Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


คำถามง่ายๆ แต่ตอบแสนจะยากคำถามนี้ผมยกขึ้นมาสำหรับผู้ที่กำลังเบื่อการเมืองและผู้ที่พยายามไม่ให้การเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการหรือองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือแม้กระทั่งในการใช้อำนาจตุลาการ โดยทั้งๆที่ ยังไม่รู้จักความหมายที่แท้จริงของคำว่าการเมืองเลย แต่ก็พากันปฏิเสธและชิงชัง "การเมือง" เสียแล้ว


 


เมื่อเรายกคำถามนี้ขึ้นมาถามว่าการเมืองคืออะไร เราก็จะได้คำตอบที่หลากหลาย อาทิ


 


การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐและการบริหารประเทศ


 


การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายของรัฐ


 


การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์


 


การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง โดยเห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรของชาติมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผู้คนที่ต้องการใช้ทรัพยากรนั้นมีอยู่มากและความต้องการใช่ไม่มีขีดจำกัด การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่คนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้หรือเกิดความขัดแย้งขึ้น


 


ในส่วนมุมมองของนักรัฐศาสตร์แล้วก็มีหลายนักคิดที่ให้นิยามความหมายของคำว่าการเมือง อาทิ


 


เพนนอคและสมิธ (Pennock and Smith) กล่าวว่า การเมือง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคมที่ได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุบำรุงรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจ ในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม


 


เดวิด อีสต์ตัน (David Easton) กล่าวว่า การเมืองเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆให้แก่สังคมอย่างชอบธรรม (the authoritative allocation of values to society)


 


ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ (the competition for the authority to determine the authoritative allocation of values to society)


 


ณรงค์ สินสวัสดิ์ กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และ การใช้อำนาจทางการเมือง โดยอำนาจทางการเมืองหมายถึงอำนาจในการที่จะวางนโยบาย ในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และอำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่นๆในการนำนโยบายไปปฏิบัติ 
 


 


แต่ผู้ที่นิยามความหมายของคำว่าการเมืองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุด คือ ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันที่กล่าวว่า "การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร (Politics is,who gets "What", "When", and "How")


 


คำว่า "อำนาจ" ในที่นี้หมายความถึงพลังอะไรบางอย่างที่จะสามารถบังคับ ให้คนหรือกลุ่มบุคคลที่มีพลังน้อยกว่ากระทำตามที่ต้องการ เช่น พ่อแม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ลูกไปโรงเรียน ตำรวจมีอำนาจบังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎจราจร กลุ่มโอเปกรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองราคาน้ำมันในตลาดโลก ฯลฯ โดยอำนาจอาจจะอยู่ในรูปแบบอะไรก็ได้ เช่น ข้อมูลข่าวสาร ฐานะทางการเงิน เกียรติยศทางสังคม เป็นต้น


 


การเมืองเกิดจากความเป็นจริงที่ว่า ความจำเป็นต่างๆ ของมนุษย์มีจำกัด เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม ในขณะที่ความต้องการของมนุษย์มีอยู่อย่าง ไม่จำกัด การเมืองจึงเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นกฎเกณฑ์ในการแบ่งสรรความจำเป็นต่างเหล่านี้ ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับ "อำนาจ" อย่างเลี่ยงไม่ได้


 


จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการเมืองมิใช่เป็นเพียงเรื่องที่รัฐบาลจะทำอะไร รัฐสภาจะออกกฎหมายอะไร เทศบาลจะสร้างเตาเผาขยะที่ไหน ฯลฯ แต่เกี่ยวพันไปในทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง ที่เกี่ยวพันกับการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร ดังนั้น การเมืองย่อมแทรกซึมไปทุกที่นับตั้งแต่ระดับใหญ่สุดคือระดับระหว่างประเทศไปจนถึงระดับเล็กสุด เช่น การจดทะเบียนมรดกโลกประสาทพระวิหาร การเมือง ในชุมชนหรือหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งการเมืองในองค์กรหรือการเมืองในสำนักงาน ที่มีการต่อสู้ ช่วงชิงยศ ช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆอยู่เสมอ


 


การดำเนินการทางการเมืองนั้นรวมไปถึงไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจุดสร้างโรงไฟฟ้าหรือการสร้างเขื่อน การจะขึ้นหรือลดภาษี การสรรหา สว.การสรรหาคณะกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลาย การเลือกตั้งคณะกรรมการในองค์กรวิชาชีพทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดก็ตาม (รวมทั้งองค์กรตุลาการด้วย) การตกลงว่าจะให้พระภิกษุรูปใดรับผ้ากฐิน การตกลงกันภายในกลุ่มพลังต่างๆ ว่าจะกำหนดแนวทางการต่อสู้อย่างไรนี่ก็คือการเมือง


 


ฉะนั้น ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์นี้เราไม่สามารถหลีกหนีการเมืองไปได้ การที่พยายามจะไม่ให้มีการเมืองในกิจกรรมที่จะต้องแบ่งสรรอำนาจจึงขัดธรรมชาติและเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราจะจัดสรรอย่างไรให้มีข้อขัดแย้งให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด


 


แทนที่จะเราเบื่อการเมืองหรือหลีกหนีการเมือง (ซึ่งหนีไม่พ้น) เราควรจะกลับมามองการเมืองอย่างพินิจใคร่ครวญว่าเหตุแห่งความยุ่งยากทั้งหลายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเกิดจากอะไร ข้อกล่าวหาต่างๆที่แต่ละฝ่ายสาดใส่เข้าหากันนั้นจริงและเท็จแค่ไหน เราฟังความครบทุกข้างแล้วหรือไม่ ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกข้าง (ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีเฉพาะข้างรัฐบาลกับพันธมิตรเท่านั้น)


 


เมื่อเราหนีการเมืองไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีที่จะอยู่กับการเมืองอย่างฉลาด โดยเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับบรรดาอำนาจทั้งหลาย เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร นั่นเอง 


 


 


......................................................................................................................


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net