Newsline: ผลกระทบจากโครงการ Contract Farming ต่อประชาชนในพม่า

ผลกระทบจากโครงการ Contract Farming ต่อประชาชนในพม่า [1]

อดิศร เกิดมงคล
โครงการวิจัยไทย (
Thai Research Project)
มูลนิธิส่งเสริมสันติวิธี (
Peaceway Foundation)

8 มิถุนายน 2548 คณะรัฐมนตรีไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการดำเนินงาน Contract Farming บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีให้ โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 8 ชนิด ได้แก่ ถั่งเหลือง ถั่งลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ และยูคาลิปตัส เนื่องจากประเทศไทยยังผลิตพืชเศรษฐกิจดังที่กล่าวมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ

 

รู้จักโครงการ Contract Farming: นโยบายการพัฒนาของประเทศไทยในประเทศพม่า

Contract Farming [2] เป็นโครงการความร่วมมือด้านเกษตรกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อตามปฏิญญาพุกามว่า "ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง"

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS: Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือโครงการเดิมในชื่อ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย (ECS: Economic Cooperation Strategy among Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม

ACMECS เป็นแนวคิดที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้หยิบยกขึ้นมาหารือกับผู้นำกัมพูชา ลาว และพม่า ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรค SARS เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546 ที่กรุงเทพฯและได้รับการสนับสนุนในหลักการจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านทั้งสามดังกล่าว และได้มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจนถึงการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งผู้นำทั้ง 5 ประเทศได้ร่วมกันออกปฏิญญาพุกาม (Bagan Declaration) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

1)      เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและก่อให้เกิดความเจริญเติบโตมากขึ้นตามแนวชายแดน

2)      เพื่ออำนวยความสะดวกให้มีการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมเกษตรและการผลิตไปยังบริเวณที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ

3)      เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานและลดความแตกต่างของรายได้ในหมู่ประเทศสมาชิก

4)      เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งร่วมกันสำหรับทุกฝ่ายในลักษณะที่ยั่งยืน

            โดยครอบคลุมความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน การเกษตรและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต่อมาในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ที่เมืองเสียมเรียบ ที่ประชุมเห็นชอบให้สาธารณสุขเป็นสาขาความร่วมมือที่ 6 และเห็นพ้องให้เปลี่ยนชื่อจาก Economic Corporation Strategy: ECS มาเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Corporation Strategy: ACMECS) ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2547 ประเทศเวียดนามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ทำให้ประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 5 ประเทศ

สำหรับที่มาของ ACMECS มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการคิดของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ว่าหากรวม GDP ของทั้ง 4 ประเทศ คือไทย กัมพูชา ลาว และพม่าเข้าด้วยกัน สัดส่วน GDP ของไทยจะเป็นร้อยละ 91 ส่วนอีกสามประเทศรวมกันเป็นร้อยละ 9 เท่านั้น ในอนาคตหากไทยยังคงการเติบโตเช่นในปัจจุบันต่อไปอีก 5 ปี สัดส่วน GDP ของไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 และคาดว่าจะมีปัญหาสืบเนื่องจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นระยะๆ รัฐบาลไทยจึงเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือและการลงทุนเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอันจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านอย่างสมดุล

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตมากขึ้นตามแนวชายแดน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและการผลิตไปยังบริเวณที่มีความได้เปรียบ สร้างโอกาสการจ้างงาน ลดความแตกต่างของรายได้ ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่งร่วมกันอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) บนหลักการที่เน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างงาน โดยมีกิจกรรมที่เห็นผลเร็ว มุ่งผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้นานาประเทศนอก ACMECS และองค์การระหว่างประเทศได้มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโครงการต่างๆ ของ ACMECS โดยผ่านความร่วมมือกัน 6 สาขา คือ

 

(1) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน

-          เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศที่เกี่ยวข้อง

-          เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการไหลเวียนของสินค้าและการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน

-          เพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม

(2) ความร่วมมือด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

-          เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมโดยสร้างและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรการผลิต การตลาด และการจัดซื้อร่วมกัน การวิจัยและพัฒนา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

(3) การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม

-          พัฒนาและใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

-          อำนวยความสะดวกสำหรับการค้า การลงทุน เกษตรกรรม การผลิตทางอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

(4) การท่องเที่ยว

-          ส่งเสริมยุทธศาสตร์ร่วมสำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

-          อำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวในหมู่ทั้งสี่ประเทศและจากภูมิภาคอื่นๆ

(5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

-          ส่งเสริมการเสริมสร้างขีดความสามารถของคนและสถาบัน

-          ริเริ่มมาตรการเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค

(6) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข

-          ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุข และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน

โดยกิจกรรมของ ACMECS จะมีลักษณะร่วม 5 ประการ ได้แก่

1.       สอดคล้องและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีและภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว

2.       ปฏิบัติได้โดยมีผลที่เป็นรูปธรรม โดยใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ

3.       ทำได้จริงและเป็นที่ยอมรับได้โดยประเทศที่เกี่ยวข้อง

4.       ยึดหลักการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างสมัครใจและทัดเทียมกัน

5.       ยึดหลักฉันทามติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

และมีแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ACMECS 3 ระยะ คือ

1)   ระยะสั้น มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2546-2548

2)   ระยะปานกลาง มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2549-2551

3)   ระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2552-2555

 

ในส่วนของความร่วมมือด้านเกษตรกรรม(ด้านที่ 2 ของ ACMECS) ที่สำคัญ คือ โครงการทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) ซึ่งเป็นความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมระหวางไทยกับประเทศพม่า รวมถึงยังเป็นโครงการสำคัญที่ส่งผลต่อการอพยพเคลื่อนย้ายของประชาชนจากประเทศพม่าออกจากพื้นที่และบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทย

โครงการทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) เป็นความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมระหวางไทยกับประเทศพม่าภายใตการดําเนินการตามตามยุทธศาสตรความรวมมือ ACMECS เป็นการย้ายฐานการลงทุนการปลูกพืชเป้าหมายจากประเทศไทยไปประเทศพม่า โดยแบ่งเป็นกลุ่มพืชไร่เศรษฐกิจ 10 ชนิด ได้แก่ ถั่งเหลือง ถั่งลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ ยูคาลิปตัส ลูกเดือย และถั่วเขียวผิวมัน เนื่องจากไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ และพืชเหล่านี้เป็นพืชที่ตองใชแรงงานในการเก็บเกี่ยวจํานวนมาก และกลุ่มพืชพลังงาน 3 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งสอดคลองกับความตองการของภาคเอกชนที่ตองการนํามาเปนปจจัยการผลิตหรือเพิ่มมูลคาสินคาในประเทศไทย

สำหรับพื้นที่เป้าหมายและพืชที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในประเทศพม่าตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทยได้ตั้งไว้ ประกอบด้วยอ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน โดยพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกพืช คือ อ้อย ในมณฑลมัณฑะเลย์ มณฑลพะโค รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง , มันสำปะหลัง ในมณฑลมัณฑะเลย์ มณฑลพะโค รัฐฉาน, ปาล์มน้ำมัน ในมณฑลตะนาวศรี รัฐกะเหรี่ยง และถั่วเหลือง ในมณฑลตะนาวศรี รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง

โดยรัฐบาลไทยคาดว่าโครงการ Contract Farming จะสามารถสรางงาน สรางรายไดอยางเปนรูปธรรมใหแกประชาชนของประเทศเพื่อนบาน, ขยายผลใหเกิดการลงทุนธุรกิจตอเนื่องดานเกษตรระหวาง 2 ประเทศ, ลดการเคลื่อนยายแรงงานที่ผิดกฎหมายและปญหาชายแดนไดอยางมีประสิทธิภาพ, ลดผลกระทบในเรื่องสาธารณสุขและสังคมจากปญหาแรงงานผิดกฎหมาย, สรางความสัมพันธอันดีระหวางไทยกับประเทศเพื่อนบาน, ชวยลดชองวางในการพัฒนาระหวางไทยและประเทศเพื่อนบาน และลดตนทุนการผลิตของไทยเนื่องจากไดวัตถุดิบราคาถูก

สำหรับจุดเริ่มต้นและความคืบหน้าสำคัญของการทำ Contract Farming ในพม่า สามารถสรุปได้ดังนี้

§             18 พฤศจิกายน 2546  คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 1 และมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามปฏิญญาพุกาม ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการ Contract Farming ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดตากได้ดำเนินการนำร่องไปก่อนโดยประสานผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าไปลงทุน Contract Farming ที่เมียวดี แต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าผลผลิตโดยผู้ประกอบการไม่สามารถขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรภายใต้กรอบ AISP ได้ (ติดขัดปัญหาการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า C/O ของประเทศเพื่อนบ้าน)  สาเหตุของปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการภายในประเทศเพื่อนบ้านไม่เอื้อต่อการดำเนินการด้วยนโยบายการเมืองภายใน

§             2 ธันวาคม 2546 คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบให้ลดอัตราภาษีสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากพม่า กัมพูชาและ สปป.ลาว เหลือ 0% โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมในเบื้องต้นมีจำนวน 8 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ละหุ่ง มันฝรั่ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และยูคาลิปตัส

§             27 กันยายน 2548 คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติกำหนดให้มีโครงการทำ Contract Farming  บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านใน 3 จุดนำร่อง คือ แม่สอด-เมียวดี (ไทย-พม่า) เลย-ไชยะบุรี (ไทย-ส.ป.ป.ลาว) และจันทบุรี-พระตะบอง/ไพลิน (ไทย-กัมพูชา)

§             25 ตุลาคม 2548 คณะรัฐมนตรีของไทยพิจารณาเพิ่มรายการสินค้าเกษตรอีก 2 รายการ ได้แก่ ลูกเดือยและถั่วเขียวผิวมัน ให้เป็นพืชเป้าหมายภายใต้โครงการ Contract Farming ที่ได้รับการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% โดยด่านศุลกากรที่นำร่องอนุญาตให้มีการนำเข้าผลผลิตในโครงการส่งเสริมการทำ Contract Farming จากพม่า คือ ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก (บริเวณด่านเมียวดี-แม่สอด) รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้าไปทำ Contract Farming ในพม่า สามารถใช้หนังสือรับรองจากผู้ว่าการราชการจังหวัดตากแทนใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin : C/O) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขออนุญาตนำเข้าพืชเป้าหมายดังกล่าวจากกรมศุลกากรของไทย

            ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ Contract Farming ในพม่า จะต้องจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ ชื่อคู่สัญญาที่จะร่วมทำธุรกิจในพม่า ชื่อผู้นำเข้า ชนิดของพืชที่จะเพาะปลูก พื้นที่เพาะปลูก ระยะเวลาในการเริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว รวมทั้งปริมาณของผลผลิตที่คาดว่าจะเพาะปลูกได้

§             2 ธันวาคม 2548 กระทรวงเกษตรและชลประทาน และกระทรวงปศุสัตว์และประมงของพม่า ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการเกษตร (MoU on Agricultural Cooperation) เกี่ยวกับการทำ Contract Farming ในพม่า เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนปลูกพืชเป้าหมาย โดยรัฐบาลพม่าได้จัดหาพื้นที่เพาะปลูก 44 ล้านไร่ ในจังหวัดแปร (ตั้งอยู่ในเขตพะโค และอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี จึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชน้ำมันและพืชไร่ต่างๆ อาทิ ปาล์มน้ำมันและอ้อย) ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้าไปลงทุนเพาะปลูกพืชเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

สำหรับรายการพืชเป้าหมายซึ่งไทยต้องการส่งเสริมให้มีการทำ Contract Farming กับพม่า ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากพืชเหล่านี้สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศ

§             29 เมษายน 2551 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งพม่า เรื่องการทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

            บริษัท ซูเทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเอกชนไทยรายแรกที่เข้าไปดำเนินการเพาะปลูกอ้อยในลักษณะไร่คู่สัญญาตัวอย่าง (Model Contract Farming) ในจังหวัดแปร ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 โดยมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 825 ไร่, บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) ดำเนินการเพาะปลูกข้าวโพดรวม 67,000 ไร่ ข้อมูลจากหอการค้าจังหวัดตากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รายงานว่าปัจจุบันในจังหวัดตากมีเกษตรกรและผู้ประกอบการจากพื้นที่อำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จำนวน 27 ราย เข้าร่วมโครงการ ผ่านช่องทางอำเภอแม่สอด

อย่างไรก็ตามท่าทีของนักธุรกิจไทยอื่นๆต่อโครงการนี้ก็ยังมีความกังวลอยู่ เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศพม่าสามารถนำมาซึ่งความเสี่ยงในการลงทุนสูง นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานชมรมผู้ค้าชายแดนไทย-พม่า ฝั่งจังหวัดระนอง-เกาะสอง ให้ความเห็นว่า  "การมีฐานวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นสิ่งที่ดี แต่การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าในตอนนี้ถือว่ายังเสี่ยงเกินไป เพราะพม่ายังไม่ได้แสดงหลักประกันใดๆที่สร้างความมั่นใจของผู้ที่จะเข้าไปลงทุน มีเพียงพื้นที่รองรับ และภาษีที่จะไม่มีการจัดเก็บ เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ ก็สามารถนำกลับมายังไทยได้ทันที ซึ่งหากมีหลักประกันบางอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะเข้าไปลงทุน เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ในไทยประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบสูง อันเป็นผลมาจากค่าแรงงานที่สูง แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอัตราค่าแรงยังต่ำกว่าไทยมาก ดังนั้นจะสามารถใช้เป็นฐานวัตถุดิบราคาต่ำเพื่อที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และภาคการผลิต ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผลิตได้มีโครงสร้างราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากชาติอื่นๆ ได้ ยอมรับว่าตอนนี้ผู้ประกอบการสนใจ แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้เช่นกัน"

            นอกจากนั้นแล้วในประเทศพม่าเองก็พบว่าในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายใหม่เรื่องการรณรงค์การปลูกพืชพลังงานทางเลือกเพื่อนำมาใช้ผลิตไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยพืชพลังงานทดแทนที่รัฐบาลพม่ารณรงค์ให้ปลูกมี 2 ชนิด คือ ต้นละหุ่งและสบู่ดำ นอกจากการรณรงค์ปลูกพืชพลังงานแล้ว รัฐบาลพม่ายังห้ามส่งออกพืชน้ำมันทั้ง 2 ชนิดอย่างเด็ดขาด รวมทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่าชาวบ้านที่ยึดอาชีพด้านการเกษตรกรรมตามชนบทต้องปลูกพืชพลังงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่รัฐบาลกำหนด หากชาวบ้านรายใดไม่มีพื้นที่เพาะปลูก เช่น อยู่ในเขตการค้า หรือทำเลที่ไม่มีความเหมาะสมแก่การเพาะปลูก จะต้องเสียค่าปรับให้กับทางรัฐบาลพม่าในอัตราครัวเรือนละ 400 บาทต่อปี ซึ่งค่าปรับส่วนนี้จะนำไปใช้ในการส่งเสริมการปลูกเพื่อทดแทนในพื้นที่อื่น ส่วนผลผลิตที่ได้รัฐบาลพม่าได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรับซื้อและส่งต่อให้โรงงานสกัดน้ำมัน เพื่อผลิตไบโอดีเซลใช้กับเครื่องจักรกลโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปี พม่าจะงดน้ำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศหรือนำเข้าให้น้อยที่สุด [3] ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ทำให้บริษัทบางแห่งที่ได้ลงทุนไปในโครงการปลูกต้นละหุ่งไปแล้ว เช่น บริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง จำกัด ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจนทำให้บริษัต้องเปลี่ยนแผนการลงทุนไปที่ประเทศลาวแทน

 

ผลกระทบจากโครงการ Contract Farming ที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นของประชาชนในพม่า

(1)          รัฐฉาน

จากรายงานของกลุ่มบรรเทาทุกข์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตไทยใหญ่ (SRDC - Shan Relief and Development Committee) เมื่อเดือนมกราคม 2549 ที่ผ่านมา ได้ออกรายงานระบุสาเหตุการยึดที่นาและบังคับใช้แรงงานชาวบ้านของทหารพม่าในพื้นที่อำเภอเมืองนาย ภาคใต้รัฐฉาน อันเนื่องมาจากโครงการ Contract Farming ซึ่งกลุ่มนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนพร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆตั้งแต่ช่วงปี 2546 - 2548 ในภาคใต้รัฐฉานและได้จัดประชุมแถลงผลของรายงานดังกล่าวในชื่อว่า "ทุ่งร้าง" (Deserted Field)

รายงานฉบับนี้เป็นรายงานเปิดเผยการกระทำของทหารพม่าที่มีต่อชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่มากมาย โดยระบุว่าปัจจุบันพื้นที่อำเภอดังกล่าวมีหมู่บ้านหลงเหลืออยู่เพียง 25 หมู่บ้านจาก 57 หมู่บ้าน

ก่อนปี 2537 พื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวชั้นดีของผู้คนแต่ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านหลงเหลืออยู่เพียง 25 หมู่บ้านจากที่เคยมีถึง 57 หมู่บ้าน มีประชากรเหลืออยู่ประมาณ 25,000 คน ประกอบด้วยคนพม่า ฉาน ปะโอ ลีซู ลาหู่ โกก้าง และปะหล่อง ส่วนอีกราวร้อยละ 30 คาดว่าอพยพหนีข้ามมาฝั่งไทย ด้วยเหตุที่ชาวบ้านถูกทหารพม่าบังคับย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ที่กำหนดให้ใหม่ และหากกลับไปทำไร่ทำนาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะถูกยิงเสียชีวิต ส่งผลให้ไร่นากว่า 2.5 หมื่นไร่ต้องรกร้างและชาวบ้านร้อยละ 30 จำต้องอพยพเข้าประเทศไทยปล่อยให้พื้นที่เพาะปลูกอันอุดมกลายเป็นทุ่งร้างมากกว่า 25,000 ไร่

ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่นี้ยากจนไม่มีรายได้จากการเพาะปลูกมากนัก ทรัพย์สินของพวกเขาคือข้าวที่สะสมไว้รวมทั้งปศุสัตว์ที่มีอยู่ แต่ผู้คนร้อยละ 90 ก็มีอาหารพอเพียงมีการค้าขายและแลกเปลี่ยนพืชผลสิ่งของระหว่างคนเมืองและชาวบ้านโดยที่การเดินทางเป็นไปอย่างเสรี

รายงานดังกล่าวระบุอีกว่าที่ดินของชาวบ้านที่ถูกละทิ้งได้ถูกทหารพม่ายึดแล้วให้ชาวบ้านที่เหลือเช่าทำการเพาะปลูก โดยคิดเป็นผลผลิตซึ่งหากเป็นข้าวตกประมาณ 60 - 70 ถังต่อพื้นที่ 2.5 ไร่

นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจเล่าว่า ผลการสำรวจได้จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ทุกระดับชั้นและลงสำรวจพื้นที่ด้วยตนเองซึ่งใช้เวลามากพอสมควร

"มันเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างมากกับตัวเลขจำนวนประชากรและหมู่บ้านที่ลดน้อยลง อีกทั้งมีไร่นาถูกละทิ้งนับหมื่นไร่เช่นนี้ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เมืองนายเท่านั้น ในพื้นที่ใกล้เคียงและอีกหลายพื้นที่ในรัฐฉานภาคใต้ก็ประสบเช่นเดียวกัน แต่การสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบา เนื่องจากต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร หากทหารพม่าทราบข่าวก็หมายถึงชีวิต"

ปัจจุบันมีที่ดินของชาวบ้านถูกทหารพม่ายึดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากนโยบายของกองทัพพม่า ที่บังคับให้กองทัพของตนแต่ละกองพันจะต้องมีพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อช่วยเหลือตนเองอย่างน้อย 700 ไร่ ขณะที่ทหารแต่ละนายจะต้องมีที่ทำกินอย่างน้อยคนละ 5 ไร่ ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดการยึดที่ดินของชาวบ้านตามมาและมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลาย ก่อนหน้านั้นพื้นที่ดังกล่าวอุดมไปด้วยพืชผลการเกษตรจนเป็นที่ลือกันว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ แต่เดี๋ยวนี้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 65 เปอร์เซ็นต์

(2)          มณฑลตะนาวศรี เขตมะริด-ทวาย

จากรายงานภาคสนามของ Burma Issues เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2551 ให้ข้อมูลว่า ในเขตมะริด-ทวาย มณฑลตะนาวศรี มีบริษัทของรัฐบาลทหารพม่าได้ยึดที่ดินของชาวบ้านไปทำการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันกว่าหนึ่งหมื่นเอเคอร์ หรือประมาณ 25,290 ไร่ โดยในปัจจุบันชาวบ้านต่างต้องการให้บริษัทออกไปจากพื้นที่และคืนที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน

ตั้งแต่ปี 2540 หมู่บ้านหลายแห่งในมณฑลตะนาวศรี เขตมะริด-ทวาย ถูกทำลายจากปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหารพม่า ที่ดินจำนวนมากก็ถูกทำลายเช่นกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้เลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรดั้งเดิม ทำไร่นา และจากปฏิบัติการโจมตีและปราบปรามชนกลุ่มน้อยในปี 2540 ชาวบ้านจำนวนมากถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ที่พื้นที่บังคับโยกย้าย (แปลงอพยพ - relocation site) และทำลายเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านทิ้ง

หลายปีผ่านไปพื้นที่ที่เคยเป็นเรือกสวนไร่นาก็กลายเป็นป่า ทหารพม่ามีโครงการที่จะปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นี้และให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนและเพาะปลูกพืชตามแผนของรัฐบาล

ปัญหาอยู่ที่บริษัทเหล่านั้นได้บังคับและยึดที่ดินของชาวบ้านไป แม้ว่าชาวบ้านจะเรียกร้องทวงคืนที่ดินของตนคืน แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะบริษัทอ้างว่าชาวบ้านต้องมีเอกสารสิทธิมาแสดงว่าเป็นเจ้าของที่ดินนั้นจริง ซึ่งชาวบ้านก็ไม่มีเอกสารใดๆ ซ้ำบางพื้นที่ก็ถูกทิ้งร้างนานจนกลายเป็นป่าไปแล้ว

บริษัทที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ต้องดำเนินการภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหารพม่าว่าแต่ละบริษัทจะได้พื้นที่เพาะปลูกได้เท่าใด รวมถึงต้องให้ได้ผลผลิตเท่าไรต่อปี โดยที่บริษัทเหล่านั้นขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการริบที่ดินของชาวบ้านโดยที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเอาผิดบริษัทเหล่านั้นแต่ประการใด

ในพื้นที่มณฑลตะนาวศรีของเขตมะริด-ทวาย มีบริษัทเข้าไปลงทุน 8 บริษัทด้วยกัน ได้แก่

-          บริษัท Maung Wate

-          บริษัท CKB

-          บริษัท Myan Naing Myint

-          บริษัท SST

-          บริษัท PPT

-          บริษัท Bandate

-          บริษัท Htoo

-          บริษัท Kambawza

บริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่ที่เมืองตะนาวศรี และทำการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด ยกเว้นบริษัท H too ที่ทำธุรกิจค้าไม้ ในจำนวนบริษัทดังกล่าวนี้ บริษัท CKB เป็นบริษัทที่ยึดที่ดินชาวบ้านไปมากที่สุด

ก่อนหน้าปี 2540 นอกจากทำนาแล้ว ที่ดินเหล่านี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกหมาก มะม่วงหิมพานต์ และมะพร้าว หลังจากปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ชาวบ้านจำนวนมากไม่กล้าย้อนกลับไปยังหมู่บ้านของตน และพื้นที่เพาะปลูกก็กลับไปทำไร่นาไม่ได้จนเมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่เหล่านั้นก็กลายเป็นป่าในที่สุด รวมทั้งที่ดินที่เคยเป็นทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีพืชปลูกอยู่ทำให้บริษัทฉวยโอกาสยึดที่ดินไปเป็นของตนโดยอ้างว่าเป็นที่ดินว่างเปล่า

- บริษัท Htoo เป็นบริษัทที่สร้างผลกระทบกับชาวบ้านมากที่สุด ชุมชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรจากป่าได้อีก เพราะบริษัทนี้ได้ทำลายพื้นที่ป่าและยังขยายพื้นที่ตัดไม้ออกไปอีก

- บริษัท Maung Wate ซึ่งเริ่มเข้ามาในพื้นที่เมื่อปี 2547 และทำธุรกิจปาล์มน้ำมัน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 580 เอเคอร์ ซึ่ง ร้อยละ 40 เป็นที่ดินของชุมชน

- บริษัท CKB เริ่มดำเนินการในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2536 โดยความร่วมมือกับรัฐบาล แต่ในปี 2544 บริษัทหมดสัญญากับรัฐ รัฐบาลจึงยึดมาดำเนินการและเปลี่ยนเป็นบริษัท Sow Moe Kone ซึ่งใช้พื้นที่ครอบคลุมถึงที่นาของชาวบ้าน ปัจจุบันบริษัท CKB ที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Tawmaka, Tennesserim township บริษัทนี้ได้ยึดที่ดินของชาวบ้านไปราว 20 เอเคอร์ ทำให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาในการดำรงชีวิตเพราะชาวบ้านหาเลี้ยงชีพจากไร่นานั้น

- บริษัท Myan Naing Myint เป็นบริษัทใหญ่ที่ดำเนินการบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1280 เอเคอร์ โดยรวมเอาที่ดินของชาวบ้านไปด้วย

- บริษัท SST มีที่ดินเพาะปลูก 1600 เอเคอร์

- บริษัท PPT มีที่ดินเพาะปลูก 3000 เอเคอร์ แต่รัฐบาลมีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มถึง 6000 เอเคอร์ เช่นเดียวกับบริษัท Bandate ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเดิม 2000 เอเคอร์ แต่รัฐบาลจะขยายพื้นที่ให้บริษัทอีกถึง 6000 เอเคอร์

- บริษัท Htoo ซึ่งลงทุนเพาะปลูกปาล์มน้ำมันเช่นกันและใช้พื้นที่อยู่ 1000 เอเคอร์ แต่จะขยายเพิ่มถึง 2000 เอเคอร์

- บริษัท Kambawza ตั้งอยู่ใกล้กับฐานที่มั่นของทหารพม่า ทำให้ไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้

บริษัททั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้การคุ้มครองของทหารพม่า

ตั้งแต่ปี 2540 รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการบังคับโยกย้ายในมณฑลตะนาวศรี มีชาวบ้านในหมู่บ้าน Kay ถูกทหารพม่าฆ่าไป 4 คน ในช่วงนั้น และเฉพาะพื้นที่ทาเก เมืองตะนาวศรี มากกว่า 50 คนถูกฆ่าตายหลังจากปฏิบัติการนั้นเรื่อยมา

 

กรณีศึกษาการบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน

            กรณีที่ 1: ซอ พี ลา

ซอ พี ลา อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน Kay ซึ่งถูกรัฐบาลพม่าบังคับให้ย้ายออกหลังจากการปฏิบัติการปราบปรามในปี 1997 เขาต้องทิ้งที่ดินของตนไปกว่า 10 เอเคอร์ ตอนนี้เขาย้ายไปอยู่ Hle Hseit และต้องเริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่และใช้ชีวิตด้วยสภาพลำบาก ซอ พี ลา บอกว่า มีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากต้องเจอเหมือนเขา และอีกมากที่มีปัญหาหนักกว่า

ชาวบ้านที่ถูกบังคับโยกย้ายไปอยู่ในแปลงอพยพต้องประสบปัญหามากมาย เนื่องจากไม่สามารถทำงานในไร่นาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ เมื่อต้องอยู่ในแปลงอพยพ หากจะกลับไปทำงานก็ต้องขออนุญาตจากทหารที่ควบคุมดูแลค่ายนั้น และต้องจ่ายเงิน 500 จั๊ตหากจะอยู่ข้างนอกนาน 7 วัน แต่ก็ยังต้องดูสถานการณ์เพราะการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่าและกองทัพกะเหรี่ยงเคเอ็นยูสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา อีกทั้งถ้าอยู่ข้างนอกแปลงอพยพชาวบ้านยังเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกองกำลังกะเหรี่ยงให้ต่อต้านฝ่ายทหารพม่า และอาจจะถูกลงโทษอีกด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าชาวบ้านจะได้รับใบอนุญาตให้กลับไปทำงานยังที่ดินของตน ชาวบ้านก็ไม่กล้า เพราะพื้นที่ดังกล่าวถูกทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงต่อสู้กันอยู่

ด้วยความหวังว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นในสักวัน พวกเขาจะกลับไปยังที่ดินของตน ดังนั้นชาวบ้านจึงยังคงเฝ้าดูที่ดินของตนอยู่ และรู้ว่ามีบริษัทไหนหรือใครเข้าไปยึดที่ดินของตน แต่กระนั้นในบางพื้นที่ที่ชาวบ้านไม่สามารถกลับไปได้อีก ทุกอย่างถูกทำลาย เรือกสวนไร่นาก็กลายเป็นป่าไปแล้ว

รัฐบาลทหารพม่ามีแผนการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มในมณฑลตะนาวศรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่โดยการให้บริษัทเอกชนที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลดำเนินการ โดยอนุญาตให้บริษัทเข้าไปริบที่ดินของชาวบ้านถูกปล่อยทิ้งร้างหลังจากรัฐบาลได้บังคับโยกย้ายถิ่นฐาน บางส่วนอพยพไปอยู่พื้นที่ที่รัฐบาลควบคุม และบางส่วนก็หนีอพยพเป็นผู้พลัดถิ่นภายในดินแดนหรือลี้ภัยมายังประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทเหล่านั้นยังใช้วิธีการหาคนงานจากเมืองที่อยู่ไกลๆมาทำงานในพื้นที่ ซ้ำยังไม่จ่ายค่าแรงให้ตามสัญญา

กรณีที่ 2: เย ยุ้น ออง (Ye Nyunt Aung)

"ตอนที่ผมอยู่ที่ตอนเต กรุงย่างกุ้ง ผมมีอาชีพเป็นช่างไม้ ทำงานก่อสร้าง ผมได้ยินว่างานของบริษัท CKB นั้นดีและผมก็เจอกับเพื่อนที่ทำงานอยู่กับบริษัทนี้ เขาก็เลยพาผมมาทำงานที่นี่ ก่อนที่ผมจะมาทำงานที่นี่ ผมต้องไปสัมภาษณ์ และเซ็นสัญญาทำงานกับบริษัทเป็นเวลา 865 วัน บริษัทรับผมเข้าทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในพื้นที่นี้ ตามสัญญาบริษัทจะต้องจ่ายให้ผมวันละ 2500 จั๊ต แต่พอผมถึงเขตก่อสร้างพวกเขาไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ผมตามสัญญา โดยจ่ายแค่วันละ 1500 จั๊ตเท่านั้น

หนึ่งเดือนหลังจากนั้น เขาส่งผมไปพื้นที่เพาะพันธุ์ต้นปาล์ม และครั้งนี้ผมได้ค่าจ้างเหลือแค่วันละ 1000 จั๊ต จากการที่บริษัทผิดสัญญา ผมก็ได้ร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ซ้ำตอนที่ผมป่วยและต้องหยุดงานพวกเขาก็ไม่ได้ให้เงินเดือนผมเลย การรักษาดูแลสุขภาพก็แย่ ถ้าป่วยหนักต้องการหมอก็ต้องไปโรงพยาบาลในเมืองซึ่งก็แพงมาก ดังนั้นตอนที่ผมป่วย ผมก็ไม่ได้ไปให้หมอรักษา ชาวบ้านรอบ ๆ เมืองมะริดไม่ได้ทำงานกับบริษัทนี้เลยเพราะบริษัทไม่ทำตามสัญญา และไม่จ่ายค่าแรงให้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพราะเหตุนี้บริษัทจึงต้องไปหาแรงงานจากเมืองอื่น ๆที่ไม่รู้เรื่องของบริษัทมาทำงาน"

กรณีที่ 3: ซอ พา คลิ

บริษัท Wate ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบอโคร เมืองตะนาวศรี บริษัทนี้ได้ยึดที่ดินจากชาวบ้านไปกว่า 40 เอเคอร์และในปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันถึง 300 เอเคอร์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าบริษัทจะริบที่ดินจากชาวบ้านอีก ขณะนี้บริษัทมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ 600 เอเคอร์ซอ พา คลิ ชาวนาที่ถูกบริษัทนี้ยึดที่ดินไปบอกว่า บริษัทยึดที่ดินของเขาไป 5 เอเคอร์ ซึ่งเป็นทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ เมื่อปี 2006 มีชาวบ้านอีก 6 คน(ครอบครัว) ที่ถูกบริษัทนี้ยึดที่ดินไปเหมือนกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาชีพของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

(3)          รัฐกะเรนนี

ในปี 2549-50 ในพื้นที่รัฐกะเรนนี รัฐบาลพม่าได้เริ่มโครงการเพาะปลูกพืชละหุ่งเพื่อผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน โดยได้ริบเอาที่ดินของชาวบ้านสองฝั่งถนน จาก Loi Kaw ถึง Taung Kyi และจาก Loi Kaw ถึง Prusoe ชาวบ้านถูกบังคับให้เป็นแรงงานบนที่ดินของตนเองซึ่งถูกรัฐบาลยึดไปแล้ว และต้องให้หาเมล็ดพันธุ์ละหุ่งมาปลูกเองด้วย ถ้าชาวบ้านไม่ยอมทำตามคำสั่งก็จะถูกปรับและถูกทำโทษ พื้นที่ถูกยึดโดยปราศจากค่าชดเชย รวมถึงทั้งเจ้าของที่ดินและแรงงานไม่มีใครได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากผลผลิตเลยแม้แต่รายเดียว

ปี 2550 ที่ดินจำนวนมากซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ Loi Kaw หมู่บ้าน Nwalawoe ได้ถูกทหารพม่ายึดที่ดินไปเพื่อจัดทำเป็นเขตอุตสาหกรรม โดยทหารพม่าได้จ่ายเงินให้ชาวบ้านเพียง 50,000 จั๊ตต่อหนึ่งพื้นที่เพาะปลูกหนึ่งแห่ง หรือเอเคอร์ละ 100 จั๊ต จากนั้นรัฐบาลพม่าก็ไปบังคับให้โรงงานในพื้นที่ทั้งหมดย้ายเข้ามาอยู่ในเขตดังกล่าว โดยรัฐบาลได้แบ่งขายที่ดินเหล่านั้นแก่นักธุรกิจในราคาสูงถึง 35,000 จั๊ต ต่อ 100 ตารางฟุต

โดยสรุปกล่าวได้ว่าโครงการ Contract Farming รัฐบาลพม่ามักใช้วิธีการบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่โดยให้ย้ายไปอยู่ในเขตที่ทหารสามารถควบคุมได้ หากชาวบ้านขัดขืนก็จะใช้วิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรง ชาวบ้านที่หนีได้ก็มักจะหนีเข้ามาในเขตประเทศไทยซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า ปัจจุบันตัวเลขของผู้พลัดถิ่นฐานอันเนื่องมาจากโครงการ Contract Farming นั้นยังไม่มีตัวเลขการสำรวจที่ชัดเจน แต่สามารถยืนยันได้ว่ามีการพลัดถิ่นจากโครงการพัฒนาจากประเทศไทยที่ไปลงทุนในพม่าจริง เพราะโครงการ Contract Farming ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานการข่มขู่บังคับและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในพม่าอย่างยิ่ง

เป้าหมายของโครงการ Contract Farming ที่ได้ระบุไว้ว่า โครงการนี้จะสามารถสรางงาน สรางรายไดใหแกประชาชนในพม่า, ลดการเคลื่อนยายแรงงานที่ผิดกฎหมาย และลดชองวางในการพัฒนาระหวางไทยและประเทศเพื่อนบาน กลับเป็นเพียงนโยบายที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริง กล่าวคือ รัฐบาลพม่าได้บังคับข่มขู่ให้เกษตรกรออกจากที่ดินของตนเอง และนำที่ดินเหล่านั้นมาเป็นของรัฐบาล รวมถึงยังบังคับให้ชาวบ้านที่หลุดจากที่ดินต้องกลายมาเป็นแรงงานในที่ดินของตนเองโดยปราศจากรายได้จากการเพาะปลูก มีการเสียภาษีจำนวนมากให้รัฐบาล ต้องเพาะปลูกพืชตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอีกต่อไป โอกาสที่ชาวบ้านจะมีรายได้เป็นของตนเองก็ยากยิ่งนัก เมื่อชาวบ้านไม่มีรายได้ การดำรงชีวิตก็เป็นไปอย่างอัตคัดขัดสน โอกาสที่ชาวบ้านจะหลบหนีมาทำงานในประเทศไทยก็มีสูง ฉะนั้นโครงการ Contract Farming จึงสะท้อนให้เห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการเมืองของประเทศพม่าที่เป็นแบบเผด็จการและใช้อำนาจข่มขู่บีบบังคับชาวบ้านให้ทำตามในสิ่งที่รัฐบาลต้องการ จนทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากบ้านของตนเอง เป็นการสะท้อนอย่างเด่นชัดว่าการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อประเทศพม่า คือ การเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนในประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น

เชิงอรรถ

[1] บทความนำเสนอในเวที Workshop on Development Policies Affecting Migration in the Greater Mekong Sub-region Co-organised by Mekong Migration Network, National University of Laos and Asian Migrant Centre 16 July 2008 Vientiane, Lao PDR, present by Mr.Adisorn Keadmongkol

[2] Contract Farming เป็นการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีการทำสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้าระหว่างผู้รับซื้อและเกษตรกร โดยผู้รับซื้อจะให้หรือขายปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย แก่เกษตรกร และจะกำหนดราคารับซื้อไว้ (ในบางกรณีเพียงสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิตเท่านั้น ไม่มีการกำหนดราคาประกัน) ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนของราคาผลผลิตให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมคุณภาพและอุปทานของผลผลิตได้มากขึ้น

[3] รายละเอียดในการปลูกพืชพลังงานทางเลือกในประเทศพม่ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถอ่านได้จาก http://www.terraper.org/file_upload/BiofuelbyDecree.pdf

 

เกี่ยวกับ Newsline

 

Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท