Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันอิศราจัดเสวนาในหัวข้อ "สงครามการ (กลาง) เมือง พลังประชาชน-พันธมิตรฯ ชนวนวิกฤต 6 ตุลา ภาค 2" มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณะบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ร่วมแสดงความเห็น


         


 


สุรชาติ บำรุงสุข


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


มีคนบอกว่าการเมืองในปัจจุบันเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมคิดว่าไม่เหมือนกันเพราะ 6 ตุลา เป็นแบบขวาพิฆาตซ้าย แต่ปัจจุบันเป็นขวากับขวาพิฆาตกัน สังคมไทยในยุคนี้จะแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ถ้าเปรียบสื่อคือสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีกับพีทีวี หรือทุนนิยมกับขวาจารีตนิยม โดยมีแกนกลางคือ ประชานิยม ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ อุดมการณ์ 3 ส่วนนี้จะแบ่งเป็นจารีตนิยม ชาตินิยม และอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง เห็นแต่ด้านร้ายของการเลือกตั้ง


 


กระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นชัดเจนคือเรื่อง ปราสาทพระวิหารที่ไม่คำนึงข้อเท็จจริง 4 ประการคือ 1.การทำสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ของรัชกาลที่ 5 2. คำตัดสินของศาลโลกปี 2505 3. มติครม.ปี 05 และ 4.การสงวนสิทธิ์ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วในปี 2515


 


ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ปราสาทตั้งอยู่อาณาเขตกัมพูชา ถ้าตีความจริงก็เป็นของกัมพูชา แต่ปัญหาว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน หลายคนบอกว่ามีแผนที่ลับและอนุสัญญาลับ ความจริงไม่มี เพราะถ้าใครเก็บแผนที่ลับไว้ถือว่าขายชาติซึ่งมีโทษหนัก แต่ถ้าคนไทยรักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงครามแต่ต้องพัฒนาบ้านเมืองร่วมกัน


 


หากไปตีความว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญา ภาควิชาที่ผมสอนต้องปิดหรืออย่างกรณีนายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ไปร่วมประชุมและมีข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา ต้องนำเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190


 


วันนี้ถ้ารักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงคราม เพราะมีวิฤตหลายอย่าง ทั้งเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันสิ้นปีอาจแตะ 200 เหรียญต่อบาเรล และวิกฤตภาคใต้ทับซ้อนวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ หลังการยึดอำนาจทุกอย่างนิ่ง แต่ปี 49 ไม่นิ่ง ทำให้กลุ่มที่ยึดอำนาจไม่สามารถคุมอำนาจได้ นี่คือการเมืองใหม่ แต่ไม่ใช่คิดแบบสุดโต่งเพราะจะเกิดสงครามการเมือง


 


เมื่อก่อนเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตั้งแต่ 2516-2519 แต่ขณะนี้โลกที่มีสื่อเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก จะเกิดจลาจลอย่างหนัก ถ้าคุมไม่ได้จะเป็นสงครามกลางเมือง แล้วจะเลือกเอารัฐประหารรอบใหม่หรือไม่ เมื่อมีการรัฐประหารทหารก็ไม่สามารถหาใครมาเป็นรัฐบาลได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถคุมการเลือกตั้งได้ หรือจะถอยเข้ามาจุดเดิมที่ให้สภาเป็นสภา รัฐบาลเป็นรัฐบาล ศาลเป็นศาล แต่สังคมไทยเป็นสังคมตรวจสอบเกินถ่วงดุล โดยดำเนินภายใต้อำนาจตุลาการมากเกินไป


 


อยากให้ผู้ที่เรียกร้องบนสะพานมัฆวานฯ เอาข้อเสนอบนถนนมาแปลงเป็นนโบายทางการเมืองแล้วสู้กันในระบบเลือกตั้ง แต่ถ้าเล่นกันแบบหยาบๆ สุดท้ายก็จะลงเหวกันหมด ถ้าจะถามผมในขณะนี้ อยากจะเสนอกว่าการยุบสภาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่หลายคนอาจไม่รับ เลิกเชื่อว่าการยุบสภาผิดกฎหมายเพราะการเมืองไม่มีทางตัน


 


พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า


 


เหตุการณ์เดือนตุลาในอดีตเกิดจากการยึดครองอำนาจของตระกูลหนึ่งและกลุ่มหนึ่ง เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดการจัดสรรทรัพยากรไปให้ชุมชนอย่างทั่วถึง วันนี้กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่วันนี้อายุ 70 กว่าและเคยร่วมเหตุการณ์ดังกล่าวก็กลับเข้าสภา มาทั้งเจ้าพ่อ นักเลง อันธพาล ซึ่งคนพวกนี้ สามารถสร้างมวลชนขึ้นมาได้


 


เมื่อโภคทรัพย์กระจุกตัวเพราะทหารและนักการเมือง และทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมา ความพยายามของคนชั้นกลางที่จะสร้างกติกาการเมืองและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การสร้างระบบตรวจสอบจึงเกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็มีจุดอ่อนทำให้ส.ส.กลุ่มเดิมที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์กลับมาอีก อีกทั้งระบบการศึกษาถูกทำลาย


 


แต่ที่เกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายคือปรากฏการณ์ทักษิณ กลไกการตรวจสอบถูกบิดเบือนโดยนักการเมือง มีการทุจริตคอร์รัปชั่น นายหน้ากินเปอร์เซ็นต์ สร้างความอึดอัดกับชนชั้นกลาง ในที่สุดก็เกิดกลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ


 


แต่ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ แตกต่างจากนักการเมืองคนอื่นและทำให้เกิดการสถาปนาขึ้นมา หรือเป็นอุดมคติของชาวบ้าน ที่เหมือนมีคนมาโปรด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองในอดีตทำไม่ได้


 


ในที่สุดก็เกิดการประจันหน้ากันของกลุ่มสนับสนุนและต่อต้าน ทำให้เกิดคำถามว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่


 


วิกฤตที่เกิดขึ้น เกิดจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนเชิงพื้นที่ หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเชิงกลุ่มผลประโยชน์ที่ว่าใครมีทุนซื้อเสียงก็จะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ การใช้อำนาจ จึงเกิดคำถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่


 


ประชาธิปไตยแบบนี้เกลียดการตรวจสอบมาก เพราะตรวจสอบไปที่จุดไหนจะพบความเน่าเฟะ ต้องยอมรับว่าบทบาทของศาลในอดีตไม่สมดุลกับอำนาจบริหาร ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้รับผลกระทบ เมื่อกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งประชาธิปไตยจะยั่งยืนเหมือนเกาหลี


 


แนวโน้มน่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน วันนี้เราอยู่ในช่วงปริซึมเตรียมแยกเฉดสี เปลี่ยนผ่านการเมืองไทยไม่ย้อนกลับสู่แบบเดิมที่มีแต่นักการเมืองฉ้อฉล แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชั้นชนกลางจะเริ่มแสดงออกทางการเมืองเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายมากขึ้น จะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผันได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 เกิดจลาจล แต่ในที่สุดก็ยุติได้ด้วยระบบพิเศษของสังคมไทย


 


แต่วันนี้การแสดงความคิดเห็นของนายกฯ ทำให้เกิดคำถามว่าอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้เกิดความเชื่อว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นคงเป็นเรื่องธรรมดา และนายกฯ พูดในลักษณะฝ่ายเขาฆ่าเรามามากเราต้องฆ่าเขาบ้าง ซึ่งเป็นการเปรียบเปรย อาจไม่เป็นจริง แต่ประชาชนไม่เข้าใจ จึงเกิดกรณีม็อบอุดรฯ นี่คือการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ


 


ความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อรัฐบาลและนายทุนเกิดภาวะจนตรอกและสิ้นคิด จนตรอกคือกลัวติดคุก และสิ้นคิดคือเมื่อจะติดคุกก็ทำลายให้มันพังไปหมด ถ้าเลือกหลีกหนี ลี้ภัย ความรุนแรงจะไม่เกิด แต่ถ้าจนตรอกแล้วสิ้นคิดจะเกิดความรุนแรงขึ้น


 


การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกหลัก ถ้าสามารถแก้ได้จะล้างความผิดทั้งหมด เมื่อไหร่ที่ยื่นแก้รัฐธรรมนูญหมายความว่าสิ้นคิดและจะเกิดจลาจลขนาดใหญ่ขึ้นมาได้


 


ปริญญา เทวานฤมิตรกุล


คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


 


ผมขอเสนอบทความ "สังคมไทยยังมีทางออกจากความรุนแรงและหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ 6 ตุลาคมครั้งที่สองได้หรือไม่?" ส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น คำถามคือเรามีทางออกหรือไม่ หรือจะปล่อยให้แตกหัก หากปล่อยไปจะนำไปสู่ความรุนแรงและนองเลือดได้


 


สาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้มาจากการใช้อำนาจไม่ชอบของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และมีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกคือการยึดอำนาจ และทำให้สังคมไทยตกอยู่ในหลุม ที่ไม่สามารถขึ้นมาจากหลุมได้


 


รัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหาหลายจุด เช่นระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 พรรคพลังประชาชนได้ส.ส.เขต 199 จาก 400 คน คิดเป็น 49.75 เปอร์เซ็นต์ คะแนนที่ได้จากประชาชนคิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งพรรคพลังประชาชนควรได้ 147 คนเท่านั้น หมายความว่าได้เกินมา 52 คน จุดนี้จึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้งเลือกตั้งไปแล้วปัญหาไม่จบ


 


ชนวนที่จะนำไปสู่การนองเลือดคือการแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับว่าเป็นกติกาสูงสุด ยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และมาตรา 309 และหากพลังประชาชนแก้จริง แต่แก้ไม่สำเร็จ ทางออกของเหตุการณ์ในเรื่องนี้คือหากปล่อยให้กระแสความรุนแรงไปเรื่อยๆ สังคมก็จะเกิดความเสียหายในระยะยาว แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่เกิดก็มีโอกาสหลีกเลี่ยงความรุนแรง


 


แนวทางการหลีกเลี่ยงความรุนแรง 4 ข้อ ได้แก่ 1.รักษากติกาไม่ใช้ความรุนแรงให้ได้ 2. พันธมิตรฯ และกลุ่มต่อต้านต้องยึดมั่นในกติการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเหตุการณ์ที่อุดรฯ ฝ่ายต่อต้านเป็นฝ่ายเริ่มก่อน หากเกิดความรุนแรงรัฐบาลไปไม่รอดแน่ เพราะ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่เคยมีรัฐบาลไหนอยู่ได้


 


3.รัฐบาลต้องตัดชนวนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่แต่การแก้ในขณะนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง ควรปล่อยให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นผู้ดำเนินการ และต้องเสนอร่างให้สาธารณะชนรับฟังความคิดเห็นก่อน 4.แม้การยุบสภาไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่หากไม่มีทางเลือกอื่น การยุบสภาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากแก้รัฐธรรมนูญก็ควรแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น จะทำได้ต้องใช้ส.ส.ร.3 ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


 


เหตุการณ์นองเลือดยังไม่เกิดเพียงแต่มีแนวโน้มว่าจะเกิด เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ต้องยึดหลักประชาธิปไตย ปฏิเสธความรุนแรง


 


การปรับครม.สมัคร 4 ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นหรือไม่?


 


ช่วยได้ จะทำให้คะแนนนิยมมีมากขึ้น แต่ไม่คิดว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะมีมากขึ้น โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ยาวก็มีหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้  แต่ถ้าหากแก้รัฐธรรมนูญโอกาสอยู่จะสั้นลง จะพังก่อน


 


 


ที่มา: โลกวันนี้, เว็บไซต์ข่าวสด, มติชนออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net