Skip to main content
sharethis

ดอกไม้งามแห่งเมืองย่าโมยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนา สูตรสร้างสุข (ภาวะ) เพื่อคนรัก(ษ์) หัวใจในแบบฉบับอรพิมพ์ ด้วยตระหนักว่าสุขภาพดีนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดี และสุขภาวะที่ดีไม่มีขาย แต่สร้างได้ด้วยตัวเราเอง.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

 

 

แข็งกร้าวแต่เปี่ยมไปด้วยความงดงาม สำหรับการร่ายรำแอโรบิกในสไตล์กังฟู นี่คือท่าลดส่วนเกินของต้นขาและเอว

 

ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540-2549 มีผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด และเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติล่าสุดในปี 2549 พบว่ามีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงถึง 357,600 ราย เบาหวาน 334,168 ราย หัวใจขาดเลือด 132,500 ราย และหลอดเลือดสมอง 107,249 ราย รวมแล้วจำนวนมหาศาลถึง 950,000 ราย ซึ่งสาเหตุสำคัญของโรคร้ายแรงเหล่านั้นเกิดจาก "อ้วน" มีน้ำหนักเกิน มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำหนักเกินใช่เกิดกับคนที่มีอันจะกินในเมืองตามความเข้าใจของคนทั่วไป ด้วยความจริงแล้วยังลุกลามยังหมู่บ้านและตำบลห่างไกลในชนบทด้วย เพียงแต่แตกต่างกันที่วิธีการรับมือโรคอ้วนนี้ ที่คนเมืองที่มีกำลังซื้อมากพอก็จะวิ่งเข้าหาสถาบันขายโปรแกรมลดน้ำหนัก ถึงแม้จะต้องแลกด้วยกระเป๋าที่เบาลงไปหลายเดือนก็ตามที

 

ขณะที่ชนบทจะรับมือโรคอ้วนด้วยวิธีการต่างออกไป ดัง "อรพิมพ์" ตำบลเล็กๆ แห่งเมืองย่าโมที่มีชื่อเรียกพ้องกับดอกไม้ในวรรณคดีไทย โดยหญิงสาวของชุมชนแห่งนี้จะรวมตัวกันในนาม "กลุ่มรักษ์หัวใจ" จัดทำหลักสูตร "บอดี้เชพฉบับอรพิมพ์" ขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนที่กำลังรุมเร้าคนในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันทั้งจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างศูนย์สุขภาพตำบลอรพิมพ์ และหน่วยงานภายนอกที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาวะชุมชนเช่นเครือข่ายเสริมสร้างสุขภาพ จังหวัดนครราชสีมา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

ทั้งนี้เพราะปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวชุมชนอรพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปมากจากกระแสบริโภคยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้ความอ้วนมาเคาะประตูบ้านและพักอาศัยกับหญิงสาวชาวตำบลอรพิมพ์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มากมายและรวดเร็วในเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ดัง ชีวา เกรียงกระโทก หญิงสาวชาวชุมชนแห่งนี้ที่ถูกคุกคามจากภาวะน้ำหนักเกิน จนรับรู้ว่าความอ้วนเป็นมากกว่าความไม่สวย ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มเกือบเท่าตัวจากสมัยวัยรุ่นได้นำความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และปัญหาภายในของผู้หญิงมาสู่เธอ

 

ปัญหาสะสมเรื้อรังทางร่างกายจากความอ้วนกระทบสภาพจิตใจชีวา เปลี่ยนจากคุณแม่ใจดี  เพื่อนบ้านอารมณ์ดี  ให้กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด ใจร้อน โมโหง่าย น้ำหนักที่มากขึ้นทุกวันทำให้เธอรู้สึกไม่ดีทุกครั้งที่ส่องกระจก กอปรกับปัญหาภายในของผู้หญิงทำให้หวั่นวิตกว่าจะอยู่กับลูกได้ไม่นาน กระทั่งก่อเกิดเป็น

 

ความทุกข์ที่ไม่กล้าปรึกษาใคร สั่งสมเป็นความเครียด ความเจ็บในใจ แล้วระเบิดออกเป็นอารมณ์หงุดหงิดต่อเพื่อนบ้าน มีปัญหากับครอบครัว จนลูกไม่กล้าคุยด้วย สามีเบื่อหน่าย เพื่อนฝูงไม่อยากทักทาย

 

ความทุกข์ทั้งทางกายและใจนั้นมาจากความไม่รู้ของชีวาว่าการดื่มน้ำอัดลมทุกวัน กินขนมจีนทีละสองกิโลกรัม กินข้าวครั้งละครึ่งหม้อ ตลอดจนชอบกินข้าวขาหมู บัวลอยไข่หวาน ลูกชิ้นทอด และหมูกระทะ จะกระทบสุขภาพร้ายแรงระยะยาว อีกทั้งยังคิดว่าไม่จำเป็นต้องออกกำลังกาย เพราะการทำงานหนักอย่างปลูกมัน ถอนมัน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

 

โรคอ้วนยังอยู่คู่กับชีวา จนกระทั่งเธอได้เข้าร่วมโครงการบอดี้เชฟฉบับอรพิพม์รุ่นที่ 2 ตามคำชักชวนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมกับได้รับรู้ข้อมูลจากหมอแพรว ปราณี ประไพวัชรพันธ์ ที่มอบความรู้ใหม่ให้เธอว่าภาวะน้ำหนักเกินนั้นเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค และการขาดความรู้เรื่องปริมาณอาหารที่ควรกินในแต่ละวัน

 

ความรู้ใหม่ได้นำมาสู่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ของหญิงสาวผู้นี้ ด้วยการเริ่มออกกำลังกายเมื่อตื่นนอนตอนเช้าก่อนออกไปทำงานทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ส่วนเรื่องอาหารการกินจากเคยตามใจปาก เห็นอะไรหิวอะไรก็ซื้อก็กิน ก็เปลี่ยนมาเป็นน้ำพริก ผักต้ม ปลานึ่ง ปลาทอด แทน

 

แม้ช่วงแรกๆ จะทรมานจากการหักห้ามใจไม่ให้กินของที่ชอบ โดยเฉพาะเมื่อเห็นคนอื่นกินอาหารโปรดอยู่ตรงหน้า หรือต้องตื่นตอนดึกๆ เพราะความหิว แต่ก็อดทนดื่มน้ำกลั้วท้องแทน จนท้ายสุดความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของชีวาก็ออกดอกผลตอบแทนน่าชื่นใจ เพราะเมื่อจบคอร์ส ทุกคนก็ได้พบชีวาคนใหม่ที่ "เปี๊ยนไป๋" จากน้ำหนักก่อนเข้าคอร์ส 72 กิโลกรัม ก็เหลือเพียง 57 กิโลกรัมในวันสุดท้ายที่บันทึกข้อมูล

 

น้ำหนักที่หายไป 15 กิโลกรัมในเวลาแค่ 4 เดือน นอกจากทำให้ชีวาต้องหันไปใส่กางเกงของลูกสาวแทนเพราะของตนเองหลวมแล้ว สุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น น้ำหนักที่ลดลง และการออกกำลังกายสม่ำเสมอก็ทำให้เธอเดินเหินคล่องตัว ไม่เหนื่อยและหงุดหงิดง่ายเหมือนก่อน ที่สำคัญปัญหาภายในของผู้หญิงก็หายไป

 

วิภาจึงกลับไปเป็นคนเดิมที่ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี มีความสุขเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และเธอเองก็ยังมั่นใจขึ้นมากว่าจะมีชีวิตอยู่กับลูกได้ต่อไปอีกนาน

 

หลังจบคอร์ส 2 ชีวาได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกลุ่มรักษ์หัวใจเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้อื่นให้เห็นความสำคัญของการลดน้ำหนักและรักษาสุขภาพ พร้อมกับเน้นความสำคัญของ การไม่อ้วนว่านอกจากจะดูดีแล้ว ยังมีความสุขจากภายในอันเกิดจากสุขภาพกายและสุขภาพใจดีขึ้นด้วย จนเอ่ยว่า

 

"พอร่างกายดี จิตใจก็ดี อารมณ์ก็ดีด้วย ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีตาม เจอเพื่อนฝูงก็ยิ้มหัวเราะทักทาย ไม่เป็นหมาดุเหมือนก่อน ดีไปหมด ก็อยากบอกคนที่กำลังลดน้ำหนักว่าอย่าคิดว่าลดแค่กิโลฯ หนึ่งไม่มาก แต่ให้ลองนึกถึงเนื้อหมูกิโลฯ หนึ่งว่าเยอะแค่ไหน และต้องตัดสินใจว่าจะยังแบกต่อไปหรือเอาออก"

 

ถึงวันนี้คอร์สบอดี้เชฟฉบับอรพิมพ์ผ่านไปได้ด้วยดีถึง 4 รุ่นแล้ว โดยความร่วมมือแบบ 3 ประสานของ กลุ่มรักษ์หัวใจเจ้าของเรื่องที่ลุกขึ้นมาหาทางแก้ปัญหาตัวเอง ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลอรพิมพ์หน่วยงานในพื้นที่ที่ไม่ดูดายต่อความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน และเครือข่ายเสริมสร้างสุขภาพ จังหวัดนครราชสีมา ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

 

ดอกไม้งามเมืองย่าโมจึงคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนา "สูตรสร้างสุข (ภาวะ) เพื่อคนรัก(ษ์) หัวใจในแบบฉบับอรพิมพ์" ด้วยตระหนักว่าสุขภาพดีนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดี และสุขภาวะที่ดีไม่มีขาย แต่สร้างได้ด้วยตัวเราเอง.-

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net