Skip to main content
sharethis


3 ส.ค.51 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงานรำลึกครอบ 20 ปีเหตุการณ์ 8888 ในพม่า หัวข้อ "2 ทศวรรษแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และก้าวต่อไปในสังคมพม่า : มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง" โดยมีการเสวนาเกี่ยวกับพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมพม่าในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 


พรพิมล ตรีโชติ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองพม่า และนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคสังคมของพม่า โดยมองว่าที่ผ่านมาก่อนปี 1988 ซึ่งมีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงในพม่าโดยรัฐบาลทหารนั้น รัฐบาลพม่ามองชนกลุ่มน้อยต่างๆ เป็นศัตรู และทำสงครามกันมายาวนาน แต่หลังปี 1988 รัฐบาลเริ่มเห็นประชาชนของตนเองเป็นศัตรู และทำการ "กด" การลุกฮือของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยมีการออกกฎหมายหลายฉบับที่ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และยังมีหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลแทรกซึมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของสังคมจนสร้างความหวาดระแวงในหมู่ประชาชนกันเอง เป็นผลร้ายต่อสังคมพม่าและเป็นพิษต่อประชาธิปไตยในพม่า เพราะการรวมกลุ่มกันเกิดได้ยาก


 


นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่ายังไม่สนับสนุนงบประมาณในด้านการศึกษา รัฐบาลมักปิดมหาวิทยาลัยและให้นักศึกษาเรียนระบบทางไกล ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำลายการรวมตัวของนักศึกษา รวมถึงยังมีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างหนัก แม้ว่าปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ประชาชนพม่าเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่คนจำนวนมากก็ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต


 


"ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หลายคนเรียกว่า เป็นอาชญากรรมที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชน" พรพิมลกล่าว


 


ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคมพม่าหลังจากมีการเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ นั่นคือ กลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งเป็นชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในขณะที่ประชาชนถูกทอดทิ้งให้ช่วยเหลือตัวเอง และถูกทำให้อ่อนแอในทุกด้าน


 


พรพิมลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว นำโดยกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทำให้เห็นว่าประชาชนอดทนมากมาตลอด 20 ปีแต่ทนไม่ไหวกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และโดยที่พระภิกษุซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดจึงออกมาเป็นหัวหอกในการประท้วง ขณะที่แกนนำผู้ประท้วงก็มีลักษณะกระจัดกระจาย และมีความหลากหลายมาก รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้าน จึงนับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของประชาชนที่ใช้รับมือกับรัฐบาลทหาร ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลเหตุการณ์ภัยพิบัตินาร์กีส ทำให้เห็นชัดเจนว่าทหารมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนน้อยมาก และไม่ทันกับสถานการณ์


 


แสงน้อง ประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า ชี้ให้เห็นข้อมูลว่ารัฐบาลทหารพม่านั้นมีรายได้จากขายทรัพยากรธรรมชาติให้กับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยในส่วนของก๊าซธรรมชาติ ขณะที่อีกหลายชาติก็ค้าขายอาวุธกับรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หยุดการค้าอาวุธกับรัฐบาลทหารพม่า และอยากให้ไทยช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยและนักกิจกรรมที่เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าด้วย


 


นอกจากนี้แสงน้องยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในการประท้วงรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปีที่แล้วนั้น มีการทำสำรวจโดยกลุ่มผู้หญิงพบว่า มีผู้หญิงที่ร่วมชุมนุมถูกจับ 131 คน และมีผู้หญิงสูญหายไประหว่างการปราบปราม 19 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีแกนนำนักกิจกรรมหญิงหลายคน


 


ตาวโทน อดีตนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่นพม่าในองค์การสหประชาชาติ กล่าวถึงมิติการเมืองว่า จากเหตุการณ์ 8888 ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทมาก เกิดภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เห็นในช่วงก่อนปี 1988 นอกจากนี้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับโลกก็มีความก้าวหน้ามาก ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในอนาคต รวมไปถึงปัจจัยภายนอกเช่น บรรยากาศประชาธิปไตยในการเมืองโลก ความเข้มแข็งของอาเซียน ฯลฯ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายระบอบทหารในพม่าอย่างมาก


 


ส่วนการเมืองภายในพม่าขณะนี้ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและเลือกตั้งในปี 2010 ซึ่งประเมินว่าคนคงจะไม่ยอมรับโดยง่ายเพราะเห็นแล้วว่ากระบวนการยกร่างไม่ตรงไปตรงมา นอกจากนี้ พม่าไม่ได้กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง สิทธิมนุษยชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักด้วย งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการพัฒนากองทัพ และมีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้ในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประชาชนพม่า 70-80% อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน


ออง ตู เงน นักวิชาการด้านสังคม-เศรษฐกิจพม่า เสริมว่า 20 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้ดีขึ้นนัก แม้รัฐบาลพม่าจะพยายามอ้างว่า GDP ของประเทศเติบโตขึ้นมากในช่วงหลัง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ ขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าก็พยายามจะเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มักทำสัญญาหรือมีมาตรการที่ไม่ค่อยฉลาดและไม่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการดูแลส่งเสริม ชาวนาในพม่าส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อย และเข้าไม่ถึงปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงด้วยซ้ำเพราะมีราคาแพง


 


ออง ตู เงน ยังเชื่อด้วยว่ารัฐบาลทหารพม่าจะมีปัญหาการจัดการงบประมาณในการแก้ปัญหาหลังโดนพายุไซโคลนนาร์กีสถล่ม รัฐบาลอาจแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และขณะเดียวกันก็จะเกิดปัญหาการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง ผลผลิต รายได้ต่างๆ จะถูกดูดไปจากตลาดโดยการคอรัปชั่น


 


ทั้งนี้ มีการแนะนำเว็บไซต์ใหม่ www.thaifreeburma.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมความเคลื่อนไหว กิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศพม่าของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนไทย และในท้ายการเสวนาได้มีพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 8888 และการแสดงวัฒนธรรมของนักศึกษาพม่าด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net