Local Talk: เศรษฐศาสตร์ทางเลือก (1) "ปกป้อง จันวิทย์" มาตรการกำกับ-จัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ


 
















 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) สำนักข่าวประชาธรรม และโครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk Project) จัดงานเสวนา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกภาคใต้กระแสโลภาภิวัตน์ และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่: บทสำรวจองค์ความรู้ และประสบการณ์" ที่โรงแรมศิรินาถการ์เด้น จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้นำเสนองานศึกษาทางวิชาการ พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันในประเด็นที่เกี่ยวพันกับนโยบายเศรษฐกิจ - ทางเลือกทางรอด ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักทุกวันนี้

 

โดยโลคัลทอล์คได้นำเสนอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

 

(1) งานศึกษาของ  ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "กรณีศึกษาว่าด้วย Capital Controls (มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ)" [ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศชิลี และมาเลเซีย]

 

(2) งานศึกษา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศกำลังพัฒนา - นโยบายพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความสุข กรณีภูฏาน, บทบาทของอิสลามในการพัฒนา และนโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา " ของนักวิชาการอิสระ สฤณี อาชวานันทกุล และ

 

(3) บทแลกเปลี่ยนสำหรับเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดย .ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์

 

"ประชาไท" ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำ โดยจะทะยอยลงเป็นตอนๆ จนครบ 3 ตอน

 

 


ความย่อ : ภายหลังภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ไทยเข้ารับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างทุลักทุเล ขณะที่มาเลเซียเลือกใช้มาตรการควบคุมการไหลออกเงินลงทุนโดยรัฐ กลับได้รับผลกระทบวิกฤตน้อยที่สุดในภูมิภาค งานศึกษาของอ.ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "กรณีศึกษาว่าด้วย Capital Controls (มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ)" อธิบายถึงทางออกของเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ซึ่งสวนแนวคิดของกระแสเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่โดยสิ้นเชิง




0 0 0

 

หากจะกล่าวบทไป ถึงระบบเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ต่างก็ยึดโยงและแนบแน่นไปกับระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ ทำให้อำนาจการตัดสินใจของแต่ละประเทศอย่างเป็นอิสระลดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้ นโยบายและแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้เข้าครอบงำ ทำให้รัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาต่างก็ต้องวิ่งตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรถไฟสายพัฒนา และเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสายนี้ ก็มีประเทศมหาอำนาจไม่กี่ประเทศ เป็นหัวจักรใหญ่นำขบวน และตามมาด้วยประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ขบวนรถไฟสายนี้จะนำพาโลกไปแห่งหนไหนกันแน่ "สู่สวรรค์ หรือลงนรก?" นั่นยังคงเป็นข้อสงสัย แต่จะว่าไปแล้ว ก็มีปรากฏการณ์พิสูจน์ให้เห็นแล้วไม่ใช่หรือว่า รถไฟที่กำลังแล่นอยู่นี้ มันวิ่งดิ่งจมสู่เหวแน่แล้ว!!

คำถามจึงอยู่ที่ว่า "มันหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงหรือ อะไรคือเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม" แล้ว "ระบบทำงานอย่างไร ส่งผลดีจริงหรือ" แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก - มลพิษทางอากาศ ดินเสื่อม แม่น้ำปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ พื้นที่ป่าจำนวนมากลดลงอย่างน่าใจหาย ปัญหาขยะ ปัญหาภาวะโลกร้อน ฯลฯ เราได้เห็นแล้วว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกิดมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และระบบทุนนิยม ผนวกรวมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ - นโยบายการค้าเสรี ตลาดเงินเสรี ฯลฯ ที่กระตุ้นให้เกิดการบริโภค และใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ยังคงดำเนินอยู่ในสังคมทั่วโลก และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวละครใดบ้างที่มีบทบาทในระบบนี้ แล้วใครบ้างที่ต้องเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เข้ามาต่อรองอำนาจในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เคลือบด้วยโฉมหน้า - หลักการ อุดมการณ์เสรีนิยมที่สวยงาม แต่ไม่ได้เสรีจริงๆ - รัฐ นายทุน บรรษัท สังคม ชุมชน ปัจเจกฯลฯ มีบทบาทในระบบนี้อย่างไร และควรจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นได้อย่างไรเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง สังคมที่เราต่างใฝ่ฝันหา "ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพในความหลายหลายของสังคม บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อความกินดีอยู่ดี มีสุข ฯลฯ..."

วันนี้ "เรามีทางเลือกหรือไม่ ที่นอกเหนือไปจากแนวความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือไม่ ในโลกโลกาภิวัตน์นี้"

 

 

เสรีนิยมใหม่ - มือใครยาวสาวได้สาวเอา
.ปกป้อง จันวิทย์ เกริ่นนำถึงระบบเศรษฐกิจภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นี้ว่า ระบบได้เปลี่ยนไปทั้งโลกไปอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม กล่าวคือ หากอยู่ในรูปที่เป็นทางการ ก็เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ พันธะสัญญา และยังถูกผลิตในรูปของอุดมการณ์หลัก วัฒนธรรม ค่านิยม นั่นคือแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตัวกฎกติกาจะส่งผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของคน สถาบัน และรัฐบาล โดยมีอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เป็นหัวใจ

 






"เสรีนิยมใหม่... แนวคิดนี้เชื่อว่ารัฐควรแทรกแซงตลาดน้อยที่สุด เชื่อมั่นว่า สมบัติทุกอย่างควรจะมีความเป็นเจ้าของ
หรือเชื่อมั่นว่า
หากบุคคลมีพฤติกรรมที่ทำให้ตนได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว
สังคมก็จะได้ประโยชน์ด้วย

หรือให้ความสำคัญแก่การแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ"

 

โดยแนวคิดนี้เชื่อว่ารัฐควรแทรกแซงตลาดน้อยที่สุด เชื่อมั่นว่า สมบัติทุกอย่างควรจะมีความเป็นเจ้าของ หรือเชื่อมั่นว่าหากบุคคลมีพฤติกรรมที่ทำให้ตนได้ประโยชน์สูงสุดแล้วสังคมก็จะได้ประโยชน์ด้วย หรือให้ความสำคัญแก่การแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจหลักขณะนี้ ที่กำลังขับเคลื่อน และดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วด้วย "อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่" (Neoliberalism) ขอขยายความ คือ เป็นอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ ในฐานะปัจจัยที่ค้ำยันความชอบธรรมของปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และหนุนส่งการเพิ่มระดับของความเป็นโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

รวมทั้ง มันได้ส่งผลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจในระดับต่างๆ การผลิตสร้างนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจผ่านระบบการศึกษาและระบบสื่อสารมวลชน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แนวความคิดและกรอบนโยบายขององค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจ โดยทำหน้าที่เป็น "สถาบัน" หลัก ในการกำหนดวิถีคิดและกรอบความคิด จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์และโครงสร้างสิ่งจูงใจ เพื่อให้พฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปและสอดคล้องต้องตามปรัชญาและแก่นเนื้อหาของ "อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่"

กระนั้น "สถาบัน" ที่เราพูดถึง มันได้เกิดขึ้น วิวัฒน์ มีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ ในสังคม มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง มีกระบวนการเข้าครอบครองความคิดจิตใจของผู้คนและสังคม (ผลิตซ้ำอุดมการณ์ผ่านกลไกต่างๆ) และแตกดับไปด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น สถาบันมีพลวัต เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต่างก็มีความสัมพันธ์ทางอำนาจและทางสังคม ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ส่วนอุดมการณ์ ก็ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ

อ.ปกป้อง อธิบายต่อว่า รูปธรรม หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดนี้ ก็ได้แก่ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การลดละเลิกการกำกับควบคุมโดยรัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบายรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำ แล้วพึ่งพาเงินตราจากต่างประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ได้ทำให้เกิดความเชื่อ หรือมายาคติว่า หากไม่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เงินทุนต่างชาติจะไม่เข้ามาลงทุน และทำให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจหยุดชะงัก

 






"รูปธรรม หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดนี้
ได้แก่ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน
การลดละเลิกการกำกับควบคุมโดยรัฐ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ... แล้วพึ่งพาเงินตราจากต่างประเทศ..."

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้ถูกตั้งข้อสังเกต อาทิ ในขณะที่ประเทศหนึ่งๆ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจย่างเต็มรูปแบบ นโยบายนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศแต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับระหว่างประเทศกว้างขึ้น สอง การเปิดเสรีทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เช่น เมืองไทยในปี 2540 สาม อำนาจการต่อรองของแรงงานลดลงเมื่อเทียบกับนายจ้าง ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจนี้ คือคนที่อยู่ระดับล่างที่สุด สี่ รัฐมีความอิสระในการเลือกดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจลดลง โดยต้องคำนึงปัจจัยภายนอกประเทศทั้งที่ขัดกับความต้องการในประเทศ เป็นต้น

 






"ประเทศของเราแข่งขันกันบนความถูก ขายของถูกอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนอย่างอื่น
ต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
นี่คือการแข่งขันกันไปสู่ความเสื่อม ใช้นโยบายมักง่าย

เพราะในขณะที่รัฐพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
เข้ามาในประเทศ ก็ต้องพยายามทำให้ค่าเงินบาทแข็ง เงินเฟ้อต่ำ แต่อยากให้ค่าจ้างแรงงานถูก ประชาชนก็ลำบาก
อำนาจการต่อรองของแรงงานต่ำ สวัสดิการแรงงานก็ต่ำ

มันไม่ใช่การแข่งขันแบบ Climb to the top
แต่เป็น Race to the bottom มากกว่า"

 

อ.ปกป้อง กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้นโยบายการเปิดเสรีทางเงินระหว่างประเทศจึงไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมกับทุกประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกได้เสนอทางออก เพื่อลดความผันผวนของทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะทุนระยะสั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ ซึ่งมาตรการที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เสนอได้แก่ มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น ประเทศชิลีในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ใช้มาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลเข้าประเทศ โดยเน้นพัฒนาภายในประเทศให้เข้มแข็งก่อน หรือกรณีของประเทศมาเลเซียในช่วงปี 1998 ซึ่งมีลักษณะ "มาตรการแก้ไข" ปัญหาที่เกิดจากเงินทุนไหลออกจำนวนมากในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

ทั้งนี้ อ.ปกป้อง ระบุในเอกสารประกอบการเสวนาขยายความมาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยแบ่งเป็นรูปแบบทางตรง และทางอ้อม ดังนี้ ตัวอย่างของมาตรการโดยตรง ได้แก่ การจำกัดเพดานของปริมาณเงินทุนไหลเขาหรือออก ห้ามเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเงินลงทุนในสินทรัพย์การเงินจากต่างประเทศไหลออกก่อนระยะเวลาที่กำหนด ห้ามเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการบางประเภท เช่น สินทรัพย์การเงิน อสังหาริมทรัพย์ หรือกำหนดให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนต้องได้รับอนุมัติจากทางการ

ตัวอย่างของมาตรการโดยอ้อม ได้แก่ การเก็บภาษีธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศโดยตรง เช่น ทุนต่างชาติอายุ 3 เดือน จะมีอัตราภาษีสูงกว่าทุนอายุ 6 เดือนหรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นมีอัตราภาษีสูงกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเก็บภาษีธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศโดยอ้อม เช่น มาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

ซึ่งเห็นได้จาก ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียปี 1997 (ปี 2540) เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชียปี 1997 คือประเทศที่ใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ดังเช่น ประเทศชิลี ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

