การท่าเรือฯ ยอมยกเลิกประมูลตลาดสดคลองเตย ผู้ชุมนุมเลิกปิดถนนการท่าเรือฯ แล้ว

 

 

สืบเนื่องจากการที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้จัดทำโครงการประมูลพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารพาณิชย์และตลาดสดคลองเตย โดยกำหนดวันขายซองประมูลในวันที่ 14 ก.ค.- 4 ส.ค. 51 วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้ชุมนุมกว่า 3,000 คน ได้ปิดถนนบริเวณทางเข้าการท่าเรือฯ ตั้งแต่แยกศุลกากรไปจนถึงแยกการท่าเรือฯ ทั้งขาเข้าและขาออก ส่งผลให้รถที่สัญจรในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถขึ้น-ลง ทางด่วนท่าเรือได้ นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังเข้าไปนั่งรวมตัวกันที่ด้านในรั้วของที่ทำการ กทท. ด้วย โดยนายสมพงษ์ ตั้งสกุลวิวัฒนา ประธานชุมชนตลาดคลองเตย กล่าวว่า การมาชุมนุมครั้งนี้มาเพื่อเรียกร้องให้ กทท. ยกเลิกการประมูลพื้นที่บริเวณดังกล่าว และต่อสัญญาให้ผู้เช่าตามเดิม

 

นายสมพงษ์ กล่าวว่า เพิ่งทราบว่า กทท. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการประมูลพัฒนาพื้นที่บริเวณอาคารพาณิชย์และตลาดสดคลองเตย โดยกำหนดวันขายซองประมูลในวันที่ 14 ก.ค.- 4 ส.ค. 51 และจะเปิดซองประมูลในวันที่ 17 ก.ย. 51 โดยหากได้ผู้ประมูลรายใหม่จะรื้อตลาด เพื่อจัดสร้างอาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจประเภทอื่นต่อไป ทั้งนี้มีการแบ่งพื้นที่การประมูลออกเป็น 2 ส่วน อย่างไรก็ตาม ในสัญญาประมูล กทท. ยังกำหนดให้ผู้ประมูลสามารถที่จะเลือกประมูลบริเวณใดบริเวณหนึ่งก็ได้ หรือจะประมูลทั้ง 2 บริเวณ รวมกันก็ได้

 

เขาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ กทท. แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 แปลง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน มาตรา 5 หรือไม่ เพราะหากประมูลราคาพันล้านขึ้นไป โครงการประมูลงานดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ขณะที่บริเวณที่ 1 จำนวน 8.49 ไร่ ราคาขั้นต่ำ 350 ล้านบาท บริเวณที่ 2 จำนวน 14.32 ไร่ ราคาขั้นต่ำ 591 ล้านบาท พื้นที่ทั้งสองรวมกันแล้ว ไม่ต่ำกว่าพันล้านแน่นอน กทท. จึงแบ่งเป็น 2 แปลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเรื่องเข้า ครม.

 

นอกจากนี้ นายสมพงษ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดขายซองประมูลของ กทท. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ตามมาตรา 57 สิทธิชุมชน มาตรา 66 และมาตรา 67 (ดูล้อมกรอบด้านล่าง)

 

ประธานชุมชนตลาดคลองเตย กล่าวว่า สำหรับที่ดินบริเวณตลาดสดคลองเตยนั้น ผู้เช่ารายใหญ่ 3 รายได้เช่ามาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว โดยสัญญาหมดไปเมื่อ 30 เม.ย. ซึ่งตามปกติ จะมีการต่อสัญญาเช่ามาโดยตลอด แต่คราวนี้กลับไม่ต่อสัญญาให้ ส่วนการเปิดประมูลของ กทท. ครั้งนี้ ก็เพิ่งทราบข่าวกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในวันจันทร์ (21 ก.ค.) เขาและผู้ชุมนุม 300 คน ได้มายื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการการท่าเรือฯ แต่ ผอ. กลับให้ผู้ช่วยมารับเรื่องแทน และไม่มีคำตอบใดๆ ให้พวกเขา

 

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ตามปกติแล้ว หน่วยงานรัฐต้องแจ้งยกเลิกสัญญา หรือถ้าจะประมูลก็ต้องแจ้งชุมชนก่อน แต่ครั้งนี้ไม่มี รวมถึงไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือพูดถึงค่าชดเชยใดๆ ด้วย

 

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ผู้มาชุมนุมจาก 5,000 ครอบครัว มาชุมนุมกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า โดยเตรียมที่จะปักหลักหากการเจรจาไม่บรรลุผล ทั้งนี้ อยากให้การท่าเรือฯ คำนึงถึงหัวใจของพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงแรงงานจากต่างจังหวัดและแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานหาเงินด้วย 

 

ทั้งนี้ นอกจากการปิดถนนแล้ว ยังเตรียมมาตรการไว้อีกหลายทาง อาทิ ปิดทางเข้าท่าเรือคลองเตยทั้งสองด้าน มาตรการหยุดขายของที่ตลาด 5 วัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัศมี 10 กม. ทำให้ไม่มีอาหาร แม้แต่ห้างในละแวกนี้ก็อาจจะหาของมาไม่ทัน

 

อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ ได้กล่าวเสริมว่า หากการท่าเรือฯ ยังคงเปิดประมูลต่อ ก็อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย การดำเนินการของการท่าเรือฯ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 50 ตามที่กล่าวไปแล้ว

 

ความคืบหน้าล่าสุด นายสมพงษ์ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนเจรจากับคณะกรรมการ กทท. ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. นายมนัส คำภักดี ประธานกรรมการ กทท. และนางสุนิดา สกุลรัตนะ ผอ. กทท. ได้ขึ้นเวทีชี้แจงต่อผู้ชุมนุมว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณายกเลิกขายซองประมูลแล้ว และจากนี้จะจัดให้มีการประชุมสี่ฝ่าย ของตัวแทน กทท. ชุมชน แม่ค้า และผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางการมีส่วนร่วมกับการท่าเรือฯ เพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ หลังการประกาศดังกล่าว ผู้ร่วมชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

 

 


ข้อเรียกร้องของชุมชน อาคารพาณิชย์ และตลาดสดคลองเตย

1.ยกเลิกการประมูลทั้งสิ้น

2.ต่อสัญญาให้อาคารพาณิชย์และตลาดเป็นระยะยาว

3.ให้เก็บค่าเช่าในอัตราคงที่ หรือให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจพอเพียง

4.ห้ามนำเสนอพื้นที่ดินบริเวณนี้ออกประมูลโดยเด็ดขาด

5.การท่าเรือจะต้องให้ความร่วมมือกับชุมชน อาคารพาณิชย์ และตลาดคลองเตย พัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเจริญของกรุงเทพมหานคร

6.การท่าเรือต้องให้การสนับสนุนชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม

7.การท่าเรือจะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรม และหลักสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน

 

 

 

 


รัฐธรรมนูญ 2550

มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อ ส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินการ

 

มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับ ความคุ้มครองตามความเหมาะสม

 

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มี กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบ ก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท