สหภาพแรงงานอัลมอนด์ระบุการปิดงานคือการทำลายสหภาพ และผลกระทบส่งตรงถึงคนในครอบครัว

24 .. 51 - แกนนำสหภาพแรงงานอัลมอนด์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปิดงานว่าเป็นการพยายามทำลายสหภาพแรงงาน และได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของแรงงาน ทั้งนี้มีการสรุปเหตุการณ์ต่างๆและปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานอัลมอนด์ พบว่าตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพมาเมื่อปี 2544 สถานการณ์ภายในไม่เคยมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนัก มีคดีฟ้องศาลมากมาย

นายสมพงศ์ พัฒภูมิ ประธานสหภาพแรงงานอัลมอนด์ กล่าวว่า ในความรู้สึกของตน สำหรับการปิดงานในครั้งล่าสุดนี้ การปิดงานคือการทำลายสหภาพแรงงาน เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ การปิดงานของนายจ้างยังไม่มีเหตุถึงที่สุด เพราะยังมีความคืบหน้าในการเจรจา และครั้งนี้ นายจ้างเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอลดสวัสดิการและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ข้อที่เจรจากันไม่ลงเป็นข้อที่ศาลแรงงานชี้ว่านายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง แต่นายจ้างกลับนำข้อนี้มาใส่ไว้ในข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานแล้วใช้วิธิปิดงานเพื่อบีบให้เรายอมรับ และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กระทบกับสมาชิกสหภาพแรงงานแต่มีผลครอบคลุมคนงานทั้งหมด 600 กว่าคน แต่การปิดงานของนายจ้าง เลือกปิดเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อปีที่แล้ว เราก็โดนปิดงานและใช้กระบวนการเดียวกันเพื่อบีบบังคับให้คนงานลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อแลกกับการกลับเข้าทำงานแล้วยอมรับข้อเสนอของนายจ้าง จาก 300 คน กว่าคน เราเหลือคนกลับเข้าทำงานแค่ 165 คน เพราะทนต่อความกดดันทางเศรษฐกิจไม่ไหว มาปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่ในปีนี้ สหภาพยังไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเพิ่มสวัสดิการ

สมพงศ์กล่าวต่อไปว่าตอนนี้นายจ้างใช้วิธีรับคนงานซับคอนแทรคที่เคยทำงานแล้วถกเลิกจ้างไปกลับเข้าทำงานใหม่แทนสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งตอนนี้ สหภาพเรียกร้องให้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้เข้าสู่กระบวนการของการชี้ขาดโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งตามหลักกฏหมายแรงงานสัมพันธ์รัฐมนตรีแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งให้เกิดกระบวนการนี้ เพื่อให้มีการเปิดงานและคนงานกลับเข้าทำงาน

ซึ่งตาม พรบ แรงงานสัมพันธ์ มาตรา 24 เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการใด นอกจากกิจการตามมาตรา 23 ถ้ารัฐมนตรี เห็นว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานนั้นได้ และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับคำสั่ง

ส่วนผลกระทบต่อแรงงานที่เป็นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น สมศรี วิทย์เวทย์ เลขาธิการสหภาพแรงงานอัลมอนด์ กล่าวว่าทุกคนที่มาทำงานที่อัลมอนด์ มีครอบครัวกันทุกคน ผลกระทบของการปิดงานที่เกิดขึ้น จึงไม่เพียงแต่กระทบคนงานที่ถูกปิดงานแต่กระทบถึงครอบครัว ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 4 - 5 คนครั้งนี้ ดังนั้นการปิดงานคน 130 คนจึงเท่ากับคุณกำลังฆ่าคนถึง 400-500 คน แต่ละครอบครัวมีภาระต้องเลี้ยงดูทั้งลูกเล็ก และพ่อแม่ที่แก่ชรา การปิดงานเช่นนี้จึงไม่ควรกระทำ เป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด และในขณะที่อุตสาหกรรมที่เราทำงานให้ เป็นการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยส่งต่างประเทศ ยุโรป อเมริกา สินค้าเน้นคุณภาพและราคาสูง ในทางกลับกันค่าจ้างของคนงานถูกกดลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภคมีราคาสูงขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ปัจจุบันสหภาพแรงงานอัลมอนด์มีสมาชิกสหภาพ 133 คน จากคนงานทั้งหมด 600 กว่าคน (คนงานประจำประมาณ 500 และเหมาค่าแรง ประมาณ 130 คน)





 

สรุปเหตุการณ์ต่างๆและปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานอัลมอนด์ ปี 2551

หลังจากเมื่อเดือนเมษายนปี 2550 ที่สหภาพฯ ถูกนายจ้างปิดงานเฉพาะสมาชิกฯ ถูกปิดงาน 33 วัน ซึ่งสุดท้ายจบที่คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ สมาชิกได้กลับเข้าทำงานกับบริษัทอัลมอนด์อีกครั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2550

สถานการณ์ภายในไม่เคยมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนัก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 บริษัทได้กระทำการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 3 คน เหตุคือกล่าวหาว่าลูกจ้าง 3 คนนี้ผิดระเบียบข้อบังคับบริษัทโดยละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร กล่าวคือเมื่อครั้งที่สหภาพฯ ถูกนายจ้างปิดงานนั้น ทั้ง 3 คนนี้เข้าไปทำงานเพราะเป็นกรรมการลูกจ้างที่มาจากการเลือกตั้ง ทางบริษัทได้เรียก 3 คนนี้ไปพูดคุยโดยให้ 3 คนนี้เซ็นชื่อรับเงื่อนไขของบริษัทซึ่งก็ไม่ได้เห็นรายละเอียดในหนังสือนั้นพอ 3 คนไม่ยอมเซ็นชื่อ นายสมศักดิ์ ชาญเกียรติก้อง ผู้จัดการโรงงานจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวทั้ง 3 คน ออกมานอกบริษัททำให้ 3 คนนี้ต้องมาอยู่ร่วมกับสมาชิกข้างนอก เมื่อครั้งวันที่ 14 พ.ค. 2550 ทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทเรื่องขอรายงานตัวกลับเข้าทำงาน 3 คนนี้ก็ลงชื่อรวมกับสมาชิกด้วย เหตุการณ์ก็ปกติไม่มีอะไรจนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2550 บริษัทได้เรียก 3 คนนี้ไปรับทราบว่าบริษัทขอเลิกจ้างด้วยข้อหาที่ว่านั้น ข้อสงสัยมีอยู่ว่า 3 คนนี้ครบวาระกรรมการลูกจ้างพอดีมันแปลกตรงที่ว่าหากบริษัทต้องการลงโทษ 3 คนนี้เหตุใดต้องรอให้ครบวาระก่อน แน่นอนว่าที่บริษัททำเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการขออนุญาตศาลเพื่อขอเลิกจ้าง ทั้ง 3 คนนี้จึงต้องไปร้องที่แรงงานเขตมีนบุรีผลออกมาไม่เป็นน่าถูกต้องนักจึงได้นำเรื่องนี้ฟ้องศาล สุดท้ายศาลตัดสิน ให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยรวมแล้ว 5 แสนกว่าบาท แต่บริษัทก็ยังอุทธรณ์อีก ขณะนี้ที่ยังรอฎีกาอยู่

ผ่านเข้าสู่ปี 2551 มีข่าวว่าจะเลิกจ้างแกนนำสหภาพ เดือนมกราคมเรียกสมพงศ์ พัฒภูมิ ประธานสร.เข้าไปคุยเพื่อทำการเลิกจ้างคุยอยู่หลายครั้งจนไม่เป็นอันทำงาน จนสมพงศ์ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของนายจ้าง จึงได้เสนอว่าให้บริษัทเลิกจ้างกรรมการทั้งหมดและสมาชิกบางส่วนที่ต้องการจะออกงาน ดังนั้นจึงมีการส่งรายชื่อเข้าไปประมาณ 140 คน แต่บริษัทบอกว่าเยอะเกินไปขอพิจารณาและแจ้งกลับมาว่ายินดีเลิกจ้าง 26 คน เท่านั้นใน 26 คนล้วนแต่เป็นกรรมการสหภาพทั้งเก่าและใหม่สมาชิกบางส่วน เหตุผลของบริษัทคือต้องการลดต้นทุนการผลิต ฟังดูแล้วดูดีแต่เหตุผลจริงๆ คือต้องการล้มล้างสหภาพเท่านั้น 26 คนนี้มีคนที่รับเงินไป 14 คน

เมื่อพยายามเลิกจ้างสมพงศ์ไม่ได้จึงเรียกสมพงศ์ไปคุยใหม่มาในรูปแบบที่แปลกนั้นคือแจ้งสมพงศ์ว่าถ้าไม่ยอมรับเงินจะฟ้องคดีอาญาข้อหาแจ้งเอกสารเท็จปลอมเอกสาร อธิบายคือปลอมเอกสารที่ว่านี้คือการที่กรรมการลูกจ้าง 3 คนที่ถูกบริษัทเลิกจ้างนั้นตอนกับเข้าทำงานได้รายงานตัวมากับสมาชิกสหภาพบริษัทจึงถือว่าสมพงศ์แจ้งเอกสารเท็จจึงเป็นเหตุฟ้องอาญาสมพงศ์ ซึ่งสมพงศ์ก็ยังคงยืนยันไม่รับเงิน

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2551 บริษัทได้ออกหนังสือเป็นบันทึกภายใน ขอความร่วมมือถึงหัวหน้างาน / ซุปเปอร์ใวเซอร์ / ผู้จัดการ ว่าให้ช่วยตรวจตราเวลาทำงาน เวลาพัก เลิกงานและว่างเวลา ว่าจะให้ปฏิบัติตรงตามข้อบังคับของบริษัท แต่บริษัทไม่เคยหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างไม่ใช่แรงงานสัมพันธ์ต่อกัน กล่าวคือการปฏิบัติจริงในการทำงานคนงานเคยได้พัก / เลิกงาน ก่อนเวลาจริงตามข้อบังคับได้ 5 นาที ดังนั้นการออกหนังสือครั้งนี้จึงไม่เป็นการยินยอมของลูกจ้างทำให้คนงาน ในส่วนที่เป็นสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้บริษัทเรียกไปให้ใบเตือน 100 กว่าคนข้อหาฝ่าฝืนข้อบังคับไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ในส่วนที่ไม่ใช่สมาชิกก็ปฏิบัติตามบริษัทเพราะเกรงความผิด ต่อมาทางสหภาพฯ ได้ประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2550 ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อที่ประชุมใหญ่ที่ประชุมใหญ่จึงมีมติให้สหภาพฯดำเนินการฟ้องบริษัทเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างพอสหภาพฯ ฟ้องบริษัท บริษัทก็ฟ้องอาญาสมพงศ์เช่นกันคดีอาญา ศาลนัดวันที่ 11 ตุลาคม 2551 ที่จะถึงนี้

ส่วนคดีสหภาพฯ ฟ้องบริษัทศาลได้พิจารณาแล้วพิพากษาว่าบริษัทเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจริงตัดสินเมื่อวันพุธ 10 มิ.ย. 2551 ศาล จึงสั่งให้บริษัทเพิกถอนหนังสือบันทึกภายในฉบับดังกล่าวและให้สมาชิกกลับมาใช่สภาพการจ้างเดิม นั่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่บริษัทไม่พอใจ ปัจจุบันคนงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ1. สมาชิกสหภาพ 2. คนงานที่ไม่เป็นสมาชิก สมาชิกจะเลิกงานตามคำสั่งศาล ไม่เป็นสมาชิกเลิกงานตามคำสั่งบริษัท เรื่องไม่จบแค่นี้ในเวลาพักกลางวันสมาชิกได้ใช่สภาพการจ้างเดิมคือการออกก่อน 5 นาที บริษัทไม่ยอมแจ้งว่าคำสั่งศาลให้ใช้เฉพาะเวลาเลิกงานและล่วงเวลาเท่านั้นไม่รวมเวลาพัก จึงทำให้สมาชิกทั้งหมด 100 กว่าคนถูกเรียกให้ไปรับใบเตือนอีก นี้คือสิ่งที่บริษัทพยายามสกัดกั้นความเป็นเอกภาพของสหภาพฯ ต้องการทำให้สมาชิกกลัวและลาออกจากสหภาพฯ ไป มีการเรียกสมาชิกไปคุยบอกว่าถ้าหากไปอยู่นอกโรงงานจะทำอย่างไรและพูดจาใส่ร้าย กล่าวหาสมพงศ์ว่าเป็นคนพูดกลับกลอกบอกว่าจะรับเงินแล้วก็ไม่รับ

พอมาวันที่ 20 มิ.ย. 2551 บริษัทก็ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพรวม 11 ข้อ เพื่อขอลดสวัสดิการของลูกจ้าง ในสภาวะเศรษฐกิจ ในตอนนี้ทุกคนทราบดีว่าคนค่าแรงต่ำเป็นอย่างไรรัฐบาลเองพยายามให้ช่วยกันเพื่อให้อยู่รอดแต่นายจ้างอัลมอนด์กลับใจดำทำร้ายคนงานที่ทำผลประโยชน์ให้กับบริษัทมาตลอด 10 กว่าปี มีผลกำไรมาจนทุกวันนี้ ปีนี้สหภาพฯ ไม่ยืนข้อเรียกร้องเพราะเหตุว่าเศรษฐกิจไม่ดีเห็นใจบริษัทพออยู่กันได้ก็อยู่ช่วยกันไป เอาไว้เศรษฐกิจดีสหภาพมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นค่อยว่ากันใหม่ นี่คือแนวคิดของสหภาพฯ แต่บริษัทกลับมองไม่เห็น ยืนข้อเรียกร้องลดสวัสดิการของลูกจ้าง ส่วนในการพิพาทแรงงานคุยกันที่กระทรวงฯ 4 ครั้งไม่สามารถตกลงกันได้บริษัทอ้างอย่างนั้นอย่างนี้พูดกลับไปกลับมาเดี่ยวให้ได้เดี่ยวให้ไม่ได้ ไม่เอาซักทาง ในข้อเรียกร้องของบริษัทนั้นข้อหลักคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างบริษัทขอกำหนดเวลาทำงานเลิกงาน,ล่วงเวลา,กำหนดเวลาทำงานเป็นกะ ข้อนี้บริษัทแพ้คดีในชั้นศาลแต่กลับนำมาเขียนเป็นข้อเรียกร้องเพื่อต่อรองกับสหภาพฯ เมื่อครั้งเจรจากันต่อหน้าพนักงานประนอมบอกว่าเรื่องข้อขัดแย้งนี้ควรให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน หากศาลตัดสินอย่างไรก็จะเคารพคำตัดสินของศาล แต่พอศาลตัดสินแล้วกลับไม่ยอมรับและยังละเมิดสิทธิของคนงาน ทำเช่นนี้ในทางปฏิบัติไม่สมควรทำ เมื่อครั้งเจรจาครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2551 บอกกับเจ้าหน้าที่ผมจะไม่ปิดงาน แต่พอครั้งที่ 4 วันที่ 16 ก.ค. 2551 เมื่อตกลงกันไม่ได้บริษัทบอกว่าจะไม่เจรจาอีกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงนัดเป็นวันที่ 22 ก.ค. 2551 แต่บริษัทบอกว่าจะปิดงานวันที่ 21 ก.ค.และก็จริง วันที่ 19 ก.ค. 2551 เวลา 15.35 น. บริษัทได้เรียกกรรมการลูกจ้างไปรับหนังสือแจ้งปิดงาน นี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่บริษัทได้ปฏิบัติการละเมิดสิทธิแรงงานทำลายสหภาพแรงงาน ปัญหาจะต้องถูกนำไปแก้ไข สหภาพแรงงานอัลมอนด์ จึงขอวอนองค์กรต่างๆ สื่อมวลชน และองค์กรพันธมิตร ได้หาทางเพื่อช่วยเหลือในครั้งนี้ให้ได้โดยด่วน

ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของสหภาพแรงงานอัลมอนด์ที่มีมานานตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพมาเมื่อปี 2544 ไม่เคยมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีคดีฟ้องศาลมากมายหลายคดีหากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสหภาพยินดีที่จะให้ข้อมูลแก่ท่าน สหภาพแรงงานอัลมอนด์ขอรับรองว่าข้อมูลนี้เป็นความจริงมีเอกสารอ้างอิงได้

ด้วยความสมานฉันท์
สหภาพแรงงานอัลมอนด์

 

 

….……………
ข่าวเกี่ยวเนื่อง

คนงานอัลมอนด์บุกกระทรวงแรงงาน เรียกร้อง บ. ยุติการทำลายสหภาพ
สหภาพแรงงานอัลมอนด์ยื่นจดหมายเรียกร้องความเป็นธรรมถึง รมว.แรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท