ศาล รธน. มีมติแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาต้องผ่านสภา

เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของประธานวุฒิสภา ที่ส่งคำร้องของ ส.ว.จำนวน 77 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

 

ภายหลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงด้วยวาจาและมติต่อที่ประชุมแล้ว นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาลงวันที่ 18 มิ.ย. 51 มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และเป็นไปตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 และที่ 33/2543 จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเสียงข้างน้อยคือนายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่เห็นว่า แม้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเข้าข่ายหนังสือสัญญา แต่ไม่ต้องรับการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยคำวินิจฉัยจะมีผลทันทีหลังจากการลงมติ และภายในวันนี้การจัดทำคำวินิจฉัยกลางให้เสร็จสิ้น และจะจัดส่งไปยังประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบอย่างช้าภายในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.)

 

นายไพบูลย์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า ส.ส.และ ส.ว.สามารถยื่นถอดถอน รมว.การต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 หรือไม่ และถือว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในการลงนามของ รมว.การต่างประเทศถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยระบุเพียงว่า ศาลได้พิจารณาตามขอบเขตอำนาจศาลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เสร็จสิ้นแล้ว และคำวินิจฉัยมีความชัดเจนว่า การจะลงนามในแถลงการณ์ร่วมต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ถือเป็นเรื่องที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการ เพราะความรับผิดชอบอื่นอยู่นอกเขตอำนาจศาล ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเกี่ยวกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน โดยเฉพาะนายเฉลิมพล ที่เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย โดยไปดักรอบริเวณทางลงด้านหลังตึก ที่ตุลาการจะต้องลงมารับประทานอาหาร แต่ปรากฏว่ากลับมีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมายืนกันไม่ให้นักข่าวเข้าใกล้ตุลาการ รวมทั้งนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เดินตามประกบตุลาการแต่ละคน เพื่อกันสื่อมวลชนเข้าถึงตัวตุลาการ ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องใช้วิธีการตะโกนพูดคุยกับตุลาการ ซึ่งแตกต่างจากตุลาการทุกชุดที่ผ่านมาซึ่งไม่มีการกันผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งยังมีการเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนของแต่ละท่านภายหลังการแถลงไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนมากหรือเสียงส่วนน้อย ทั้งที่มาแจกด้วยตนเอง หรือให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้

 

นายไพบูลย์ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ในเวลา 15.00 น. ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้มีการทำหนังสือแจ้งนายไชยาให้มาฟังวินิจฉัยในเวลาดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับนายไชยาว่าจะมาหรือไม่ก็ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาว่าไม่ได้แจ้งการขอถือครองประโยชน์จากหุ้นที่นางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยาถือครองหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด มายังประธาน ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

 

 

 

……………………………
ที่มา: http://www.komchadluek.net

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท