Skip to main content
sharethis

เวลา 12.30 น. วานนี้ (21 ก.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงนำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล และ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ออกแถลงการณ์เรื่อง "เขาพระวิหารกับความรุนแรงในสังคมไทยและความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา"


 


 


ม.เที่ยงคืนแถลงการณ์ห่วงนำชาตินิยมเป็นเครื่องมือ


โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า กรณีเขาพระวิหารได้นำมาซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งภายในสังคมไทยและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดูเหมือนว่าความขัดแย้งนี้อาจแปรไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไม่ยาก แน่นอนว่าข้อถกเถียงเรื่องเขาพระวิหารมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่การแก้ไขก็ยากที่จะเสร็จสิ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน เนื่องด้วยความสลับซับซ้อนและเป็นปัญหาที่สะสมสืบเนื่องมายาวนาน คำถามที่สังคมไทยควรช่วยกันขบคิดก็คือ เราทั้งหมดจะเผชิญหน้ากับปัญหานี้อย่างไร


 


ในเบื้องต้น จำเป็นต้องตระหนักว่าสาเหตุของการปะทุขึ้นของปัญหาความขัดแย้งในกรณีปราสาทเขาพระวิหารในคราวนี้เป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในของสังคมไทยที่มีการใช้ประเด็นชาตินิยมมาปลุกเร้าเพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาลและคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประเด็นนี้ก็ได้ขยายออกไปเป็นปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจึงอาจไม่ใช่สังคมส่วนรวม หากเป็นบุคคลบางกลุ่มที่ฉวยใช้ความคิดชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเอง สังคมจึงต้องระมัดระวังอย่างมากต่อความขัดแย้งที่ได้ก่อตัวขึ้น


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมไทยให้ใช้สติปัญญาและความรู้ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวเพื่อลดความขัดแย้งภายในสังคมไทย และเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วยสันติวิธีซึ่งจะช่วยนำทั้งสองประเทศกลับมาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แทนการใช้ความรุนแรงภายใต้การปลุกเร้ากระแสชาตินิยมอย่างบ้าคลั่งจากบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไปกว้างขวางและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกในกรณีเฉพาะหน้า ดังต่อไปนี้


 


ประการแรก รัฐบาลไทยควรเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาถึงปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ด้วยกระบวนการ ขั้นตอน ที่ดำเนินไปอย่างโปร่งใสและเปิดให้สังคมไทยและกัมพูชาสามารถตรวจสอบและเข้าถึงการทำข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าการกระทำทั้งหมดของรัฐบาลทั้งสองประเทศปราศจากเบื้องหลังหรือการแสวงหาประโยชน์ใดๆ ตามที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่ในปัจจุบัน


 


ประการที่สอง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายประเด็นในกรณีพื้นที่เขาพระวิหารซึ่งอาจมีความยุ่งยากต่อการเจรจาระหว่างสองประเทศ อันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ทำให้มีข้อจำกัดอย่างมากหากปล่อยให้การแก้ไขมาจากการริเริ่มของประเทศไทยหรือกัมพูชา และเป็นไปได้ยากหากจะหวังให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจากความสมัครใจของทั้งสองประเทศ จึงจำเป็นจะต้องให้มีองค์กรจากภายนอกหรือมีกระบวนการที่เปิดให้ฝ่ายอื่นๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา บทบาทของอาเซียนหรือการตั้งอนุญาโตตุลาการน่าจะเป็นทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้


 


ประการที่สาม นอกจากการดำเนินการในระดับของรัฐบาลดังที่กล่าวมาแล้ว ภาคประชาสังคมก็สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการผลักดันและสนับสนุนให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขด้วยความรู้และความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมจากทั้งสองประเทศหรือในส่วนอื่นก็ควรร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาที่กว้างขวางขึ้น อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมีสายตาที่กว้างไกลมากขึ้น เช่น การจัดการพื้นที่ร่วมกันบนฐานของการคำนึงถึงเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม มากกว่าผลประโยชน์แคบๆ ของรัฐที่ตั้งอยู่บนความหวาดระแวงทั้งจากประชาชนของแต่ละประเทศและความหวาดระแวงกันระหว่างประเทศทั้งสองเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


 


การเจรจา 3 ระดับเยียวยาความขัดแย้ง


หลังการอ่านแถลงการณ์ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ควรมีการเจรจา 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือระดับรัฐบาลกับรัฐบาล ระดับที่ 2 ระดับอาเซียนหรืออนุญาโตตุลาการ ระดับที่ 3 คือองค์กรภาคประชาชนซึ่งล่วนแต่ได้รับความทุกข์จากโลกาภิวัฒน์ทั้งสิ้น


 


ระดับที่ 1 มีความเป็นไปได้แต่มีข้อตกลงที่จะเป็นฉันทามติได้ไหม คงจะยากเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่อผลประโยชน์ ระดับที่ 2 เป็นระดับอาเซียนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ทุกประเทศในภูมิภาคของเรา ทุกประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ต้องการการให้เกิดความสงบเพื่อที่จะค้าขายกันได้ แรงหนุนของอาเซียนเพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ในอนาคตของเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ นอกจากนั้นยังเสนอเรื่องอนุญาโตตุลาการคือประเทศที่สามที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและไม่ได้อ้างอิงผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ระดับที่ 3 คือระดับองค์กรภาคประชาชนกับองค์กรภาคประชาชน แต่ไม่ใช่ฝูงชนที่มีอารมณ์กับฝูงชนที่มีอารมณ์


 


 


หวังอาเซียนทำให้สงบ ลดอาการคลั่งชาติ มุ่งสู่การค้าขาย


นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติ ยังมองกลไกการแก้ปัญหาด้วยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่เป็นกระแสหลักได้รุมตียูเอ็นไปแล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับความเป็นกลางของยูเอ็น ดังนั้นเสนอข้อเสนอใหม่ให้สังคมไทยได้ใช้สติใช้ทุกวิถีทางที่จะดึงความร่วมมือระหว่างกัน ในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย เราเพียงแค่เสนอในสิ่งที่เราคาดหวังว่าน่าจะเป็นผลดีในอนาคตของการอยู่ร่วมกัน


 


อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเสนอคือในการเจราจาครั้งนี้ควรเจรจาปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนในแผนที่ รวมไปถึงพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งกรณีอื่นที่อาจถูกปลุกเร้าจากฝ่ายคลั่งชาติขึ้นมาทำให้บ้านเมืองของทั้งสองประเทศปั่นป่วนสหประชาชาติไม่เหมาะที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้หลังถูกโจมตีจากสื่อไปแล้วล่วงหน้า จึงเป็นหน้าที่ของอาเซียนที่ต้องการให้ทุกประเทศในแถบนี้มีความสงบเพื่อนำไปสู่บรรยา กาศการค้าขายในอนาคต



 


จี้พันธมิตร-ประชาธิปัตย์รับผิดชอบฐานปลุกคลั่งชาติ


รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า ปัญหาขัดแย้งมาจากปัญหาการเมืองภายในสังคมไทยที่นำประเด็นคลั่งชาตินิยมมาปลุกเร้าและสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาลและคนไทยด้วยกันจนลุกลามไปเป็นความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยบุคคลบางกลุ่มที่ฉวยมาเป็นเครื่องมือ จึงอยากให้สังคมไทยระมัด ระวัง


 


"กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปัตย์จะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งการก่อให้เกิดปัญหาด้วยความพยายามปลุกกระแสคลั่งชาติ การจะคลี่คลายปัญหานี้ต้องอาศัยคนกลางมาเจรจาอย่างโปร่งใส ไม่ใช่การเจรจาแบบปิดลับบนโต๊ะอย่างที่กำลังทำในขณะนี้ผ่าน ผบ.สส.ของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดข่าวลือเรื่องการแลกผลประโยชน์ต่างๆ ขึ้นอีกในประชาชนสองประเทศ" นายสมชายกล่าว


 


 


 


วอนสังคมยุติรุนแรง สร้างประวัติศาสตร์ร่วมเพื่อนบ้านเพื่ออยู่ร่วมกัน


รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้อยู่ที่การผลักให้กระแสชาตินิยมนำไปสู่ความรุนแรง เราต้องหยุดการใช้ความรุนแรงก่อน จะเห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ทุกแห่งที่เช่นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และที่อื่นๆ กลไกอำนาจรัฐจะต้องเข้มแข็งและตรงมากขึ้น


 


ในกรณีที่ จ.เชียงราย ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ที่ไหนผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บัญชาการตำรวจในจังหวัดนั้นควรจะต้องถูกย้าย การคิดถึงการทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องชาตินิยมอย่างกว้างขวางและถูกต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องตามมา เราไม่สามารถลบประวัติศาสตร์ชาตินิยมออกไปจากหัวคนไทยได้ภายใน 3 ชั่วโมงหรือ 3 วัน ต้องใช้กระบวนการที่ยาวนานและถ้าเราคิดไปถึงการที่อาเซียนมาช่วยกันได้เราอาจจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันของอุษาคเนย์จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ถ้าเราเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ใช้กรณีความขัดแย้งเขาพระวิหารเป็นจุดเริ่มต้นเราอาเซียนเองอาจจะเห็นถึงแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันขัดแย้งกันน้อยลง


 


 


สมเกียรติชี้เขาพระวิหารเป็นบทละครพันธมิตร


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เขาพระวิหารเป็นบทละครท้ายๆ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้ต้องสาวไปถึงว่าประเด็นที่อยากจะล้มรัฐบาล มันเคลื่อนมาเรื่อยๆ มันจุดติดยิ่งกว่าการใส่เสื้อเหลือง ก็คือประเด็นชาตินิยม


 


สื่อควรทำอะไร? ในทัศนคติของเราสื่อควรไขให้เห็นความทับซ้อนของปัญหาใครที่ได้ประโยชน์จากกระแสชาตินิยมเหล่านี้บ้าง? ใครที่จะได้ประโยชน์จากการล้มรัฐบาลประชาชน แล้วประชาชนเสียอะไรบ้างกับ 4,000 ล้าน ที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมา ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดเหมือนขนมชั้นมันทับซ้อนกันจนกระทั้งถึงชั้นบนที่สุดที่เรามองกันวันนี้


 


ฉะนั้นถ้าเราจะไปถามว่ารัฐบาลควรตอบโต้หรือไม่? เรากำลังพูดถึงผิวบนของปัญหานี้ทั้งหมด ตัวละครที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีแค่พันธมิตรฯกับพรรคประประชาธิปัตย์ หรือพรรคพลังประชาชน วันที่เราเสนอข่าวความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ไม่ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหาของสังคมไทย ถ้ามีสติควรสืบสาวต้นตอของปัญหาขนมชั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ดีขึ้นสังคมของเราจะยั่งยืนกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net