รายงาน : สำรวจว่าที่โรงไฟฟ้าใหม่ทั่วประเทศ และแรงต้านดาวกระจาย

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และไม่กี่เดือนต่อจากนี้ คงจะได้เห็นการต่อต้านโรงไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่กันถี่และรุนแรงขึ้น เรื่อยๆ นอกจากปัจจัยของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มต่อรอง มีการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายกันอย่างคึกคักแล้ว ยังมีปัจจัยด้านเงื่อนเวลาที่ช่วงนี้ "ไอพีพี" (ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่) ที่ชนะประมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2550  มีเดทไลน์ที่จะต้องฝ่าด่าน "อีไอเอ" (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ให้ทันเดือนกันยายนนี้ เพื่อจะได้มีสิทธิลงนามในสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ. ต่อไป เพราะนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดไว้ตอนเปิดประมูล หากไม่ทันกำหนด นอกจากจะถูกยกเลิกการทำสัญญาแล้วยังถูกยึดเงินค้ำประกันด้วย 


โดยระบบของประเทศไทย การขยายโรงไฟฟ้าจะดำเนินไปตามแผน "PDP" หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่คำนวณแผนการจัดหาไฟฟ้า ในระยะ 15 ปีข้างหน้า (2550-2564)  แผนล่าสุดออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 กำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าไว้ 2 ช่วง ช่วงแรก 7,000 กว่าเมกกะวัตต์กำลังสร้างอยู่ และช่วงที่ 2 อีกราว 31,000 เมกกะวัตต์ แบ่งให้ กฟผ.สร้างเอง 12,400 เมกะวัตต์ และเปิดให้ไอพีพีประมูลอีก 12,600 เมกะวัตต์ ซึ่งการประมูลครั้งแรกผ่านพ้นไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ได้เอกชนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า 4 ราย

 

 

"ว่าที่" โรงไฟฟ้าเอกชน 4 แห่ง

การเปิดประมูลช่วงแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ได้เอกชนที่ชนะการประมูล 4 ราย กำลังการผลิตทั้งหมด 4,400 เมกกะวัตต์ สูงกว่าเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 3,200 เมกกะวัตต์ เอกชนทั้ง 4 รายได้แก่ 

 

1.บริษัท จีโค-วัน จำกัด ในกลุ่มของบริษัท โกวล์ พลังงาน จำกัด(มหาชน)(บมจ.) 

   กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์                                                                                           

   ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง                                                                                               

   ก่อสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

2.บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล    

   กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์                                                                                             

   ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง                                                                                             

   ก่อสร้างในพื้นที่อำเภอพนมสารคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา      

 

3.กลุ่มของเจเพาเวอร์ จากญี่ปุ่น ในนามบริษัท สยาม เอ็นเนอยี่ จำกัด    

   กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์                                                                                          

   ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

   ก่อสร้างในพื้นที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา       

                               

4.กลุ่มเจพาวเวอร์เช่นเดียวกัน ในนามบริษัท เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด                      

   กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์                                                                                     

   ก่อสร้างในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

 

 

แรงต้านดาวกระจาย

ทั้ง 4 จุดนี้ ล้วนแล้วแต่มีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่

 

ที่มาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเป็นกลุ่มหลักที่รณรงค์คัดค้านอย่างแข็งขัน เนื่องจากพื้นที่มาบตาพุดยังคงมีปัญหามลพิษอย่างต่อเนื่องจากโรงงานจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายนี้เคยชุมนุมยืดเยื้อปิดถนนหน้าเขตประกอบการไออาร์พีซี จนไออาร์ซีพีต้องยกเลิกการเข้าประมูลไอพีพีมาแล้ว

 

เช่นเดียวกันกับที่พนมสารคามของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองหรือดับเบิ้ลเอ ที่มีแรงต้านทั้งจากกลุ่มนักศึกษา และชาวบ้านโดยมีข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมในเรื่องการขนถ่ายถ่านหินมากกว่า 1 ล้านตันต่อปีผ่านลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 จุดนี้ยังมีกรีนพีซคอยจับตาดูและร่วมคัดค้านด้วยอีกแรง

  

อีก 2 พื้นที่นั้นเป็นของกลุ่มเจพาวเวอร์ ทั้งที่บางคล้าและหนองแซง ซึ่งกลุ่มนี้สามารถหั่นราคาตัดหน้า เอ็กโก ตัวเก็งเต็งหนึ่งลงได้ในการประมูล ทั้งสองจุดนี้มีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านด้วยเช่นกัน ที่ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านในต.เสม็ดเหนือ-เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่งรวมตัวกันชุมนุมปิดทางหลวงหมายเลข 304 เป็นเวลา 3 วันเต็ม หลังจากที่เดินสายร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการทำอีไอเอโครงการนี้ แต่ไม่ได้รับความสนใจ กระทั่งผู้ว่าฯ ต้องออกประกาศสั่งให้เจ้าของโครงการยุติการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่จนถึงสิ้นเดือนกันยายน

 

ขณะที่หนองแซง ชาวบ้านก็มีการรวมตัวกันเดินสายยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ล่าสุด เพิ่งไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เรื่องที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสตรงไปตรงมาในกระบวนการอีไอเอ รวมถึงข้อมูลของอีไอเอโครงการที่ชาวบ้านเห็นว่าผิดไปจากข้อเท็จจริงหลายประการ

 

 

กฟผ. หยั่งเชิงพื้นที่ - ถ่านหิน นิวเคลียร์ แรงต้านยังหนาแน่น

สำหรับโครงการของ กฟผ. ขณะนี้จุดใหญ่ใจความอยู่ที่การลุ้นสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกกะวัตต์ตามแผนพีดีพี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะรื้อฟื้นโครงการเดิมที่พับไปอย่าง โรงไฟฟ้าทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มากถึง 4,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งได้ซื้อที่ดินไว้พร้อมแล้ว แต่สะดุดกับปัญหาคอรัปชั่นการซื้อขายที่ดินไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนจนต้องพับไป

 

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ชาวบ้านทับสะแกก็ออกมาต้านดักคอไว้นานแล้ว ตั้งแต่มีโครงการโรงถลุงเหล็กของสหวิริยาในพื้นที่ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับข้อเสนอว่าด้วยยุทธศาสตร์เหล็กของสภาพัฒน์ฯ ที่เสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเวสเทิร์นซีบอร์ดที่จะเป็นแหล่งผลิตเหล็กต้นน้ำ และในอุตสาหกรรมเหล็กนี้ต้องใช้เชื้อเพลิงและไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าทับสะแกเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ

 

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในแผน PDP ถึง 4,000 เมกกะวัตต์นั้น ขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไว้แล้วถึง 6 ชุด มีงบประมาณในการศึกษา เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนถึง 1,300 กว่าล้าน เหลือก็แต่การเฟ้นหาพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมีการศึกษาอยู่หลายพื้นที่ แต่ตัวเต็งเห็นจะเป็นแถบภาคใต้แถวประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ธานี

 

 

ถนนทุกสายพุ่งตรงมาที่ "อีไอเอ"

ในเงื่อนไขการประมูลไอพีพีคราวนี้ถึงกับกำหนดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อไฟกับบริษัทที่ชนะการประมูลก็ต่อเมื่อศึกษาอีไอเอผ่านทันเวลาที่กำหนด นี่เป็นเงื่อนไขที่สะท้อนชัดเจนว่าแรงต้านในพื้นที่เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐเองก็ไม่อยากจะแบกรับ รายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการหลายคนจึงเป็นใบเบิกทางที่รองรับความชอบธรรมได้ดีที่สุดสำหรับนักลงทุน เพราะเป็นหลักประกันความเป็นธรรมสำหรับชุมชนในระดับหนึ่ง แม้ในทางปฏิบัติจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามีปัญหาในกระบวนการศึกษาและอนุมัติ

 

ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะชาวบ้านแต่ละกลุ่มล้วนแล้วแต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงกระบวนการทำอีไอเอ โดยให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่าโครงการที่ส่งผลกระทบกับชุมชน นอกจากต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วยังต้องศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ต้องจัดให้มีการรับฟังความติดเห็นของประชาชน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นก่อนอนุมัติ  ซึ่งเส้นทางไปสู่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะยังอีกยาวไกล และเมื่อไปถึงแล้วก็ไม่แน่ใจนักว่าจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เพียงไหน

 

แต่ ณ วันนี้ที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว คือพลังการตรวจสอบและความพยายามมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ต่างๆ พวกเขานั่นเองที่เป็นผู้ตรวจสอบทุกซอกทุกมุมของโครงการเท่าที่ทำได้ พยายามศึกษาอีไอเอความหนาเป็นพันหน้า (ถ้าสามารถซิกแซกหาข้อมูลได้ก่อนการอนุมัติ) สืบค้นเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เชื่อมประสานกลุ่มวิชาการ เชื่อมโยงเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านพลังงานในต่างพื้นที่

 

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้โครงการเดินไปได้ช้า แต่อีกแง่หนึ่ง นี่เป็นการปกป้องสิทธิ และใช้สิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา ซึ่งน่าจะเป็นการยกระดับ "การพัฒนา" อย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท