Skip to main content
sharethis


เวลาประมาณ 12.00 น. รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านราว 3,000 คนจาก ต.เสม็ดเหนือ และเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ปิดถนนทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณหน้าวัดสนามช้าง โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกระทรวงพลังงานให้ยับยั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท บริษัท สยามเอนเนอร์ยีพาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ หมู่ 4 ต.เสม็ดใต้ และหมู่ 5 ต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า กำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง โดยโครงการดังกล่าวผ่านการประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ไปเมื่อเดือนมกราคม 2551 และอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)



 


นายธีระ วนิชย์ถนอม แกนนำชาวบ้านผู้คัดค้าน กล่าวว่า ชาวบ้านมีมติปิดถนนเพียงเลนส์เดียวเนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรไปมา อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลา 17.00 น. หากกระทรวงพลังงานยังไม่ตอบรับใดๆ กับข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้า ทางแกนนำก็มีมติว่าจะทำการปิดถนนทั้งสองเลนส์


 


นายธีระ ระบุด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีการปิดถนนในครั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง ส.ส. , ส.จ. ในพื้นที่โดยตลอด แต่ผ่านมา 5-6 เดือน ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานใด และทางบริษัทได้เข้ามาทำประชาพิจารณ์อย่างเงียบๆ ไปแล้ว โดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ และไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้า ระบุเพียงว่าถ้าจะมีโรงงานเทคโนโลยีสูง และช่วยให้คนในพื้นที่มีงานทำ ชาวบ้านต้องการหรือไม่


 


อย่างไรก็ตาม นายธีระระบุว่า ในช่วงเช้าทางกระทรวงพลังงานได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมารับข้อเสนอของชาวบ้านไปแล้ว และคาดว่าจะส่งคนลงมาเจรจากับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่งในช่วงบ่ายนี้


 


เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มชาวบ้านยังคงยืนยันจะทำการปิดถนนทางหลวงหมายเลข 304 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ 1 เลนส์ต่อไป แม้ว่านายอานนท์ พรมนารท ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะแจ้งต่อชาวบ้านว่าได้สั่งระงับการดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้าชั่วคราว โดยทางบริษัทให้ความยินยอมแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อพิจารณาอีไอเอใหม่ให้ถูกต้องก่อนนำเสนอ สผ. แต่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยังยืนให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานหรือผู้มีอำนาจรับผิดชอบสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าว  


 


 


 







 


เหตุผลที่ชุมชนท้องถิ่นคัดค้าน  (เอกสารแจกสื่อมวลชน)


 


เนื่องจากพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า เป็นพื้นที่การเกษตรสวนไม้ผล เช่น มะม่วง,หมาก,มะพร้าวน้ำหอม, มะม่วงส่งออกต่างประเทศหลายพันธุ์ , บ่อเลี้ยงปลา , กุ้งขาว ฯลฯ เป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งดังนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าที่จะมาก่อสร้างใน ต.เสม็ดใต้และเสม็ดเหนือของ บ.สยามเอนเนอยี่ โดยมีเหตุผลดังนี้


 


1.   โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลการเกษตร เข่นสวนผลไม้, บ่อเลี้ยงปลา และกุ้ง รวมทั้งสุขภาพของประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษทางอากาศออกทางปล่องซึ่งสูงตั้งแต่ 20-50 เมตร ซึ่งชาวบ้านใน ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า ได้รับรู้ผลเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในจังหวัดราชบุรี รวมทั้ง โรงไฟฟ้าบางปะกงของกฟผ.ในอดีตที่ผ่านมาก้ได้เกิดกรณีที่น้ำร้อนของโรงไฟฟ้าทำให้ปลาในกระชังของผู้เลี้ยงปลาตาย มาแล้ว


 


มลพิษทางปล่องของโรงไฟฟ้าก๊าซ คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ฝุ่นต่าง ๆ รวมทั้งความร้อนและไอน้ำจากหอหล่อเย็น ซึ่งมีความร้อนอย่างต่ำเท่าน้ำเดือดหรือสูงกว่า 100 องศา เซลเซียส การปล่อยมลพิษและความร้อนจากหอหล่อเย็นนี้ จะปล่อยตลอด 24 ชั่วโมงและตลอดทั้งปี ถ้าโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง  ซึ่งมลพิษเหล่านี้จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ, ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ รอบโรงไฟฟ้าพิกุลทอง อ.เมือง และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอยี่ อ.เมือง จ.ราชบุรีได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านบางคล้าโดยตรง มลพิษของโรงไฟฟ้าก๊าซแม้จะไม่รุนแรงเฉียบพลันเหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่เป็นมลพิษสะสม ทำลายสิ่งแวดล้อม,สุขภาพ, สัตว์เลี้ยงทางการเกษตรในระยะยาวซึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี หรือโรงไฟฟ้าก๊าซวังน้อย หรือโรงไฟฟ้าบางปะกงเอง ได้มีการร้องเรียนของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแต่เจ้าของโรงไฟฟ้าเพิกเฉยปกปิดข่าว ใส่ร้ายชาวบ้าน โยนให้ชาวบ้านต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจประสบการณ์และความเดือดร้อนของชาวบ้าน


 


2.   บริษัทโรงไฟฟ้าทั้ง บ.กัลฟ์ และ สยามเอนเนอร์ยี่ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ชาวบ้านได้รับรู้และไม่เปิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแก่ชาวบ้าน บริษัทใช้วิธีเดินหน้าโครงการอย่างเงียบ ๆ เปิดประชุมชี้แจงโครงการในเวทีที่บริษัทเป็นผู้กำหนดและควบคุมได้เท่านั้นและเปิดเวทีเพียงเพื่อนำรายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีไปประกอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ครบถ้วนตามที่ถูก สำนัรนโยบายและแผนทรัพยากรกำหนดให้ทำเท่านั้น  แม้รายละเอียดโครงการเช่นปริมาณการใช้ก๊าซในแต่ละวัน ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวัน หรือปริมาณสารเคมีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าหรือแม้แต่ปริมาณ การปล่อยน้ำทิ้งก็ไม่มีการเผยแพร่แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น


 


3.   หน่วยงานราชการในจังหวัดสนับสนุนโครงการโดยไม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องของชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านยื่นจม.ร้องเรียนก็ไม่ตอบ และไม่พยายามหาข้อมูลให้ชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้เป็นโครงการของบริษัทเอกชนที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง ชาวบ้านได้รับทราบว่ามีการให้สิ่งตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น โดยการเลี้ยงอาหาร พาไปดูงาน มีเงินติดกระเป๋าให้ แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่ชาวบ้านแม้ชาวบ้านจะได้เดินทางมายื่นหนังสือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งแต่ก่อนมีการยื่นประมูลโครงการ


 


4.   นโยบายการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิชุมชน,สร้างความขัดแย้ง ผลักให้บริษัทเอกชนเผชิญหน้ากับชาวบ้านในพื้นที่ อย่างไม่มีความรับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิกเฉยต่อการร้องเรียนของชาวบ้าน แม้แต่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ตอบสนองเรื่องการขอข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าของชาวบ้าน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net