Skip to main content
sharethis


 


ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเภทช็อกความรู้สึกคนไทย มักทำให้คนทั่วหันมาสนใจ วิพากษ์วิจารณ์ถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบกันมากขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไป เสียงดังกล่าวก็เงียบหายไปเหมือนสายลม แม้ความรุนแรงประเภทรายวันจะยังคงอยู่ก็ตาม


 


ครั้งล่าสุดที่มีการถ่ายทอดคำประกาศหยุดยิงของ "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" ก็เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เชื่อว่าเป็นของจริง ดังยังปรากฏเหตุการณ์ไม่สงบต่อเนื่องหลังจากประกาศดังกล่าวอีกหลายเหตุการณ์


 


แต่จะมีใครซักกี่คนฉุกคิดขึ้นมาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องช่วยกันเรียนรู้และหาทางออกให้ได้ ไม่เพียงวิพากษ์วิจารณ์จนบางครั้งถึงกับแสดงความไม่พอใจหากรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้


 


หนังสือ "นอกนิยามความเป็นไทย ไทย - ปัตตานี: เมื่อเราไม่อาจอยู่ร่วม และแบ่งแยกกันได้" เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่จัดพิมพ์โดย "สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ทะเลสาบศึกษา" เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะช่วยในการสร้างความเข้าใจและแสวงหาในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมสร้างความสันติสุขในพื้นที่ได้


 


ด้วยเพราะมี "องค์ความรู้" ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคในแง่มุมต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างหลากหลายและรอบด้าน


 


รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวไว้ในคำนำว่า "ปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือของนักวิชาการรุ่นอาวุโสและนักวิชาการรุ่นใหม่ เพื่อสร้าง "รอยต่อ"ระหว่างนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ


 


โดยเฉพาะนักวิชาการชาวมลายูทั้งที่เป็นคนในและนอกพื้นที่ นำเสนอผ่านบทความทางวิชาการ 10 เรื่อง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไทย ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะเป็นประเด็นเดิมๆ แต่ถูกนำเสนอผ่านมุมใหม่ อันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในการ "เข้าถึง" ความรู้และความจริงของการนิยามความเป็นไทยในมุมมองที่มาจากคนในและคนนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"


 


รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ บอกอีกว่า นั่น "เป็นประเด็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถในแวดวงวิชาการด้านสันติศึกษาของสังคมไทย เกี่ยวกับการขยายขอบเขต "ความเป็นไทย" ที่นับรวม "แขก" และ "คนอื่น" ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนับรวมได้ว่าเป็น "คนไทย" ที่ไม่ต่างจากคนไทยทุกคนที่อยู่ร่วมกันในอาณาบริเวณของรัฐไทย"


หนังสือเล่มนี้มีผู้เขียน 9 คน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน ศาสตราจารย์ ดร.อับดุลราชิด โมเต็น ดร.แพทริค โจรี ดร.นิพนธ์ โซะเฮง พิเชษฐ แสงทอง อภิชาติ จันทร์แดง ซากีย์ พิทักษ์คุมพล และโชคชัย วงษ์ตานี


 


โดยมี "ปริญญา นวลเปียน" และอภิชาติ จันทร์แดง" เป็นบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการ ส่วนาบรรณาธิการอำนวยการคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองศาสตราจารย์ยงยุทธ ชูแว่น ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ จรูญ หยูทอง สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดพิมพ์ที่ แอล ที่ เพรส และจัดจำหน่ายโดยบริษัท งานดี จำกัด (ในเครือมติชน)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net