"เราแข่งขันกันบนความถูกอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม นี่คือการแข่งขันกันไปสู่ความเสื่อม เพราะในขณะที่รัฐพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ... ก็ทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานต่ำ สวัสดิการแรงงานก็ต่ำ มันไม่ใช่การแข่งขันแบบ Climb to the top แต่เป็น Race to the bottom มากกว่า"

 

ชิลี กับมาตรการกำกับ - จัดการเงินทุนไหลเข้า
จากการศึกษาของ อ.ปกป้อง ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศชิลี ซึ่งนำมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลเข้ามาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจาก เผชิญปัญหาเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ภายหลังจากการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดปัญหา Overvaluation (ค่าเงินของประเทศแข็งค่าขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น) และส่งผลกระทบต่อการส่งออก และภาคเศรษฐกิจจริง ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศภายหลังจากเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ หากมีการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าไม่ดี อาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์การเงินและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้

มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของประเทศชิลี ซึ่งได้รับความสนใจมากและเป็นต้นแบบของหลายประเทศ ได้แก่ มาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งช่วยลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น ทั้งนี้ ชิลีใช้มาตรการดังกล่าวควบคู่ไปกับมาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอื่นๆ อีกหลายมาตรการ

ภายหลังวิกฤตการณ์การเงินเอเชียปี 2540 นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากให้ความสนใจศึกษาการทำงานของมาตรการดังกล่าว เพราะประเทศชิลีถูกมองว่าประสบความสำเร็จในการจัดการทุนไหลเข้า แตกต่างจากประเทศในเอเชียตะวันออกหลายประเทศซึ่งเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในบั้นปลายจากความไร้สามารถในการจัดการทุนต่างชาติ

ตัวอย่างของชิลีแสดงให้เห็นว่า มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศถือเป็นมาตรการ "ป้องกัน" ประเทศออกจากวิกฤตการณ์การเงินได้ หากมีการบังคับใช้อย่างเหมาะสม โดยที่ต้นทุนในการบังคับใช้ไม่ได้สูงมากอย่างที่เกรงกลัวกัน

 






"แม้ชิลีจะใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1990
แต่ชิลีไม่ได้หันหลังให้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
แบบเสรีนิยมใหม่อย่างสิ้นเชิง

แต่พยายามผสมผสานนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกบางประเภทเข้ากับฐานนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่างค่อนข้างลงตัว"

 

แม้ประเทศชิลีจะใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ประเทศชิลีไม่ใช่ประเทศที่หันหลังให้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อย่างสิ้นเชิง หากแต่พยายามผสมผสานนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกบางประเภทเข้ากับฐานนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อย่างค่อนข้างลงตัว

โดยพยายามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ไปพร้อมกับการสร้างเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างยั่งยืน กล่าวคือ พยายามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจบนฐานของ "ตลาด" แต่ให้ "รัฐ" กำกับควบคุมส่วนที่ตลาดล้มเหลวในการจัดการ เช่น ความผันผวนในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างสถาบันภายในประเทศให้เข้มแข็ง

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ประเทศชิลีเผชิญวิกฤตการณ์การเงิน เศรษฐกิจมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง ขาดดุลการคลัง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน หนี้ต่างประเทศสูง และระบบธนาคารพาณิชย์อ่อนแอ รัฐบาลในขณะนั้นพยายามจัดการปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ โดยใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด รักษาดุลการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัด และรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ระหว่างประเทศ อีกทั้งได้จัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้จากปัญหาในช่วงสองทศวรรษก่อนหน้า

นอกจากนั้น ยังเน้นนโยบายส่งเสริมการส่งออก (ใช้ Export-led Economic Model) การส่งเสริมการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงินและระบบธนาคาร การส่งเสริมการศึกษา การกระจายรายได้ และนโยบายช่วยเหลือคนยากจนและคนว่างงาน

 

มาเลเซีย กับมาตรการการกำกับโดยรัฐ
ในขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย ประเทศเกาหลีใต้ จัดการรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินเอเชียตะวันออกปี 1997 ด้วยนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ภายใต้การกำกับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศมาเลเซียกลับเลือกเส้นทางเดินที่แตกต่างด้วยการประกาศใช้มาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลออกในปี 1998 เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงิน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่

แม้นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่ที่ยอมรับมาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในฐานะ "ปีศาจที่จำเป็น" จะพอยอมรับมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลเข้าได้บ้างภายใต้บางเงื่อนไขและบางสถานการณ์ แต่สำหรับมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลออก

นักเศรษฐศาสตร์มักมองว่าเป็นมาตรการที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการลงทุนอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนไม่กล้านำเงินมาลงทุน เพราะไม่สามารถนำเงินลงทุนและผลได้จากการลงทุนกลับประเทศได้ในจังหวะที่ตนต้องการ ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจของประเทศจะถูกทำลายลง ทุนใหม่จะไม่กล้าเข้ามาลงทุน ทุนเก่าจะรีบออกนอกประเทศทันทีที่มาตรการถูกยกเลิกหรือหาช่องโหว่ของมาตรการเพื่อไหลออกนอกประเทศ

 






"ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำลายเศรษฐกิจของมาเลเซียลง
ตามคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่
ตรงกันข้าม ประเทศมาเลเซียสามารถฟื้นตัว
จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้รวดเร็ว
และแข็งแกร่งกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
"

 

กระนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำลายเศรษฐกิจของมาเลเซียลงตามคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ ตรงกันข้าม ประเทศมาเลเซียสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้รวดเร็วและแข็งแกร่งกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ปัจจุบัน เศรษฐกิจของมาเลเซียยังคงเติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีเงินทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก

ประเทศมาเลเซียดำเนินนโยบายเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในภูมิภาค โดยดำเนินการเปิดเสรีบัญชีทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 1987-1989 ขณะที่เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว ตั้งแต่ปี 1973 ระหว่างที่ประเทศดำเนินนโยบายเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศได้ใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่มีลักษณะแตกต่างกัน 2 ครั้งสำคัญ ได้แก่ การใช้มาตรการกำกับและจัดการทุนไหลเข้าในปี 1994 และมาตรการกำกับและจัดการทุนไหลออกในปี 1998

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจมาเลเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเนื่องมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พร้อมไปกับการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ตลาดเงินริงกิตภายนอกประเทศ (Offshore Market) เป็นตลาดที่ได้รับความนิยม ในช่วงปี 1990-1993 ประเทศมาเลเซียมีส่วนเกินดุลบัญชีทุนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อันเป็นผลมาจากการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าสุทธิคิดเป็นร้อยละ 8.9 ของ GDP ในปี 1993 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในปี 1990

ภายหลังจากใช้มาตรการจัดการทุนในช่วงสั้นๆ ของปี 1994 ประเทศมาเลเซียก็ดำเนินนโยบายเปิดเสรีบัญชีทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียปี 1997 ซึ่งเศรษฐกิจมาเลเซียก็มีปัญหาเช่นกันทั้งจากปัญหาภายในประเทศ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลพวงของวิกฤตการณ์การเงินในภูมิภาค

เช่น แรงเก็งกำไรต่อเงินสกุลริงกิต และผลกระทบอื่นๆ จากการลอยตัวค่าเงินบาทและค่าเงินเปโซ ในช่วงดังกล่าว เงินทุนต่างชาติที่เคยไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่องกลับไหลออก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง และสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศ ที่ต้องตรึงไว้ในระดับสูง เพื่อรักษาค่าเงิน

การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจภายใต้ความตื่นตระหนกและการเก็งกำไรของนักลงทุนทำได้ยากขึ้นภายใต้นโยบายเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1998 ธนาคารกลางของมาเลเซีย จึงประกาศใช้ชุดมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และการกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ โดยผูกค่าเงินไว้ที่ 3.8 ริงกิตต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาวิกฤต แต่อ่อนค่าลงกว่าช่วงปกติ)

