่" ของ ขรัว อินโข่ง

 

อิทธิพลของตะวันตกเติบโตขึ้นกลายจักรวรรดิ์และการล่าอาณานิคม ในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 จึงเกิดการปลี่ยนมากมายไม่เว้นแม้แต่แนวทางศิลปะ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 กระแสการปฏิวัติก่อตัวขึ้นมากมายในนานาประเทศ สั่นคลอนระบบสมบูรณาญิทธิราช ศิลปะแบบชาตินิยมมากมายก็ถูกนำมาใช้ถ่ายทอดอุดมการณ์

 

ในช่วงก่อน พ.. 2475 ภาพันธ์กล่าวว่าเป็นยุคที่ไทยกำลังเข้าสู่ยุคศิลปะสมัยใหม่แต่เป็นไปบนศิลปะแบบที่เรียกว่าตามสถาบันการศึกษา หรือหลักวิชาแบบยุโรป ซึ่งนั่นหมายถึงการปรากฏตัวของ ศิลป์ พีระศรี เทพเจ้าแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และการเกิดมหาวิทยาลัยศิลปากร

 

เมื่อการปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้น เข้าสู่ยุคคณะราษฎร การต่อสู้ด้วยศิลปะที่รุนแรงและเป็นบาดแผลที่สุดหลัง 2475 - 2491 ซึ่งชาตรี ประกิตนนทการได้ทำการศึกษาไว้เป็นอย่างดี

 

เมื่อหมุดประชาธิปไตย ที่ปักตรึงไว้ ณ อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า พลังแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเหมือนต้องมนต์เขมรถูกปักตรึงให้ชะงักงันไปพักใหญ่ แต่อาจเพราะไม่ได้คิดเรื่องการตลาดในอนาคต เพราะมันมองไม่เห็น ปัจจุบันคนเลยลืมแทบหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนราชดำเนิน แม้ว่าจะสร้างด้วยผู้นำฟาสซิลต์แต่ด้วยชื่อก็อาจยังพอทรงความหมายทางสัญลักษณ์ที่ทับบนถนนราชดำเนินได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน

 

ส่วนสถาบันศิลปะสมัยใหม่ล่าสุดยุคนั้นอย่าง "ศิลปากร" และ "ศิลปินศิลปากร" ก็ถูกอุปถัมป์ค้ำชูโดย จอมพลป. พิบูลสงคราม ผู้ยึดแนวทางฟาสซิสไปด้วยกันได้กับมุโสลินีแห่งอิตาลี จึงกลายรูปไปรับใช้อุดมการณ์แบบ ป. พิบูลสงคราม และมีให้เห็นมากมาย จนหม่อมที่มีรสนิยมกรี๊ดกร๊าดกันใหญ่

 

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของศิลปะยุคนี้คือ ความค่อนไปทาง "สัจนิยมแนวสังคม" (Social Realism) ได้แก่ รูปแบบศิลปะที่เน้นการแสดงออกถึงลีลาท่าทีที่ขึงขัง ดุดัน หากเป็นคนต้องดูแข็งแรง ส่วนเนื้อหามักเป็นภาพคนธรรมดาสามัญ วิถีชีวิต ชาวบ้าน ทหาร และไม่นิยมอย่างยิ่งในการทำภาพวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ "เจ้า"

 

หลังการรัฐประหาร พ.. 2490 แม้ว่า จอมพล..พิบูลสงครามจะยังอยู่ในฐานะผู้นำ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกลับไม่ได้อยู่ในมือและต้องยอมประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจหลายฝ่าย แม้แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มเจ้า ทำให้ไปสู่ยุค "ราชาชาตินิยมใหม่" และสะท้อนออกไปทางศิลปะที่เป็นการจบเส้นทางของศิลปะแบบคณะราษฎร บรรดาอนุสาวรีย์ความทรงจำของ "ราชาชาตินิยมใหม่" ได้พากันผุดขึ้นอย่างไม่เคยเกิดในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจในครั้งแรก ในช่วง พ.. 2490 - 2500 อนุสาวรีย์กษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกเป็น "พระบิดา" ด้านต่างๆ มากมาย ตามมาด้วยความพยายามทำลายสัญลักษณ์ต่างๆที่เคยส่งผ่านศิลปะคณะราษฎร ทั้งการดูถูกด้านความงามหรือการพยายามให้ความหมายใหม่แม้แต่ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ก็มีความพยายามที่จะทุบส่วนกลางที่เป็น "พานรัฐธรรมนูญทิ้ง"

 

และเมื่อมาถึง "ยุคซ้าย - ขวา" ซึ่งภาพันธ์ได้ให้ความเห็นว่ายุคนี้จึงเป็นการต่อสู้กันครั้งใหญ่ของอุมการณ์ทางศิลปะเช่นกัน ระหว่าง แนวคิดศิลปะเพื่อศิลปะ คือเชื่อว่าศิลปะเป็นความบริสุทธ์  ซึ่งก็ถูกหักล้างจากนักคิดคนสำคัญอย่าง "ทีปกร" หรือ "จิตร ภูมิศักดิ์" คำถามตัวใหญ่ของจิตรคือ "เป็นไปได้หรือ ความคิดความฝัน ความบันดาลใจที่จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีพื้นฐานในชีวิตที่ชัดเจนสั่งสมมาก่อน.. แต่มันคือภาพสะท้อนชีวิตจริงในสังคม"

 

สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งคือแนวศิลปะเพื่อศิลปะ ซึ่งมีสำนึกทางปัจเจกสูงกว่าทางสังคม และได้ใช้ "ศิลปนามธรรม" เป้นตัวแทน หัวหอกสำคัญ ก็เช่น พิษณุ ศุภ แห่งศิลปากร ซึ่งได้เคยตอบดต้กันทางหน้าสื่อกับอำนาจเย็นสบาย ในสยามรัฐ ปี 2521 โดยระบุว่า "กลุ่มการเมืองที่ต้องการเลิกค่านิยมเก่าอย่างรุนแรงได้ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดม เป้นศิลปะที่รับใช้และยอมเป็นทาสลัทธิการเมืองบางลัทธิเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง นอกจากนี้ผลงานของกลุ่มศิลปะเพื่อชีวิตยังขาดความปราณีต มีรูปแบบซ้ำซากเพราะทำอย่างเร่งรีบ"

 

ทั้งนี้ในตอนท้ายภาพันธ์ให้ความเห็นว่า มาถึงยุคปัจจุบันนี้กลุ่มอุดมการณ์ต่างๆได้ปรับตัวไปตามยุคสมัย ดาวแดงบนหมวกทหารเวียดนามกับดาวแดงบนขวดเขียวดูจะมีความหมายไปในทางเดียวกันในเมื่อมีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ขายได้แบบเดียวกัน

 

สำหรับทางเดินของศิลปะก็ดูเหมือนจะไม่ต้องตอบอะไรมากมายกับคำถามว่าต้องรับใช้สังคมอีกหรือไม่ ในเมื่อหลายครั้ง "ตลาด" เองก็เป็นตัวกำหนดศิลปินให้เดินไปตามรอยไม่ต่างจากวงการอื่น การเซ็นต์ชื่อบนผลงานกับแบรนด์ของสินค้าบางทีก็ยากจะแยกกันออก

 

แต่อย่างไรก็ตาม หากลองกลับทบทวนวิธีคิดแบบร่วมสมัยที่ว่า "ความจริง" ไม่ได้มีหนึ่งเดียว "ศิลปะ" ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่บอกตัวตนได้อย่างสากล บางทีการก้าวเข้าไปสู่โลกของมัน นิยามมัน หรือสร้างมันใหม่เสียเอง อาจจะทำให้ได้คำตอบที่ไม่ทำให้รู้สึกผิดกับศิลปะและสังคมที่ดำรงอยู่ก็เป็นได้

 

0 0 0

 

ในหัวข้อ "ศิลปกรรม" อนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ - ตั้ว ลพานุกรม และพูนศุข พนมยงค์ โดย อรรคพล สาตุ้ม จาก โครงการย้อนร้อยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ อรรคพลได้นำเรามองผ่านศิลปกรรม "อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ - ตั้ว ลพานุกรม และพูนศุข พนมยงค์" และฉายภาพลักษณ์ของคณะราษฎรสายพลเรือน ผ่านการสร้างสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่างๆ

 

โดยเมื่อหมดอำนาจทางการเมืองและภายหลังอสัญกรรมของปรีดี อรรคพลได้อธิบายว่ามีกระบวนการเรียกร้องต่อสู้ให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมาและเชื่อมโยงกับกระแสความคิดทางการเมือง ซึ่งได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองสืบต่อมา

 

ส่วนอนุสาวรีย์คณะราษฎรสายพลเรือนอีกคนหนึ่งคือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ที่ถูกยกย่องเป็นรัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี พ..2550 คือ ศิลปะกับตัวแทนทางวิทยาศาสตร์ ความสำคัญที่นำอนุสาวรีย์ปรีดี กับตั้ว มาศึกษาจะเห็นภาพสะท้อนตรงกันข้ามกันทางความเป็นมาของความหมายทางศิลปะ การเรียกร้องต่อสู้ทางการเมือง และกลับกลายเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ให้หวยเลขเด็ด

 

ส่วนอนุสาวรีย์พูนศุข พนมยงค์ ที่ยังไม่มีการสร้างนั้น หากจะมีการสร้างอรรคพลเห็นว่าจะเป็นสัญลักษณ์ทางสตรีนิยมที่ต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากพูนศุขได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับปรีดีมาโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงความหมายของศิลปะ ตั้งแต่ยุคจิตร ภูมิศักดิ์ เสนอศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ซึ่งเขาเสียชีวิต ในปี พ..2505 และต่อมากว่าจะมีคนสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถ้าเรามองว่า อนุสาวรีย์ปรีดี-ตั้ว และพูนศุข ถือว่าเป็นชนชั้นนำ หรือสามัญชน ก็ได้ โดยเราก็มีการสร้างศิลปกรรม คือ อนุสาวรีย์เพื่อสามัญชน เช่น อนุสาวรีย์ สืบ นาคะเสถียร เจริญ วัดอักษร ฯลฯ เป็นต้น

 

ดังนั้น อรรคพลสรุปว่าการสร้างอนุสาวรีย์ช่วยให้คนจดจำได้ ก่อนถูกลืมเลือน เมื่อจะมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อให้รับรู้ทางศิลปะ และการสร้างสรรค์ให้แก่ความรู้ในทางศิลปะ โดยการสร้างอนุสาวรีย์ จะให้มีพลัง และอำนาจของศิลปกรรม ก็ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองด้วย

 

 

สำหรับเอกสารและบทความปรับปรุงจากการบรรยาย ของแต่ละคน ประชาไทจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท