Skip to main content
sharethis


ที่มาของภาพ: http://burmadigest.info/wp-content/uploads/2008/07/7th-july.jpg


 


7 กรกฎาคม 2505 รัฐบาลทหารของนายพลเนวินได้สั่งการให้ทหารพม่ากราดยิงนักศึกษาและระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษา สั่งปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หลังจากที่นักศึกษาหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้ประท้วงต่อต้านนายพลเนวินที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลอูนุเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2505 รวมถึงการตั้งคำถามถึงสิทธิของนักศึกษาที่พวกเขาควรจะได้รับ


 


ทหารพม่าได้ยิงและฆ่านักศึกษาพม่าจำนวนกว่าร้อยคน นักศึกษาที่ถูกฆ่าทั้งหมดอยู่ในช่วงวัยรุ่นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หลายคนเป็นเพียงคนหนุ่มสาวในช่วงแสวงหาที่ตั้งคำถามกับโลก ชีวิต สังคมที่ดีงาม


 


ในประวัติศาสตร์ของคนหนุ่มสาวพม่า นี้คือเหตุการณ์แรกที่รัฐบาลพม่าลงมือฆ่าพลเมืองของตนเองอย่างเหี้ยมโหด อาจกล่าวได้ว่าวันนี้ คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 8888 ในอีก 26 ปีต่อมา


 


เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลนายพลเนวินได้เดินหน้าปราบปรามกดขี่ประชาชนไม่หยุดหย่อน


 


28 มีนาคม 2507 มีการประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรค ยกเว้น BSPP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาล


 


17 พฤษภาคม 2507 รัฐบาลเนวินสั่งยกเลิกธนบัตรใบละ 100 จั๊ตและ 50 จั๊ต โดยไม่มีการคืนเงินให้แก่ประชาชน


 


11 ธันวาคม 2517 รัฐบาลสั่งปราบปรามการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ เนื่องจากกรณีการจัดทำศพของอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกยิง ถูกแทงด้วยดาบปลายปืนและถูกจับกุม


 


3 พฤศจิกายน 2528 ธนบัตรใบละ 100 จ๊าตถูกยกเลิก


 


5 กันยายน 2530 ธนบัตรใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต 75 จ๊าต ถูกยกเลิก โดยไม่มีการชดเชยใดๆ ซึ่งทำให้เงินตราของประเทศถึงร้อยละ 75 ที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศไร้ค่าทันที       


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนและนักศึกษา สิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกปิดกั้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแทบมองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้เองได้ทับถมลงบนจิตใจของประชาชนมาตลอด จนนำมาสู่การออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงย่างกุ้งและขยายไปยังเมืองใหญ่ๆในพม่าเป็นระยะๆ และเป็นที่มาของเหตุการณ์การชุนุนมใหญ่วันที่ 8 สิงหาคม 2531               


 


สำหรับเหตุการณ์เดือนกรกฎาคมแม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 46 ปีแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของนักศึกษาพม่าที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่เคยลืมเลือน


 


ไม่ว่าวันนี้พวกเขาจะอาศัยอยู่ในแผ่นดินใด ห่างไกลจากบ้านเกิดกี่พันไมล์แต่พวกเขาไม่เคยลืม เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกจารึก ถ่ายทอด ส่งผ่านมายังนักศึกษาพม่ารุ่นแล้วรุ่นเล่าเสมอมา เป็นประวัติศาสตร์คำบอกเล่าที่ไม่ถูกจดจารในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่า


 


 


ที่มา: Newsline


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆ ติดตามได้ที่ www.burmaissues.org และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ www.oknation.net/blog/burmaissues

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net