หลังจากใช้มาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวอย่างต่อเนื่องรวม 14 เดือนนับจากนั้น โดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ และไม่ขอความช่วยเหลือผ่านโครงการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น มาเลเซียได้หันกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวในเดือนกรกฎาคม 2005 และธนาคารกลางของมาเลเซียได้เริ่มผ่อนคลายความเข้มข้นของมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนไหลออกโดยลำดับ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังคงไม่อนุญาตให้ซื้อขายเงินสกุลริงกิตในตลาดต่างประเทศก็ตาม

 






 "การเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ
มีธรรมชาติที่เป็นปัญหาโดยตัวของมันเอง

และมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย
ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ได้มากกว่าทางแก้ภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ซึ่งต่อให้ตลาดการเงินทำงานได้อย่างสมบูรณ์
ปัญหาก็ยังคงดำรงอยู่
"

 

 

เสรีทางการเงิน เป็นปัญหาในตัวมันเอง
ในท้ายสุดนี้ อ.ปกป้อง เน้นย้ำว่า นโยบายเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับทุกประเทศในทุกเงื่อนไขและทุกสถานการณ์ เมื่อมีการดำเนินนโยบายเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศในโลกแห่งความจริงภายใต้ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ผลประโยชน์จากการเปิดเสรีระหว่างประเทศตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทำนายไว้อาจไม่เกิดขึ้นจริง ในขณะที่ต้นทุนของการใช้นโยบายดังกล่าวกลับยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

"มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ (Capital Controls)" เป็นนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกเพื่อ "จัดการ" ทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือ เศรษฐกิจที่เติบโต เป็นธรรม มั่นคง และยั่งยืน มาตรการดังกล่าวมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีปัจจัยเชิงสถาบันและพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอและถึงพร้อมในการโต้คลื่นโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจะมีลักษณะความเป็น "มาตรการชั่วคราว" สำหรับบังคับใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านจนกว่าประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในเชิงสถาบันสำหรับการเปิดเสรีบัญชีทุนอย่างเต็มที่ต่อไปแล้ว หรือบังคับใช้ในช่วงที่เผชิญปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ มาตรการดังกล่าวยังมีลักษณะความเป็น "มาตรการถาวร" ในฐานะ "ทางออกที่จำเป็น" ในการใช้ชีวิตอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ด้วย

เพราะการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศมีธรรมชาติที่เป็นปัญหาโดยตัวของมันเอง และมาตรการกำกับและจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้มากกว่าทางแก้ภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ซึ่งต่อให้ตลาดการเงินทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาก็ยังคงดำรงอยู่ มิพักต้องตั้งคำถามว่ามีทางที่จะทำให้ตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ในโลกแห่งความจริงหรือไม่

"สถาบัน" หรือ "พื้นฐานเศรษฐกิจ" ที่เข้มแข็งอาจช่วย "ลดโอกาส" ในการเกิดวิกฤตการณ์การเงินหรือ "บรรเทา" ความรุนแรงของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มิอาจ "ป้องกัน" ได้ และไม่ได้จัดการปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติแห่งความผันผวนไร้เสถียรภาพ - อันเกิดจากธรรมชาติของการลงทุนและพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ของนักลงทุน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์เป็นปกติธรรมดา - ก็ยังคงดำรงอยู่ รวมถึงปัญหาจากผลลุกลามจากวิกฤตการณ์การเงิน (Contagion effects) ที่รุนแรงขึ้นภายใต้สถาบันแบบเสรีนิยมใหม่

กล่าวโดยสรุป มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายมิได้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะหน้าช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ เช่น ทุนไหลออกไม่หยุด หรือเป็นนโยบายขัดตาทัพระหว่างทางเท่านั้น แต่มาตรการนี้ยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจระยะยาวได้ด้วย ดังที่ประเทศชิลีใช้มาตรการจัดการทุนไหลเข้ายาวนานนับทศวรรษ และยังเป็น "ทางเลือก" หนึ่งในการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท